xs
xsm
sm
md
lg

ชั่วคราว 2 ชั่วโมงที่จันทบุรี

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ผมตัดสินใจยื่นใบลาพักร้อนวันธรรมดา 1 วันครับ

คุณผู้อ่านบางคน อาจจะนึกในใจว่า “จะบ้าเหรอ!”

จะว่าบ้า ... ผมก็ว่าบ้าครับ

แต่วันลาพักร้อนเขาไม่ได้กำหนดว่าจะต้องลาหลายวัน ตราบใดที่วันลาพักร้อนยังเหลืออยู่ ใช้สิทธิ์ได้ก็ควรจะใช้

เพราะขนาดเครื่องจักรยังต้องพัก นับประสาอะไรกับชีวิตคนเราที่เป็นเพียงแค่ผิวหนังหุ้มเนื้อ

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ อยากมีเวลาอยู่กับตัวเองบ้างสักวันหนึ่ง ถือโอกาสได้ทำอะไรตามใจตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่ชอบ คือการเดินทาง แต่ขอเป็นการเดินทางที่ไปเช้า เย็นกลับ ไม่ค้างคืน

นำมาสู่ทริปฉุกละหุกสู่ภาคตะวันออกในครั้งนี้

...

ออกจากบ้านแต่เช้าครั้งนี้ ตั้งใจว่าจะไปภาคตะวันออก

เพราะวันก่อนมาธุระแถวสี่แยกบางนา เห็นสถานีรถตู้ไปภาคตะวันออกอยู่ใต้ทางด่วนเป็นสัดส่วน จากเมื่อก่อนสมัยที่เรียนรามฯ เวลาไปสอบที่ราม 2 จะเห็นนายท่ารถตู้คอยถามว่า “ไปไหนครับ” อยู่เรื่อย เลยคิดว่าจะหาโอกาสไปเที่ยวสักครั้ง

ทีแรกตั้งใจว่าจะไปถึงจันทบุรี เพราะไม่เคยไป ในชีวิตไปไกลสุดแค่ระยอง ปรากฎว่ารถตู้ที่นี่ ไปได้แค่ระยอง ถ้าจะไปจันทบุรีต้องไปขึ้นรถทัวร์ที่เอกมัย

เลยตัดสินใจ เอาวะ ... ไปลงระยองก่อนก็ได้

รถตู้ BH นำพาเราจากบางนาไประยอง ด้วยค่าโดยสาร 160 บาท เดี๋ยวนี้พื้นที่ภาคตะวันออกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นเขาขึ้นเนินก็เห็นแต่อาคารมุงหลังคาเมทัลชีท คงเป็นผลมาจากการเปิดเป็นพื้นที่โครงการอีอีซี ให้ฝรั่งลงทุนตั้งโรงงาน

2 ชั่วโมงเศษ รถตู้หมดระยะเพียงแค่สถานีขนส่งผู้โดยสารระยองแห่งที่ 2 ถ้าจะไปจันทบุรีมีรถตู้ไปต่อ แต่เราขอไปเยี่ยมญาติ ที่ทำงานในตัวเมืองระยองสักครู่ เลยใช้บริการรถสองแถวเข้าเมือง

รถสองแถวสีแดงคันนี้ ออกจาก บขส.ใหม่ ผ่านสำนักงานขนส่งจังหวัด, โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง, ห้างแหลมทอง (Passione), เทสโก้ โลตัส ระยอง, ตลาดสตาร์ หมดระยะที่ บขส.เก่า มีรถวิ่งตั้งแต่ตีสี่ ถึงเที่ยงคืน ค่าโดยสาร 15 บาทเท่านั้น

เมืองระยองเดี๋ยวนี้ มองผิวเผินเหมือนจะคึกคัก นับตั้งแต่รัฐบาลพยาบามเร่งโครงการอีอีซี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดใช้ท่าอากาศยานอู่ตะเภากับเส้นทางบินข้ามภาค ข้ามประเทศ ก็มีรถรับ-ส่งถึงตัวเมืองระยอง

ที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะเป็น โรงแรมฮอลลิเดย์ อินน์ ระยอง ของกลุ่มอินเตอร์คอนติเนนตัล ตึกระฟ้า 30 ชั้น สูงที่สุดในระยอง เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2560 จุดเด่นตรงที่ห้องพักมองเห็นวิวเมืองระยอง และทะเลไกลสุดลูกหูลูกตา

พอเห็นค่าห้องพักแล้ว สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา แอบเหวออยู่นิดๆ

ถ้าจะเข้าพักจริง สงสัยต้องผ่อนศูนย์เปอร์เซ็นต์สามเดือน

(2)

เราใช้เวลาเมืองระยองไม่นานนัก ก็ต้องรีบไปจันทบุรีกันต่อ

รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างนำพาเราไปที่ บขส.เก่า เดี๋ยวนี้เหลือเพียงแค่รถสองแถวไปต่างอำเภอเท่านั้น แต่รถตู้ BH จะแวะรับผู้โดยสารที่นี่เพื่อไปจันทบุรี

คนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างบอกว่า “ถ้าหนูไปขึ้นวินคันอื่น วินเค้าจะบอกว่า เดี๋ยวนี้เขาไป บขส.ใหม่กันหมดแล้ว หนูก็จะต้องเสียอีก 150-200

แต่หนูจะไปจันทบุรีใช่ไหม เดี๋ยวป้าจะพาไปซื้อตั๋วตรงนั้นเลย”

เราได้รถตู้จันทบุรีรอบบ่ายสองโมง ค่าโดยสาร 120 บาท เลยเวลาสักพัก รถตู้จาก บขส.ใหม่ก็มาถึง ก่อนที่เราจะมุ่งหน้าออกจากระยอง ท่ามกลางฝนตกหนัก

รถตู้ทยอยแวะส่งผู้โดยสารที่เมืองแกลง ปากน้ำประแสร์ นายายอาม ท่าใหม่ เลี้ยวขวาเข้าเมืองจันทบุรี ที่สี่แยกเขาไร่ยา ไปตามถนนเลียบเนิน ตรงไปอีก 6 กิโลเมตรก็จะถึงตัวเมือง

เบ็ดเสร็จระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง

ขอบอกว่า ตัวเมืองจันทบุรี ไม่ติดกับถนนสายหลัก อย่างเช่นถนนสุขุมวิท เพราะหลุดจากสี่แยกเขาไร่ยา ก็จะเป็นชายขอบเมืองไปแล้ว ถ้าจะมาแบบไม่มีแบบแผน ก็คงคาดเดาเส้นทางได้ลำบาก

เรามาถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารจันทบุรีเกือบ 5 โมงเย็น เรามองหารถที่จะกลับกรุงเทพฯ ถามนายท่ารถตู้ก่อนเลยว่า ไปหมอชิตเที่ยวสุดท้ายกี่โมง

นายท่าก็ตอบว่า “สองทุ่ม” พร้อมกับให้นามบัตรไว้เผื่อจะโทร.จอง

มีเวลาอยู่จันทบุรีเพียงแค่สองชั่วโมงเท่านั้น เพราะตอนออกจากบ้าน ตั้งใจว่าจะมาแบบ “เช้าไปเย็นกลับ” เท่านั้น อีกทั้งมาแค่ตัวเปล่า ไม่ได้เตรียมเสื้อผ้ามาด้วย การเที่ยวแบบไม่มีแบบแผนจึงเกิดขึ้น

รถรับจ้างที่นี่จะมีอยู่สองอย่าง คือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กับ รถมาสด้า ซึ่งเป็นรถกระบะสี่ล้อรับจ้างไม่ประจำทาง

แต่ด้วยความกลัว เมื่อได้ยินกิตติศัพท์จากชาวเน็ตบอกว่า แพงพอๆ กับรถแดงเชียงใหม่ เลยขอเป็นตัวเลือกท้ายๆ

เราถามวินมอเตอร์ไซค์ตรงนั้นว่า ไปริมน้ำเท่าไหร่ กลุ่มพี่วินงงเล็กน้อยว่าตรงไหน เราอธิบายว่า ที่มีคนไปเที่ยว ไปถ่ายรูปเยอะๆ พี่วินมอเตอร์ไซค์จึงบอกว่า 25 บาท

ก่อนพาไปยัง “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” เป็นจุดแรก

(3)

ชุมชนริมน้ำจันทบูร เป็นชุมชนเก่าแก่มีอายุกว่า 300 ปี ที่นี่ยังคงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ แม้บางส่วนจะบูรณะไปตามยุคสมัย

หนึ่งในนั้นคือ “ท่าแม่ผ่อง” ท่าเรือที่ใช้สำหรับติดต่อค้าขายกันในอดีต

จากประตูท่าเรือ เราเดินเข้าไปในตรอกเพียงเล็กน้อย ก็จะเห็นแม่น้ำจันทบุรีไหลลงสู่ทะเล ปัจจุบันได้บูรณะปูทางเดินด้วยกระเบื้องสีดำ และม้านั่งสีเหลืองอีก 3-4 ตัว เหมาะกับการถ่ายรูปเช็กอินยิ่งนัก



ปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีร้านค้า ร้านอาหารต้อนรับผู้มาเยือน ถ้าเป็นวันหยุดอาจจะคึกคักขึ้นมาหน่อย ส่วนวันธรรมดาก็ตามสภาพ หนึ่งในของฝากที่ขึ้นชื่อของจันทบุรี คือ “ขนมไข่”

ยุคนี้ราชินีแห่งผลไม้ต้องยกให้ทุเรียน เราจึงได้เห็น “ขนมไข่เนื้อทุเรียน” จำหน่าย มีทั้งแบบถ้วยเล็กแบบคัพเค้ก 3 ถ้วย 40 บาท และถ้วยใหญ่แบบคัพเค้ก เราตัดสินใจซื้อถ้วยเล็กไปฝากที่บ้าน

ปัญหาก็คือ ทีแรกใส่กระเป๋าเป้ไม่ได้เอะใจอะไร สักพักกลิ่นทุเรียนเริ่มโชยออกจากกระเป๋าเป้แรงมาก

สุดท้ายต้องขอถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อคลุมอีกชั้น ไม่อย่างนั้นเวลาขึ้นรถตู้คงได้มีคนเมาทุเรียนตายในรถแน่ๆ

เราข้ามสะพานนิรมล ไปยัง “อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมลจันทบุรี” เป็นวิหารคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่อยู่คู่กับจันทบุรีมายาวนาน ถือเป็นวิหารที่โดดเด่นและงดงามที่สุดในไทย

รูปแบบของวิหารจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เรียกว่า “ศิลปะแบบโกธิค” มีหอแหลมสูงโดดเด่นอยู่ 2 ด้าน ด้านขวาจะเป็นนาฬิกา และมี “อนุสาวรีย์พระนางมารีอา” อยู่ด้านหน้า

น่าเสียดาย ที่เรามาเยือนผิดเวลา เพราะปกติจะเปิดเยี่ยมชมได้ถึงบ่ายสามโมงเท่านั้น นอกนั้นจะมีพิธีมิสซาในช่วงเช้าและ 1 ทุ่มตรง ซึ่งระหว่างพิธีจะงดการเยี่ยมชม เราจึงทำได้แค่เพียงมองไปด้านนอกเท่านั้น

แต่เพื่อนรุ่นพี่ที่เคยไปครั้งหนึ่งบอกกับผมว่า ข้างในตกแต่งได้สวยมากๆ

เมื่อเรามาเยือนที่นี่วันธรรมดา สิ่งที่พบเห็นก็คือ บรรดานักเรียนโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ต่างทำกิจกรรมรอกลับบ้าน ด้วยความไม่รู้เราก็เดินไปตามหลังวัด เพราะคิดว่าน่าจะเข้าไปในตัวเมืองได้

กระทั่งมาพบกับแม่ค้าขายลูกชิ้นทอด เธอกล่าวว่า ที่นี่เรียกกันว่า “ชุมชนหลังวัด” ซึ่งก็จะออกนอกเมืองแล้ว

แนะว่าถ้าจะกลับเข้าเมือง ให้เดินย้อนกลับไปทางเดิม ถ้าไม่ข้ามสะพานหน้าวิหาร ก็ตรงไปจะเจอไฟแดงแล้วเลี้ยวซ้าย

ผลของการคาดเดา เกือบจะได้หลงในป่าช้าแล้วไหมล่ะ!

เราเดินเท้าไปยังไฟแดงจันทนิมิต ถนนท่าหลวง เป็นถนนสองเลนสวนทาง เลี้ยวซ้ายเข้าเมือง เลี้ยวขวาไปออกถนนสุขุมวิท ชุมชนที่นี่คึกคักไปด้วยแผงอาหาร ร้านสะดวกซื้อ เราเดินเท้าไปตามถนนลาดยาง ผ่านปั้มน้ำมันเชลล์

ไม่นานนักเราก็มาถึง สะพานวัดจันทนาราม เบื้องหน้าเราจะได้เห็นชุมชนตลาดเก่าริมน้ำจันทบูร และ เจดีย์สีทอง วัดโบสถ์เมือง จากจุดนี้จะเป็นต้นถนนสุขาภิบาล ที่จะไปยังชุมชนริมน้ำจันทบูรนั่นเอง


เดินผ่านโรงพักไปแล้ว เราจะได้เห็น ศาลากลางจันทบุรี (หลังเก่า) สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 รูปทรงเป็นอาคารแบบยุโรป สไตล์โคโลเนียล หลังคามุงกระเบื้องว่าว ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย

แม้จะมีอายุถึง 102 ปี นับตั้งแต่ปี 2459 แต่ก็ยังคงความงดงามไว้ให้ได้เห็น

ปัจจุบันกลายเป็น หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี ส่วนศาลากลางย้ายไปอยู่ถนนเลียบเนิน (แยกจากถนนสุขุมวิทตรงสี่แยกเขาไร่ยา) ใกล้สถานีขนส่งฯ มาตั้งแต่ปี 2521

ฝั่งตรงข้าม จะเป็น ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ ศาลหลักเมืองจันทบุรี ด้านในยังเป็น ค่ายตากสิน กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน กองบัญชาการนาวิกโยธิน

ค่ายตากสินแห่งนี้ เดิมในยุคล่าอาณานิคม กองทหารฝรั่งเศสใช้เป็นค่ายทหารในช่วงที่ยึดเมืองจันทบุรีเป็นตัวประกัน เมื่อปี 2436 เพื่อให้ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงกับเขมรส่วนนอกแก่ฝรั่งเศส

กระทั่งรัชกาลที่ 5 ทรงสละยกดินแดนเหล่านั้นเพื่อให้ชาติไทยอยู่รอด ฝรั่งเศสจึงได้ถอนทหารออกทั้งหมด เมื่อปี 2448 รวมระยะเวลา 12 ปี เหลือไว้เป็นค่ายทหารไว้ใช้งานสืบต่อมา

และตั้งชื่อว่า “ค่ายตากสิน” เมื่อปี 2507 ถึงปัจจุบัน

(4)

เมื่อตะวันตกดิน เวลาเที่ยวของเรายิ่งมีจำกัด

ด้วยความกลัวตกรถ จึงตัดสินใจเดินเท้ากลับไปที่สถานีขนส่ง ผ่านโรงเรียนสฤษดิเดช บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองต่างพากันจอดรถมารับบุตรหลาน สังเกตเห็นความเรียบง่ายของเมือง ต่างจากความวุ่นวายของเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ

สถานีขนส่งผู้โดยสารจันทบุรี ที่นี่มีรถตู้และรถทัวร์เชื่อมไปยังจังหวัดใกล้เคียง อาทิ สาย 301 จันทบุรี-ตราด, สาย 302 จันทบุรี-ระยอง, สาย 341 จันทบุรี-สระแก้ว-กบินทร์บุรี, สาย 386 ฉะเชิงเทรา-จันทบุรี

แม้กระทั่งรถทัวร์เส้นทางข้ามภาคก็มี อย่างเช่น สาย 340 จันทบุรี-นครราชสีมา มีรถตั้งแต่ตีสองครึ่งยันสองทุ่ม, สาย 522 จันทบุรี-บุรีรัมย์ หรือสาย 638 แม่สอด-ตราด และ พิษณุโลก-ระยอง-ตราด แต่เป็นรถหวานเย็น ใช้เวลายาวนาน

ส่วนรถที่มาจากกรุงเทพฯ จะมีรถทัวร์อยู่ 3 เจ้า คือ บขส., เชิดชัยทัวร์ (ของเจ๊เกียว) และ พรนิภาทัวร์ ไปยังสถานีขนส่งหมอชิต 2 และสถานีขนส่งเอกมัย ถ้าเป็นเชิดชัยทัวร์จะมีรถวิ่งตั้งแต่เช้ายันดึก เกือบ 24 ชั่วโมง

เราตัดสินใจนั่ง รถตู้ สาย 9907 จันทบุรี-หมอชิต 2 ค่าโดยสาร 200 บาท เพราะไม่อยากเสียเวลากับรถทัวร์ แม้ที่นั่งจะแคบและดูไม่ปลอดภัยก็ตาม เรามาถึงตอนหกโมงเย็นเศษ แต่ได้เที่ยว 1 ทุ่มตรง

ช้ากว่านี้ เกรงว่าจะขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส กลับบ้านไม่ทัน

แต่เดิมรถตู้ที่นี่แบ่งออกเป็น 4 คิว ได้แก่ คิวโลตัส, คิวโรบินสัน (ที่มีข่าวรถชนไฟคลอก 25 ศพ), คิว BH และคิวบ้านแหลม แต่เมื่อ คสช. จัดระเบียบรถตู้โดยสั่งให้ทั้ง 4 เจ้ารวมคิวกัน

จึงรวมกลุ่มและตั้งชื่อคิวใหม่ว่า “คิวรถตู้ยกทีม”

เราได้คุยกับชาวจันทบุรีรายหนึ่ง ที่กำลังจะกลับกรุงเทพฯ เขากล่าวว่า ที่จริงจันทบุรีมีที่เที่ยวเยอะมาก นับได้ 50-60 แห่ง แต่ถ้าจะเดินห้างฯ มีแค่โรบินสัน นอกนั้นก็จะเป็นเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เท่านั้น

หนึ่งทุ่มตรง ... รถออกจากจันทบุรี มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ใช้ถนนสาย 344 ชลบุรี-แกลง บอกตามตรงว่าถนนสายนี้เละมาก เพราะนอกจากบางช่วงกำลังทำถนนใหม่แล้ว รถบรรทุกที่ใช้ถนนเส้นนี้จำนวนมาก ยังทำถนนพังเป็นช่วงๆ อีก

เมื่อเลย อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ไปแล้ว สองข้างทางมืดมาก เต็มไปด้วยสวนยางและไร่อ้อย เข้าสู่ จ.ชลบุรี ที่ อ.หนองใหญ่ เริ่มมีโรงงานขนาดใหญ่มาตั้ง กระทั่งเข้าเขต อ.บ้านบึง จึงเต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมอีกครั้ง

รถตู้จอดเติมก๊าซที่ปั้ม ปตท. สี่แยกบ้านบึงพัฒนา ก่อนจะมุ่งหน้าเข้ามอเตอร์เวย์ ถึง สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์ ลาดกระบัง เวลา 22.20 น.

เบ็ดเสร็จใช้เวลาเดินทางจากจันทบุรี ถึงกรุงเทพฯ 3 ชั่วโมงเศษ

...

ถามว่า มาจันทบุรีเที่ยวนี้ได้อะไร?

2 ชั่วโมง กับที่เที่ยวเพียงไม่กี่ที่ หลายคนที่อ่านคงจะด่าผู้เขียนในใจว่า “ทำไมไม่ค้างคืน (วะ)?”

บอกตามตรงว่า จากเดิมที่มาจันทบุรีแบบไม่ได้คาดหวังอะไร คิดเสียว่ามาเดินเล่นคนเดียวแล้วก็กลับ เริ่มที่จะเกิดความรู้สึก “เสียดาย” เพราะที่นี่ยังมีอะไรให้น่าค้นหาอีกมาก

รู้สึก “ต้องมนต์” เมืองแห่งนี้แบบไม่รู้ตัว ...

ในยามที่ภาคตะวันออกถูกปู้ยี่ปู้ยำด้วยอุตสาหกรรม ตั้งแต่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ไปถึงระยอง เมื่อเข้าสู่เขตจังหวัดจันทบุรี ยังคงความเป็นธรรมชาติ วัฒนธรรมที่หลากหลาย และวิถีชีวิตเรียบง่าย ไว้ให้คนรุ่นเราได้หายใจหายคอกันบ้าง

มาเยือนจันทบุรีครั้งนี้ เหมือนได้มาทำความรู้จักเมืองเล็กๆ แต่มีเสน่ห์แฝงไว้ อย่างน้อย เมื่อได้มาเห็นหน้าตาเมืองเป็นยังไง สถานีขนส่งอยู่ที่ไหน มีโรงแรมอะไร เห็นถนนหนทางด้วยตาตัวเองแล้ว ครั้งต่อไปคงจะไปไหนมาไหนง่ายขึ้น

ยังมีภูเขา น้ำตก ทะเล อีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้ไป เขาคิชกุฏที่ต้องมีเพื่อนไปผูกผ้าแดงทุกปีก็ยังไม่เคยเห็น อาหารการกิน แกงหมูชะมวง ผัดเผ็ดกระวานไก่บ้าน ที่เพื่อนแนะนำก็ยังไม่ได้ชิม อีกสารพัดกิจกรรม

เชื่อว่า ... เป็นหนึ่งในไม่กี่จังหวัดที่หากใครได้มาเยือนที่นี่ ก็คงอยากจะไปซ้ำอีก.



กำลังโหลดความคิดเห็น