การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554
หากจะมีการเลือกตั้งขึ้นในปีหน้าจริงๆ เท่ากับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะห่างจากครั้งก่อนหน้านี้ถึง 8 ปีเลยทีเดียว
เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีอายุ 18 ปี ในปีที่จะมีการเลือกตั้ง พูดให้ง่ายเข้า คือว่า เด็กที่อายุ 10 ขวบ ในวันที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว และมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จะได้เลือกตั้งครั้งแรกในปีหน้านี้
หรือถ้านับย้อนลงไปถึงเด็กที่อายุจะครบได้เลือกตั้งครั้งแรกนี้ ก็จะได้แก่คนที่มีอายุในช่วง 19 – 25 ปี ที่ยังไม่เคยเลือกตั้งมาก่อนเลย
มีผู้คำนวณว่า น่าจะอยู่ในราวๆ 5 ล้านคน
นี่คือคะแนนเสียงของผู้เลือกตั้งครั้งแรก ที่ไม่อยู่ในการประเมินความนิยมในการลงคะแนนออกเสียง พูดง่ายๆ คือ ไม่มีใครรู้ว่า คนกลุ่มนี้นั้นน่าจะเลือกใคร
ที่น่าคิดคือ กลุ่มที่อายุน้อยที่สุดที่จะเลือกตั้งได้นั้น จะเกิดในราวปี 2544 หรือในช่วงที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก
ความขัดแย้งทางการเมืองระลอกแรกในปี 2547 – 2548 นั้นพวกเขาน่าจะยังรู้ความจำได้ลางเลือน ส่วนในความขัดแย้งล่าสุด ที่เรียกให้ คสช.ออกมายึดครองอำนาจอยู่เป็นเวลากว่า 4 ปีนั้น พวกเขาจะอยู่ราวชั้นประถม และคงจะพอมีความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองบ้าง แต่ก็อาจจะไม่มีความเข้าใจมากมายนัก
ยกเว้นแต่ว่าเด็กบางคนโตในบ้านที่พ่อแม่เป็นมวลชนติดตามการเมืองอย่างเข้าเส้น (ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ นปช. หรือ กปปส. ก็ตาม) ก็อาจจะรู้เรื่องการเมืองมากหน่อย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้อาจจะมีความเชื่อความชอบทางการเมืองเหมือนพ่อแม่ เพราะได้รับการปลูกฝัง หรืออาจจะพลิกไปอีกข้างหนึ่ง เพราะต้องการต่อต้านพ่อแม่ก็เป็นไปได้
จึงกล่าวได้ว่า เรื่องนี้ไม่อาจจะประเมินแนวทางการลงคะแนนของเด็กกลุ่มนี้ได้ง่ายนัก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เด็กกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาในยุคสมัยที่นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ซึ่งถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดี (อันนี้เราไม่พูดเรื่องการบริหารประเทศมีประสิทธิภาพหรือซื่อสัตย์สุจริตหรือเปล่านะครับ เอาแค่ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ ที่ไม่น่าจะมีใครปฏิเสธได้ แม้แต่ชาวสวนยางทางภาคใต้)
แต่เด็กกลุ่มนี้มาเติบโตและมีสิทธิเลือกตั้งในยุคของ คสช.ซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจไม่ดีเท่าไร ยิ่งถ้าเด็กคนไหนอยู่ในครอบครัวของเกษตรกร หรือพ่อค้า แม่ค้า ผู้ค้าปลีกยิ่งจะเห็นความแตกต่างได้ชัด
และไม่นับเรื่องการใช้อำนาจบาตรใหญ่แบบไม่เกรงใจใครของรัฐบาลและ คสช. การแก้ปัญหาทุจริตแบบลูบหน้าปะจมูก ไม่กล้าตรวจสอบหรือเอาจริงคนกันเอง การใช้เงินอย่างไม่เกรงอกเกรงใจประชาชนของราชการทั้งการเมืองและฝ่ายประจำ ขึ้นเงินเดือนตัวเองกันสนุกสนานเป็นว่าเล่น ฯลฯ
เรื่องแบบนี้ถ้าถามว่า ในยุคสมัยก่อนหน้านี้ไม่มีหรือ ก็ตอบได้แน่นอนว่ามี เพียงแต่เด็กกลุ่มนี้จะเกิดไม่ทัน คือเกิดมาก็เจอ คสช.แล้ว
เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและหาประโยชน์ผ่านการฝังเครือข่ายของระบอบทักษิณ การจำนำข้าว เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์อันลางเลือน
แถมดีไม่ดี เด็กรุ่นที่เกิดไม่ทันยุคระบอบทักษิณนี้ อาจจะไปได้ยินตำนานจากอีกฝ่ายว่า ในยุคก่อน คือยุคทักษิณเป็นนายกฯ หรือแม้แต่สมัยนายกฯ ปู อะไรต่างๆ นั้น “ดี” อย่างไร ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ เสรีภาพ และโอกาส
บวกกับภาพลักษณ์ของตัวนายกฯ และ คสช.ในตอนนี้ ก็เป็นไปได้สูงว่า เด็กรุ่นนี้จะไม่ค่อย “อิน” กับข้ออ้างในการเข้าสู่อำนาจของ คสช.หรือความจำเป็นที่ คสช.จะต้องเข้ามาจัดระเบียบทางการเมือง (แถมทำไม่สำเร็จอีกต่างหาก) สักเท่าไร
เช่นนี้ โอกาสที่ผู้เลือกตั้งครั้งแรกจะกาให้พรรคพลังประชารัฐและเครือข่ายนั้นน่าจะมีไม่มาก ซึ่งในเรื่องนี้ พรรคการเมืองอาชีพรู้ทัน และพยายามหา “จุดขาย” เพื่อดึงเสียงผู้เลือกตั้งครั้งแรกนี้เข้ามาไว้กับตัวให้มากที่สุด
ก่อนหน้านี้พรรคที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ อย่างพรรคอนาคตใหม่นั้นเหมือนจะได้เปรียบในการแย่งชิงเสียงของคนรุ่นนี้ ให้สังเกตว่า หากมีการทำโพลระดับโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย จะพบว่าคะแนนนิยมของพรรคอนาคตใหม่จะนำทุกพรรคมาเลย
พรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ขยับตัวอย่างฉลาดและเล่นเป็น ด้วยการก่อตั้ง (หรือจริงๆ คืออนุญาตให้ก่อตั้ง) กลุ่ม New Dem หรือประชาธิปัตย์เลือดใหม่ นำโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” หลานชายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค
นโยบายของกลุ่ม New Dem นี้ฟังแล้วแทบไม่เชื่อว่าจะออกจากฝ่ายค่ายสีฟ้า เช่นการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเพื่อปฏิรูปกองทัพ การไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. และนายกฯ คนนอก การลดอำนาจวุฒิสภา ไปจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าปิดไว้ไม่บอกว่าใครหรือพรรคไหนเสนอ ก็คงจะนึกว่าเป็นของพรรคอย่างอนาคตใหม่หรือเพื่อไทยแน่ๆ
แม้เราจะไม่รู้ว่า ในที่สุด สถานะของกลุ่ม New Dem นี้จะมีอะไรหรือทำอะไรได้แค่ไหนในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็กล่าวได้ว่า การเปิดตัวและนโยบายแบบไม่สนใจกรอบของไอติมนั้น น่าจะสร้างฐานเสียงของคนรุ่นใหม่ หรือผู้เลือกตั้งครั้งแรกได้ในระดับหนึ่งทีเดียว
ซึ่งเรื่องนี้คนที่หนักใจ น่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นพรรคสำหรับคนรุ่นใหม่ตัวเลือกแรกนั่นแหละ
ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้น แม้ว่าการเปิดตัวคนรุ่นใหม่ หรือเลือดใหม่ของพรรคไปแล้วไม่ค่อยเปรี้ยงเท่าไร เพราะส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นลูกรุ่นหลานของนักการเมืองในพรรคนั่นแหละ แต่เรื่องกลายเป็นว่า การที่หญิงหน่อยหนีบเอาลูกสาว “น้องจินนี่” นางสาวยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ ออกมาเปิดตัวก็สร้างความฮือฮาให้แก่คอการเมืองทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค “ไอดอลนิยม” เช่นนี้ ก็เรียกว่ามีคน “โอชิ” น้องจินนี่กันเหมือนไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปเลยก็ว่าได้
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของเกมชิงคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งครั้งแรก
ที่พรรคตั้งใหม่แต่วัฒนธรรมการเมืองเก่าทั้งหลายยังไปไม่ทัน คาดไม่ถึง และต่อให้จะลองขยับ ก็นึกไม่ออกเลยว่า “คนรุ่นใหม่” ของพรรคอย่างพลังประชารัฐของคนที่เราก็รู้กัน หรือรวมพลังประชาชาติไทยของ “กำนันสุเทพ” นั้นจะหน้าตาเป็นอย่างไร
ก็พวกเขามัวแต่ก้มหน้าก้มตาใช้พลังดูดกับอำนาจรัฐ เพื่อดึงฐานเสียงจาก ส.ส.พื้นที่เป็นกำลังหลักแบบการเมืองยุคเก่ากันอยู่เลย.