xs
xsm
sm
md
lg

พรรคสำรองหรือพรรคอะไหล่?

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

<b>นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อธรรม</b>
แม้ว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันนี้ แม้จะมีความพยายามในการ “ปฏิรูป” เพื่อแก้ไขปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในทางการเมืองระบบผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์สะอาดและสะท้อนเสียงของประชาชนส่วนมากให้ได้มากที่สุด

แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนจะมีกับดักทั้งที่ชัดเจนเห็นได้ เช่นบทเฉพาะกาลที่ให้มี ส.ว.จากการแต่งตั้งมีอำนาจในการเสนอชื่อและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเหมือนกับมี “พรรคของใครก็ไม่รู้” ในสภาฯ ที่มีเสียงฟรี 250 เสียง

และระบบการเลือกตั้งที่พรรคใหญ่มากๆ อาจจะไม่ได้เปรียบ ซึ่งเหมือนกับเพื่อจะเป็นการป้องกันรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว เปิดโอกาสให้พรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามามีที่นั่งในสภาฯ

เช่นการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบใหม่ ที่มีการใช้ “บัญชีรายชื่อ” แบบสัดส่วนที่จะไปชดเชยจำนวน ส.ส.ให้สะท้อนสัดส่วนเสียงจริงที่แต่ละพรรคควรจะได้รับในภาพรวมระดับประเทศ

เอาง่ายๆ เช่น พรรคเพื่อไทยนั้น ได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงประมาณ 14 ล้านเสียง จากคะแนนเสียงทั้งประเทศ 31 ล้านเสียง ตีกลมๆ ก็เป็นตัวเลขราวๆ 45% เท่านั้น แต่กลับได้ ส.ส.ไปถึง 265 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่งในสภาฯ หรือราวๆ 53% ก็จะเห็นว่าจำนวนที่นั่งนั้นไม่สะท้อนถึงจำนวนคะแนนเสียงจริงจากการเลือกตั้งอยู่ถึง 8%

เมื่อมีการเอาผลการเลือกตั้งด้วยค่าข้อมูลเดิมของการเลือกตั้งปี 2554 ไปคำนวณด้วยสูตรใหม่รัฐธรรมนูญปัจจุบันดังกล่าวแล้ว พบว่าจำนวนที่นั่งของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

จากข้อมูลของคุณกฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ จาก Workpoint News นั้น สรปุได้ว่า พรรคเพื่อไทย จากเดิมที่ได้จำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2554 ถึง 265 คน เมื่อคำนวณจากคำแนน ส.ส.ทั่วประเทศ คือประมาณ 14 ล้านเสียง จากเสียงทั้งหมดประมาณ 31 ล้านเสียงแล้ว จำนวน ส.ส.ที่ควรจะได้อยู่ที่ 225 ที่นั่ง ลดลงไปถึง 40 ที่นั่ง

ซึ่งที่นั่งเหล่านี้จะไปเพิ่มให้แก่พรรคอื่นๆ ตามสัดส่วนของคะแนนทั่วประเทศรวมกัน เช่น ประชาธิปัตย์จะได้เพิ่ม 1 คน

แต่ตัวเลขที่ได้นั้นสะดุดใจที่พรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทย ที่ได้ ส.ส.เขตเพียง 29 คน แต่คะแนนเสียงระดับประเทศมาเป็นที่ 3 คือมีคนเลือกถึง 3.5 ล้านคนนั้น เมื่อคิดตามระบบใหม่ พรรคนี้ควรได้จำนวน ส.ส. 55 ที่นั่ง หรือเพิ่มขึ้นมาถึง 21 ที่นั่งเลยทีเดียว และกรณีพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ซึ่งการเลือกตั้งระบบเดิมนั้น ได้ ส.ส.เขต 5 ที่นั่ง ปาร์ตี้ลิสต์ 2 ที่นั่ง เป็น 7 แต่เพราะสัดส่วนผู้ออกเสียงเลือกพรรคนี้เป็นที่ 5 คือ 1.2 ล้านคน ทำให้ระบบนี้เขาควรมี ส.ส. 20 คน จึงเท่ากับเพิ่มมาถึง 13 ที่นั่งเลยทีเดียว

จึงอาจกล่าวได้ว่า ระบบการเลือกตั้งนี้สะท้อนเสียงของคนทั้งประเทศ ดังนั้นพรรคที่ได้ที่ 3 ถึงที่ 5 จะได้ประโยชน์มากๆ เพราะคะแนนเสียงวัดกันรายเขตนั้นจะไม่พอให้ชนะได้ในระบบเขต แต่มากพอที่จะมากองรวมกันทั่วประเทศแล้วแบ่งสัดส่วนจำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์มาได้

นี่คือความคาดเดาได้ยากของการเลือกตั้งระบบใหม่ ที่ต่อให้ไม่ชนะในเขตเลือกตั้งใดเลย แต่คนเลือกกันรวมๆ แล้วเป็นจำนวนมากพอ ก็อาจจะคว้าเก้าอี้ในปาร์ตี้ลิสต์ได้ ในระดับที่มี “เสียงดัง” พอจะเป็นตัวแปรในสภาฯ เลยก็ได้

ในขณะที่พรรคใหญ่ๆ ที่ชนะในระบบเขตไปแล้ว ก็จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเท่าไรจากระบบนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ส.ส.เขตนั้นได้แล้วก็ได้เลย ไม่ถูกลด แต่ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มเท่านั้นเอง

ดังนั้น “ตัวพลิกเกม” ในรอบนี้คือพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจริงๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมี “ความเคลื่อนไหว” เพื่อจะ “แก้เกม” จากพรรคใหญ่ ที่เคยเป็นเจ้าตลาด ด้วยการ “เปิดสาขา” ที่ดูชื่อ โลโก้หรือหน้าผู้จัดตั้งพรรคแล้วก็เดาไม่ยากว่าแตกสาขามาจากไหน

เช่น “พรรคเพื่อธรรม” ที่มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีหลายสมัยจากพรรคพลังประชาชน เป็นหัวหน้าพรรค “พรรคเพื่อชาติ” ที่โลโก้นี่แทบไปขอลิขสิทธิ์กันมา หรือแม้แต่ “พรรคเพื่อนไทย” ของแกนนำเสื้อแดงกลุ่มหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ชี้เจตนาการหวังจะแก้เกม ทั้งในเกมการยุบพรรคซึ่งไม่แน่ว่าอะไรก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ที่ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามามีอิทธิพลในการบริหารพรรค เพื่อป้องกันพรรคนอมินี

และนักวิชาการทางด้านการเลือกตั้งยังมองว่า เป็นการวาง “ตะกร้า” ลงมาขอแบ่งคะแนนเสียงในระบบปาร์ตี้ลิสต์แบบใหม่นี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งนั้น ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด ทั้งเงื่อนไขของเรื่อง “ความนิยม” ในตัวพรรคการเมืองทั้งหน้าเก่า ว่ายังเหลือกันเท่าไร และพรรคหน้าใหม่ที่ว่าชิงคะแนนเหล่านั้นมาได้บ้างหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีการสำรวจอะไรได้จริงจัง เนื่องจากติดเงื่อนไขของ คสช.

หรือแม้แต่ “คะแนน” ของ “ผู้นำ” ในปัจจุบัน ว่า ถ้าจะลงสู่เกมการเลือกตั้งตามระบบแล้ว “ความนิยม” จริงๆ ถึงขนาดที่ผู้คนไปกาบัตรให้นั้น จะมีอยู่เท่าไร เพียงพอที่จะชิงเก้าอี้ ส.ส.ในสภาฯ มาสมทบกับทุน 250 เสียงในกระเป๋าได้แค่ไหน

กับปัจจัยเรื่องวิธีการเลือกตั้ง ที่แม้แต่นักวิชาการยังประเมินได้ยาก นั่นคือ ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญสองครั้งที่ผ่านมานั้น ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถกาบัตรได้สองใบ แยกได้ระหว่าง “เลือกคนที่รัก” ในพื้นที่นั้นเป็น ส.ส.เขต และ “เลือกพรรคที่ชอบ” ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อสนับสนุนเป็นรัฐบาล

การเลือกตั้งระบบนี้ทำให้คะแนนนิยมของตัวบุคคลในท้องถิ่นกับคะแนนนิยมของพรรค อาจจะแยกจากกันได้บ้าง

แต่ในการเลือกตั้งระบบใหม่นี้ บัตรลงคะแนนเป็นใบเดียว คือ ส.ส.เขตเท่านั้น คะแนนปาร์ตี้ลิสต์นั้นเกิดจากการรวมเสียงของ ส.ส.เขต

ดังนั้น ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะต้อง “เลือก” แล้วว่า จะเลือกตัวบุคคล หรือเลือกที่พรรค ในกรณีที่คนที่รักไม่ได้อยู่ในพรรคที่ชอบ

ความ “ตัดสินใจยาก” ตรงนี้แหละ ที่จะเป็น “ตัวแปร” สำคัญให้สูตรคณิตศาสตร์เลือกตั้งอะไรก็คาดการณ์จำนวนที่นั่งในสภาฯ ได้ยาก

ดังนั้นข้อมูลการเลือกตั้งปี 2554 จึงเป็นเพียงการ “จำลอง” ภาพสมมติให้ดูได้บางส่วนเท่านั้น

ของจริงรอดูกันต้นหรือกลางปีหน้าสถานเดียว.


กำลังโหลดความคิดเห็น