มีประโยคที่ว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” เพราะสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือเป็นการเสี่ยงโชคที่ซื้อได้ทุกเพศทุกวัย ถูกหวยก็โชคดี ดวงดีก็เป็นเศรษฐี ถ้าโชคไม่ดีก็กินทุน
แต่การลงทุนในหุ้น ถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เฉพาะคนมีเงินเป็นหมื่น เป็นแสนบาทเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ อาจเป็นเพราะขั้นตอนตั้งแต่เปิดบัญชีหุ้น หรือการซื้อขายหุ้นมีความสลับซับซ้อน
สมัยก่อน การลงทุนในหุ้นมักจะทำผ่านทางเจ้าหน้าที่การตลาดหลักทรัพย์ (มาร์เก็ตติ้ง) เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้า แต่ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่หันมาซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมากขึ้น โดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Streaming Pro
ข้อดีคือ ลูกค้าส่งคำสั่งซื้อหุ้นได้ด้วยตัวเอง ไม่มีมาร์เก็ตติ้งมากวนใจ เหมือนเปลี่ยนที่ซื้อของจากร้านโชวห่วย ไปร้านสะดวกซื้อ ยกเว้นถ้าซื้อขายไม่ได้ มาร์เก็ตติ้งจะเข้ามาดูแลให้
ส่วนข้อเสียคือ ต้องศึกษาข้อมูลหุ้นตัวนั้นๆ ด้วยตัวเอง แต่ก็มีช่องทางติดตามข่าวสารที่หลากหลาย อีกทั้งบริษัทหลักทรัพย์ก็มีบทวิเคราะห์ให้อ่าน เพื่อศึกษาว่าจะลงทุนในหุ้นตัวไหนตามคำแนะนำ
แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของนักลงทุน ว่าจะเชื่อและยอมลงทุนซื้อหุ้นกับบริษัทนั้นๆ หรือไม่?
บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ พยายามที่จะเปิดช่องทางเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เรียกว่า “พอร์ตหุ้น” ง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่องทางสาขาธนาคาร หรือทางอินเตอร์เน็ต เพื่อจูงใจลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาซื้อ-ขายหลักทรัพย์ เรียกว่า “เทรดหุ้น”
หนึ่งในกลยุทธ์ที่นำเข้ามาใช้ก็คือ ไม่คิดค่าธรรมเนียมนายหน้า (คอมมิชชั่น) ขั้นต่ำต่อวัน จากปกติหากวันไหนลูกค้าเทรดหุ้น จะต้องเสียเงินขั้นต่ำ เช่น 50 บาทต่อวัน ก็คิดเฉพาะค่าคอมมิชชั่นจากการซื้อขายตามจริง
ปัจจุบัน มีบริษัทหลักทรัพย์ 3 แห่ง ที่ไม่มีค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำต่อวัน คือ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS), บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง (BLS) และ บริษัทหลักทรัพย์เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ (SBITO)
ส่วนใหญ่จะเป็น บัญชีเติมเงิน (Cash Balance) เพียงแต่จะต้องสมัคร หรือใช้บริการจัดส่งเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้จัดส่งทางอีเมล และบริการหักบัญชีอัตโนมัติ (ATS / SIPS) ตามที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนด
จากประสบการณ์ส่วนตัว พบว่า บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ถ้ามีหรือเคยสมัครบริการอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง “SCB Easy Net” เอาไว้แล้ว จะเปิดบัญชีหุ้นง่ายที่สุด (แอปพลิเคชั่น SCB Easy บนมือถือยังสมัครไม่ได้)
เพียงล็อกอินเข้าไปที่ www.scbeasy.com เข้าเมนู “Easy Stock” แล้วเปิดพอร์ตหุ้น กรอกข้อมูล จากนั้นให้รออีเมลตอบกลับ ถ้าเป็นวันทำการจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที แต่หากนอกเวลาทำการ จะอนุมัติในช่วงเช้าวันทำการถัดไป
ข้อดีคือ “ไม่เสียค่าเปิดพอร์ตหุ้น” และ “ไม่ต้องส่งเอกสารใดๆ” เพราะธนาคารจะส่งข้อมูล อาทิ ใบคำขอเปิดพอร์ตหุ้น แบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (Suitability Test) ฯลฯ ไปให้บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ฯ โดยตรง
ส่วน หลักทรัพย์หลวง และ เอสบีไอฯ ต้องเตรียมไฟล์เอกสารเป็น “ไฟล์ภาพ” (JPG) หรือ “ไฟล์เอกสาร” (PDF) ตามขั้นตอน เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาลายมือชื่อ สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชี ฯลฯ
- ประสบการณ์ส่วนตัว ตอนเปิดพอร์ตหุ้นผ่าน SCB Easy Net
ตอนสมัครผ่านบริการ SCB Easy Net เวลานั้นก็ไม่คิดว่าจะผ่าน เพราะที่ผ่านมาบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งมักจะมีเงื่อนไขเยอะ เช่น ต้องแสดงสลิปเงินเดือน รายการเดินบัญชี หรือหลักฐานอื่นๆ ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนก็มี
แต่พอถึงวันทำการ ปรากฎว่าหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ส่งอีเมลก่อน 9 โมงเช้า แจ้งว่า “ได้รับการอนุมัติแล้ว” พร้อมแจ้งเลขที่บัญชีหลักทรัพย์ ชื่อผู้ใช้ (Username) สำหรับนำไปใช้กับโปรแกรม Streaming เพื่อซื้อขายหุ้น
แต่ยังไม่จบ ... เพราะจะต้องไปสมัครบริการ e-statement ผ่านเว็บไซต์ www.scbsonline.com และสมัครใช้บริการหักบัญชีอัตโนมัติ ATS/SIPS ผ่าน SCB Easy Net หรือ ATM ธนาคารไทยพาณิชย์ก่อน ถึงจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมนายหน้าขั้นต่ำต่อวัน 50 บาท
บัญชีที่ได้เป็น “บัญชีเติมเงิน” (Cash Balance) ซื้อขายได้ตามมูลค่าหลักประกันเงินสดที่มี การพิจารณาอนุมัติขึ้นอยู่กับตอนทำแบบประเมินว่ามีความเสี่ยงระดับใด
ยังมีบัญชีอีก 2 แบบ คือ บัญชีวงเงิน (Cash Account) และ บัญชีเครดิตบาลานซ์ (Credit Balance) มีเงื่อนไขการสมัครที่ยุ่งยากกว่า เพราะใช้เครดิตซื้อหุ้นก่อนจ่ายที่หลัง ต้องมีเอกสารสถานะทางการเงิน หรือรายการเดินบัญชีหลักแสนบาท
แม้การมีพอร์ตหุ้นอยู่ในมือ ถือว่าตื่นเต้นในชีวิตแล้ว แต่ก็ยังเทรดไม่ได้ เพราะต้องโอนเงินเข้าพอร์ตหุ้นก่อนตามจำนวนที่ต้องการ พูดง่ายๆ ก็คือ โอนเงินเข้าพอร์ตหุ้นเท่าไหร่ เทรดหุ้นได้เท่านั้น
วิธีโอนเงินเข้าพอร์ตหุ้น หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์จะมีอยู่ 3 ช่องทาง คือ โอนเงินผ่านเมนู Easy Stock ใน SCB Easy Net ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะไมต้องจำเลขที่บัญชีหลักทรัพย์ โอนเข้าพอร์ตหุ้นกี่บาท ไม่ถึง 100 บาทก็ได้ ไม่มีค่าธรรมเนียม
ส่วนการโอนเงินผ่าน SCB Easy App และ ATM ยังยุ่งยากอยู่ เพราะต้องเลือกบริการ กรอกเลขที่บัญชีหลักทรัพย์ กรอกเลขที่บัตรประชาชน ก่อนที่จะใส่จำนวนเงินที่ต้องการ
- ซื้อ-ขายหุ้นเบื้องต้นเค้าทำกันยังไงหนอ?
ด้วยความตื่นเต้นที่เปิดพอร์ตหุ้นได้ จึงสอบถามผู้ใหญ่ว่าเขาซื้อหุ้นกันยังไง หนึ่งในนั้นคือ คุณสุนันท์ ศรีจันทรา คอลัมนิสต์ “ชุมชนคนหุ้น” ด้วยความที่เห็นว่าเราเพิ่งหัดเล่นหุ้นครั้งแรก ก็กล่าวว่า ปกติเขาซื้อกัน 100 หุ้น
แต่ประโยคหนึ่งทำเอาสะดุ้งก็คือ “ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบร้อน ตลาดหุ้นไม่เคยหนีใคร มีแต่คนหนีตลาดหุ้น”
เท่าที่ศึกษาพบว่า ปกติเวลา ซื้อหุ้นบนกระดานหลัก (Main Board) เขาซื้อกันขั้นต่ำ 100 หุ้นเท่ากับ 1 หน่วยซื้อขาย ยกเว้นหุ้นตัวไหนราคาปิดสูงกว่า 500 บาทต่อหุ้นต่อเนื่อง 6 เดือน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะประกาศให้ซื้อได้ขั้นต่ำครั้งละ 50 หุ้น
สมมติว่า ถ้าเราอยากจะเป็นเจ้าของหุ้นธนาคารเอบีซี (ABC) ปัจจุบันราคาหุ้นละ 215 บาท จะต้องใช้เงิน 21,500 บาท เพื่อให้ได้หุ้นเท่ากับ 1 หน่วยซื้อขาย (ไม่รวมค่าคอมมิชชั่น และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)
แต่ไม่ใช่ว่า เราเคาะหุ้นตัวเดิมทีละ 100 หุ้น ติดต่อกันหลายครั้ง เพราะโบรกเกอร์จะโทรศัพท์มาเตือนว่า “อย่าทำแบบนี้ เดี๋ยวทาง กลต. จะว่าเอา” เพราะถือว่ามีเจตนาในการซื้อขายหุ้นที่ไม่ปกติ เพื่อปั่นหุ้นให้มีราคาสูงขึ้น
อีกคำถามยอดฮิตก็คือ แล้วจะซื้อหุ้นตัวไหนดี?
การจะไปไล่หาหุ้นที่มีอยู่กว่า 500 ตัว ย่อมเป็นเรื่องลำบาก ปัจจุบันมีสิ่งที่บ่งชี้ว่าหุ้นตัวไหนปัจจัยพื้นฐานดีก็คือ หุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 หมายถึง 50 บริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดอันดับว่ามูลค่าตลาดสูงสุด และสภาพคล่องในการซื้อขายสูงสุด
แต่ไม่ใช่ว่าหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 จะเป็นหุ้นที่ดีทุกตัว เพราะบางบริษัทมีภาพลักษณ์เน่าๆ เว้นเสียแต่ว่าจะคิดแบบเนติบริกรบางคนกล่าวว่า “วันนี้ผมไม่ได้มาพูดในเรื่องจริยธรรม” ถ้าไม่คิดแบบนั้นก็เสี่ยงเอาเลย
- ซื้อเศษหุ้น เก็บเล็กผสมน้อย
แต่ถ้าเงินไม่พอซื้อ 100 หุ้น ... ก็สามารถ ซื้อเศษหุ้น (Odd Lot) ได้ ตั้งแต่ 1-99 หุ้น ขึ้นอยู่กับใครจะขาย โดยจะต้องซื้อขายบนกระดานเศษหุ้น (Odd Lot Board) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดไว้ให้ และซื้อได้เฉพาะช่วงเวลาซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น
เศษหุ้นส่วนใหญ่จะมาจากนักลงทุน ที่ได้หุ้นเพิ่มจากการปันผลเป็นหุ้น หรือการเพิ่มทุนตามสิทธิ แล้วไม่อยากถือครองไว้ ก็ขายในกระดาน Odd Lot ในราคาที่ต้องการ ซึ่งจะบวกแพงกว่าราคาบนกระดานหลัก
สังเกตได้จากช่อง Offers จะระบุราคาที่เสนอขาย และจำนวนหุ้นที่นำมาขาย (Volume) ถ้าสนใจซื้อก็กรอกจำนวนหุ้น ราคาที่เสนอขาย และรหัสผ่าน 6 หลักตามต้องการ หากตรงกันก็จะขึ้นคำว่า “M-Matched” หมายถึงการซื้อขายสำเร็จ
การซื้อเศษหุ้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ บางคนซื้อเพราะต้องการสะสมแล้วถือครองไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ราคาหุ้นหลักร้อยบาท ถ้าซื้อ 100 หุ้นจะต้องใช้เงินหลักหมื่นบาท จึงทยอยซื้อครั้งละ 10-20 หุ้น สะสมไปเรื่อยๆ
แต่สมัยก่อนก็มีบางคนซื้อเศษหุ้นเพื่อไปประชุมผู้ถือหุ้นก็มี กลายเป็นว่าในงานมีแต่มนุษย์ป้าล่าของชำร่วย มากกว่าติดตามผลการดำเนินงาน ภายหลัง กลต. จึงรณรงค์ให้งดแจกของชำร่วย ปัจจุบันจึงมีเพียงอาหารว่างและเบรคกาแฟให้เท่านั้น
ข้อเสียของการซื้อเศษหุ้นก็คือ จะหาต้นทุนในหุ้นตัวนั้นไม่เจอ อีกทั้งถ้าเป็นบริษัทที่ยังคิดค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำ 50 บาท ยังไงก็ไม่คุ้ม แต่ถ้าบริษัทไหนไม่มีค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำก็ทำได้
เพราะยังมีบางคนเลือกที่จะสะสมหุ้นตัวนั้นไปเรื่อยๆ เพราะอยากเป็นเจ้าของ แต่เงินไม่ถึงที่จะซื้อให้ครบ 100 หุ้น ส่วนมากจะเป็นหุ้นพื้นฐานที่มีผลประกอบการขาขึ้นสม่ำเสมอ และคนที่ซื้อไม่ได้หวังเก็งกำไร
ก่อนจะยืดยาวไปมากกว่านี้ เมื่อขึ้นชื่อว่าการลงทุนในตลาดหุ้นมีความเสี่ยง ถ้าอยากจะเอาดีทางนี้จริง ก็คงต้องมีเวลาศึกษาให้มากกว่านี้ แม้ปัจจุบันจะมีช่องทางข่าวสารที่หลากหลาย แต่ก็ต้องใช้วิจารณญาณก่อนจะตัดสินใจลงทุน
ถ้าไม่ถนัดที่จะเล่นหุ้นเอง ยังมีกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น เช่นกองทุนเปิด SET50 ส่วนมากจะลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง สภาพคล่องสูงสม่ำเสมอ เช่น ปตท., ท่าอากาศยานไทย, ซีพี ออลล์, ปตท.สผ. และ เอไอเอส เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่ต้องจำขึ้นใจก็คือ “การซื้อหุ้นไม่ใช่การฝากเงิน” หุ้นที่ซื้อไปแล้ว ราคาอาจไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ควรที่จะฝากเงินไว้กับธนาคาร และยอมรับผลตอบแทนที่น้อยกว่าดีที่สุด