ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างหนึ่ง ที่มาพร้อมกับโลกยุคโซเชียล และเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ คือแนวคิดในเรื่องของสิทธิอันเป็นส่วนตัว
คำว่า “สิทธิอันเป็นส่วนตัว” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงสิทธิส่วนบุคคล (Privacy right) เสียทีเดียว แต่เหมือนกับสิทธิในความเป็น “ปัจเจกชน” (Individual rights) มากกว่า
สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของคนในยุคนี้ ซึ่งมีความเป็นอยู่เชิงเดี่ยว ตัวใครตัวมัน มีขอบเขตพื้นที่ส่วนตน หรือครอบครัวคนใกล้ชิด และในระหว่างหน่วยย่อยด้วยกันเช่นครอบครัว แต่ละคนก็ยังมีพื้นที่ของสิทธิที่แยกจากกันด้วย
ในบางบ้านหรือบางครอบครัวที่เคร่งครัด พ่อแม่ไม่มีสิทธิแม้แต่จะรับโทรศัพท์ของลูก หรือเข้าไปในห้องนอนลูกก่อนได้รับอนุญาต
เมื่อความคิดเรื่องสิทธิในความเป็นปัจเจกได้รับการยอมรับและกลายมาเป็นคุณค่าใหม่เชิงสังคมของผู้คน
สิ่งที่หายไป ก็คือ ความรู้สึกเป็นชุมชม หรือความรู้สึกในความเป็นส่วนรวม
แม้ว่าผู้ที่มีแนวคิดแบบปัจเจกนิยมจะยอมรับในสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่ส่วนรวม” แต่ความรู้สึกนั้นแตกต่างกันออกไป เช่นความรู้สึกว่า พื้นที่ส่วนรวมเป็นพื้นที่ไม่มีเจ้าของ ที่ “ต่างคนต่างใช้” ไม่ใช่พื้นที่ซึ่งทุกคน “ร่วมกันใช้”
สิ่งที่หายไปกับแนวคิดแบบปัจเจกชนนิยมที่เชื่อว่าทุกคนสัมผัสได้ คือคำว่า “เพื่อนบ้าน” นั้นหายไป
เราแทบไม่รู้ว่าบ้านข้างๆ ของเราเป็นใคร หรือต่อให้รู้ว่าเป็นใคร เราก็คุยกันนับครั้งได้ หากมีเรื่องจะต้องติดต่อพูดคุยหรือเจรจากับเพื่อนบ้าน ก็มักจะเป็นเรื่องของการรุกล้ำก้ำเกินของ “สิทธิ” ในพื้นที่ของเรา เช่น ใบไม้ของเพื่อนบ้านร่วงลงมาบนสนามของเรา คือท่อน้ำบ้านเราทำน้ำหกลงไปใส่ในสนามเพื่อนบ้าน
เรื่องที่แกงหม้อหนึ่งกินทั้งหมู่บ้าน เป็นเรื่องที่เด็กรุ่นใหม่ยากจะนึกภาพออก
กับอีกอย่างที่หายไป คือสิ่งที่เราเรียกว่า “สภากาแฟ” แม้ว่าการดื่มกาแฟจะกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน แต่สภาพของการนั่งร้านกาแฟแล้วคุยกันกับคนอื่นๆ ในร้าน ก็เป็นเรื่องของคนแก่หรือคนรุ่นเก่าในวัฒนธรรมชนบทหรือตามชานเมืองที่อาจจะพอเหลืออยู่บ้าง
แต่ไม่ใช่ในการร้านกาแฟสมัยใหม่ ที่ต่างคนต่างพกหูฟังกันไปคนละอัน โน๊ตบุ๊กหรือแท็บเล็ตคนละเครื่อง แล้วแยกมุมกันนั่งต่างคนต่างเล่นกันไปเพื่อฆ่าเวลา
เราไม่อาจตัดสินใจได้ว่า วัฒนธรรมสังคมแบบ “ปัจเจกชน” นั้นเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี อาจจะต้องยอมรับว่าเป็นพลวัตของโลก ที่เราอาจจะต้องยอมรับอย่างเข้าใจว่า นี่คือวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ที่ทุกคนรู้สึกว่าควรสงวนสิทธิ และรักษาสิทธิที่อยู่ในพื้นที่ของตน การทำอะไรเพื่อส่วนรวมอาจจะอยู่ในรูปแบบของการจ่ายภาษี หรือกิจกรรมจิตอาสาแบบไปทำแล้วก็จบไป เสร็จแล้วก็กลับเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการ “เปลี่ยนผ่าน” ของค่านิยมเชิงสังคมนี้ ก็ก่อให้เกิดการปะทะหรือไม่ลงรอยกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่จะเขียนถึงต่อไปนี้นั่นเอง
ในรอบเดือนที่ผ่านมา มีข่าวการกระทบกระทั่งระหว่าง “ส่วนรวม” กับ “ส่วนบุคคล” ด้วยเรื่องของ “เสียง” มาต่อเนื่องถึง 3 ข่าว (อันนี้นับเฉพาะที่เป็นข่าวดังเป็นกระแสในสื่อและโลกออนไลน์เท่านั้น)
ข่าวแรกคงจำกันได้ เป็นเหมือนปฐมบทของเรื่องนี้ คือการที่มีผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมชื่อดัง ไปร้องเรียนกับทางการบ้านเมืองว่าวัดเก่าแก่ที่อยู่ในละแวกเดียวกันนั้น ตีระฆังเสียงดังในยามวิกาลเพื่อปลุกพระขึ้นสวดมนต์ ซึ่งก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้ร้องเรียน
เรื่องนี้แม้ปรากฏในภายหลังว่า ไม่ใช่ชาวคอนโดมิเนียมนั้นทั้งหมดที่มีปัญหากับระฆังวัด เป็นเพียงคนไม่กี่คน (หรืออาจจะคนเดียว) ที่เดือดร้อนแล้วไปร้องเรียน แต่นี่ก็เป็นสิ่งแรกที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่าง “สิทธิอันเป็นส่วนตัว” กับ “กิจกรรมของส่วนรวม”
ต่อด้วยข่าวเรื่องที่มีผู้ร้องเรียน ในข่าวว่าเป็นคุณหมอ ร้องเรียนว่ากิจกรรมเต้นแอโรบิกที่สวนสันติภาพ เขตราชเทวี ซึ่งกิจกรรมเต้นแอโรบิกนั้นดำเนินกันระหว่างเวลา 18.00 – 19.00 นาฬิกา ที่สวนสาธารณะ โดยมีการเปิดเครื่องขยายเสียงจริงๆ
ด้วยผลของการร้องเรียน ทำให้ทางเขตซึ่งเห็นว่ากิจกรรมการเต้นแอโรบิกนั้นมีประโยชน์ ช่วยส่งเสริมสุขภาพส่วนรวม แต่เมื่อมีผู้เดือดร้อนรำคาญ ก็ต้องเลิกไปหรือย้ายที่
กับข่าวต่อมา คือ กิจกรรมเปิดธรรมะแบบ “เสียงตามสาย” ของวัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ถูกชาวบ้านบางคนไม่พอใจเท่าไร จนหลวงพ่อเจ้าอาวาทตัดสินใจเลิกเปิดกระจายเสียงธรรมะแบบเสียงตามสาย เว้นแต่ในวันพระเท่านั้น
ปัญหาทั้งหมดมาจากเรื่อง “เสียง” ที่ไปกระทบ “สิทธิ” ของผู้คน
เป็นรูปแบบของปัญหาในยุคของปัจเจกชนนิยม ที่ผู้คนถือสิทธิเป็นกรอบขอบเขต กางกั้นไม่ให้ใครเข้ามายุ่มย่ามในแดนตน
และ “เสียง” นั้นคือสิ่งที่ละเมิดสิทธิอันเป็นส่วนบุคคลได้ง่ายที่สุด เพราะเป็นคลื่นที่เดินทางผ่านไปในอากาศ เล็ดลอดเข้าไป “รบกวน” ได้ในระยะรอบวงที่เสียงนั้นจะไปถึง
กรณีทั้งหมดนี้น่าสนใจว่า แม้กิจกรรมที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนมาก แต่หากมีคนส่วนน้อยไม่พอใจ กิจกรรมกำเนิดเสียงเช่นนั้นก็ถือเป็นการ “รบกวน” และดำเนินการต่อไปไม่ได้
ยุคของ “เสียงตามสาย” นั้นก็จบลงไปนานแล้ว ไม่มีใครอยากฟังเสียงจากหอกระจายข่าวหมู่บ้าน ในเมื่อทุกคนมีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ ใครอยากฟังข่าวอะไรก็ว่ากันไปตามอัธยาศัย
การออกกำลังกายร่วมกันในที่สาธารณะก็อาจจะเป็นเรื่องผิดที่ผิดทางสำหรับคนในยุคที่มองว่า หากอยากเตะฟุตบอลก็ไปเช่าสนามเล่น หากอยากออกกำลังกายก็ไปฟิตเนตให้เป็นที่เป็นทาง
ใครอยากฟังเทศน์ฟังธรรมก็จงต่อหูฟังเข้ากับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต แล้วเข้า YouTube ฟังธรรมกันไปตามอัธยาศัย
เราจะได้เห็นการปะทะกันระหว่าง “ชุมชนส่วนรวม” และ “สิทธิส่วนของตน” เช่นนี้ต่อไป ซึ่งจะว่าเป็นความผิดหรือไม่อย่างไรคงไม่เชิง เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงค่านิยมของสังคมมากกว่า
ในยุคต่อไป ที่ลูกหลานของเราจะเอาสิทธิขึ้นตั้ง ยันกันไปยันกันมาว่าใครมีสิทธิอย่างไร กฎหมายกำหนดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไว้อย่างไร หากอยู่ในขอบเขตก็แล้วกันไป แต่ถ้าเมื่อไรใครรุกล้ำเข้าไปในแดนสิทธิของใคร ก็จะเรียกร้องให้รัฐมาจัดการ
ยุคสมัยที่คำว่าความถ้อยทีถ้อยอาศัยหรืออะลุ้มอะล่วย จะเป็นคำที่มีความหมายในทางลบ ฟังเหมือนเป็นข้ออ้างในการรุกล้ำก้ำเกินคนอื่น จากนี้ทุกอย่างว่ากันไปตามว่าใครมีสิทธิแค่ไหนอย่างไร ซึ่งไม่รู้ว่ามันจะดีหรือไม่ดีอย่างไรเหมือนกัน.