xs
xsm
sm
md
lg

แหย่เท้าลงสังเวียน

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

<b>พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี</b>
หนึ่งสัปดาห์หลังการ “เปิดตัว” ว่า “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนใจที่จะลงสู่สนามการเมือง

การเปิดตัวของพรรคประชารัฐก็เหมือนการแหย่เท้าลงสู่สังเวียน
เอาแค่ชื่อพรรคก็เดาได้ ว่าเอาคำที่มีที่มาจาก “นโยบายชูโรง” สำคัญของรัฐบาล อย่าง “ประชารัฐ” ก็แทบว่าเอาเครื่องหมายการค้าเดียวกันมาใช้แล้ว

ส่วนหัวหน้าพรรคและกรรมการผู้บริหารพรรคตำแหน่งสำคัญๆ ก็เป็นรัฐมนตรีหรือคนในแวดวงรัฐบาลเกือบทั้งหมด ก็เป็นอันชัดเจนยิ่ง

นั่นคงไม่มีใครเข้าใจไปหรอกว่า พรรคนี้จะเสนอชื่อคุณอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นว่าที่นายกฯ คนต่อไป

ส่วนกรรมการบริหารพรรคมีรายชื่อคุ้นๆ ก็ยิ่งไม่แปลกดังคาด นั่นคือความชัดเจนได้ประมาณหนึ่งแล้วว่า ขั้วพลังดูดอันลึกลับที่ผ่านมานั้นดึงไปลงหลุมไหน และจะเป็นฐานคะแนนเสียงของใคร

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะรัฐบาลปัจจุบัน เปิดตัวเล่นการเมืองเต็มตัว จนถึงเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้งครั้งต่อไป (ถ้าจะมี) นั้น ก็หลีกหนีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการ “เอารัดเอาเปรียบ” คู่แข่งทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่หรือไม่

แน่นอนว่าเรื่องนี้เราไม่ต้องว่ากันในทางกฎหมาย เพราะไม่ต้องสงสัยให้เมื่อย ว่ารัฐบาลที่มีนักกฎหมายมือหนึ่งเป็นกุนซือนั้น ไม่พลาดตกม้าตายง่ายๆ แน่นอน

ยังไม่ต้องนับถึง “อำนาจพิเศษ” และข้อยกเว้นยุบยับตามรัฐธรรมนูญ ที่แทบว่าข้อจำกัดอะไรในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกอะไรที่อาจมี ไปอ่านมาตราโน้นผสมมาตรานี้เทียบมาตรานั้นแล้ว ธงออกมาว่าไม่ใช้กับรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น

หากในเรื่องของ “ความสง่างามทางการเมือง” นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ก็นั่นแหละ เรื่องแบบนี้ ในที่สุดเขาวัดกันที่ผลการเลือกตั้ง ที่เก้าอี้ ส.ส.ไม่มี “คะแนนมารยาทงาม” หรือ “น้ำใจนักกีฬาดีเด่น” ก็อาจจะไม่ต้องแคร์อะไร

ยังดีหน่อย ที่ท่านหัวหน้าพรรคสัญญาว่า จะ “หาเสียง” เฉพาะ “นอกเวลาราชการ”

ก็ขนาดไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคที่ กกต. ท่านยังอุตส่าห์ยื่นเรื่องลาราชการไปเลย

ช่างมี “สปิริต” จริงๆ

คอการเมืองจึงมองข้ามชอตไปแล้วว่า ในที่สุด “ลุงตู่” ก็คงจะมาลงสนามภายใต้การสนับสนุนของพรรคนี้แน่นอนอยู่แล้ว เพียงแต่จะลงมาอย่างไร มาแบบเต็มตัวหรือแบบเหนียมกันดี

เพราะจะให้สง่างามหน่อย ก็ควรลงมาเต็มตัว เพราะรัฐธรรมนูญนี้สามารถให้ว่าที่นายกฯ “เสนอตัว” เปิดหน้าออกมาให้ประชาชนเลือกได้ ในรูปแบบของ “รายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” มาได้พรรคละไม่เกิน 3 ชื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88

เรียกว่าให้ประชาชนได้แน่ใจเลยว่า เลือกพรรคนี้ ได้คนนี้เป็นนายกฯ แน่ๆ

แต่มาตรานี้ก็ไม่ใช่บทบังคับของพรรคการเมืองอีกเหมือนกัน พรรคจะเสนอรายชื่อที่ว่าหรือไม่ก็ได้

และก็ไม่ได้เป็นบทบังคับด้วยว่า ถ้าไม่อยู่ในรายชื่อนี้ จะมาเป็นนายกฯ ไม่ได้ มีช่องว่างทางรัฐธรรมนูญเจาะไว้ให้อุ้ม “คนนอก” ที่ไหนก็ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ ในชั้นการออกเสียงลงคะแนนเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง

ดังนั้น ถ้าท่านจะ “เหนียม” ก็เข้ามาเป็นนายกฯ ในรอบหลัง ตามช่องทางเลี้ยวลดที่เจาะไว้ในรัฐธรรมนูญภายหลังก็ได้ แต่ก็นั่นแหละครับ มันก็ไม่สง่างามเท่ากับการเปิดหน้าลงเล่นเปิดเผยตั้งแต่ทีแรก

แต่ก็ต้องขอ “ทวนซ้ำ” อีกรอบหนึ่งว่า เรื่องแบบนี้ ไม่มี “คะแนนมารยาทงาม” หรือ “น้ำใจนักกีฬาดีเด่น” ในที่สุดเขาก็ดูที่ภาพรวมเบ็ดเสร็จ ว่าใครได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ในตอนท้ายสุดอยู่ดี

อีกประเด็นที่อยากจะให้จับตากัน คือ “พรรคลุงตู่” หรือ “พลังประชารัฐ” นี้ มองเห็นใครเป็นคู่แข่งบ้าง

ด้วยศักยภาพและความเป็นจริง อย่างที่มีผู้วิเคราะห์ไว้แล้ว ว่าความได้เปรียบของ “เสียงล่วงหน้า” ในสภา ส.ว. 250 เสียงนั้น หากลุงตู่อยากเป็นนายกฯ ก็ขอเพียงหาเสียงสนับสนุนให้ได้ 126 เสียง เพื่อจะรวมเป็น 376 เสียงก็พอ (แต่บริหารประเทศไปได้ด้วยเสียงแค่นั้นจริงหรือ หรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง)

และคงต้องยอมรับว่า ต่อให้ใช้อำนาจหรือความได้เปรียบ ทุน กระสุน อาวุธ เพียงใด โอกาสที่จะแย่งพื้นที่จาก “ผู้เล่นรายใหญ่” อย่างพรรคสีแดงและพรรคสีฟ้านั้นก็ถือว่ายาก

เรียกว่าเอาเข้าจริง เบียดเข้าป้ายได้ที่ 3 ด้วยจำนวนที่นั่งไม่น้อยกว่า 50 ก็ “สวย” แล้ว จากนั้นค่อยรอไปจับมือกับพรรคร่วมอุดมการณ์สนับสนุนนายกฯ คนเดียวกันให้ได้คะแนนตามที่ต้องการก็พอ

หรือถ้าโชคดี พรรคที่ได้ที่ 2 (ที่เก็งกันว่าเป็นประชาธิปัตย์พรรคสีฟ้า) มายอมจับด้วยจนตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้โดยเกือบไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว.ก็ถือว่าชนะหมดจดแล้ว

ดังนั้น “คู่แข่ง” ของพรรค “พลังประชารัฐ” จึงไม่ใช่พรรคใหญ่ที่สุดสองพรรค อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ และไม่ใช่พรรคขนาดกลางและเล็กที่เป็นพันธมิตรกัน เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของลุงกำนันและ กปปส.หรือพรรคประชาชนปฏิรูป ของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน

แต่เป็นพรรคขนาดกลางแต่ทุนหนา ที่เป็น “ขั้วต้าน” และอาจเป็นพันธมิตรกับฝ่ายไม่ต้องการให้นายกฯ ลุงตู่ได้ไปต่อ คือ “พรรคอนาคตใหม่” ของ “ไพร่หมื่นล้าน” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ตัวนายกฯ ประยุทธ์เองและทีมงานนั้น “ให้ราคา” กับพรรค “อนาคตใหม่” มากกว่าพรรคคู่แข่ง หรือว่าที่นายกฯ คนอื่นมากมาย

ตั้งแต่การพูดพาดพิงชวนมา “ดีเบท” ของท่านนายกฯ เอง ในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ อนาคตไทย อนาคตเรา” ว่าให้มาพูดแข่งกับตน โดยเฉพาะพรรคที่ตั้งชื่อว่า “อนาคต” ซึ่งมีพรรคเดียว

การ “ออกชื่อ” ของนายกฯ ลุงตู่ ในเวทีเปิดเผยนี้ เป็นนัยทางการเมืองสำคัญมาก

รวมถึงเพจที่สนับสนุน “นายกฯ ลุงตู่” ทั้งหลายในโลกโซเชียล ตอนนี้ล้วนหันเป้าเล็งมายิงใส่พรรคอนาคตใหม่ และตัวของนายธนาธรกันเป็นเป้าเดียว เรียกว่า เมินคู่แข่งตัวใหญ่ฝ่ายตรงข้ามอย่าง “เพื่อไทย” ไปเลย

“ท่าที” นี้น่าคิดวิเคราะห์จริงๆ ว่า ทางฝ่ายกลยุทธ์ของนายกฯ ประเมินอะไรไว้ จึงตัดสินใจ “ให้ราคา” และ “เล็งเป้า” ใส่คู่ต่อสู้หน้าใหม่รายนี้เป็นพิเศษ

เรื่องนี้น่าจับตา.
<b>ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่</b>


กำลังโหลดความคิดเห็น