xs
xsm
sm
md
lg

ทำเนียบขาว อุโมงค์แห่งความรัก และ สัจธรรมแห่งอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

ทำเนียบขาวมองจากจัตุรัสลาฟาแยตต์ (เอพี)
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


วอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ และการเมืองการปกครองของ มหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ณ ปัจจุบัน

ชื่อนครวอชิงตัน ดี.ซี. หรือ วอชิงตัน ดิสทริกออฟโคลัมเบีย เป็นการรวมเอาชื่อของ จอร์จ วอชิงตัน จอมทัพและประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เข้ากับ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจ นักเดินเรือ และพ่อค้าชาวอิตาเลียน ผู้บุกเบิกดินแดนใหม่ในทวีปอเมริกาเหนือให้แก่ชาวยุโรป ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำ ณ จุดบรรจบกันของแม่น้ำโปโตแมค และแม่น้ำอนาคอสเทีย ระหว่างรัฐแมรีแลนด์ และเวอร์จิเนีย

ปัจจุบันเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. มีประชากรมาขึ้นทะเบียน ราว 680,000 คน แต่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่เข้ามาติดต่อและทำงานจากแมรีแลนด์ เวอร์จิเนีย จากทั่วสหรัฐอเมริกา รวมถึงจากทั่วทุกมุมโลกรวม ๆ แล้วหลายล้านคน

กล่าวกันว่า “ธุรกิจหลัก” ที่ขับเคลื่อนวอชิงตัน ดี.ซี. อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คือ การต่อรองผลประโยชน์ในระดับชาติ และการต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยมี “ธุรกิจเสริม” คือการท่องเที่ยว โดยทุกปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเมืองนี้มากถึง 18-19 ล้านคน*

เช้าวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2561 “แมดดี้” มัคคุเทศก์สาวท้องถิ่น ที่เรียนจบและมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอารบิกมารับเราถึงโรงแรมที่พัก และพาพวกเราไปเยี่ยมชมวอชิงตัน ดี.ซี. โดยเป็นการเยี่ยมชมแบบผสมผสาน ระหว่างรถบัส และวอล์คกิงทัวร์ (Walking Tour)

ในวันอาทิตย์แม้อากาศจะดูขมุกขมัวไม่เอื้อต่อการถ่ายภาพไปบ้าง แต่กลับอัดแน่นไปด้วยข้อมูลความรู้ และการเสริมด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากอดีตนักการทูตชาวสหรัฐฯ วัยเกษียณ (ผู้มีภรรยาเป็นชาวไทย) ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมือง การต่างประเทศสหรัฐฯ มายาวนานกว่า 50 ปี

จุดแรกที่เราไปเยือนคือ จัตุรัสลาฟาแยตต์ และ ทำเนียบขาว (White House) ที่พักและที่ทำงานหลักของผู้นำสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

“หลายคนบอกว่า ‘ทำเนียบขาว’ น่าจะใหญ่กว่านี้ แต่ถ้าเห็นด้วยตาตัวเองแล้วจะรู้สึกได้ว่าที่พักและที่ทำงานของผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้ใหญ่เลย จริง ๆ ก็ดูเหมือนคฤหาสน์หลังหนึ่งเท่านั้น แต่โดยนัยยะแล้ว ทำเนียบขาวสร้างขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า อำนาจเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน (Power Shift and Fade) เหมือนกับตัวทำเนียบขาวที่จริง ๆ แล้วก็สร้างด้วยอิฐเหมือนอาคารปกติ เพียงแต่ทาสีขาวทับเท่านั้นเอง เมื่อเวลาผ่านไปสีก็จางก็ลอก ต้องทาสีขาวทับใหม่ ผิดกับอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ (U.S. Capitol) และอาคารศาลฎีกาสหรัฐฯ (U.S. Supreme Court) ที่สร้างขึ้นจากหินอ่อนและเหล็กกล้า อันสะท้อนให้เห็นว่า อำนาจของผู้นำนั้นมาแล้วก็ไป ส่วนอำนาจของประชาชน และความยุติธรรมนั้นอยู่ยั้งยืนยง” มัคคุเทศก์สาวเล่า

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก เว็บไซต์ whitehousehistory.org ระบุว่าหากต้องการทาสีอาคารหลักของทำเนียบขาวใหม่ทั้งหลังจะต้องใช้สีขาวราว ๆ 300 แกลลอน
เต็นท์นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทำเนียบขาวมายาวนานหลายสิบปี


(ขวา) อาคารสำนักงานบริหารไอเซนฮาวร์ (Eisenhower Executive Office Building) หรือในชื่อเล่นคือ ก้อนเค้กงานแต่งสีเทา (Grey Wedding Cake)
อดีตนักการทูตสหรัฐฯ วัยเกษียณ ผู้มักจะแต้มใบหน้าด้วยรอยยิ้ม กล่าวเสริมขึ้นว่า ถ้ายืนจากจัตุรัสลาฟาแยตต์หันหน้าเข้าไปยังทำเนียบขาว ทางด้านขวา (ทิศตะวันตก) ของทำเนียบขาวจะพบกับอาคารที่ตัวเขา และเหล่านักการทูตสหรัฐฯ เรียกกันเล่น ๆ ว่า “ก้อนเค้กงานแต่งสีเทา (Grey Wedding Cake)” อันหมายถึง อาคารสำนักงานบริหารไอเซนฮาวร์ (Eisenhower Executive Office Building) ซึ่งในอดีตเป็นที่ทำการของหน่วยบัญชาการสงคราม (State, War, and Navy Building) ก่อนที่ในปัจจุบันจะถูกใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี เนื่องด้วยทำเนียบขาวมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด

ทุกวันนี้อาคารทำเนียบขาวซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ซึ่งเลียนแบบมาจากสถาปัตยกรรมกรีกโบราณ ส่วนพื้นที่ภายในรั้วของทำเนียบขาวกินพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 18 เอเคอร์ (ราว 72,800 ตารางเมตร) ขณะที่ตัวบ้านแบ่งเป็นส่วนกลาง ปีกตะวันตก และปีกตะวันออกมีทั้งหมด 6 ชั้นประกอบไปด้วย ชั้นใต้ดินสองชั้น ชั้นพื้นดิน (Ground) ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และชั้นสาม และมีทางเชื่อมใต้ดินไปยังกลุ่มอาคารใกล้เคียงคือ อาคารสำนักงานบริหารไอเซนฮาวร์ คฤหาสน์แบลร์ (Blair House) ซึ่งใช้เป็นที่พำนักรับของอาคันตุกะ และอาคารสำนักงานกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury Building) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก
แผนที่สำหรับกลุ่มทัวร์ที่ต้องการชมทำเนียบขาวแบบใกล้ชิด
อาคารสำนักงานกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury Building)
เมื่อคณะของเราเดินผ่านหน้า อาคารกระทรวงการคลัง แมดดี้เล่าให้ฟังว่า อุโมงค์ที่เชื่อมระหว่างอาคารแห่งนี้กับทำเนียบขาวมีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า อุโมงค์แห่งความรัก (Tunnel of Love) เนื่องจากอาคารแห่งนี้มักจะไม่ถูกจับตามองจากสื่อมวลชนและสาธารณชน คนที่ทำงานอยู่ในทำเนียบขาวจึงมักจะใช้อุโมงค์นี้เป็นทางออกเพื่อหลบสายตาของนักข่าว ในทางกลับกันจากคำบอกเล่าของ วอร์เรน “บิล” กัลลีย์ อดีตหัวหน้าสำนักงานการทหารของทำเนียบขาวก็เคยเปิดเผยว่า ในสมัยของประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน (ดำรงตำแหน่งช่วงปี 2506-2512) และ จิมมี คาร์เตอร์ (2520-2524) บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ชายหนุ่มของทำเนียบขาว ก็มักจะทำลับ ๆ ล่อ ๆ ด้วยการใช้อุโมงค์แห่งนี้เพื่อลักลอบพาแฟนสาว หรือ ชู้ เข้ามายังทำเนียบขาวเพื่อมีเพศสัมพันธ์กันในห้องนอนลินคอห์น (Lincoln Bedroom) ซึ่งอยู่บนชั้น 2 ของทำเนียบขาว

“แต่เท่าที่ทราบ บิล คลินตัน ประธานาธิบดีคนที่ 42 ของสหรัฐฯ ไม่ได้ใช้งานอุโมงค์แห่งความรักนี้นะคะ**” ไกด์สาวกล่าวติดตลก พร้อมกับเสียงหัวเราะของคนทั้งคณะ
ห้องนอนลินคอห์น (Lincoln Bedroom) บริเวณชั้น 2 ของทำเนียบขาว

อ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม :
* >> Managing Facts in the Age of Digital Media --- A Project for Thailand, Office of International Visitors Bureau of Educational and Cultural Affairs, U.S. Department of State <<
** ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี บิล คลินตัน ก่อคดีอื้อฉาวด้วยการยอมรับว่ามีความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับ โมนิกา ลูวินสกี นักศึกษาฝึกงานสาวในทำเนียบขาว โดยเหตุเกิดในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2538 จนถึงมีนาคม 2540 ซึ่งโมนิกายอมรับว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศ (Sexual Act) แต่ไม่ถึงขั้นการมีเพศสัมพันธ์ (Sexual Intercourse) กับคลินตันจริงรวม 9 ครั้งในห้องทำงานรูปไข่ (Oval office) ทางซีกตะวันตกของทำเนียบขาว โดยการใช้ปากแต่ไม่ถึงขั้นร่วมเพศ โดยคดีนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และส่งผลสะเทือนจนถึงทำให้เกิดการถอดถอน (Impeachment) คลินตันจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ก็ไม่สำเร็จ โดยคดีอื้อฉาวนี้รู้จักกันในนาม คดีลูวินสกี (Clinton–Lewinsky scandal)


กำลังโหลดความคิดเห็น