xs
xsm
sm
md
lg

“กดเงินไม่ใช้บัตร” ขาลงบัตรเดบิต?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


แอปพลิเคชันหลายธนาคารเริ่มมีบริการ “กดเงินไม่ใช้บัตร” เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้า สามารถใช้มือถือทำรายการถอนเงินที่เครื่องเอทีเอ็ม และรับเงินสดได้ทันที โดยไม่มีค่าธรรมเนียม

ธนาคารแรกที่ให้บริการ คือ ธนาคารออมสิน เปิดตัวเมื่อ 15 มีนาคม 2560 ตามมาด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย และล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวพร้อมกับแอปฯ เคพลัส เวอร์ชันล่าสุด

ส่วนธนาคารอื่น เช่น ธนาคารกรุงไทย แม้จะเปิดตัวแอปฯ กรุงไทยเน็กซ์ก็ไม่มีบริการนี้ มีแต่โอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Krungthai E-Cheque) ไม่ใช่การกดเงินโดยไม่ใช้บัตร คิดค่าธรรมเนียมรายการละ 30 บาท

การกดเงินโดยไม่ใช้บัตร แต่ละธนาคารมีรูปแบบต่างกัน ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ใช้ระบบคิวอาร์โค้ด ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทย ใช้รหัสกดเงินพ่วงกับเบอร์มือถือ

อาจมีคนสงสัยว่า กดเงินโดยไม่ใช้บัตรแบบนี้ แล้วบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม จะมีคนใช้น้อยลงหรือไม่?

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนมิถุนายน 2561 มีจำนวนผู้ถือบัตรพลาสติกรวมทั้งสิ้น 87.87 ล้านใบ แบ่งออกเป็นบัตรเครดิต (เอาเงินอนาคตมาใช้ก่อน) 21.03 ล้านใบ

ส่วนบัตรที่หักจากบัญชีธนาคาร มีจำนวน 66.84 ล้านใบ พบว่าเป็นบัตรเดบิตมากที่สุด 88.04% คิดเป็น 58.85 ล้านใบ ส่วนบัตรเอทีเอ็ม ที่ใช้กดเงินสด รูดซื้อของไม่ได้ มีเพียง 7.99 ล้านใบ หรือ 11.96% เท่านั้น

สาเหตุเพราะธนาคารพาณิชย์แทบทุกธนาคาร ออกบัตรเดบิตแทนบัตรเอทีเอ็มมานานแล้ว มีทั้ง วีซ่า มาสเตอร์การ์ด และยูเนี่ยนเพย์ แต่ธนาคารขนาดเล็ก และธนาคารของรัฐ จะมีเฉพาะบัตรเอทีเอ็มเท่านั้น เช่น อาคารสงเคราะห์, ธ.ก.ส.

ในระยะแรก ที่แต่ละธนาคารออกบริการถอนเงินไม่ใช้บัตร ไม่กระทบกับบัตรเดบิตมากนัก เนื่องจากจำนวนบัญชีที่ลูกค้าใช้บริการโมบายแบงกิ้ง มีเพียงแค่ 37.97 ล้านบัญชี นับเฉพาะธนาคารที่เป็นเจ้าตลาดมียอดผู้ใช้ไม่ถึง 10 ล้านราย

ขณะที่การกดเงินไม่ใช้บัตรยังจำกัดวงเงินต่อวัน อีกทั้งลูกค้ายังคงสะดวกกับการใช้บัตรเดบิตเพื่อถอนเงินมากกว่า เนื่องจากกดได้ทุกตู้ ทุกสี และบางธนาคารฟรีค่าธรรมเนียม

แต่จุดแข็งของบริการกดเงินไม่ใช้บัตร คือ “ฟรีค่าธรรมเนียม” ทั้งในจังหวัดเดียวกันและต่างจังหวัด นอกเหนือจากแอปฯ ธนาคาร ที่ดาวน์โหลดฟรี สมัครฟรี เพียงแค่มีบัญชีธนาคาร ถ้าไม่มีบัตรเดบิตยังสมัครได้ฟรีผ่านสาขา

เทียบกับบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็ม นอกจากเสียค่าธรรมเนียมอย่างน้อย 200 บาทเป็นประจำทุกปีแล้ว ถอนเงินต่างจังหวัด ธนาคารเดียวกัน ส่วนใหญ่คิดรายการละ 15 บาท

ถ้าเป็นต่างธนาคาร จังหวัดเดียวกัน ฟรี 4 ครั้งต่อเดือน ครั้งที่ 5 คิดรายการละ 10 บาท ต่างจังหวัดคิดอย่างน้อยรายการละ 20 บาท บางธนาคารถ้าในเดือนนั้นๆ ใช้มากกว่า 5 ครั้งขึ้นไป บวกเพิ่มเป็น 30 บาท

ไม่นับความเสี่ยงจากการถูกเครื่องเอทีเอ็มกลืนบัตร ถ้าเป็นธนาคารเดียวกันมักจะยกเว้นค่าธรรมเนียมออกบัตรทดแทน แต่บางธนาคารอาศัยช่วงเปลี่ยนบัตรเป็นมาตรฐานชิปการ์ดกลาง อ้างว่าต้องเสียค่าออกบัตรทดแทน 100 บาท

ยิ่งถ้าถูกเครื่องเอทีเอ็มต่างธนาคารกลืนบัตร ยิ่งเสียค่าธรรมเนียมออกบัตรทดแทนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะมีเฉพาะบางธนาคาร คิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 500 บาท รายปี 350 บาท แต่ยังใจดี กรณีชำรุดเปลี่ยนบัตรใหม่ให้ฟรี

ที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลจากธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2561 นอกจากจะมีธุรกรรมโอน-เงิน-จ่าย ผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY มากกว่า 590 ล้านครั้งแล้ว มีคนทำรายการกดเงินไม่ใช้บัตรกว่า 38 ล้านครั้ง

ขณะที่ภายในสิ้นปี 2562 บัตรเดบิตรุ่นเก่าแบบแถบแม่เหล็กจะใช้งานไม่ได้ ส่วนบัตรเดบิตแบบชิปการ์ด จะทยอยหมดอายุการใช้งานทุก 5 ปี ซึ่งจะต้องเปลี่ยนเป็นบัตรเดบิต มาตรฐานชิปการ์ดกลางของแบงก์ชาติ

แต่ละธนาคารจึงพยายามที่จะรักษาฐานลูกค้า ด้วยการออกบัตรเดบิต เพิ่มเติมจากบัตรเดบิตธรรมดา หรือบัตรพ่วงประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เช่น บัตรแบบไฮบริด บัตรพ่วงระบบคอนแทคเลส บัตรที่มีสิทธิพิเศษ หรือบัตรโค-แบรนด์

บัตรเดบิตแมงมุม ที่มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำหน้าที่เคลียริ่งเฮ้าส์ ก็มีธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย เข้าร่วมออกบัตร และ รฟม. กำลังพูดคุยกับธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ ออก บัตรเอสซีบี เอ็ม เดบิต บัตรโค-แบรนด์ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์ ช้อปตามร้านค้าได้คะแนน เริ่มต้นที่ 25 บาทต่อ 1 เอ็มพอยท์ หรือคะแนนสองเท่า และส่วนลด 5% เมื่อช้อปในห้างกลุ่มเดอะมอลล์

ขณะที่บางธนาคารเพิ่มคุณสมบัติบัตรเดบิตเพิ่มเติม เช่น ธนาคารทหารไทย เพิ่มคุณสมบัติ บัตรเดบิต ทีเอ็มบี ออล ฟรี ให้ใช้จ่ายในต่างประเทศ โดยยกเว้นค่าความเสี่ยงสกุลเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนดีกว่าร้านแลกเงินทั่วไป

นอกจากบัตรเดบิตแล้ว บางธนาคารยังออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์แบบอื่นๆ สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการพกบัตรเดบิตและเสียค่าธรรมเนียมเป็นประจำทุกปี เช่น บัตรเงินสด หรือบัตรท่องเที่ยว หรือทราเวล การ์ด ที่ใช้ในต่างประเทศ

เช่น ธนาคารกรุงไทย ออก บัตรกรุงไทยพร้อมจ่าย สำหรับชำระเงินผ่านเครื่อง EDC ตามหน่วยงานราชการ และ บัตรกรุงไทย ทราเวล การ์ด สำหรับใช้จ่ายในต่างประเทศผ่านสกุลเงินที่รองรับ (ใช้งานในประเทศไทยไม่ได้)

ธนาคารไทยพาณิชย์ เพิ่งเปิดตัว บัตรเงินสด เอสซีบี เอ็ม พรีเพด เจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ไม่มีบัญชีไทยพาณิชย์ เปิดจำหน่ายและเติมเงินที่เคาน์เตอร์ห้างฯ ในกลุ่มเดอะมอลล์ ตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน 2561

อย่างไรก็ตาม บริการกดเงินไม่ใช้บัตร ไม่ได้หมายความว่าจะเข้ามาแทนที่บัตรเดบิตเสมอไป เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยังเคยชินกับใช้บัตรเดบิตถอนเงินสด รวมทั้งใช้จ่ายแทนเงินสด ตามร้านค้ารับบัตรทั้งในและต่างประเทศ และช้อปออนไลน์

แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาใช้แอปฯ ทำธุรกรรมมากขึ้น โอนเงินต่างธนาคารและพร้อมเพย์ได้ฟรี อาจเป็นสัญญาณที่มีแนวโน้มที่จะถือบัตรเดบิตเฉพาะที่จำเป็นเพียงแค่ 1-2 ใบเท่านั้น เพื่อลดภาระค่าธรรมเนียมรายปีน้อยลง

ต่อไปบนกระเป๋าสตางค์ บัตรเดบิตที่พกอาจเหลือเพียงแค่บัตรที่ผูกกับบัญชีเงินเดือน (Payroll) บัตรประจำตัวต่างๆ บัตรที่ทำธุรกรรมหรือรับสิทธิพิเศษบ่อยครั้ง หรือบัตรฟรีค่าธรรมเนียม เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น