เรามาเยือนอุดรธานีเป็นครั้งที่ 4 ในชีวิต จากครั้งล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว แม้เป็ดยักษ์ที่หนองประจักษ์จะย้ายจากลานแอโรบิค ไปอยู่หน้าอาคารราชินูทิศ แต่อุดรธานีวันนี้ ก็ยังเป็นอุดรธานีที่เราคุ้นเคย
รถตู้จากสถานีขนส่งผู้โดยสารขอนแก่น 2 ชั่วโมง กับระยะทาง 130 กิโลเมตร และค่าโดยสาร 80 บาท นำพาเราไปยังเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 4 หัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภาคอีสาน ที่เชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
แม้การพัฒนาเมืองของที่นี่จะยังคงแบบค่อยเป็นค่อยไป แตกต่างจากอีกสองเมืองถัดลงมา ที่รัฐบาลทุ่มโครงการเมกะโปรเจ็กต์ลงพื้นที่ และยังคงมีข่าวผ่านสื่อมวลชนบ่อยครั้ง แต่เรื่องราวระหว่างทางยังมีความน่าสนใจ
ขอนำเรื่องราวจากการไปเห็นด้วยตา ผนวกกับหาข้อมูลเพิ่มเติมจากความสงสัยมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง หากคุณผู้อ่านคนใดรู้สึกขัดข้องหมองใจ ก็ขออภัยล่วงหน้าแล้วกัน ...
• เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน ‘พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี’
‘อาคารราชินูทิศ พระพุทธศักราช 2468’ เป็นชื่อของอาคารสีน้ำตาลหลังหนึ่ง ริมหนองประจักษ์ มีอายุกว่า 90 ปี เดิมคือโรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดร ถูกเนรมิตให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี’
ระหว่างนั่งรถสกายแลป จากห้างฯ เซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี ไปยังร้านอาหารวีทีแหนมเนือง เห็นอาคารนี้โดยบังเอิญแล้วน่าสนใจ แม้ด้านหน้าจะยังคงถมดินลูกรังรอปรับภูมิทัศน์ เลยคิดว่าหลังทานอาหารเสร็จจะลองเข้าไปเยี่ยมชม
แม้การปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้าจากถนนโพศรี จะยังไม่แล้วเสร็จ แต่ในส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันอังคาร ถึงวันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น. หยุดทุกวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยไม่เสียค่าเข้าชม
เมื่อเดินเข้าไปด้านใน จะมีอาคารสร้างใหม่ที่อยู่ติดกัน เป็นศูนย์บริการพิพิธภัณฑ์ ไว้จัดนิทรรศการหมุนเวียน และจำหน่ายของที่ระลึก เราก็เข้าไปลงชื่อ ก่อนจะออกมาสู่ด้านหน้าอาคารราชินูทิศ
พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี จัดแสดงความเป็นมาของจังหวัดทุกด้าน ตั้งแต่ธรรมชาติวิทยา ธรณีวิทยา ประวัติเมือง ศิลปวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในช่วงสงคราม มีทั้งหมด 2 ชั้น รวม 26 ห้อง
เนื้อหานิทรรศการ ออกแบบโดยนักเขียนชื่อดัง “นิ้วกลม” สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ร้อยเรียงเรื่องราวของอุดรธานี และใช้เทคโนโลยีผสมผสานเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ให้น่าสนใจราวกับมีชีวิต เหมือนพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่
ความน่าสนใจจะอยู่ที่ชั้น 2 สำหรับคนที่อยากรู้ความเป็นมาของเมืองอุดรธานี นับตั้งแต่เมื่อ 130 ปีก่อน เป็นเพียงพื้นที่ชายขอบ เรียกว่า ‘บ้านเดื่อหมากแข้ง’ อยู่กลางป่าห่างไกลความเจริญ
ต่อมา กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงถอนกำลังทหารจากเมืองหนองคาย แล้วสร้างเมืองอุดรธานี หลังเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่สยามต้องยินยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส โดยอ้างว่าเคยเป็นของเวียดนามมาก่อน
บ้านเดื่อหมากแข้ง เป็นหมู่บ้านเล็กๆ กลางป่า มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เช่น หนองนาเกลือ และห้วยหมากแข้ง อีกทั้งห่างจากฝั่งแม่น้ำโขงตามข้อกำหนดสนธิสัญญา ที่ห้ามตั้งหน่วยทหารในรัศมี 25 กิโลเมตรจากเขตแดน
กระทั่งได้รับพระราชทานชื่อจาก กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เปลี่ยนมาเป็น “มณฑลอุดร” ซึ่งคำว่า “อุดร” แปลว่าทิศเหนือ หมายถึงเป็นเมืองหน้าด่านที่พร้อมต่อสู้กับฝรั่งเศสที่อยู่ทางทิศเหนือไว้เสมอ
จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกอย่าง คือ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา อุดรธานีถูกใช้เป็นฐานบินต่อสู้กับฝรั่งเศส ต่อเนื่องไปถึงสงครามเวียดนาม ไทยเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกา ต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน
ทหารอเมริกันจำนวนมหาศาลที่เรียกว่า “จีไอ” เข้ามาใช้ชีวิตที่นี่ ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนอุดรธานีอย่างมหาศาล กระทั่งเหตุการณ์สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง มีการถอนทหารอเมริกันออกจากพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อเมืองอุดรธานีในหลายด้าน
แรงงานที่ทำงานในค่ายทหารอเมริกัน ได้รับค่าแรงไม่น้อยกว่า 3,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อถอนทหารออกไป ทำให้มีคนว่างงานถึง 4-5 หมื่นคน แต่แรงงานในค่ายทหารจะได้รับเงินชดเชยในจำนวนที่ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่จะนำมาซื้อรถยนต์
หลังรัฐบาลไทยสั่งปิดฐานบินอุดรธานี และค่ายรามสูร อุดรธานีต้องเผชิญกับเศรษฐกิจตกต่ำ แรงงานจำนวนมากไปทำงานต่างประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย โดยมีทหารอเมริกันชักชวน บ้างก็ทำงานในโรงสีข้าว โรงงานมันสำปะหลังอัดเม็ด
แต่ด้วยความที่อุดรธานีเป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคม และการบริหารราชการ จึงสามารถฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ซบเซามาได้ กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของภาคอีสานตอนบน คนรุ่นใหม่เลือกที่จะกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิดอีกด้วย
เราใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงในการเรียนรู้เมืองอุดรธานี ผ่านพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่า กว่าจะมาเป็นเมืองใหญ่ขนาดนี้ ต้องผ่านเรื่องราวความเป็นมาไปไม่น้อยเหมือนกัน
• ‘ชิบูยาอุดรธานี’ เปลี่ยนสี่แยกธรรมดาเป็นทางม้าลายสุดชิค
บริเวณสี่แยกหน้าสถานีรถไฟอุดรธานี และศูนย์การค้ายูดี ทาวน์ ถนนทองใหญ่ ตัดกับถนนประจักษ์ศิลปาคม เป็นที่ตั้งของทางม้าลายล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ทางม้าลายที่ห้าอยู่ตรงกลาง พร้อมสัญญาณไฟบอกคนข้ามถนน
ทางม้าลายรูปแบบดังกล่าว คล้ายกับ ‘ย่านชิบูยา’ (Shibuya) แหล่งช้อปปิ้งชั้นนำใจกลางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นคำเรียกติดปากอย่างรวดเร็วว่า ‘ชิบูยาอุดร’
สี่แยกแห่งนี้ เรียกว่า ‘Udonthani Walkable City’ ถูกเนรมิตขึ้นโดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี ร่วมกับสมาคมการผังเมืองไทย โดยมีเทศบาลนครอุดรธานีให้การสนับสนุน ทดลองเปิดไปเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา
การออกแบบทางม้าลายนี้ มีคนอธิบายว่า ใช้หลักการที่เรียกว่า ‘Tactical Urbanism’ คือเปลี่ยนที่รกร้างหรือแหล่งเสื่อมโทรมให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ โดยใช้ต้นทุนที่ไม่สูงมาก เช่น การใช้ศิลปะมาผสมผสาน
ชิบูยาอุดร แตกต่างไปจากย่านชิบูยาของญี่ปุ่นตรงที่ สีทาทางม้าลายตรงกลางจะมีสีเหลือง และขนาดไม่กว้างนัก แตกต่างจากญี่ปุ่นที่เป็นทางม้าลายสีขาวล้วน
ผ่านไปเกือบ 2 สัปดาห์ พบว่าหากสัญจรในยามค่ำคืน มีเพียงสีขาวของทางม้าลายเท่านั้นที่โดดเด่น ส่วนทางม้าลายสีเหลืองตรงกลางดูหมอง พร้อมกับสีอื่นๆ ที่ทาบริเวณริมฟุตปาธ
ขณะเดียวกัน สัญญาณไฟจราจรยังเปิดให้ข้ามถนนเพียง 4 ด้าน โดยไม่ได้เปิดไฟเขียวด้านที่ 5 ตรงกลางสี่แยก สร้างความงุนงงแก่ผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่บ้าง คาดว่าอาจเป็นเพราะช่วงเวลากลางคืน
ส่วนดรามาที่ว่า ยังมีบรรดารถจักรยานยนต์และรถยนต์จอดติดไฟแดงทับทางม้าลาย พบว่ามีน้อยลง คาดว่าเป็นผลมาจากโลกโซเชียลประจาน รวมทั้งรถสกายแลปหน้ายูดีทาวน์ยังถอยห่างทางม้าลายไปบ้าง
แม้ชิบูยาอุดร จะมีบางคนเหน็บแนมไปว่า ชิบูยาเสินเจิ้น ชิบูยาเทียม ชิบูยาปลอม แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ไม่ว่าจะสำเร็จหรือจะล้มเหลวก็ตาม แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
• สงครามร้านกาแฟ ‘บียอนด์ คาเฟ่’ VS ‘คลาส คาเฟ่’
แม้ร้านกาแฟจากโลกตะวันตก เฉกเช่น ‘สตาร์บัคส์’ จะมาล่าอาณานิคมที่อุดรธานี พร้อมกัน 3 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี, ตึกคอม แลนด์มาร์ค พลาซา อุดรธานี และ ยูดีทาวน์ อุดรธานี เมื่อปี 2555
แต่ก็มีร้านกาแฟเจ้าถิ่นอยู่แห่งหนึ่ง ที่เป็นโลคัลแบรนด์ของอุดรธานี นั่นคือ ‘บียอนด์ คาเฟ่’
บียอนด์ คาเฟ่ เปิดให้บริการสาขาแรก บนถนนศุภกิจจรรยา ย่านสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม ในปี 2555 เดิมเจ้าของร้านตั้งใจจะทำร้านคาร์แคร์ โดยมีร้านกาแฟเปรียบเหมือนห้องรับรองลูกค้า
แต่ทำไปทำมา ลูกค้าร้านกาแฟมีมากกว่าลูกค้าที่มาล้างรถ จนเก้าอี้มีไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มที่นั่งในสวน เลยกลายมาเป็นร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน และถูกยกให้เป็นของดีเมืองอุดรธานีจากหอการค้าจังหวัดอุดรธานีอีกด้วย
ปัจจุบัน บียอนด์ คาเฟ่ ขยายสาขาเพิ่มที่สนามกีฬากลางอุดรธานี เวสสุวรรณสเตเดียม ก่อนจะเปิดอีกสาขาหนึ่งที่ จ.หนองคาย และได้รับความไว้วางใจจากห้างฯ บุญถาวรให้มาเปิดสาขา รวมกันแล้วมีทั้งหมด 4 สาขาด้วยกัน
แต่สงครามร้านกาแฟในเมืองอุดรธานี นอกจากมีร้านกาแฟจากโลกตะวันตก และร้านกาแฟชื่อดังเข้ามาตีตลาดแล้ว ในปีนี้มีแบรนด์กาแฟรีเจียนอลจากโคราช “คลาส คาเฟ่” เข้ามาตีตลาดอุดรธานี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
โดย คลาส คาเฟ่ อุดรธานี เปิดสาขาในรูปแบบ โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ (Co-Working Space) ให้บริการ 24 ชั่วโมง บนถนนอดุลยเดช หลังห้างฯ เซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี ไปทางสวนสาธารณะหนองสิมไม่ไกลนัก
นอกจากนี้ ยังมีร้านกาแฟที่เปิดโดยเจ้าของกิจการ ที่เป็นคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นในตัวเมืองอุดรธานีเป็นระยะ แต่ถึงกระนั้นความนิยมของบียอนด์ คาเฟ่ก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด ต่อให้ร้านจะปิดแค่สองทุ่มครึ่งก็ตาม
สิ่งที่บียอนด์ คาเฟ่ และ คลาส คาเฟ่ มีเหมือนกันในเวลานี้คือ เครื่องดับเบิลเอ ฟาสต์ ปริ้นท์ (Double A Fast Print) บริการสั่งพิมพ์เอกสารด้วยตัวเอง เหมาะสำหรับนักศึกษา หรือคนที่ต้องการทำงานด้านเอกสารโดยเฉพาะ
ถือเป็นการรองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ในอุดรธานี ที่มีธุรกิจและอาชีพสมัยใหม่ ที่เปรียบได้กับเป็นนายตัวเอง ทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนหรือแรงงานเพียงอย่างเดียว
• ‘ท่าอากาศยานอุดรธานี’ ในวันที่ยังไม่โอนให้กับ ทอท.
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กรมอากาศยานทหารบก ได้ดัดแปลงเครื่องบินแบบเบร์เกต เป็นเครื่องบินขนส่งพัสดุไปรษณีย์ บินในเส้นทางโคราช-ร้อยเอ็ด-อุดรธานี ขณะนั้นสนามบินอุดรธานีอยู่ในพื้นที่โครงการชลประทาน
กระทั่งปี 2475 ได้ย้ายสนามบินไปยังที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในเขตทหาร กองบิน 23 กองทัพอากาศ โดยในปี 2500 ร่วมกับสหรัฐอเมริกาก่อสร้างทางวิ่งคอนกรีต ก่อนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารตามลำดับ
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานอุดรธานี มีทางวิ่ง (Runway) กว้าง 45 เมตร ยาว 3,048 เมตร ทางขับ (Taxiway) กว้าง 23 เมตร ลานจอดเครื่องบินรองรับเครื่องบินแอร์บัส A320 และโบอิ้ง B737 พร้อมกันได้ 6 ลำ
ส่วนอาคารผู้โดยสาร มี 2 อาคาร พื้นที่รวมทั้งหมด 19,459 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 3.4 ล้านคนต่อปี ที่ผ่านมาในปี 2560 มีเที่ยวบินเฉลี่ยรวมกัน 50 เที่ยวบินต่อวัน และจำนวนผู้โดยสาร 2.57 ล้านคน
ส่วนปี 2561 พบว่าในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. ถึง พ.ย. 2561) มีผู้โดยสาร 2.42 ล้านคน เที่ยวบิน 1.71 หมื่นเที่ยวบิน สินค้าและพัสดุไปรษณีย์รวม 1,234 ตัน
ที่นี่นอกจากจะมีประชาชน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวแล้ว ยังมีชาว สปป.ลาวเข้ามาใช้บริการ เนื่องจากสามารถต่อเครื่องที่กรุงเทพฯ ไปประเทศอื่นได้สะดวกกว่า และค่าโดยสารถูกกว่าบินจากนครหลวงเวียงจันทน์
ทำให้ต้องแบ่งออกเป็น 2 อาคาร ได้แก่ อาคาร A ประตู 1, 2 และ 3 สำหรับสายการบินไทยสมายล์ เที่ยวบินโค้ดแชร์การบินไทย และสายการบินนกแอร์ ส่วนอาคาร B ประตู 4 และ 5 สำหรับสายการบินแอร์เอเชีย และไทยไลอ้อนแอร์
อาคาร B ถูกปรับปรุงขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับเที่ยวบินต่างประเทศ แต่เมื่ออาคารในประเทศแออัด จึงเปิดใช้ไปก่อน ที่ผ่านมากรมท่าอากาศยานให้ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ 9 ปี ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2559 ต่อสัญญาทุก 3 ปี
ปัจจุบัน นอกจากจะมีร้านคาเฟ่อเมซอน 2 สาขาอยู่ในอาคาร B แล้ว ยังมีผู้เช่ารายอื่นๆ ประกอบด้วย อานตี้อานส์, เบอเกอร์คิง, เย็นตาโฟเครื่องทรง, ซุริคเบรด, แบล็คแคนยอน, หมูยอสุขสมบูรณ์ และห้องรับรองผู้โดยสารขาออก เดอะโครัล
ในช่วงที่ผ่านมา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้ความสนใจเข้าไปบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี พร้อมกับท่าอากาศยานสกลนคร ชุมพร และ ตาก
โดยผลการศึกษาพบว่า สามารถพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) โดยมีท่าอากาศยานสกลนครเป็นท่าอากาศยานคู่ขนานโครงข่ายในภาคอีสาน ซึ่ง ทอท. ยังไม่มีเครือข่ายตรงนั้น
เนื่องจาก ทอท. มีประสบการณ์ในการบริหารท่าอากาศยาน 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ภูเก็ต และ หาดใหญ่ จึงทำให้การพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานีทำได้ไม่ยากนัก
โดยได้เตรียมงบประมาณเบื้องต้น 1,200 ล้านบาท ปรับปรุงท่าอากาศยานอุดรธานี ให้ตรงตามมาตรฐาน ICAO หวังเพิ่มเที่ยวบินและเส้นทางบินตรงจากฝั่งประเทศยุโรปมาที่อุดรธานี ผู้โดยสารไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะประชุมกันเพื่อหาข้อสรุป ก่อนสรุปแนวทางการโอนกิจการ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นชอบ นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามลำดับ
และเนื่องจากท่าอากาศยานอุดรธานี ตั้งอยู่ในพื้นที่กรมธนารักษ์ หาก ทอท. รับโอนกิจการมาแล้ว ยังต้องเจรจากับกรมธนารักษ์ เพื่อเช่าพื้นที่แทนกรมท่าอากาศยาน พร้อมกับอีก 3 แห่งต่อไป
แม้มองกันผิวเผิน การให้ ทอท. เข้ามาบริหารจะส่งผลดี แต่ผู้โดยสารก็ต้องเตรียมตัวจ่ายค่าสนามบินเพิ่ม เที่ยวบินในประเทศ จาก 50 เป็น 100 บาทต่อเที่ยว เที่ยวบินระหว่างประเทศ จาก 400 เป็น 700 บาทต่อเที่ยว
ถ้าถามใจตัวเอง สิ่งที่อยากได้มากที่สุดก็คือ รถเมล์เข้า-ออกสนามบิน แทนการนั่งรถตู้ 80 บาทเพื่อเข้าเมือง หรือเดินออกไปข้างนอก ขึ้นรถสองแถวสาย 15 ทราบมาว่าอุดรซิตี้บัสก็จะมีให้บริการสาย 20 ไปสิ้นสุดที่ห้างฯ บิ๊กซีอุดรธานี เร็วๆ นี้
รวมทั้งอยากให้มีสะพานต่างระดับทางเข้าสนามบินอย่างขอนแก่น แทนสามแยกไฟแดงในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาอุดรธานีการจราจรติดขัด แม้จะเป็นเมืองใหญ่แต่แทบจะไม่ค่อยมีสะพานข้ามแยกเหมือนที่อื่น
• ‘รถเมล์ซิตี้บัส’ ยังต้องเลื่อน ‘รถไฟทางคู่’ ยังต้องรอ
การจราจรในเมืองอุดรธานี เป็นปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ชาวอุดรธานีบ่นว่าเป็นประจำทุกเช้าและเย็น ตามสถานศึกษาหรือย่านการค้า มักจะมีการจราจรติดขัดไม่ต่างไปจากกรุงเทพฯ
แต่ในปีหน้า (2562) อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเกิดขึ้น เริ่มจาก “โครงการอุโมงค์แยกรังษิณา” สี่แยกระหว่างถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี ตัดกับถนนมิตรภาพ ไปหนองคาย และถนนอุดรดุษฎี
โครงการนี้ใช้งบประมาณ 1,048 ล้านบาท ประกอบด้วยสะพาน 1 จุด และอุโมงค์ 1 จุด เริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2560 แต่การก่อสร้างล่าช้า ต้องขยายสัญญาจากวันที่ 4 ม.ค. 2562 ออกไป
ปัจจุบันมีความคืบหน้า 53% คาดว่าถ้าไม่เจอผู้รับเหมาทิ้งงานเหมือนแยกสันตพล จะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2562
เพื่อนเล่าให้ฟังว่า เนื่องจากที่ผ่านมาจังหวัดอุดรธานี ขึ้นอยู่กับ สำนักทางหลวงที่ 7 (ขอนแก่น) งบประมาณโครงการทางหลวงมักจะมาลงที่ขอนแก่นมากกว่า ทั้งๆ ที่เมืองอุดรธานีก็เติบโตไปมาก และมีปัญหาจราจรติดขัดบ่อยครั้ง
แต่อุดรธานีได้แค่สะพานข้ามแยกสันตพล ถนนนิตโยเท่านั้น แถมยังต้องเจอผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง กลายเป็นสะพานเจ็ดชั่วโคตร ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2547 แล้วเสร็จปี 2551 หรือกินเวลากว่า 4 ปี
ที่น่าแปลก คือ สี่แยกบ้านจั่น ถนนมิตรภาพตัดกับถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานีด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นประตูด่านแรกเมื่อเข้าเมืองอุดรธานี ปรากฎว่าจนถึงขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่สี่แยกไฟแดงเท่านั้น แถมมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
เขากล่าวสั้นๆ อย่างน่าน้อยใจอีกครั้งว่า อุดรธานีเปรียบเหมือนกับลูกเมียน้อย เมื่อเทียบกับขอนแก่น ที่งบประมาณถูกเทไปยังที่นั่นมากกว่า ถนนหนทางก็ดีกว่า ต่างจากอุดรธานีที่ทางหลวงก่อสร้างไม่นานก็ชำรุดซะแล้ว
ฟังแล้วรู้สึกว่า ระบบราชการไทยเป็นแบบนี้ ก็พูดอะไรไม่ออกเหมือนกัน ...
ส่วนระบบขนส่งมวลชน แม้ว่าในตัวเมืองอุดรธานีจะมีรถสองแถวในเมืองทั้งหมด 12 เส้นทาง แต่ บริษัท อุดรพัฒนาเมือง จำกัด จะเปิดเดินรถปรับอากาศ “อุดรซิตี้บัส” (Udon City Bus) 3 เส้นทาง
ได้แก่ สายที่ 10 สถานีรถไฟอุดรธานี-รอบเมือง, สายที่ 20 ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีอุดรธานี-ท่าอากาศยานอุดรธานี และสายที่ 21 สี่แยกตลาดรังสิยา-สี่แยกบ้านจั่น โดยได้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากใบอนุญาตประกอบการขนส่ง กำหนดให้ใช้รถใหม่ที่เป็น “รถชานต่ำ” จึงติดขัดที่กระบวนการผลิตรถจากประเทศจีน 6 คัน ก่อนจะนำเข้ามายังประเทศไทย ทำให้กำหนดการที่จะเดินรถในวันที่ 1 พ.ย. ต้องเลื่อนออกไป
แต่ในปีหน้าอาจจะได้ใช้รถเมล์ปรับอากาศ เริ่มจากสายที่ 20 ท่าอากาศยานอุดรธานี ผ่าน บขส.ใหม่ ถนนโพศรี ห้าแยกวงเวียนน้ำพุ บขส.เก่า เซ็นทรัลพลาซาอุดรธานี สถานีรถไฟอุดรธานี ยูดีทาวน์ ถนนนิตโย สิ้นสุดที่บิ๊กซีอุดรธานี
ใช้รถบัสยาว 9 เมตร 30 ที่นั่ง ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย แพงกว่ารถสองแถว 10 บาท แต่ก็ไม่ได้เดินรถตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนขอนแก่น เพราะท่าอากาศยานอุดรธานีมีเที่ยวบินตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 4 ทุ่มเท่านั้น
ส่วน โครงการรถไฟทางคู่ ช่วง ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 175 กิโลเมตร งบประมาณ 26,000 ล้านบาท รอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาอนุมัติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี
ช่วงที่ผ่านตัวเมืองอุดรธานี จะก่อสร้างเป็นทางยกระดับหลังผ่านสถานีหนองขอนกว้างเป็นต้นไป ระยะทาง 2 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ โดยผ่านสถานีรถไฟอุดรธานี ที่จะก่อสร้างใหม่เป็นสถานียกระดับ
แต่เนื่องจากโครงการรถไฟทางคู่กำลังก่อสร้าง ยาวไปจนถึงปี 2566 อาทิ ลพบุรี-ปากน้ำโพ, มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, นครปฐม-ชุมพร อีกทั้งยังมีโครงการที่รอพิจารณาพร้อมกันอีก 7 เส้นทาง รวมทั้งเส้นทางใหม่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม
ในที่สุด การรถไฟแห่งประเทศไทย อาจจะต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังเท่าที่จำเป็น คนอุดรธานียังคงต้องลุ้นต่อไปว่า รถไฟทางคู่จะเกิดขึ้นได้จริงในยุคนี้ เหมือนจังหวัดเพื่อนบ้านอย่างขอนแก่นหรือไม่?