xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมาย “ไม้นวม” สำหรับอาชญากรเด็ก

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ในทางทฤษฎีกฎหมาย และตามหลักสิทธิมนุษยชน เราถือว่าเด็กและเยาวชนนั้น คือผู้ที่มีสติปัญญา วิจารณญาณ ความสามารถในการตัดสินใจและควบคุมตัวไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่

ดังนั้นมาตรฐานทางกฎหมายหากเด็กหรือเยาวชนไปกระทำความผิดนั้น “โดยหลักการ” จึงถือว่าจะนำเอามาตรฐานเดียวกับผู้ใหญ่มาใช้มาจับไม่ได้

ก่อนหน้านี้ ตามกฎหมายอาญา การกระทำความผิดของเด็กจะไม่ถูกลงโทษเลย หรือถ้าโตขึ้นมาเป็นระดับเยาวชน ก็จะมีวิธีการเฉพาะหรือถ้าจำเป็นต้องลงโทษจริงๆ ก็จะลงโทษสถานเบา หรือมีเหตุให้ยกเว้นโทษได้

เช่นตามหลักแล้ว เราจะไม่นำตัวเด็กไป “จำคุก” หรือ “กักขัง” แต่กฎหมายจะใช้วิธีนำตัวไปฝึกอบรมในสถานที่ซึ่งเรียกว่า “สถานพินิจและคุ้มครองเยาวชน” ซึ่งหลายคนเรียกกันง่ายๆ ว่าเป็น “คุกเด็ก” (ซึ่งคนทำงานเกี่ยวกับสิทธิเด็กและเยาวชนจะไม่ชอบคำนี้มากๆ เพราะมองว่าเป็นการตีตราบาปให้เด็ก แต่ในความรับรู้ของคนทั่วไปก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่)

พัฒนาการทางกฎหมายในขั้นต่อมา คือ นอกจากการมีวิธีการพิเศษและโทษพิเศษสำหรับเด็กและเยาวชนแล้ว วิธีพิจารณาคดีก็ต้องเป็นพิเศษเข้าไปอีก เช่น ในการสอบสวนหรือให้เด็กหรือเยาวชนให้การ จะต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามาร่วมด้วย หรือในการพิจารณาคดีในศาลก็จะต้องใช้กระบวนการพิเศษ มีห้องพิจารณาที่จัดไว้เป็นพิเศษไม่เหมือนกับในศาลผู้ใหญ่ และมีผู้พิพากษาสมทบซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเข้าร่วมในกระบวนการด้วย

ทั้งหมดนั้น เป็นไปภายใต้แนวความคิดและสมมติฐานว่า เด็กที่กระทำความผิดนั้นไม่ได้มีเจตนาเต็มพร้อมสมบูรณ์ที่จะตั้งใจทำความผิดด้วยความคิดชั่วหรือทุจริตเช่นผู้ใหญ่ แต่อาจจะเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อารมณ์ชั่ววูบที่ควบคุมตัวเองได้ไม่ดี ปัญหาทางด้านจิตใจที่เกิดจากการขาดความอบอุ่นในการเลี้ยงดูหรือปัญหาของครอบครัว

ดังนั้นเด็กและเยาวชนจึงพึงได้รับการปกป้องโดยกฎหมาย แม้จะปรากฏชัดว่าได้กระทำความผิดก็ตาม

แต่ในขณะเดียวกันกับที่กฎหมายนั้นอ่อนตัวลง เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิดมากขึ้น แต่ความรุนแรงของพฤติการณ์กระทำความผิดของเด็กและเยาวชนนั้นก็สวนทางกัน อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมหรือทางจิตใจ หรือเหตุใดก็สุดจะเดา

ปัญหานี้เกิดขึ้นในแทบทุกประเทศ แม้แต่ในประเทศที่เจริญหรือพัฒนาแล้ว เช่นญี่ปุ่น ก็เคยมีคดีวัยรุ่น 4 คน รุมโทรมหญิงสาว จุนโกะ ฟุรุตะ โดยการลักพาตัวไว้กระทำการทารุณกรรมนานถึง 50 วัน ด้วยวิธีการทารุณ กระทำอย่างที่แทบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถกระทำต่อกันได้ จนกระทั่งจุนโกะถึงกับต้องร้องขอให้วัยรุ่นโฉดเหล่านั้นฆ่าเธอเสียให้พ้นจากการกระทำทรมานนานกว่าเกือบสองเดือน จากนั้นศพของเธอถูกนำไปฝังไว้ในซีเมนต์ จนกระทั่งถูกค้นพบ

หากวัยรุ่นที่ก่อกรรมทำเข็ญกับจุนโกะ กลับได้รับโทษสถานเบา จำคุกเฉลี่ย 5 – 10 ปี และได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายเยาวชนเป็นอย่างดี

และก็ปรากฏว่า เด็กวัยรุ่นที่ก่อคดีดังกล่าว เมื่อพ้นโทษออกมา ก็กระทำความผิดซ้ำอีกเมื่อเป็นผู้ใหญ่

คดีจุนโกะ ฟุรุตะ จึงเป็นกรณีศึกษาสำคัญ ที่ทำให้สาธารณชนคนญี่ปุ่นไม่เชื่อในกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเยาวชน อย่างไรก็ตามเนื่องจากเรื่องของสิทธิเด็กและเยาวชนนี้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่แต่ละประเทศที่ยอมรับหลักการดังกล่าวจะต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่ได้มาตรฐานเดียวกัน เช่นนี้การแก้กฎหมายเรื่องความผิดที่ก่อขึ้นโดยเด็กและเยาวชนจึงกระทำได้ยาก แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นจะไม่เห็นด้วยเลยก็ตาม

ในกรณีของประเทศไทยก็ไม่แตกต่างกัน เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของเราก็เข้าตาม “มาตรฐานสากล” เช่นเดียวกัน โดยที่เดินสวนทางกับความร้ายแรงของอาชญากรรมของเด็กและเยาวชน

การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องลักเล็กขโมยน้อย หรือทะเลาะวิวาทต่อยตีหรืออย่างมากก็แทงกันหรือปาระเบิดขวดใส่กันเหมือนสมัยก่อน

ดังที่ปรากฏในหลายครั้ง ว่าการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนนั้นร้ายแรงน่ากลัวยิ่งกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า เช่นคดีเด็กวัยรุ่นรุมทุบตีชายพิการขายขนมปังจนเสียชีวิต เด็กที่เคยทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าฆ่าชิงทรัพย์โทรศัพท์มือถือของบัณฑิตเพิ่งเรียนจบ หรือเช่นกรณีล่าสุด คือ กลุ่มเด็กวัยรุ่นฉุดเด็กหญิงวัยเพียง 11 – 12 ปี ไปกระทำชำเราในลักษณะของการโทรมหญิง

และทั้งมีประเด็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน ยังพยายามช่วยเหลือเยาวชนชายผู้กระทำความผิดเหล่านั้น ด้วยการวิ่งเต้นติดต่อพ่อแม่ของเด็กหญิงให้ยอมความไม่เอาเรื่อง ทั้งๆ ที่เป็นคดีที่ยอมความไม่ได้

ข้ออ้างคือ “ขอให้เห็นแก่อนาคตเด็ก”

ขอให้เห็นแก่อนาคตเด็กกลุ่มหนึ่ง ที่ทำลายอนาคตของเด็กหญิงคนหนึ่งและครอบครัวให้ต้องตกอยู่ในฝันร้ายและความหวาดผวาไปตลอดชีวิต

หากเป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนตามปกติ คาดเดาได้ว่าคดีนี้น่าจะจบลงด้วยการที่วัยรุ่นชายที่ก่อเหตุทุกคนซึ่งเป็นเยาวชนนั้น อาจจะถูกลงโทษจำคุกหรือไม่ก็ตาม แต่โทษนั้นจะได้รับการเปลี่ยนเป็นการส่งไปฝึกอบรมในสถานพินิจ โดยมีกำหนดไม่เกินเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมๆ แล้วไม่น่าเกิน 6 ปี

โดยที่เราไม่รู้ว่า สำหรับเด็กหญิงผู้เสียหายนั้น จะต้องใช้เวลาเยียวยารักษาสภาพจิตใจให้เธอกลับมามีชีวิตอยู่ตามปกติได้ จะต้องใช้เวลายาวนานเท่าไร

อย่างไรก็ตาม กฎหมายวิธีพิจารณาคดีเยาวชนก็ยังมี “ช่องทางฉุกเฉิน” ว่าในกรณีที่เด็กกระทำความผิดที่ร้ายแรงอุกฉกรรจ์เกินเด็ก ให้กลับไปปรับใช้กฎหมายผู้ใหญ่แทนได้

แม้เราจะยอมรับว่า เด็กก็คือเด็ก เยาวชนก็คือผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตน้อย ขาดวุฒิภาวะ และความสามารถในการควบคุมตัวเองต่ำ ด้วยอารมณ์พลุ่งพล่านหรืออะไรก็ตามแต่

หากเราก็ต้องมองอีกหน้าเช่นกัน ว่ากฎหมายนั้นควรมีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยต่อสังคม และมุ่งคุ้มครองสุจริตชนผู้ปฏิบัติตามกฎหมายให้ได้รับความคุ้มครอง ไม่ถูกละเมิดสิทธิเหมือนชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของพวกเขาไม่มีค่า

และหากเรายอมรับว่า พฤติกรรมของอาชญากรเด็กในหลายครั้งก็ส่งผลเสียหายร้ายแรงได้ไม่ผิดจากผู้ใหญ่ การรักษาดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองสิทธิเด็กบางคนที่กระทำความผิด กับความสงบเรียบร้อยและสวัสดิภาพของผู้คนในสังคม จึงจำเป็นต้องได้รับการทบทวนเช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น