อาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์” จากสุภาษิตสอนหญิง ของสุนทรภู่ หมายถึง การรู้จักเก็บหอมรอมริบ ค่อยเก็บสะสมเงินที่ละเล็กทีละน้อย เผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน แต่สำหรับยุคนี้ดูเหมือนว่า แม้การออมโดยหยอดเหรียญลงในกระปุกออมสินจะไม่ลำบาก แต่การจะนำเหรียญที่เก็บออมมาได้รวมกัน เพื่อฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร อาจกลายเป็นว่า ลำบากกว่าที่คิด
ในชีวิตประจำวันอาจมีหลายคน เลือกที่จะพกเหรียญควบคู่ไปกับกระเป๋าสตางค์เพื่อใช้จ่าย แต่อีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่าการพกเหรียญไปมาเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก จึงเลือกที่จะเก็บเหรียญที่ได้รับในแต่ละวันไว้ในภาชนะ หรือถ้าเป็นกิจจะลักษณะที่สุดก็ซื้อกระปุกออมสิน ปัจจุบันมีขายในร้านขายของจุกจิกต่างๆ ในราคาไม่แพงนัก ไปจนถึงกระปุกออมสินยักษ์หลักร้อยบาทก็มี
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนกันยายน 2561 ระบุว่า มีเหรียญกษาปณ์ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด 72,460 ล้านบาท คิดเป็น 4.28% ของเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด 1.69 ล้านล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่ผลิตและนำออกใช้เหรียญกษาปณ์ คือ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
สมัยก่อน หน่วยงานรับแลกเหรียญที่ประชาชนรู้จักกันดีก็คือ “สำนักงานคลังจังหวัด” แต่ละจังหวัด กับ “ธนาคารออมสิน” ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและระดมเงินออม นอกนั้นก็จะรับแลกเหรียญแบบไม่เป็นกิจจะลักษณะ เช่น ร้านค้าหรือตลาดสดที่ไหนต้องการเหรียญกษาปณ์จำนวนมาก เพื่อใช้สำหรับทอนเงินแก่ลูกค้า ก็นำเหรียญไปแลกได้ที่นั่น
วิบากกรรมของการแลกเหรียญกษาปณ์เกิดขึ้น เมื่อ กรมบัญชีกลาง ได้ส่งมอบภารกิจการรับจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ ณ สำนักงานคลังจังหวัด ให้แก่ธนาคารออมสิน เป็นผู้ดำเนินการให้บริการต่อไป นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นมา ส่วนกรณีบริษัทห้างร้าน ต้องการรับจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จำนวนมาก สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ 6 แห่ง จะเป็นผู้รับผิดชอบ
ขณะที่ธนาคารออมสิน ได้คิดค่าธรรมเนียมการให้บริการนับเหรียญกษาปณ์ มาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2552 โดยหากแลกเหรียญกษาปณ์เพื่อฝากเงินเข้าบัญชีเกินกว่า 3,000 บาท คิดค่าธรรมเนียม 1% ขั้นต่ำ 30 บาทต่อรายการ หากแลกเหรียญกษาปณ์เป็นธนบัตร รวมถึงการฝากเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม คิดค่าธรรมเนียม 1% ขั้นต่ำ 10 บาทต่อรายการ
ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คิดค่าธรรมเนียมรับฝากเงินเป็นเหรียญกษาปณ์ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ เกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียม 1%, ธนาคารกสิกรไทย คิดค่านับเหรียญตั้งแต่ 501 เหรียญขึ้นไป 1% ของมูลค่ารวม ขั้นต่ำ 20 บาท, ธนาคารไทยพาณิชย์ คิดค่านับเหรียญตั้งแต่ 201 เหรียญขึ้นไป 2% ของมูลค่ารวม ขึ้นต่ำ 20 บาท
เนื่องจากการฝากเงินเป็นเหรียญกษาปณ์ หรือการแลกเป็นธนบัตร พนักงานสาขาจะต้องนับเหรียญจำนวนมาก ใช้เวลานานพอสมควร กินเวลาให้บริการแก่ลูกค้าคนอื่นๆ ขณะเดียวกัน ยังมีนิติบุคคล และผู้ประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้เติมเงินต่างๆ ฯลฯ ก็นำเหรียญกษาปณ์มาฝากหรือแลกเช่นกัน
อีกทั้งธนาคารยังต้องแบกรับภาระจัดการเหรียญกษาปณ์ ทั้งการจัดเก็บและขนส่งเหรียญส่วนเกิน แตกต่างจากการจัดการธนบัตร ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้พิมพ์ธนบัตรดูแลอยู่ มีศูนย์จัดการธนบัตร 10 แห่งทั่วประเทศ แถมธนาคารแต่ละแห่งยังมีระบบหมุนเวียนธนบัตรด้วยตัวเอง เช่น เครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (ADM Recycle)
อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องทางแลกเหรียญกษาปณ์แบบไม่เป็นกิจจะลักษณะ ขึ้นอยู่กับความต้องการของร้านค้านั้นๆ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก ฯลฯ โดยต้องสอบถามจุดบริการลูกค้า หรือแคชเชียร์ก่อนว่า ที่นี่รับแลกเหรียญหรือไม่ เพราะสาขาบางแห่งมีธนาคารมาแลกถึงที่ หรือมีเหรียญเพียงพอที่จะให้บริการลูกค้าแล้ว มักจะปฏิเสธอย่างสุภาพก็มี
การนำเหรียญกษาปณ์ไปใช้ก็ยังมีข้อจำกัด เหรียญ 25 สตางค์ ใช้ได้ไม่เกิน 10 บาท (40 เหรียญ), เหรียญ 50 สตางค์ ใช้ได้ไม่เกิน 10 บาท (20 เหรียญ), เหรียญ 1 บาท ใช้ได้ไม่เกิน 500 บาท, เหรียญ 2 บาท ใช้ได้ไม่เกิน 500 บาท (250 เหรียญ), เหรียญ 5 บาท นำไปใช้ได้ไม่เกิน 500 บาท (100 เหรียญ) และเหรียญ 10 บาท นำไปใช้ได้ไม่เกิน 1,000 บาท (100 เหรียญ)
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ความเชื่อแบบเดิมที่มักจะสอนให้เยาวชนรู้จักอดออม ด้วยการหยอดเหรียญลงในกระปุกออมสิน ใช้ไม่ได้กับยุคสมัยนี้ เพราะนอกจากธนาคารจะคิดค่านับเหรียญขั้นต่ำ 20-30 บาทแล้ว ดอกเบี้ยในธนาคารยังได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ปัจจุบันดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ เหลือเพียงแค่ 0.50% เท่านั้น
เมื่อสังเกตการฝากเหรียญกษาปณ์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมาพบว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์” ได้พัฒนา “เครื่องฝากเหรียญ” (Coin Deposit Machine) ซึ่งเปิดตัวในงาน Money Expo เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะนำไปทดลองให้บริการ 4 สาขา ปัจจุบันมีให้บริการเฉพาะ “สาขาเมกา บางนา” ชั้น 1 ในเวลาทำการ 10.00-19.30 น.
โดยเครื่องฝากเหรียญดังกล่าว รับฝากเฉพาะเหรียญ 1, 2, 5 และ 10 บาท เข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น ฝากได้สูงสุด 5,000 บาทต่อครั้งต่อวัน วิธีการฝากกรอกเลขที่บัญชี 10 หลักบนจอทัชสกรีน กดยืนยัน เมื่อช่องหยอดเหรียญเปิด ให้นำเหรียญใส่ลงในกระบะ แล้วใช้มือกวาดลงในช่องหยอดเหรียญด้านขวาสุด
ระบบจะทำการนับเหรียญแต่ละประเภท แสดงผลที่หน้าจอระหว่างหยอดเหรียญ เมื่อหยอดเหรียญทั้งหมดแล้ว จะมีใบบันทึกรายการเป็นอันเสร็จสิ้น แต่ก่อนออกไปควรตรวจสอบเหรียญที่ไม่ผ่านการตรวจนับที่ช่องคืนเหรียญด้วย ที่สำคัญ เมื่อเครื่องตรวจนับเหรียญแล้ว จะนำฝากเข้าบัญชีเท่านั้น ไม่สามารถขอรับคืนเหรียญจากเครื่องได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากสาขาเมกา บางนา เพียงแห่งเดียวแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังไม่มีแผนที่จะนำเครื่องฝากเหรียญมาให้บริการแก่สาขาอื่นๆ แต่อย่างใด สวนทางกับที่ผ่านมาได้ยุบและย้ายรวมสาขาต่างๆ จากจำนวน 1,162 สาขาในเดือนมกราคม 2561 เหลือเพียงแค่ 1,109 สาขาในเดือนตุลาคม 2561 หรือยุบไปแล้ว 53 สาขา
อีกช่องทางหนึ่งที่รับฝากทั้งธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ คือ “ตู้บุญเติม” ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.44 แสนตู้ทั่วประเทศ ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนของธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้บริการโอนเงินเข้าบัญชี ได้ทั้งธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ สูงสุด 5,000 บาทต่อครั้ง แต่ค่าธรรมเนียมยังถือว่าสูง ตั้งแต่ 30-70 บาทต่อรายการ
แต่วิธีการที่ผู้เขียนใช้อยู่ก็คือ “เติมเงินทรูมันนี่” ผ่านตู้บุญเติม ด้วยเบอร์มือถือที่ผ่านการยืนยันตัวตน “ทรูมันนี่ พร้อมเพย์” เรียบร้อยแล้ว (รหัส E-Wallet 14000 ตามด้วยเบอร์มือถือ) มีให้เลือกตั้งแต่ เติมเงิน 20 บาท ค่าธรรมเนียม 2 บาท, เติมเงิน 45 บาท ค่าธรรมเนียม 5 บาท, เติมเงิน 90 บาท ค่าธรรมเนียม 10 บาท และเติมเงิน 180 บาท ค่าธรรมเนียม 20 บาท
หลังจากนั้น ค่อยโอนเงินจากทรูมันนี่ด้วยแอปฯ Wallet ไปยังบัญชีธนาคารด้วยหมายเลขพร้อมเพย์ โดยใช้หมายเลขบัตรประชาชน เบอร์มือถือ หรือสแกนคิวอาร์โค้ดจากธนาคารได้ฟรี สูงสุด 7,500 บาทต่อครั้ง แม้จะถูกกว่าโอนเงินผ่านตู้บุญเติม แต่คนที่ไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมอาจมองว่าแพง ทั้งที่ตู้บุญเติมยังหาง่ายกว่าร้านสะดวกซื้อบางแห่งเสียอีก
นอกจากตู้บุญเติมแล้ว ยังมี “ตู้เติมทรู” ที่ล่าสุดเพิ่งติดตั้งแข่งกันหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น มีให้เลือกตั้งแต่ เติมเงิน 10 บาท ค่าธรรมเนียม 1 บาท, เติมเงิน 20 บาท ค่าธรรมเนียม 2 บาท, เติมเงิน 50 บาท ค่าธรรมเนียม 3 บาท, เติมเงิน 90 บาท ค่าธรรมเนียม 10 บาท, เติมเงิน 180 และ 300 บาท ค่าธรรมเนียม 20 บาท
แต่ถ้าจะหยอดเหรียญกษาปณ์ตามตู้เติมเงิน ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ หยอดเหรียญผ่าน “ตู้ทรูมันนี่คีออส” ฟรีค่าธรรมเนียม มีให้บริการที่ทรูช้อป และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที สูงสุดครั้งละ 20,000 บาท
ข้อเสียก็คือ ตู้ทรูมันนี่มีไว้ชำระค่าบริการทรูเป็นหลัก การนำเหรียญกษาปณ์ทั้งกระปุกมาหยอด อาจถูกมองจากพนักงานด้วยสายตาที่ไม่ดีนัก ที่ผ่านมาเลยใช้วิธีนำกระปุกออมสินไปหยอดเหรียญที่ตู้ทรูมันนี่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแทน เพราะมีแต่ผู้โดยสารเดินผ่านไปมา กับ รปภ. ที่ดูแลความปลอดภัยเท่านั้น ไม่มีพนักงานให้รู้สึกกวนใจ
แม้ว่าการออมด้วยเหรียญกษาปณ์ผ่านกระปุกออมสิน จะเป็นวิธีการที่ยากลำบากในยุคนี้ แต่ก็เป็นวิธีการออมแบบพื้นฐานที่คนทั่วไปเข้าใจง่ายที่สุด เหมาะสำหรับสร้างนิสัยมัธยัสถ์แก่เยาวชน อีกทั้งในชีวิตประจำวันยังคงต้องใช้เหรียญในการชำระเงิน เช่น ค่ารถโดยสารประจำทาง ค่าเรือโดยสาร หรือการซื้อของเล็กน้อย ยังคงได้เหรียญเป็นเงินทอน
น่าเสียดาย ที่วันนี้เหรียญกษาปณ์ที่หยอดกระปุกเพื่อหวังสร้างนิสัยการออม กลับถูกกีดกัน มองว่าเป็นภาระและไม่เห็นค่าต่อระบบเศรษฐกิจ ที่ยังคงมุ่งเน้นสังคมไร้เงินสดอย่างเอาเป็นเอาตาย ทั้งที่ต้นทางก็คือ การเอาเงินสดเข้ามาอยู่ในระบบการชำระเงิน นอกจากธนบัตรแล้ว ยังรวมไปถึงเหรียญกษาปณ์ไม่ใช่หรือ?