xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องวุ่นๆ รถไฟทางคู่ : ขอนแก่นปีหน้าจะได้ใช้ แต่โคราชกำลังเถียง ทุบ-ไม่ทุบ สะพานสีมาธานี

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

สถานีรถไฟขอนแก่น (ขอบคุณภาพจาก Youtube :  Si Ri Wat Channel)
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เพื่อแก้ปัญหารถไฟล่าช้าจากเดิมรถไฟทางเดี่ยว ให้เดินรถได้ตรงเวลา ไม่ต้องรอสับหลีกขบวนรถไฟ รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ทางรถไฟในไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ทางเดี่ยว ซึ่งมีมากที่สุด ประมาณ 3,700 กิโลเมตร ที่ผ่านมามีทั้งขบวนรถโดยสาร และขบวนรถสินค้า ต้องเสียเวลาสับหลีก ทำให้ขบวนรถไฟล่าช้ากว่ากำหนด

ส่วนรถไฟทางคู่ มีเพียง 6 เส้นทาง รวม 251 กิโลเมตร ได้แก่ กรุงเทพ-รังสิต, ชุมทางบ้านภาชี-ลพบุรี, ชุมทางบางซื่อ-ชุมทางตลิ่งชัน, ชุมทางตลิ่งชัน-นครปฐม และ ชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางศรีราชา-แหลมฉบัง

รถไฟทางสาม จะมีในเส้นทางที่ปริมาณการขนส่ง โดยเฉพาะขบวนรถสินค้าหนาแน่น ปัจจุบันมีเพียง 2 เส้นทาง รวม 106 กิโลเมตร ได้แก่ รังสิต-ชุมทางบ้านภาชี และ หัวหมาก-ชุมทางฉะเชิงเทรา

เดิมการรถไฟแห่งประเทศไทย มีแผนจะก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง คือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กิโลเมตร, มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ (อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา) 131 กิโลเมตร, นครปฐม-หัวหิน 170 กิโลเมตร, ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 187 กิโลเมตร และ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กิโลเมตร

ต่อมาปี 2559 มีการปรับแผนรถไฟทางคู่ระยะที่หนึ่ง เป็น 7 เส้นทาง รวม 993 กิโลเมตร โดยเพิ่มเส้นทาง ชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย (จ.สระบุรี) รวม 106 กิโลเมตร และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กิโลเมตร

ปัจจุบัน มีเพียงช่วง ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ที่เดินหน้าไปก่อน โดยกิจการร่วมค้า ซีเคซีเอช (ช.การช่าง กับ ช.ทวีก่อสร้าง) เป็นผู้รับเหมา ก่อสร้างเมื่อปี 2559 งบประมาณ 23,430 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญา 18 กุมภาพันธ์ 2562

กับอีกเส้นทาง ช่วง ชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-วิหารแดง และ บุใหญ่-แก่งคอย โดย ซิโน-ไทย กับ ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง ก่อสร้างเมื่อปี 2559 งบประมาณ 10,232 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญา 18 กุมภาพันธ์ 2562

ส่วนเส้นทางอื่นๆ เพิ่งจะได้ลงมือก่อสร้างเมื่อไม่นานมานี้ คือ สายเหนือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ โดยกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-เอสเอช (ยูนิค กับซิโนไฮโดร) กับ ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง, สายใต้ นครปฐม-หัวหิน โดย เอ เอส แอสโซซิเอสฯ กับ ซิโน-ไทย

หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ โดย อิตาเลียนไทย และ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร โดยกิจการร่วมค้า เคเอส–ซี (เคเอสร่วมค้า กับกลุ่มทุนจากจีน) กับ กิจการร่วมค้าเอสทีทีพี (ซิโน-ไทย กับไทยพีคอน)
ภาพจากเฟซบุ๊ก รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ
แต่สายอีสาน ช่วง มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ลงมือก่อสร้างได้แค่ช่วง สถานีมาบกะเบา ถึงสถานีคลองขนานจิตร (อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา) โดยอิตาเลียนไทย และงานอุโมงค์โดยกิจการร่วมค้าไอทีดี-อาร์ที (อิตาเลียนไทย กับไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง)

เหลือแต่ช่วงสถานีคลองขนานจิตร ถึงสถานีชุมทางถนนจิระเท่านั้น ที่มีปัญหาก่อสร้างไม่ได้ เพราะยังออกแบบไม่ลงตัว โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา

ชาวโคราชและสีคิ้วเรียกร้องทางรถไฟยกระดับ สาเหตุเพราะไม่ต้องการแบ่งแยกชุมชนออกเป็นสองฝั่ง ต่อไปจะล้อมรั้วตลอดแนว ไม่ให้ประชาชนและสัตว์พาหนะ วัว ควาย ช้าง ม้า ลา ล่อ เดินข้ามไปมาได้เหมือนในอดีตอีกต่อไป

กระทั่งการรถไฟฯ ปรับแบบก่อสร้างช่วงอำเภอสีคิ้ว ให้เป็นทางรถไฟยกระดับสูง 3.5-6.5 เมตร เพื่อให้รถยนต์ทุกขนาดสัญจรผ่านได้ โดยจะถมดินสถานีสีคิ้วให้สูงขึ้นกว่าเดิม

แต่ที่กำลังถกเถียงกันไม่จบ คือช่วง สถานีภูเขาลาด ถึงสถานีชุมทางถนนจิระ ในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา เดิมออกแบบให้เป็นคันทางรถไฟ สูง 3-4 เมตร และใช้ช่องทางลอดสูง 3 เมตร ให้รถยนต์ขนาดเล็กสัญจรไปมาได้

ลอดผ่านสะพานถนนบายพาสไปแล้ว จะเป็นทางรถไฟยกระดับเหมือนที่ตัวเมืองขอนแก่น สูง 8 เมตร ความยาว 5.1 กิโลเมตร ผ่านสถานีนครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานียกระดับ พอถึงสถานีชุมทางถนนจิระ จะลดระดับเป็นคันทางรถไฟ สูง 3-4 เมตร
สะพานสีมาธานี ถนนมิตรภาพ จ.นครราชสีมา (ขอบคุณภาพจาก koratdaily.com)
แต่การก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ จำเป็นต้องทุบ “สะพานสีมาธานี” บนถนนมิตรภาพ ความสูง 6 เมตรออกไป เพราะไปตัดกับโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ โดยให้ถนนไปอยู่ด้านล่าง ทางรถไฟลอยฟ้าอยู่ด้านบน

อธิบายคนที่เคยนั่งรถไปโคราช แต่จำไม่ได้ก็คือ ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ผ่านทางแยกต่างระดับนครราชสีมา (สามแยกปักธงชัย) ผ่านอู่เชิดชัยของเจ๊เกียวไปแล้ว ก็จะขึ้นสะพานข้ามทางรถไฟ แล้วทางลงสะพานอยู่หน้าโรงแรมสีมาธานีพอดี



เลยออกมาเล็กน้อย จะเป็นถนนมุขมนตรี สมัยก่อนเรียกว่า “สี่แยกอัมพวัน” แต่เมื่อก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟแล้ว ก็ยกเลิกสี่แยกไฟแดง ให้รถที่มาจากสถานีรถไฟนครราชสีมา ไปขอนแก่นหรือบ้านภูเขาลาดเลี้ยวซ้าย กลับรถใต้สะพาน

สี่แยกอัมพวัน เคยเป็นแหล่งเศรษฐกิจดั้งเดิมของโคราช แต่เมื่อสร้างสะพานไปแล้ว จึงเงียบเหงาซบเซาหลายสิบปี พอทราบว่าจะรื้อสะพานเพื่อทำรถไฟทางคู่ก็ดีใจ เพราะจะได้มีโอกาสฟื้นฟูพื้นที่ ทำมาค้าขึ้นเสียที

แต่บริษัทที่ศึกษาโครงการกลับมองว่า ถนนมิตรภาพ ผ่านแหล่งเศรษฐกิจ ศูนย์การค้า สถานศึกษา และสถานีขนส่ง การจราจรหนาแน่นเฉลี่ยมากกว่า 110,000 คันต่อวัน เกรงว่าหากทุบสะพานสีมาธานีไป เดี๋ยวรถนับแสนคันจะติดอย่างหนัก

ก็เลยเสนอให้คงสะพานสีมาธานีไว้อย่างเดิม ให้ทางรถไฟลอดใต้สะพานแล้วถึงค่อยยกระดับ ทำให้ความยาวทางรถไฟยกระดับ ลดลงจาก 5.1 เหลือ 3.7 กิโลเมตร

อีกทั้งจะปรับแบบสถานีรถไฟนครราชสีมา เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เลื่อนตำแหน่งสถานีออกไปอีก 160 เมตร โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นบนดิน ชั้นลอยฟ้าสำหรับรถไฟธรรมดา และชั้น 3 รถไฟความเร็วสูง

ยืนยันว่า จะไม่กระทบกับถนนมิตรภาพเดิม ประหยัดงบค่าก่อสร้าง แถมรถไม่ติดเพิ่ม เทียบกับรื้อสะพานสีมาธานี ต้องเสียค่าทุบสะพาน และค่าสร้างสะพานกลับรถเกือกม้าอีก 2 จุด เสียค่าใช้จ่าย 1,336 ล้านบาท
รูปแบบรถไฟทางคู่ หลังการปรับแบบช่วงสถานีนครราชสีมา
พอมาแบบนี้ คนโคราชก็เสียงแตก มีทั้งหนุนและค้าน!

คนที่สนับสนุนให้ทุบสะพาน ส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น นำโดย สุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ลูกชาย เจ๊เกียว-สุจินดา เชิดชัย ซึ่งครอบครัวประกอบธุรกิจอู่ต่อรถโดยสารอยู่ไม่ห่างจากสะพานสีมาธานี

เสนอว่า ไม่ใช่แค่ทุบสะพานสีมาธานี แต่ให้ทุบ “สะพานหัวทะเล” (ถนนนครราชสีมา-โชคชัย ฝั่งตะวันออกของตัวเมืองโคราช) แล้วยกระดับยาวไปถึงที่นั่นเลย โคราชจะได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม

ยืนยันว่า รอทางรถไฟยกระดับมา 50 ปีแล้ว เงิน 1,300 ล้านบาท ที่เป็นค่าก่อสร้าง เทียบกับขนาดเศรษฐกิจของโคราชแล้ว ถือว่าน้อยนิดมาก ถ้าเมืองเติมโตแล้วมีการค้าขายที่ดีขึ้น เงินทุกบาทก็จะส่งกลับไปยังรัฐบาลอยู่ดี

นักธุรกิจโคราชบางคนถึงกับบอกว่า โคราชประชากรกว่า 2.6 ล้านคน มีเนื้อที่ใหญ่ที่สุด แต่ทำไมเราสู้ขอนแก่นไม่ได้ กลายเป็นว่าเราคือลูกเมียน้อย จะยกระดับทั้งที่ทำให้ดีไปเลยไม่ได้เชียวหรือ

แต่สำหรับความเห็นในโลกโซเชียล ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี

เพราะปกติถนนมิตรภาพ ช่วงเช้าและเย็นรถก็ติดอยู่แล้ว ถ้าย้อนกลับไปในอดีต สี่แยกอัมพวันก็มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง พอสะพานสร้างเสร็จก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุอีกเลย

พวกเขามองว่า ฝ่ายที่ให้ทุบสะพาน ถ้าไม่ใช่พวกตัวถ่วงความเจริญ ก็เป็นกลุ่มที่มีผลประโยชน์ในที่ดินแถวนั้น โดยไม่รู้ว่า ถ้าทุบสะพานแล้วจะกระทบการใช้ชีวิตประจำวันของคนโคราชอีกจำนวนมาก

เรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นหนังม้วนยาว ทุกวันนี้โครงการยังไปไม่ถึงไหน เพราะติดหล่มความขัดแย้ง
สถานีรถไฟบ้านกระโดน จ.นครราชสีมา
จากโคราชขึ้นมายังขอนแก่น โครงการรถไฟทางคู่ สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เป็นที่ฮือฮาในโซเชียลมีเดีย เพราะเริ่มมีภาพหน้าตาทางรถไฟยกระดับ และสถานีรถไฟขอนแก่น สถานีขนาดใหญ่พิเศษแห่งแรกในภูมิภาคออกมาบ้างแล้ว

ขณะนี้ สถานีขอนแก่นกำลังติดตั้งบันไดเลื่อน และลิฟท์โดยสาร ชั้นล่างจะเป็นห้องจำหน่ายตั๋ว พื้นที่เชิงพาณิชย์ และห้องควบคุมการเดินรถ ส่วนชั้นบนเป็นชานชาลายกระดับ โดยระดับพื้นชานชาลาเสมอเท่ากับตัวรถไฟ







ส่วนสถานีรถไฟระดับพื้น 18 สถานี ทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จบางส่วน แต่สถานีชุมทางบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา กำลังก่อสร้าง มีลานเก็บกองตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard) เช่นเดียวกับสถานีบ้านกระโดน และสถานีท่าพระ จ.ขอนแก่น

ไม่นับรวมงานก่อสร้างถนนยกระดับ (Overpass) ถนนยกระดับรูปตัวยู (Elevated Two Way U-Turn) ท่อเหลี่ยมทางลอดทางรถไฟ (Box Underpass) แก้ปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟ ระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนเดินข้าม
อุโมงค์ลอดทางรถไฟ จุดตัดถนนเมืองพล-แวงน้อย-แวงใหญ่ อ.พล จ.ขอนแก่น ที่กำลังเป็นปัญหา เพราะทั้งเตี้ยและแคบ
ปัญหาก็คือ ชาวบ้านบางพื้นที่ เช่น อ.พล จ.ขอนแก่น ไม่รู้แบบแปลนมาก่อนว่าจะกั้นทางรถไฟ พอก่อสร้างไปพบว่าปิดเส้นทางสัญจรหลัก 3 จุด แล้วสร้างทางลอดขนาดเล็ก 1 จุด กับสะพานเกือกม้าอีก 2 จุด

ผลก็คือเวลาฝนตก ทางลอดตรงนั้นน้ำท่วมขังไม่ระบาย พอมีข่าวผู้หญิงจมน้ำในอุโมงค์ตายที่กรุงเทพฯ ชาวเมืองพลก็เลยหวาดผวาไม่อยากจมน้ำตาย ส่วนผู้รับเหมาทำได้แค่สูบน้ำออก และติดเครื่องสูบน้ำเตรียมไว้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น



แม้ชาวเมืองพลจะเรียกร้องให้ยกระดับทางรถไฟเพื่อแก้ปัญหา แต่เมื่อการก่อสร้างยังคงเดินหน้าเพื่อให้แล้วเสร็จตามสัญญา ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เลยคิดว่าจะฟ้องศาลปกครองขอนแก่น เพื่อให้รื้อโครงการช่วงที่ผ่าน อ.พล และให้นับหนึ่งใหม่

ตามกำหนดทีแรก มีแผนจะเปิดการเดินรถช่วงสถานีบ้านเกาะ ถึงสถานีเมืองคง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 50 กิโลเมตรในเดือนนี้ แต่ติดปัญหาตรงที่ต้องทดสอบระบบอาณัติสัญญาณ ก็เลยต้องเลื่อนออกไปเปิดให้บริการพร้อมกัน

ถ้าไม่มีอะไรติดขัด คาดว่าทั้งโครงการจะแล้วเสร็จตามสัญญา คือ 18 กุมภาพันธ์ 2562
แบบจำลองรถไฟฟ้ารางเบา สายสำราญ-ท่าพระ จ.ขอนแก่น
ที่โชคดีขึ้นไปอีกสำหรับเมืองขอนแก่นก็คือ ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบผลการศึกษาระบบขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่น และให้จังหวัดขอนแก่น พัฒนาและบริหารจัดการโครงการตามแผน

โดยเฉพาะ “รถไฟฟ้ารางเบา” (LRT) ช่วงบ้านสำราญ-ท่าพระ ขนานไปกับถนนมิตรภาพ ยาว 22.8 กิโลเมตร รวม 16 สถานี งบลงทุน 15,000 ล้านบาท ที่เทศบาล 5 แห่งก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นทรานซิส ซิสเต็ม จำกัด รอไว้อยู่แล้ว

แนวเส้นทางส่วนใหญ่จะขนานไปกับถนนมิตรภาพ ผ่าน บขส.3, แยกเจริญศรี, ประตูเมือง (เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น), แยกสามเหลี่ยม, โรงพยาบาลศรีนครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแแก่น สิ้นสุดที่บ้านสำราญ

ความพิเศษก็คือ ชาวขอนแก่นไม่รอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณ แต่จะใช้วิธี ระดมทุนสาธารณะ (Crowd Funding) และจดทะเบียนเป็น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล 5 แห่ง ภาคเอกชน 20 บริษัท องค์กรเศรษฐกิจ 8 แห่ง องค์กรจีน 24 แห่ง ก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท



โครงการนี้วางรูปแบบรอไว้เสร็จแล้ว จะใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตและประกอบในไทย ใช้พื้นที่เกาะกลางถนนมิตรภาพ ก่อสร้างทางรถไฟฟ้า และใช้ที่ดินศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง และทำสกายวอล์คเชื่อมไปยังประตูเมือง

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รถไฟฟ้ารางเบาสายแรกในขอนแก่น จะวางศิลาฤกษ์โครงการได้ปลายปี 2561 แล้วเสร็จอย่างช้าที่สุด ต้นปี 2563 และในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าตามมา

ถือเป็นการ “พลิกโฉม” เมืองขอนแก่นด้วยขนส่งระบบราง แม้รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนจะยังมาไม่ถึงก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น