วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
“ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศในปัจจุบันยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมสมัยใหม่ (Neo-Liberalism) เป็นฐานราก บรรดาประเทศที่เป็นสมาชิกองค์กรโลกบาลและเข้าสู่ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศล้วนต้องดำเนินนโยบายที่กำกับโดยฉันทมติวอชิงตัน (Washington Concensus) และอาจต้องถูกลงโทษทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยหากแหกคอกออกจากเส้นทาง ดังกล่าวนี้ …” - - - ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ คำนำจากหนังสือฉันทมติวอชิงตัน
ดังที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว “ธุรกิจหลัก” ที่ขับเคลื่อนวอชิงตัน ดี.ซี. อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คือ การต่อรองผลประโยชน์ในระดับชาติ และการต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ แน่นอนว่ากลไกที่มีความสำคัญมากกลไกหนึ่งสำหรับกระบวนการต่อรองต่าง ๆ ทั้งเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ ระดับท้องถิ่น ไปถึงระดับนานาชาติ ก็คือ ล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) หรือที่แวดวงรัฐศาสตร์ไทยแปลความหมายเป็น “นักวิ่งเต้น”
คำว่า นักวิ่งเต้น หรือ ล็อบบี้ยิสต์ ในบริบทเชิงภาษา และความรู้สึกของคนไทยล้วนเป็นความหมายในเชิงลบ เนื่องด้วยการต่อรองทุกครั้งย่อมมีความเกี่ยวพันกับเรื่องผลประโยชน์
ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ ลูอิส นักวิชาการ นักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน และอดีตโปรดิวเซอร์รายการ 60 minutes บอกกับผมและนักข่าวไทยว่า ในสหรัฐอเมริกามีสิ่งที่เรียกว่า การคอร์รัปชันอย่างถูกกฎหมาย (Legal Corruption) ดาษดื่นไปหมด โดยบางเรื่องเป็นเรื่องสามัญสำนึก หรือ บางเรื่องเป็นเพียงเส้นแบ่งบาง ๆ ที่กฎหมายยังเอื้อมมือไปไม่ถึง
เมื่อเดินบทท้องถนนบนวอชิงตัน ดี.ซี. คุณไม่มีทางรู้เลยว่า ชายใส่สูทเข้ม มือซ้ายถือแก้วกาแฟ มือขวาถือกระเป๋าเอกสาร หรือ สาวสวยในชุดเดรสสีอ่อนสะพายกระเป๋าหนังแชแนล และกอดแมคบุ๊กไว้ในอ้อมอก จะประกอบอาชีพเป็นล็อบบี้ยิสต์หรือไม่ เพราะในปี 2560 ตัวเลขอย่างเป็นทางการของ “ล็อบบี้ยิสต์ที่ลงทะเบียน (Registered Lobbyists)” ในสหรัฐอเมริกานั้นมีมากถึง 11,444 คน
ขณะที่ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการเพื่อการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับล็อบบี้ก็สูงถึง 3,340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 7 ปี จากการรายงานข่าวของยูเอสเอ ทูเดย์
ทั้งนี้จากตัวเลขล่าสุดในปีนี้ 2561 (ค.ศ.2018) ข้อมูลถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2561 จากการเปิดเผยของเว็บไซต์ opensecrets.org ชี้ให้เห็นว่าองค์กร 3 อันดับแรก ที่ใช้เงินเยอะที่สุดในการล็อบบี้คือ สภาหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce), สมาคมนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (National Association of Realtors) และ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งสหรัฐอเมริกา (Pharmaceutical Research & Manufacturers of America)
กลับมาถึงทริปเดินทัวร์สถานที่สำคัญของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ผมเล่าค้างไว้กันต่อ
จากจัตุรัสลาฟาแยตต์ ทำเนียบขาว เดินเลี้ยวซ้ายผ่านอาคารสำนักงานกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury Building) ทางขวา ข้างหน้าเราจะเป็นแยกตัดระหว่าง New York Ave NW และ 15th St NW เราเดินข้ามถนน และเลี้ยวขวาผ่านร้านขายของที่ระลึกของทำเนียบขาว (White House Gifts) เรื่อยมา ผ่านโฮเต็ล วอชิงตัน มาจนถึงจุดที่ถนน 15th St NW ตัดกับ ถนน Pennsylvania Ave NW เราก็จะพบกับ โรงแรมเดอะ วิลลาร์ด (The Willard Intercontinental Washington)
เคยสงสัยไหมว่าทำไม “นักวิ่งเต้น” ในภาษาอังกฤษจึงถูกเรียกขานว่า ล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) ทั้ง ๆ ที่คำว่า ล็อบบี้ (Lobby) นั้นดั้งเดิมแล้วมีความหมายเพียงว่า ห้องโถง หรือ ห้องขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับรับรองแขกหรือให้นั่งรอก่อนที่จะไปยังส่วนอื่นเท่านั้น
คำตอบสำหรับคำถามนี้อยู่ที่ ณ โรงแรมเดอะ วิลลาร์ด นี่เอง
เล่าลือกันว่า ในสมัยที่ ยูลิสซีส ซิมป์สัน แกรนต์ (Ulysses Simpson Grant) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2412-2420 (ค.ศ.1869-1877) โดยคนไทยบางส่วนอาจเคยได้ยินชื่อของแกรนต์มาบ้างเพราะแกรนต์เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนแรกที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย (สยามในอดีต) เมื่อ 2422 (ค.ศ.1879) ในสมัยรัชกาลที่ 5 เขาเป็นคนที่ชอบดื่มวิสกี้และสูบซิการ์มาก แต่เนื่องจากภรรยาของแกรนต์ไม่ชอบกลิ่นซิการ์ เมื่อมีเวลาว่างแกรนต์จึงชอบเดินจากทำเนียบขาว มายังโรงแรมเดอะ วิลลาร์ดเพื่อหย่อนใจด้วยซิการ์ กับวิสกี้
“ในอดีตที่การรักษาความปลอดภัยผู้นำไม่ได้เข้มงวดอย่างเช่นในปัจจุบัน ประธานาธิบดีแกรนต์ มักจะใช้เส้นทางที่เราเพิ่งเดินผ่านกันมานี้ เดินจากทำเนียบขาวมายังโรงแรมเดอะ วิลลาร์ด เพื่อนั่งสูบซิการ์ในล็อบบี้ ในช่วงเวลาประมาณ 5 โมงเย็นของทุกวัน
“เนื่องจากในเวลาปกติประธานาธิบดีจะยุ่งมาก ทำให้คนที่อยากจะเข้าพบ ปธน.แกรนต์ แต่ไม่มีโอกาสได้พบในเวลาปกติ แต่ทราบข่าวว่าแกรนต์ชอบมานั่งดื่มวิสกี้และสูบซิการ์ที่นี่ก็มักจะมาดักรอประธานาธิบดีแกรนต์ที่นี่ ในล็อบบี้ที่เรายืนกันอยู่นี่ เพื่อเข้าถึงตัวประธานาธิบดี ... นี่เองซึ่งว่ากันว่าเป็นที่มาของคำว่า การล็อบบี้ (Lobbying) และล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) ซึ่งต่อมาถึงปัจจุบันหมายถึง ความพยายามในการโน้มน้าวผู้มีอำนาจให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด ๆ” ไกด์สาวชาว ดี.ซี. กล่าวและทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ถูกเล่ากันสนุก ๆ ต่อกันมานับเวลาเป็นร้อยปีแล้ว
วันที่เราไปเยือน บรรยากาศภายในล็อบบี้ของโรงแรมวิลลาร์ด ดูอบอุ่นไปด้วยกลิ่นอายและสีสันของเทศกาลคริสต์มาส แต่ก็ยังคงความขรึมขลังไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์อันยาวนานนับร้อยปีของสถานที่ ในย่านศูนย์กลางของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แหล่งรวมอำนาจ และการตัดสินใจด้านการเมืองการปกครองของประเทศสหรัฐอเมริกา
ไม่ว่าจะรู้สึกดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ เรามิอาจปฏิเสธได้เลยว่า ในเมื่อระบอบประชาธิปไตย คือ ระบบที่เปิดให้คนทุกคน ทุกระดับชั้น เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง และยึดถือเอามติของคนส่วนใหญ่ในการตัดสินใจ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธการรับฟัง ละทิ้ง หรือตัดสิทธิของคนส่วนน้อย ในเกือบทุกขั้นตอนของกระบวนการประชาธิปไตยจึงขาด “การประสานงาน และ การต่อรอง” ไปไม่ได้ และจำเป็นจะต้องปรากฏตัวละครที่เรารู้จักกันในนาม “ล็อบบี้ยิสต์”
อ่านเพิ่มเติม :
>> ฉันทมติวอชิงตัน โดย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ (PDF); https://goo.gl/cNx5J4 <<
>> Analysis: Lobbying activity at highest level since 2010; https://thehill.com/business-a-lobbying/business-a-lobbying/371033-lobbying-activity-at-highest-level-since-2010-report <<
>> Top Spenders Lobbying Client 2018; https://www.opensecrets.org/lobby/top.php?showYear=2018 <<