xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก ‘ประกันภัยการเดินทางในประเทศ’

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


หลายคนคงเคยรู้จัก “ประกันภัยการเดินทาง” เวลาเดินทางไปเมืองนอก เนื่องจากในบางประเทศต้องใช้ประกอบการยื่นวีซ่า เช่น วีซ่าเชงเก้น ที่ใช้เดินทางเข้า-ออกทวีปยุโรป 26 ประเทศในคราวเดียว

สำหรับในบ้านเรา อาจจะรู้จักประกันภัยการเดินทางในขั้นตอน “เลือกบริการเสริม” เวลาจองตั๋วเครื่องบินกับสายการบิน โดยเฉพาะโลว์คอสต์แอร์ไลน์ โดยจะแยกจากค่าโดยสาร (และค่าบริการเสริมอื่นๆ) ต่างหาก

ที่ผ่านมามักถูกมองข้ามจากนักท่องเที่ยว เพราะคิดว่าไปแค่ทริปสั้นๆ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุมีน้อยมาก แต่สำหรับในต่างประเทศ ค่ารักษาพยาบาลสูงมาก และเคยมีคนไทยติดหนี้โรงพยาบาลหลักล้านบาท

ประกันภัยการเดินทาง กลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่ขายได้ นอกเหนือจากซิมการ์ด ที่โทร. และเล่นเน็ตราคาพิเศษเวลาไปต่างประเทศ มีหลายบริษัทออกผลิตภัณฑ์นี้เป็นจำนวนมาก สนนราคาเบี้ยประกันตั้งแต่หลักร้อยบาทขึ้นไป

สำหรับในประเทศไทย แต่ละคนล้วนมีสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นของตัวเองเวลาเจ็บป่วย เช่น ประกันสังคม, บัตรทอง 30 บาท หรือสวัสดิการข้าราชการ แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุก็จะมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ

ถึงกระนั้น บางบริษัทก็มีผลิตภัณฑ์ “ประกันภัยการเดินทางในประเทศ” ให้เลือกใช้บริการเพื่อความอุ่นใจ สนนราคาตั้งแต่หลักสิบบาท จนถึงหลักร้อยบาทขึ้นไป รวมทั้งช่องทางจำหน่ายมีทั้งร้านสะดวกซื้อ และผ่านเว็บไซต์

ประกันภัยแบบนี้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบซื้อประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลรายปี ค่อยๆ ซื้อประกันอุบัติเหตุเฉพาะในแต่ละทริป เพิ่มเติมจากสวัสดิการบริษัท โดยแต่ละบริษัทจะมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น

เมืองไทยประกันภัย มีประกันอุบัติเหตุเดินทาง “เที่ยวเมืองไทย” ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สนนราคาเดินทาง 1-5 วัน เบี้ยประกัน 120 บาท และเดินทาง 1-10 วัน เบี้ยประกัน 200 บาท

ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง รวมถึงฆาตกรรม ลอบทำร้าย 200,000 บาท แต่ถ้าอุบัติเหตุจากการขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ คุ้มครอง 50,000 บาท

ส่วนค่ารักษาพยาบาล สูงสุด 10,000 บาทต่ออุบัติเหตุ โดยสำรองจ่ายให้โรงพยาบาลไปก่อน แล้วเบิกกับบริษัทฯ ที่หลัง สามารถเบิกร่วมกับสวัสดิการบริษัท หรือประกันแบบอื่นๆ ได้สูงสุดเท่าที่จ่ายตามจริง

ขณะเดียวกัน ยังจำหน่ายประกันเดินทางในประเทศผ่านเว็บไซต์ muangthaiinsurance.com มีทุนประกันภัยให้เลือกตั้งแต่ 300,000 บาท, 500,000 บาท และ 1,000,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล 30,000 บาท, 50,000 บาท และ 100,000 บาท

โดยเบี้ยประกันเริ่มต้นที่ 3 วัน 87.74 บาท, 145.52 บาท และ 291.04 บาท ซื้อได้สูงสุด 31 วัน แต่ก็มีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ไม่คุ้มครองกรณีขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ ทั้งในขณะเดินทางและระหว่างการท่องเที่ยว

กรุงไทยพานิชประกันภัย (KPI) มีประกันภัยการเดินทางในประเทศ ผ่านเว็บไซต์ iinsure.kpi.co.th แบ่งออกเป็น 2 แผน คือ Domestic Eco ทุนประกัน 500,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย 50,000 บาท การบอกเลิกการเดินทาง จ่ายตามจริงสูงสุด 25,000 บาท มีความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เบี้ยประกันเริ่มต้นที่ 1-4 วัน 90 บาท

Domestic Care ทุนประกัน 1,000,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย 100,000 บาท การบอกเลิกการเดินทาง จ่ายตามจริงสูงสุด 50,000 บาท มีความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เบี้ยประกันเริ่มต้นที่ 1-4 วัน 180 บาท

ทิพยประกันภัย มีประกันท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์ tipinsure.com ถ้าเดินทางโดยรถโดยสารมีให้เลือกแบบ Simply Trip ทุนประกัน 300,000 บาท, Smile Trip 500,000 บาท และ Smart Trip 1,000,000 บาท

ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ 100,000 บาท (ทุกแบบ) และการเคลื่อนย้ายเพื่อการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน และการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด 50,000 บาท (ทุกแบบ)

แต่ถ้าเดินทางโดยเครื่องบิน ไป-กลับ จะมี Tip Fly Sure แบบ Round Trip ทุนประกัน 2 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุ 200,000 บาท คุ้มครองบอกเลิกการเดินทาง การล่าช้า กระเป๋าเดินทาง ทรัพย์สินส่วนตัว ฯลฯ

อีกทั้งมีบริการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง เริ่มต้นที่ 129 บาท แต่เงื่อนไขคือ แบบประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองอุบัติเหตุขณะขับขี่ หรือโดยสารจักรยานยนต์

ประกันภัยไทยวิวัฒน์ มีประกันภัยการเดินทางภายในประเทศไทย (แบบ Round trip) ผ่านเว็บไซต์ thaivivat.co.th มีให้เลือกแบบ Standard ทุนประกันภัย 1,500,000 บาท เบี้ยประกันเริ่มต้นที่ 1 สัปดาห์ 140 บาท สูงสุด 30 วัน 280 บาท

และแบบ Elite ทุนประกันภัย 2,000,000 บาท มีค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ 200,000 บาท มีความรับผิดต่อบุคคลภายนอก 200,000 บาท เบี้ยประกันเริ่มต้นที่ 1 สัปดาห์ 320 บาท สูงสุด 30 วัน 650 บาท

กรุงเทพประกันภัย มี ประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทาง (TA) ทุนประกันภัยให้เลือก 1,000,000 บาท, 2,000,000 บาท และ 3,000,000 บาท มีทั้งแบบมีค่ารักษาพยาบาล 10% และไม่มีค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประกันภัยเริ่มต้นที่ประมาณ 200-300 บาทขึ้นไป

เนื่องจากแต่ละแบบประกันภัย มีรูปแบบความคุ้มครองแตกต่างกันไป สิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องคำนึงถึงเมื่อต้องซื้อประกันภัยการเดินทางในประเทศก็คือ

1. รูปแบบการเดินทาง หากเดินทางด้วยเครื่องบินไป-กลับ เบี้ยประกันจะแพงกว่าเดินทางโดยรถยนต์ หรือรถโดยสารประจำทาง เนื่องจากมีการคุ้มครองกรณีเที่ยวบินล่าช้า ความสูญหายหรือเสียหายของกระเป๋าเดินทาง

แต่ถ้าอยู่ในต่างจังหวัด จำเป็นต้องเช่ามอเตอร์ไซค์ หรือต้องนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปที่ต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงแบบประกันที่มีเงื่อนไขว่า “ไม่คุ้มครองกรณีขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์” เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ บริษัทประกันภัยมักจะลดทุนประกันภัยกรณีเสียชีวิตหรือพิการลงมาครึ่งหนึ่ง หรือเพียงแค่ 1 ใน 4 เนื่องจากแต่ละบริษัทมองว่าเสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูงกว่ารถยนต์

2. ค่ารักษาพยาบาล แยกให้ออกระหว่าง “อุบัติเหตุ” หรือ “เจ็บป่วย” เพราะส่วนใหญ่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเฉพาะกรณีอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว หากเจ็บป่วยระหว่างเดินทาง เช่น อาหารเป็นพิษ จะไม่ได้รับสิทธิตรงนี้

หากเป็นค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย แต่ละบริษัทมักจะไม่คุ้มครองกรณีสภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย เช่น โรคเรื้อรัง หรือการเจ็บป่วยก่อนเดินทาง เพราะฉะนั้นคนที่ทำประกันภัยแบบนี้จะต้องมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยก่อนเดินทาง

3. กิจกรรมเสี่ยงต่อการไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่ละบริษัทมักจะมี “ข้อยกเว้นสำคัญ” ที่หากผู้เอาประกันภัยกระทำแล้วเกิดเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ เหมือนประกันอุบัติเหตุทั่วไป อาทิ

- อยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป รวมทั้งสารเสพติด ยาเสพติดให้โทษ
- ฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง
- เข้าร่วมการทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุให้ทะเลาวิวาท
- ก่ออาชญากรรม ถูกจับกุมหรือหลบหนีการจับกุม
- ล่าสัตว์ในป่า แข่งรถ แข่งเรือ แข่งม้า แข่งหรือเล่นสกี รวมถึงเจ็ทสกี
- แข่งสเก็ต ชกมวย โดดร่ม (ยกเว้นโดดร่มเพื่อรักษาชีวิต) ขึ้นบอลลูน เครื่องร่อน เล่นบันจี้จั้มพ์
- ปีนหรือไต่เขาที่ต้องใช้เครื่องมือช่วย ดำน้ำที่ต้องใช้ถังอากาศและเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ ฯลฯ


ถ้าการท่องเที่ยวมีกิจกรรม หรือพฤติกรรมเสี่ยงตามข้อยกเว้นสำคัญเหล่านี้ ควรทำใจไว้ก่อนว่า หากบริษัทประกันภัยตรวจพบ ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครอง

นอกจากนี้ ในบางอาชีพประกันจะมีข้อยกเว้นสำคัญ เช่น ตำรวจ ทหาร ไม่คุ้มครองในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นทหาร ตำรวจ หรืออาสาสมัครและเข้าปฏิบัติการในสงครามหรือปราบปราม

4. รูปแบบการเคลมประกัน เวลาเข้ารับการรักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่ไม่ออกค่ารักษาพยาบาลให้ ต้องสำรองจ่ายให้โรงพยาบาลไปก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องไปเคลมกับบริษัทประกันภัย

ส่วนคนที่มีสวัสดิการบริษัท หรือมีประกันแบบมีค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว สามารถเบิกได้เฉพาะค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินจากสวัสดิการบริษัท สามารถเบิกจากประกันภัยการเดินทาง แต่ไม่เกินค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายจริง

เช่น เกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง ถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ค่ารักษาพยาบาล 15,000 บาท สวัสดิการบริษัทฯ เบิกได้ 10,000 บาท ส่วนที่เหลือเคลมจากประกันภัยการเดินทางได้เพียงแค่ 5,000 บาทเท่านั้น

5. แจ้งให้ครอบครัวหรือคนรอบข้างทราบ เผื่อประสบอุบัติเหตุจะได้หาทางช่วยเหลือ เพราะประกันภัยการเดินทางส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารตัวจริงให้ มีแต่ไฟล์ PDF ส่งไปให้ทางอีเมล หรือกรอกเลขอ้างอิงผ่านเว็บไซต์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ประกันภัยการเดินทางในประเทศ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความคุ้มครองเป็นครั้งคราว โดยจ่ายเบี้ยประกันน้อย แต่ถ้าต้องออกเดินทางบ่อยครั้ง ควรเลือกทำ “ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล” (PA) โดยจ่ายเป็นรายปีจะคุ้มค่ากว่า

และเนื่องจากประกันอุบัติเหตุ ล้วนแล้วแต่จ่ายเบี้ยประกันแบบ “ทิ้งเปล่า” ปีต่อปีเหมือนประกันสุขภาพ จึงควรสอบถามที่ทำงานว่า ทำประกันกลุ่มไว้มากน้อยขนาดไหน แล้วถึงค่อยซื้อประกันเพิ่มจะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น