xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ‘หัวลำโพง-มหาชัย’ ไม่เร่งด่วนในการลงทุน?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ข่าวเศรษฐกิจกรอบเล็กๆ แต่กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ของชาวมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ยกเลิกศึกษาโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย ระยะทาง 38 กิโลเมตร

เนื่องจากผลการทำประชาพิจารณ์ประชาชนในพื้นที่ พบว่าประชาชนไม่ตอบสนองและคัดค้านการก่อสร้าง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเวนคืนที่ดิน แนวเส้นทางต้องไปก่อสร้างบริเวณชุมชน

ทำให้โครงการดังกล่าวจัดอยู่ใน “โครงการที่ไม่เร่งด่วนในการลงทุน”

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวว่า เดิมโครงการนี้อยู่ในแผนแม่บทใหญ่ของกระทรวงคมนาคม การรถไฟฯ ตั้งใจจะพัฒนาส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย ให้เป็นโครงการขนส่งผู้โดยสารจากฝั่งธนบุรีเข้ามาในเมือง

แต่ประชาชนเห็นว่าไม่ใช่โครงการที่ตอบสนองเต็มที่ ไม่สนับสนุนให้เร่งก่อสร้าง จึงต้องยกเลิกออกไปก่อน โดยกระทรวงคมนาคม อาจจะนำไปบรรจุไว้ใน “โครงการท้ายๆ” ตามแผนแม่บทระยะ 20 ปี

ข่าวนี้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 2 ฉบับ คนสมุทรสาครที่พบเห็นต่างก็โวยวายกันใหญ่ เพราะที่ผ่านมาคนที่นี่ก็อยากได้รถไฟฟ้ามาลงที่มหาชัยมานานแล้ว โครงการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง ก็ชูจุดขายโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม

กลายเป็นการดับฝันคนมหาชัยโดยสิ้นเชิง!

แม้วันต่อมา เคเบิลทีวีในมหาชัยพยายามติดต่อการรถไฟฯ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง แต่เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่อง ให้คำตอบเพียงว่า “โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มยังไม่ได้ถูกยกเลิกแต่อย่างใด แต่อยู่ในโครงการที่ไม่เร่งด่วนในการลงทุน”

ฟังแล้วตีความได้ว่า การรถไฟฯ จะสร้างหรือไม่สร้างก็ได้เพราะไม่รีบ

ทั้งที่คนมหาชัยก็อยากได้รถไฟฟ้าใจจะขาด ด้วยความหวังว่าจะช่วยให้บ้านเมืองเจริญขึ้น เหมือนย่านบางใหญ่ บางบัวทอง จ.นนทบุรี หรือย่านสำโรง ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ

อันที่จริงโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม มีการศึกษามานานแล้ว ประมาณปี 2548 พร้อมกับ โครงการศูนย์คมนาคมขนส่งตากสิน และทางรถไฟสายแม่กลอง (ช่วง หัวลำโพง-มหาชัย) ระยะทาง 38 กิโลเมตร แล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2549

เริ่มต้นเชื่อมต่อทางรถไฟยกระดับ บริเวณหัวลำโพง ยกระดับตามแนวถนนมหาพฤฒาราม ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ถนนลาดหญ้า ผ่านถนนเจริญรัถ ก่อนไปตามแนวทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย

จากนั้นเมื่อผ่านสถานีคอกควายไปแล้ว จะมีการตัดทางรถไฟใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านถนนเอกชัย กำหนดให้เป็นสถานีเอกชัย ผ่านถนนพระราม 2 สิ้นสุดที่สถานีมหาชัยแห่งใหม่ ถนนเศรษฐกิจ 1 ทางไปอำเภอกระทุ่มแบน

มีสถานีทั้งหมด 18 สถานี ได้แก่ สถานีหัวลำโพง คลองสาน วงเวียนใหญ่ ตลาดพลู ตากสิน จอมทอง วัดไทร วัดสิงห์ บางบอน รางสะแก รางโพธิ์ สามแยก พรมแดน ทุ่งสีทอง บางน้ำจืด คอกควาย เอกชัย และสิ้นสุดที่สถานีมหาชัย

ที่ผ่านมา มีชาวบ้านย่านฝั่งธนบุรี คัดค้านโครงการศูนย์คมนาคมตากสิน เนื่องจากมีชุมชนหนาแน่น จนต้องปรับรูปแบบโดยให้ย้ายสถานีขนส่งสายใต้ไปที่สถานีรางโพธิ์ ใกล้ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน

ขณะที่ชาวบ้านย่านถนนเจริญรัถ เขตคลองสาน ก็คัดค้านแนวเส้นทางที่ต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปฝั่งถนนมหาพฤฒาราม เพราะเขตทางแคบ กระทบกับย่านร้านค้าวัสดุเครื่องหนัง

ทั้งๆ ที่ในอดีต ถนนเจริญรัถเป็นแนวเส้นทางรถไฟเก่าปากคลองสาน แต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกทางรถไฟและสถานีรถไฟปากคลองสาน ก่อนจะถมรางรถไฟทำถนนแทน

ไม่นับรวมกรณีที่กรุงเทพมหานคร จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนมหาพฤฒาราม เชื่อมกับถนนลาดหญ้า ก็ถูกคัดค้าน อ้างว่ากระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โบราณสถานของชุมชนจะสูญหาย ธุรกิจ ร้านค้าที่มีอยู่จะได้รับผลกระทบ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ ตลอดทางรถไฟตั้งแต่สถานีวงเวียนใหญ่ ถึงสถานีบางบอน มีชุมชนและบ้านเรือนอาศัยปลูกติดกับทางรถไฟจำนวนมาก หากมีการเวนคืนที่ดินก็จะได้รับผลกระทบ

สัญญาณอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม หัวลำโพง-มหาชัย จะไม่ได้เห็นก็คือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีการยกร่างแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี 2562 – 2572

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เคยกล่าวว่า การต่อขยายรถไฟชานเมือง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย ต้องยุติแผนไปก่อน เพราะประชาชนในพื้นที่ต่อต้าน ทำให้โครงการไม่ผ่านการพิจารณาเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน

นอกจากนี้ เมื่อปี 2560 มีรายงานว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังไม่เห็นชอบรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม

เหตุเพราะทางโครงการฯ ออกแบบเป็นทางยกระดับ ผ่านบริเวณที่มีชุมชนหนาแน่น จึงให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปจัดทำรายละเอียดโครงการใหม่

ผ่านไปนานพอสมควร ในที่สุดการรถไฟฯ บอกว่า จะยกเลิกศึกษาโครงการฯ แม้ตัวโครงการยังอยู่ แต่จัดอยู่ใน “โครงการที่ไม่เร่งด่วน” แล้วบรรจุอยู่ในโครงการท้ายๆ ตามแผนแม่บท 20 ปี

ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมาแม้คนมหาชัยจะเคยทำประชาพิจารณ์ไปเมื่อประมาณปี 2548 หรือเมื่อ 13 ปีก่อน แต่ความเคลื่อนไหวโครงการฯ ก็เงียบหายไป คิดไปว่าสักวันหนึ่งคงได้ก่อสร้าง แต่มาถึงยุคนี้ก็ยังไม่ได้ก่อสร้างอีก

ไม่นับรวมปัญหาภายในการรถไฟฯ ที่ทำให้โครงการต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โครงสร้างทางรถไฟเสร็จแล้ว แต่ปล่อยให้รกร้าง สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต เลื่อนออกไปเป็นเดือนมกราคม 2564

แตกต่างจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.) ที่มีโครงการรถไฟฟ้าสารพัดสีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ) ที่จะเริ่มทยอยเปิดในช่วงกลางปี 2562

รวมทั้งสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่จะเปิดให้บริการในปี 2563 สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) เปิดในปี 2566 และรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) จะเกิดขึ้นตามมาอีก

ถ้าจะคาดหวังโครงการรถไฟฟ้า หน่วยงานอย่าง ร.ฟ.ม. ยังน่าลุ้นกว่าการรถไฟฯ เสียอีก ตอนนี้กำลังรอ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) ซึ่งจุดสิ้นสุดใกล้กับเทศบาลนครอ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร

ที่ผ่านมาจึงไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับข่าวรถไฟฟ้าหัวลำโพง-มหาชัย เพราะเป็นเพียงการให้ข่าวแบบลมๆ แล้งๆ ยังไม่เห็นว่าจะมีงบประมาณ หาผู้รับเหมา แล้วลงมือก่อสร้างอย่างจริงจัง

จนกว่าจะได้เห็นตอกเสาเข็มในชาตินี้ จึงจะรู้สึกว่ามีความหวังขึ้นมาบ้าง
รูปตัดของสถานีมหาชัย (ใหม่)
คนมหาชัยที่เดินทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งนิยมออกรถส่วนตัวมาขับ แต่ที่ไม่ค่อยเห็นเพราะส่วนใหญ่ใช้ป้ายทะเบียนกรุงเทพฯ ทำเอาถนนพระราม 2 รถติดทุกเช้า บางคนมีห้องพักในกรุงเทพฯ แล้วช่วงวันหยุดค่อยกลับมาที่บ้าน

ที่เป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะระบบขนส่งมวลชนจากตัวเมืองมหาชัย ยังผูกขาดอยู่กับ “รถสองแถว” หลัง 2 ทุ่มก็แทบจะไม่มีรถออกมาวิ่งแล้ว ต้องต่อแท็กซี่ หรือไม่ก็มอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าบ้าน

รถเมล์ ขสมก. ถ้าเป็นช่วงเช้ากับช่วงเย็น ต้องเจอรถติดตั้งแต่ถนนพระราม 2 ใช้เวลาจากมหาชัยถึงกรุงเทพฯ อย่างน้อยก็เกิน 2 ชั่วโมงแล้ว เร็วขึ้นมาหน่อยก็ รถตู้อนุสาวรีย์ชัย พาต้าปิ่นเกล้า หมอชิตใหม่ เพราะไม่แวะจอดรับกลางทาง

ส่วน รถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ เป็นทางเลือกสำหรับผู้มีรายได้น้อย และนักเรียน นักศึกษา เพราะส่วนใหญ่มีแต่ชั้น 3 นั่งพัดลม แต่ผ่านมาหลายสิบปี ค่าโดยสารจากมหาชัยไปวงเวียนใหญ่ ยังคิด 10 บาทเหมือนเดิม

ทุกวันนี้คนไม่มีรถก็ต้องรีบกลับบ้าน เช่น ถ้าทำงานตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็ต้องรีบขึ้นรถตู้อนุสาวรีย์ชัย ไม่เกิน 2 ทุ่มครึ่ง ไม่อย่างนั้นรถหมด ต้องนั่งรถตู้ไปลงพระราม 2 แล้วต่อรถเมล์เที่ยวสุดท้าย หรือถ้าไม่ทัน ก็นั่งแท็กซี่เข้าบ้านแทน

ถามว่า ถ้ามีรถไฟฟ้าจากมหาชัยจะดีไหม ร้อยทั้งร้อยก็ตอบว่าดีอยู่แล้ว แต่จะมีคนมหาชัยสักกี่คน ที่จะใช้รถไฟฟ้าเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ อย่างจริงจัง?

ที่ถามแบบนี้ เพราะก่อนหน้านี้ “รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน” ช่วงที่เปิดให้บริการแรกๆ ผู้โดยสารน้อยมาก บางวันไม่ถึง 2 หมื่นคนด้วยซ้ำ พอมีรถไฟใต้ดินเชื่อมต่อที่สถานีเตาปูนไปหัวลำโพง ถึงได้ขยับตกวันละ 6 หมื่นคนต่อวัน

“รถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ” ที่จะเปิดเดินรถวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ที่จะถึงนี้ ก่อนหน้านี้ทราบว่าที่สถานีสำโรง ถ้าเป็นวันธรรมดา มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อวัน ส่วนวันหยุดเฉลี่ย 2 หมื่นคนต่อวัน

“รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์” แม้จะแยกไม่ออกระหว่างคนที่เข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิ กับคนที่พักอาศัยแถบประเวศ ลาดกระบัง แต่ตัวเลขล่าสุดพบว่าปีนี้ มีผู้โดยสารทำลายสถิติกว่า 8 หมื่นคนต่อวัน สอดคล้องกับบ้านจัดสรรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ถ้ารถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม หัวลำโพง-มหาชัย เดินรถได้จริง ยอดผู้โดยสารก็คงไม่ต่างจากสายสีม่วงไปบางใหญ่ หรือสายสีเขียวไปปากน้ำ ที่จะมีก็เช่น สถานีคอกควาย มาจากหมู่บ้านจัดสรรนับสิบโครงการย่านซอยวัดพันท้ายนรสิงห์

ยิ่งการรถไฟฯ เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการขาดทุนทุกปี แต่ต้องทำโครงการรถไฟฟ้า และรถไฟทางคู่รวมกันนับแสนล้านบาท อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมถึงกลายเป็นโครงการที่ไม่เร่งด่วนในการลงทุน

การยกเลิกศึกษารถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ไม่ได้หมายความว่าความเจริญของเมืองมหาชัยจะหายไป เพราะยังมีเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคมเข้ามาลงทุน อย่างน้อย ปีหน้าจะเริ่มก่อสร้าง “ทางยกระดับพระราม 2” ในรูปแบบมอเตอร์เวย์

ในปีงบประมาณ 2562-2564 กรมทางหลวงจะก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 ช่วงแรก บางขุนเทียน-มหาชัยเมืองใหม่ ระยะทาง 10 กิโลเมตร พร้อมทางขึ้น-ลง 3 จุด งบประมาณ 10,500 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะเปิดให้เอกชนลงทุนโครงการในรูปแบบ PPP ช่วงมหาชัยเมืองใหม่-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กิโลเมตร มูลค่า 4.83 หมื่นล้านบาท โดยให้เอกชนลงทุนการบริหารโครงการและซ่อมบำรุง (O&M) เป็นเวลา 30 ปี

ส่วน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) หลังจากระดมเงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) มาได้ 44,811 ล้านบาท ก็เตรียมพร้อมที่จะก่อสร้างจากต่างระดับบางโคล่ ถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน

ตอนนี้เซ็นจ้างบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานไปแล้ว เหลือแต่หาผู้รับเหมาก่อสร้างทางยกระดับ ขนานไปกับถนนพระราม 2 พร้อมทางขึ้นลง 7 จุด และสะพานขนานไปกับสะพานพระราม 9 คาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างปี 2562 แล้วเสร็จปี 2565

ถ้าคนมหาชัยอยากได้รถไฟฟ้าจริง ต้องช่วยกันเรียกร้องและผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่ามีโครงการแล้วนิ่งเฉย คิดว่าเดี๋ยวก็มา แต่หารู้ไม่ว่า ฝ่ายที่คัดค้านก็ไม่ยอมให้โครงการฯ เวนคืนที่ดินตัวเองเหมือนกัน

เมื่อเสียงหนึ่งเงียบลง อีกเสียงหนึ่งดังกว่า พอทานกระแสไม่ได้ โครงการจึงหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น