ผู้ถือบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต คงทราบกันดีว่า ธนาคารต่างๆ ได้ทยอยเปลี่ยนรูปแบบบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตทุกประเภท ที่เป็นระบบแถบแม่เหล็กอย่างเดียว ให้เป็นแบบมีชิป มีผลทุกธนาคารไปตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา
สืบเนื่องมาจากนโยบายของคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนบัตรให้เป็นชิปการ์ด เพื่อแก้ปัญหาการปลอมแปลงบัตร ที่เกิดจากการโจรกรรมข้อมูล หรือ สกิมมิ่ง
ที่สำคัญ กำหนดให้บัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็กอย่างเดียว สามารถใช้งานได้ที่ตู้เอทีเอ็มถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ระหว่างนั้นธนาคารฯ จะให้ลูกค้าเปลี่ยนบัตรเดบิตเป็นแบบชิปการ์ดได้ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมให้
แต่ด้วยความที่สมัยก่อน แต่ละธนาคารใช้ระบบชิปการ์ดเป็นของตัวเองแบบต่างคนต่างทำ เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ก็เพิ่งจะเปลี่ยนเป็น “บัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลาง” (Thai Standard) ใช้รหัส 6 หลักในการทำรายการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย บังคับใช้บัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลาง มีผลทุกธนาคารตั้งแต่ 16 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา เพื่อให้ปลอดภัยเทียบเท่าสากล สร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินและการชำระเงินของประเทศ
บางธนาคารสังเกตที่ลายบนหน้าบัตร ปี 2559 ลวดลายหน้าบัตรเป็นแบบหนึ่ง แต่มาปีนี้กลับมีลวดลายหน้าบัตรเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ผู้ถือบัตรเดบิตที่มีอยู่เดิม ยังสามารถใช้บัตรเดิมต่อไปได้จนกว่าจะครบอายุบัตร 5 ปี
สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกต คือ เมื่อบัตรชำรุดหรือสูญหายเพราะถูกขโมย จะต้องคิดค่าธรรมเนียมใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นค่าธรรมเนียมออกบัตรทดแทน และบัตรเดบิตที่ได้รับ บางธนาคารหน้าตาจะไม่เหมือนกับที่เคยเปลี่ยนมาก่อน
ที่รู้สึกไม่เป็นธรรมก็คือ กรณีถูกเครื่องเอทีเอ็มกลืนบัตร
ปกติแล้วถ้าเป็นเอทีเอ็มธนาคารเดียวกันกับบัตร โทร.ไปแจ้งอายัดบัตรกับธนาคาร มักจะได้รับคำแนะนำให้นำบัตรประชาชน และสมุดบัญชีธนาคารไปขอออกบัตรใหม่ได้ฟรี
แต่สำหรับธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง เมื่อโทร.ไปอายัดแล้วขอออกบัตรใหม่ กลับพบว่าธนาคารคิด “ค่าธรรมเนียมแรกเข้า” พร้อมกับคำนวณค่าธรรมเนียมรายปีเสียใหม่ โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ใช่รุ่นใหม่ล่าสุด”
ทั้งที่เป็นประเภทบัตรเดบิตเดียวกัน ค่าธรรมเนียมเหมือนกัน หนำซ้ำกรณีเอทีเอ็มกลืนบัตร ไม่ใช่ความผิดของลูกค้าเสียด้วยซ้ำ แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้า เพียงเพราะธนาคารเปลี่ยนไปใช้ชิปการ์ดมาตรฐานกลาง
ที่สุดแล้วเมื่อร้องเรียนไปยังช่องทางของธนาคาร วันรุ่งขึ้นถึงได้รับแจ้งว่า ทางสาขาจะคืนค่าธรรมเนียมแรกเข้าให้กับลูกค้า 100 บาท ยังคิดอยู่เลยว่า ถ้าลูกค้าคนอื่นไม่ทราบ รวมกันเป็นพันคน ค่าธรรมเนียมแรกเข้ารวมกันจะตั้งเท่าไหร่
อีกปัญหาหนึ่งจากการใช้บัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลาง คือ โดยปกติแล้ว การรูดบัตรเพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่านเครื่องรูดบัตร (EDC) จะต้องกดรหัส (PIN) 6 หลัก เพื่อยืนยันก่อนอนุมัติรายการ
เข้าใจว่าต้องการทำให้เหมือนกับต่างประเทศ เช่น “มาเลเซีย” ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีการทุจริตบัตรเครดิต และบัตรเดบิตอันดับต้นๆ ของโลก ออกมาตรการที่เรียกว่า “พิน แอนด์ เพย์” โดยต้องกดรหัสผ่าน 6 หลักก่อนอนุมัติรายการ
รวมไปถึงประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ต่างก็ใช้รหัสลับแทนลายเซ็น แต่สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ยังคงใช้วิธีเซ็นชื่อบนเซลล์สลิป จากเครื่องรูดบัตรที่ไม่รองรับระบบพิน
สำหรับเมืองไทย ธนาคารบางแห่งเปลี่ยนเครื่องรูดบัตรให้รองรับระบบ PIN 6 หลักไปบ้างแล้ว นอกจากจะรองรับบัตรเครดิต บัตรเดบิตแล้ว ยังรองรับคิวอาร์โค้ด แถมมีอุปกรณ์เสริมอย่างอุปกรณ์ที่ใช้กดรหัสประจำตัว (PIN PAD) อีกต่างหาก
แต่ก็มีร้านค้าบางแห่ง นอกจากจะต้องให้ลูกค้ากดรหัส PIN 6 หลักแล้ว เมื่ออนุมัติรายการ แล้วมีเซลสลิปออกมา ยังต้องให้ลูกค้าเซ็นชื่อในเซลสลิป ทั้งๆ ที่ซื้อของราคาไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกดี
อีกด้านหนึ่ง ยังมีร้านค้าอีกหลายแห่ง ที่ยังคงใช้เครื่องรูดบัตรแบบเก่า เนื่องจากธนาคารยังไม่มาเปลี่ยน หรือไม่ยอมเปลี่ยน เพราะเคยชินกับเครื่องรูดบัตรแบบนี้อยู่แล้ว
กลายเป็นการสร้างภาระให้แก่ลูกค้า มากกว่าที่จะอำนวยความสะดวกใช้จ่ายแทนเงินสด
ร้านค้าแห่งหนึ่งใช้เครื่องรูดบัตรรุ่นเก่า พอนำบัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลางมาใช้ สักพักแจ้งว่า “บัตรนี้ใช้ไม่ได้” แต่สังเกตเห็นพนักงานรอคอยเครื่องอยู่นาน ไม่รู้ว่าต้องใส่ PIN 6 หลักหรือไม่
มีอยู่วันหนึ่ง ต้องตัดสินใจบอกร้านค้าไปเลยว่า “มันต้องกดรหัส 6 หลักก่อนถึงจะอนุมัติ” ต้องขอเข้าไปวุ่นวายในเคาน์เตอร์เก็บเงิน เพื่อกดรหัส PIN 6 หลัก กว่าจะอนุมัติรายการได้ก็เป็นไปอย่างทุลักทุเล ต้องคอยอธิบายกว่าพนักงานในร้านจะเข้าใจ
ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ประกาศตัวว่ารูดบัตรไม่มีขั้นต่ำ (แตกต่างจากร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ จะรูดบัตรต้องซื้อของขั้นต่ำ 300 บาทขึ้นไป) พอนำบัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลางมาใช้ กลับทำรายการไม่ได้ ต้องหยิบบัตรเครดิตมาใช้แทน
หรือจะเป็นปั๊มน้ำมันชื่อดังแห่งหนึ่ง ใช้เครื่องรูดบัตรแบบเก่า ติดตั้งประจำที่ พอนำบัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลางมาใช้ สักพักพนักงานแจ้งว่า “พี่คะ ต้องกดรหัส PIN ค่ะ” ต้องเสียเวลาลงจากรถไปที่ตู้แคชเชียร์ในปั๊มเพื่อกดรหัส PIN
พักหลังๆ ใช้บัตรพรีเพดการ์ด เติมน้ำมันแทนเงินสด กลับอนุมัติรายการโดยไม่ต้องใส่รหัส เพราะบัตรใบนี้ไม่สามารถกดเงินสดจากตู้ ATM จึงไม่มีรหัสให้อยู่แล้ว ทุกวันนี้ต้องใช้วิธีเติมเงินลงในบัตรผ่านแอปฯ ก่อนเติมน้ำมัน ดูยุ่งยากดีแท้
ปั๊มน้ำมันในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นแบบพนักงานให้บริการลูกค้า แตกต่างจากมาเลเซีย ที่มีจุดเติมน้ำมันด้วยตัวเอง (Self-Service fuel terminal) ก็ยังบังคับให้ใช้รหัส PIN 6 หลักเพื่อยืนยันการชำระเงิน
เครื่องรูดบัตรบางธนาคารที่ดีลกับปั๊มน้ำมันนั้นเอาไว้ มักจะยกเว้นไม่ต้องกดรหัส PIN 6 หลักแก่ลูกค้าที่ใช้บัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลาง เช่น ปั๊มน้ำมัน ปตท. หรือ บางจาก ใช้เครื่องรูดบัตรของธนาคารกสิกรไทย
หรืออย่างปั๊มน้ำมันพีที แม้จะใช้เครื่องรูดบัตรของธนาคารกสิกรไทย แต่ก็เป็นเครื่องรูดบัตรแบบเคลื่อนที่ พนักงานจะนำเครื่องมาให้ลูกค้ากดรหัส PIN 6 หลักด้วยตัวเองโดยไม่ต้องลงจากรถ
สามกรณีที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลาง ไม่นับรวมสารพันปัญหาที่เกิดจากการใช้บัตรเดบิต ทั้งการรูดบัตรขั้นต่ำ การปฏิเสธรับบัตรจากธนาคารอื่น ฯลฯ
เอาเฉพาะตัวอย่างง่ายๆ การรูดบัตรขั้นต่ำเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในกติกา เพราะหากต้องการสร้างสังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง จะต้องไม่มีขั้นต่ำในการชำระ อีกทั้งปัจจุบันค่าธรรมเนียมร้านค้ารับบัตรเดบิต ลดเหลือเพียงแค่ 0.55% เท่านั้น
คุณผู้อ่านอาจมองว่า ถ้ารู้สึกว่ามันยุ่งยากนัก ก็ไม่ต้องใช้บัตรเดบิตมันสิ ทั้งที่จริงแล้ว เป็นสิทธิของผู้บริโภคพื้นฐานที่พึงจะได้รับ นอกจากค่าธรรมเนียมรายปีอย่างต่ำ 200 บาทต่อปีแล้ว ควรจะมีทางเลือกมากกว่าใช้กดเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็ม
ขณะที่การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด แม้จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นแต่ก็ไม่ค่อยแพร่หลายนัก ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะเคยชิน อีกทั้งบัตรเดบิตยังจำเป็นสำหรับร้านค้ารับบัตรที่มีอยู่นับหลักสิบล้านแห่งทั่วโลก
ภายใน 5 ปีข้างหน้า ประชาชนที่ถือบัตรเดบิตกว่า 58.85 ล้านใบ จะทยอยเปลี่ยนบัตรเป็นแบบชิปการ์ดมาตรฐานกลางทั้งหมด ในขณะที่ร้านค้าบางแห่ง ยังมีเครื่องรูดบัตรที่ไม่รองรับการกดรหัส PIN 6 หลักทางกายภาพอีกจำนวนมาก
เป็นสื่งที่ธนาคารต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับเครื่องรูดบัตร รองรับบัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลาง ที่มีแนวโน้มนำมาใช้มากขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดขัดข้อง เป็นภาพจำของผู้บริโภคจนไม่กล้าหยิบบัตรขึ้นมาใช้อีก
กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้าง “สังคมไร้เงินสด” ที่ไม่มีอยู่จริง