หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เขียนก่อนการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น K PLUS โฉมใหม่เพียงไม่กี่ชั่วโมง
การอัปเดตแอปพลิเคชั่น K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย เวอร์ชั่นใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนหน้าตาใหม่หมดจด แต่ยังรวมไปถึงการขยับของธนาคารขนาดใหญ่ ที่มีส่วนแบ่งการตลาดดิจิทัลแบงกิ้งอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน
เดิมแอปพลิเคชั่นโมบาย แบงกิ้ง (Mobile Banking) เป็นเพียงช่องทางทำธุรกรรมพื้นฐาน อาทิ สอบถามยอด โอนเงิน เติมเงิน จ่ายบิล แต่ทุกวันนี้แต่ละธนาคารพยายามผลักดันแอปฯ ผสมผสานกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพื่อครองใจผู้บริโภคในชีวิตประจำวัน
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ถือเป็นธนาคารแรกๆ ที่พัฒนาแอปฯ ธนาคารบนมือถือเป็นของตัวเอง นอกจากบริการ K-Cyber Banking ธนาคารบนอินเตอร์เน็ต
นับตั้งแต่ปี 2552 ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน K-Mobile Banking Plus ตามหลัง ATM SIM ให้บริการเช็กยอด โอนเงิน เติมเงิน จ่ายค่าสินค้าและบริการ โดยอาศัยเว็บบราวเซอร์ในการทำงาน
มาถึงเดือนกันยายน 2556 ธนาคารได้พัฒนาหน้าตาแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่ เข้าสู่ระบบโดยใช้รหัสส่วนตัว 6 หลัก มีรูปแบบสวยงาม ตกแต่งหน้าตาได้ตามใจ เมนูการใช้งานที่ใช้ง่าย สแกนบาร์โค้ดเพื่อจ่ายบิลได้
รวมทั้งเป็นต้นแบบของการออก อี-สลิป (E-Slip) เป็นไฟล์ภาพแก่ลูกค้า เมื่อทำรายการสำเร็จ กลายเป็นต้นแบบที่ทำให้แอปพลิเคชั่นธนาคารอื่นต้องทำตาม
แต่ด้วยสมรภูมิการแข่งขันของธนาคารต่างๆ แห่พัฒนาแอปพลิเคชั่นเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้นำตลาดต้องขยับ เริ่มจากเปลี่ยนชื่อเป็น K PLUS เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 เพื่อให้ผู้ใช้เรียกชื่อแอปฯ ง่ายขึ้น
ล่าสุด กับการพัฒนาแอปฯ K PLUS เวอร์ชั่นใหม่ ที่นอกจากจะเปลี่ยนหน้าตา ชนิดที่ว่าต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อนแล้ว ยังก้าวข้ามความเป็นช่องทางธุรกรรมทางการเงิน ไปสู่การแข่งขันที่กว้างขวางมากขึ้น
สมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) บริษัทย่อยของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยเบื้องหลังการเปลี่ยนโฉมแอปพลิเคชั่นใหม่หมดจด เมื่อครั้งที่ธนาคารฯ เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมทดสอบแอปฯ ที่สำนักงานใหญ่ KBTG เมืองทองธานี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
เขากล่าวว่า แอปฯ K PLUS รูปแบบเดิมใช้กันมาตั้งแต่ปี 2556 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน เดิมเป็นช่องทางหนึ่งให้ลูกค้าเข้ามาทำธุรกรรมทางการเงิน แต่โจทย์ในครั้งนี้ จะไม่คิดว่าเป็นช่องทางธุรกรรมเพียงอย่างเดียว แต่มันคือ "ดิจิทัล แบงกิ้ง" (Digital Banking) อย่างแท้จริง
"การที่จะเป็นธนาคารรูปแบบใหม่ ต้องอยู่รอดได้โดยไม่ถูก Disrupt (ทำลายล้าง) โดยไม่ได้คิดแบบเดิมๆ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มันคือวิธีคิดใหม่ Mindset ใหม่ เพื่อให้อยู่ได้อีก 5-10 ปีข้างหน้า" สมคิด กล่าว
การเปลี่ยนโฉม K PLUS ใหม่ครั้งนี้ เรียกว่า เวอร์ชั่น 5.0 มีชื่อโปรเจ็กต์ว่า "Victoria Project" ใช้เวลาพัฒนาอย่างลับๆ โดยทีมงานของ KBTG ร่วมกับฝ่ายธุรกิจ (Business) ของกสิกรไทยประมาณ 1 ปี
เขาอธิบายความหมายคำว่า Victoria คือ "ชัยชนะที่รอดพ้นจากการถูกทำลายล้าง" เพราะปัจจุบันมี "คนตัวใหญ่" เข้ามารุกตลาด ด้วยจุดเด่นคือ "ถูกกว่า-เร็วกว่า-ดีกว่า" ซึ่งทุกรายใช้ระบบเอไอเหมือนกันหมด
"K PLUS จะไม่ใช่ธนาคารเดียว และไม่ใช่แค่ธนาคาร แต่จะยังออกไปนอกกลุ่มธนาคารด้วย" ประธาน KBTG ระบุ
• ใหม่หมดจด สลัดภาพ "พู่กันจีน" สู่โอเพ่น แพลตฟอร์ม
การเปลี่ยนโฉมใหม่ของแอปฯ K PLUS อาจเรียกได้ว่า "ใหม่หมดจด" ตั้งแต่ไอคอนแอปพลิเคชั่น ที่สลัดภาพ K แบบพู่กันจีน สัญลักษณ์ของธนาคารกสิกรไทย กลายเป็นสัญลักษณ์ K แบบใหม่ที่เป็นตัวหนังสือหนาขึ้น
ผู้พัฒนาแอปฯ สื่อว่าไม่ต้องการให้ยึดติดว่าเป็นแอปฯ ธนาคารแบบเดิมๆ ก้าวเข้าสู่ความเป็น "โอเพ่น แพลตฟอร์ม" (Open Platform)
หน้าตาแอปพลิเคชั่น แตกต่างจาก K PLUS เดิมเมื่อ 5 ปีก่อนอย่างชัดเจน ทั้งแบบอักษรจากเดิมใช้ DB ThaiText X (ดีบี ไทยเท็กซ์ เอ็กซ์) มาเป็น Sukhumvit (สุขุมวิท) ซึ่งเป็นฟอนท์ที่แอปเปิลเคยใช้ในระบบปฏิบัติการ iOS 7 พร้อมดีไซน์ใหม่ สีครามผสมฟ้าน้ำทะเล ที่ให้ความรู้สึกเรียบหรู
หน้าแรกของ K PLUS จากเดิมจะบอกเพียงอัตราแลกเปลี่ยน และแบนเนอร์โปรโมชั่นเล็กๆ น้อยๆ แต่สำหรับของใหม่จะเป็น "K+ TODAY" แจ้งสิทธิประโยชน์ และข่าวสารโปรโมชั่นต่างๆ เข้าชมได้เลย โดยไม่ต้องเข้าสู่ระบบ
ด้านล่างของหน้าจอ จะเป็นแถบเมนู ประกอบด้วย หน้าแรก, K+ Market, ธุรกรรม จะอยู่ตรงกลางสีเขียวโดดเด่น สำหรับโอน-จ่าย-เติม, สแกน สัญลักษณ์คิวอาร์โค้ด (เดิมคือ Quick Pay) สำหรับใช้สแกนคิวอาร์โค้ด และ อื่นๆ
แต่หากต้องการสอบถามยอด โอนเงิน จ่ายบิล เติมเงิน เมื่อเข้าสู่เมนู "ธุรกรรม" จะต้องเข้าสู่ระบบอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รหัส PIN 6 หลัก, สแกนลายนิ้วมือ Touch ID เหมือนอย่างที่้เคยทำ รูปแบบไม่ต่างจากของเดิมนัก
โดยเฉพาะการโอนเงิน ยังมีลูกเล่นเพิ่มเติม อาทิ "โอนเงินล่วงหน้า" ที่เดิมทำได้เฉพาะอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง คราวนี้ยังทำได้ผ่านมือถือ หรือจะเป็นการจัดหมวดหมู่การทำธุรกรรมใน "บันทึกช่วยจำ"
อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบแอปฯ คราวนั้น เดิมปุ่มเมนูตรงกลางจะเป็นเมนู "สแกน" แต่ผู้ทดสอบส่วนใหญ่เห็นว่า ควรย้ายปุ่ม "ธุรกรรม" ให้เด่นชัดมากกว่า รวมทั้งขยายขนาดตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น จึงได้ย้ายสลับกันในเวลาต่อมา
• ลูกเล่นใหม่ "คิวอาร์โค้ด" บน อี-สลิป พ่วง "ถอนเงินไม่ใช้บัตร"
จุดเด่นอย่างต่อมาที่เป็นต้นแบบให้แอปฯ ธนาคารอื่นๆ ต้องทำตาม ก็คือ "อี-สลิป" โฉมใหม่ เมื่อ 5 ปีก่อน กสิกรไทยถือเป็นเจ้าแรกที่ออก อี-สลิป เป็นไฟล์ภาพเมื่อทำรายการบนแอปฯ สำเร็จ
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมายาวนาน โดยเฉพาะบรรดาพ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ คือ "อี-สลิปปลอม" ที่ตัดต่อตัวเลขหรือข้อมูลการโอนเงิน สร้างความเสียหายแก่ผู้ค้าจำนวนมาก
จึงได้ดีไซน์อี-สลิปใหม่ โดยเพิ่มคิวอาร์โค้ดที่บริเวณมุมขวาล่าง เพื่อให้ผู้รับตรวจสอบได้ว่า อีสลิปใบนั้นของจริงหรือปลอม
อีกลูกเล่นหนึ่ง แม้จะตามหลังธนาคารอื่น แต่ก็ได้เพิ่มคุณสมบัติในครั้งนี้ คือ "ถอนเงินไม่ใช้บัตร" (In-App Withdrawal) โดยสแกนคิวอาร์โค้ดที่หน้าตู้เอทีเอ็มกสิกรไทย แตกต่างจากธนาคารอื่นที่จะออกรหัสกดเงินสด 4-6 หลัก
ผู้พัฒนาแอปฯ อธิบายว่า ที่ให้สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อถอนเงินโดยตรง ก็เพื่อความปลอดภัย ไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้รหัสแล้วสวมรอยถอนเงินแทน
แม้รูปแบบดังกล่าว ไม่ต่างจากแอปฯ MyMo ของธนาคารออมสิน กว่า 1 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยจำนวนเครื่องเอทีเอ็มกสิกรไทย (K-ATM) ที่มีมากกว่า 9,100 เครื่องทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2561) คาดว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่จะได้รับความนิยม
อีกเครื่องมือหนึ่งที่ผู้พัฒนาแอปฯ เห็นว่าจะช่วยสร้างวินัยทางการเงิน คือ "สรุปยอดใช้จ่าย" ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าในแต่ละเดือน หรือตลอดทั้งปีเราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง มีการจัดหมวดหมู่เป็นสัดส่วนให้เลือก
นอกจากนี้ ยังมีเมนูอื่นๆ สำหรับลูกค้าที่สนใจ เช่น เมนู "สินเชื่อ" สำหรับสมัครผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆ, "ลงทุน" ที่ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีกองทุนกับ หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย (K ASSET) เป็นต้น
• ร้านค้าออนไลน์ก็มา K+ Market - จับมือ "กลุ่มเซ็นทรัล" เชื่อมข้อมูลสมาชิกเดอะวัน
เมื่อคอนเซปต์ของแอปฯ K PLUS ไม่ใช่เพียงแค่ธนาคารอย่างเดียว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนโฉม K PLUS ใหม่ คือ "K+ Market" แหล่งจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ซึ่งต่อยอดจากแอปพลิเคชั่นรับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด K PLUS SHOP ที่มีฐานลูกค้ากว่า 1.3 ล้านร้านค้า
ผู้ใช้สามารถเข้าชมสินค้าแต่ละอย่างได้โดยไม่ต้องเข้าสู่ระบบ ถ้าสนใจสินค้าตัวไหน ก็สั่งซื้อได้ทันที โดยชำระเงินผ่านบัญชีที่มีอยู่ใน K PLUS กรอกที่อยู่จัดส่ง แล้วรอรับสินค้าที่บ้านหรือที่ทำงานได้ทันที โดยตรวจสอบได้จากเมนู "รายการสั่งซื้อ" หรือจะบันทึกร้านค้าที่ชอบแล้วเปิดดูได้ที่เมนู "ร้านค้าโปรด"
สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตกสิกรไทย ยังสามารถนำคะแนน KBank Reward Point มาแลกรับสินค้าใน K+ Market ได้ทันที โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่พัฒนาจากของเดิมขึ้นมาใหม่ คือเมนู "บัตรสมาชิก" ด้านมุมบนซ้ายของจอ หลังจากประเดิมให้ผู้ถือบัตร PTT Blue Card ของกลุ่ม ปตท. เชื่อมข้อมูลบัตรเพื่อรับสิทธิพิเศษ รวมทั้งชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด
ล่าสุด ได้ร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล ให้สมาชิก เดอะวัน (The 1) เชื่อมข้อมูลลงใน K PLUS แล้วนำบาร์โค้ดมาใช้แทนบัตรจริงแสดงเพื่อสะสมคะแนน จากร้านค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัล
นอกจากพันธมิตรค้าปลีกที่มีอยู่ K PLUS ยังเปิดกว้างให้ภาคธุรกิจ องค์กร สมาคมต่างๆ ใช้ K PLUS ในการทำระบบบัตรสมาชิก โดยเริ่มจากสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนโฉมแอปฯ K PLUS ใหม่ยังมีอุปสรรค คือ แอปฯ รองรับระบบปฏิบัติการต่ำสุดคือ iOS 9 หรือ Android 5.0 ขึ้นไป อาจมีผู้ใช้งานบางส่วนไม่สามารถใช้แอปฯ เดิมต่อไปได้
ก่อนหน้านี้ ธนาคารฯ ได้ร่วมกับค่ายมือถือชั้นนำ และผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง เจมาร์ท มอบส่วนลดสมาร์ทโฟนสูงสุด 50% เฉพาะลูกค้าที่ได้รับข้อความและโค้ดที่ธนาคารส่งให้เท่านั้น
ปัจจุบัน แอปฯ K PLUS มีผู้ใช้บริการประมาณ 9 ล้านราย มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มดิจิทัลแบงกิ้ง รองลงมาคือ SCB Easy ธนาคารไทยพาณิชย์ อยู่ที่ 8 ล้านราย ส่วน KTB Netbank ธนาคารกรุงไทย และ Bualuang mBanking ธนาคารกรุงเทพ 5 ล้านราย
การเปลี่ยนโฉมเพื่อก้าวข้ามจากช่องทางทำธุรกรรมแบบเดิม จึงเป็นภารกิจที่ท้าทายเพื่อความอยู่รอด เพราะยุคนี้การทำลายล้างไม่ใช่เพียงแค่ธนาคารคู่แข่ง แต่ยังมีผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี