xs
xsm
sm
md
lg

ลุงกับแนวรบ “โซเชียล”

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

<b>พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี</b>
เรื่องฮือฮาที่สุดในทางการเมือง คงไม่พ้นการเปิด Facebook “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” (@prayutofficial) ของนายกฯ ลุงตู่ ซึ่งทีมงานอ้างว่า เป็นของท่านจริงๆ เล่นเองเช็กข้อความด้วยตนเอง

ตามด้วยการให้สัมภาษณ์สำทับด้วยว่า เข้าไปดูคอมเมนต์แล้ว คนส่วนใหญ่คอมเมนต์กันแบบเน้นสนุกสนาน รวมถึงรับว่า แม้มีทีมงานดูให้ แต่ก็ให้ทีมงานสรุปคำถามมาเพื่อให้ตัวเองตอบ ซึ่งจะเป็นคนตอบเอง

ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะเป็นการ “เล่นเองเจ็บเอง” หรือเปล่า

และนอกจาก Facebook แล้ว ก็ยังมีทั้ง IG (Instagram) และ Twitter ด้วย เรียกว่าเอากันทุกช่องโซเชียลที่คนนิยมใช้งานในประเทศไทย

ถึงกับมีคนแซวๆ กันว่า แล้วท่านจะเล่น Tinder (App โซเชียลเชิงหาคู่) ด้วยหรือเปล่า

จริงๆ ก่อนหน้านี้ ก็น่าจะมี “ทีมงาน” หรือใครสักคน พยายามสร้างกระแสเชิงบวกให้ “ลุงตู่” มาแล้ว ด้วยการเปิดเพจ “ลุงตู่ตูน” ขึ้นมาเหมือนเพื่อเป็นแรงต้านตอบโต้การโจมตีเชิงล้อเลียนในโลกโซเชียล

แต่ “ลุงตู่ตูน” นั้นดูไม่เวิร์คเท่าไร เพราะเป็นตัวการ์ตูนที่วาดเหมือนทาบแบบ (ดราฟต์) มาจากตัวจริง ดูตลก แต่ไม่น่ารัก ซ้ำยังออกจะผิดสัดผิดส่วน

ดูไม่เจ๋งเท่าพวกการ์ตูนล้อที่ทำได้ดีกว่าเยอะ

แถมทีมงานคอนเทนต์นั้น บอกตรงๆ ว่า “มือไม่ถึง” จังหวะการโพสต์หรือรูปยังไม่ได้ แถมบางข้อความหมิ่นเหม่ให้ตีความไปได้ ว่า นี่ตกลงเพจทำมาแบบเอาจริงหรือฝ่ายตรงข้ามเนียนทำมาแดกดันกันแน่

ดังนั้น ที่ท่านตัดสินใจเปิดหน้าลงมาเล่นแบบ Official Page ให้จริงจังไปเลย ก็น่าจะดีกว่า

แถมยังร่ำๆ ว่าต่อไปจะมีเปิด Live สดด้วย ยิ่งล้ำเข้าไปใหญ่

เชื่อว่าทางทีมงานคงพิจารณาไตร่ตรองกันแล้วหลายรอบว่า ในโลกโซเชียลนั้น “ลุงตู่” เป็นเป้านิ่งถูกโจมตีมาโดยตลอด ต้องยอมรับว่าเพจหรือการ์ตูนล้อเลียนบางอันเห็นแล้ว “สะอึก” ได้รับการกดไลค์กดแชร์อย่างล้นหลาม

ไม่ว่าจะมาจากฝั่งขั้วตรงข้ามที่ชัดเจน หรือแม้แต่จากฝ่ายที่ดูเป็นกลางๆ ก็ยังล้อเลียนแบบขำๆ ผู้คนก็เฮฮากันไป อย่างหลังนี้อาจจะไม่รุนแรงเท่ากลุ่มแรก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า “เรตติ้ง” ในโลกออนไลน์ของ “ลุงตู่” ยังไม่ดีเท่าไร

สังเกตจากเวลาทำโพลต่างๆ ให้เสียงนอกจอ หรือโพลอะไรจะออกมาดีแค่ไหน แต่พอมาสำรวจออนไลน์กันแล้ว ปรากฏว่าคะแนนเสียงรูดมหาราช แบบกลับบ้านไม่เจอ

อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ ทำให้ “ทีมงาน” คิดจะเปิดแนวรบออนไลน์ให้ เพราะไหนๆ ก็ไหนๆ แหย่ขาลงมาสู่พื้นที่เล่นทางการเมืองหลายเรื่องแล้ว คงต้องไปให้สุดทาง

โดยเฉพาะการเมืองในยุคนี้ ถือว่าเป็นยุคสมัยของโซเชียลเน็ตเวิร์กเต็มตัว โดยก่อนหน้านี้ในสมัยการเลือกตั้งปี 2554 เป็นยุคที่อาจจะเรียกว่า “ตั้งไข่” คือโซเชียลเน็ตเวิร์กและสมาร์ทโฟนยังจำกัดอยู่ในหมู่คนมีรายได้และความรู้ระดับหนึ่ง ไม่ใช่ยุคที่ใครๆ ก็มีสมาร์ทโฟนที่ราคาเริ่มต้นหลักร้อยได้

ส่วนว่าจะเป็นการขัดต่อประกาศ คสช.ที่ตัวเองออกมาเองหรือไม่นั้น ก็ปรากฏว่า “รอด” ไปได้ง่ายๆ ก็เพราะตอนนี้ “ลุงตู่” ยังเป็น “นายกรัฐมนตรี” ไม่ใช่หัวหน้าพรรคการเมือง หรือผู้เสนอตัวลงชิงตำแหน่ง “อย่างเป็นทางการ” ดังนั้นก็ไม่มีข้อห้ามอะไร

อาจจะฟังดู “ได้เปรียบ” ไปหน่อย แต่ถ้าจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ปัจจุบันพรรคการเมืองต่างๆ ก็ลงพื้นที่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งนั้น ไม่ว่าจะสายอนาคตใหม่หรือสายความหลังเก่า มีการเผยแพร่นโยบายหรือกิจกรรมกันพอสมควรซึ่งทาง กกต.ก็ไม่ได้เข้มงวดอะไรหนักหนา ดังนั้นจะว่า “ลุงตู่” ต่อยคนอื่นข้างเดียวในตอนนี้ก็ยังว่าไม่ถูกนัก

เว้นแต่ว่าเมื่อไร ที่เริ่มมีการห้ามปรามหรือดำเนินคดีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ใช้พื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์กประชาสัมพันธ์นโยบายหรือกิจกรรมแล้วนะสิ ถึงตอนนั้น การรุกแนวรบโซเชียลของนายกฯ คนปัจจุบันก็คงจะเป็นที่ครหาไม่น้อย

ดังนั้นสภาพ “เอ็งทำข้ายังไม่ว่า เรื่องของข้าเอ็งอย่าเพิ่งโวย” เช่นตอนนี้ก็ดูจะไม่มีปัญหาอะไรนัก

การลงสู่พื้นที่โลกโซเชียลนั้น หากนายกฯ ประยุทธ์จะลงมาเป็นผู้เล่นเอง ติดตามอ่านเพจ Facebook หรือ IG ของตัวเองจริง ก็คงจะได้เห็นสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับความนิยมของตัวเองได้ประมาณหนึ่ง

แน่นอนว่าในทางความเป็นจริงแล้ว กองกำลังนักรบไซเบอร์แบบจัดตั้ง มันมีอยู่จริง (และจริงทั้งสองฝ่ายด้วย) และหนึ่งรายชื่อไม่ได้แทนบุคคลคนเดียวเสมอไป อาจจะเป็นอวตารของใครหลายคนหรือทำกันเป็นทีมก็ได้ เนื่องจากการเปิดบัญชี Facebook ขึ้นมาสักบัญชีนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไร มีอีเมลชื่อเดียวก็ทำได้ ส่วนการจะเปิดอีเมลนั้นก็ง่ายแสนง่าย อย่างที่รู้กัน

แต่ก็ต้องยอมรับความจริงด้วยเช่นกันว่า “ชาวเน็ต” ทุกคนไม่ได้เป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนจริงอะไรจริง เป็นคนที่จะลงคะแนนให้ท่านหรือให้ใครก็ได้นั่นแหละ

ความไม่พอใจที่แสดงออกผ่านคอมเมนต์ ดูให้ขำก็ขำ ปลอบใจว่าเขาคอมเมนต์เล่นๆ หัวๆ ก็พอได้ แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นกันว่าคะแนนนิยมชังชอบของผู้คนอยู่ที่ระดับไหน

ยิ่งเปิด Live สดถ้าจริงนี่ ยิ่งควบคุมอะไรไม่ได้เลย จะจัดทีมงานมาไล่ลบกลางอากาศก็ตลก หรืออย่างการกดอีโมติคอนแสดงอารมณ์นี่ ควบคุมอะไรไม่ได้เลย

อันนี้ทีมงานต้องระวังให้ดีว่า ระวังอย่าให้คนหัวร้อนอย่างท่านจับคีย์บอร์ดหรือโทรศัพท์เอง เพราะคงจะดูไม่จืด พอๆ กับ Twitter บันลือโลกหลายข้อความของโดนัลด์ ทรัมป์ที่ก่อปัญหาหรือมีนัยทางการเมืองได้

ส่วนบรรดานักเลงคีย์บอร์ด ที่อาจจะกำลังสนุกสนานว่ามีช่องทางใหม่ในการกระเซ้าเหย้าแหย่ลุงแก เองก็ต้องระวังเช่นกันว่า “คนที่อยู่หน้าจอ” ที่เห็นนั้น อาจจะเป็นท่านผู้นำหัวร้อนตัวจริงก็ได้ หรืออย่างน้อยก็ทีมงาน ซึ่งมีอำนาจรัฐเต็มที่ในมือ ทั้งตามกฎหมายความมั่นคงและมาตรา 44

ยิ่งใครที่ใช้ชื่อจริง โปรไฟล์รายละเอียดจัดเต็ม ก็ระวังมีบริการปรับทัศนคติถึงบ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น