วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมเพิ่งมีโอกาสได้ทานข้าวกับนักการทูตไต้หวัน
นอกเหนือจากเรื่องสัพเพเหระแล้ว หัวข้อหนึ่งที่เราได้คุยกันอย่างจริงจังก็คือ ปัญหา ข่าวปลอม (Fake News) ซึ่งล่าสุดเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรม ทำให้นายซู ฉี่เฉิง (蘇啟誠) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ณ นครโอซาก้าของญี่ปุ่น ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เสมือนกับกงสุลใหญ่ไต้หวันประจำโอซาก้า ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง
นายซู วัย 61 ปี ทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการแขวนคอตัวเองในบ้านพัก เนื่องจากข่าวลือ-ข่าวปลอมที่แพร่สะพัดในช่วงพายุไต้ฝุ่นเชบี พัดเข้าถล่มพื้นที่ในแถบคันไซของประเทศญี่ปุ่น ที่โจมตีเขา และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ณ นครโอซาก้า ว่านิ่งดูดาย ไม่ให้ความช่วยเหลือใด ๆ แก่นักท่องเที่ยวชาวไต้หวันในญี่ปุ่น ตรงกันข้ามกับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สั่งให้สถานกงสุล ณ นครโอซาก้า ส่งรถบัสจำนวน 15 คัน ไปช่วยอพยพเคลื่อนย้ายนักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่ออกจากสนามบินคันไซ
ข่าวลือ-ข่าวปลอมดังกล่าวอ้างว่า มีชาวไต้หวันมากกว่าหนึ่งพันคน ติดอยู่ในสนามบินคันไซ โดยปราศจากการเหลียวแลจากทางการไต้หวัน ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บบอร์ดในไต้หวัน และถูกสื่อกระแสหลักหลายเจ้าหยิบไปขยายความต่อ ทว่า ในความจริงแล้วสถานทูตของจีนแผ่นดินใหญ่มิได้มีการสั่งการเกี่ยวกับเรื่องรถบัสไปช่วยการอพยพใด ๆ ขณะที่รถบัสที่ช่วยอพยพคนจากสนามบินคันไซนั้นก็เป็นการจัดเตรียมโดยทางการญี่ปุ่น และสนามบินคันไซเอง เพื่อช่วยนักท่องเที่ยวทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ
ผู้ใกล้ชิดของนายซู เปิดเผยภายหลังการเสียชีวิตของนักการทูตชาวไต้หวันว่า ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน นายซูได้โทรมาระบายความอัดอั้น และขอให้ช่วยสืบหาต้นตอของข่าวลือ-ข่าวปลอมดังกล่าว แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าเจ้าตัวจะถึงขั้นคิดสั้น ปลิดชีวิตตัวเอง
เหตุโศกสลดดังกล่าว เหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลไต้หวันหันมาตระหนักถึงภัยคุกคามของข่าวปลอมอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันคณะกรรมการการสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งชาติของไต้หวัน (國家通訊傳播委員會; NCC) ก็ออกแถลงการณ์ และรีบเรียกเหล่าสื่อโทรทัศน์มาประชุมโดยระบุว่า การรายงานข่าวซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของสาธารณะ หรือส่งผลต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อนอาจถูกปรับถึง 2 ล้านเหรียญไต้หวัน ตามกฎหมายวิทยุและโทรทัศน์ และกฎหมายการแพร่ภาพผ่านดาวเทียม
“หลังเกิดเหตุ ทางรัฐบาลไต้หวันสืบค้นหาจำนวนข่าวปลอมที่เกี่ยวกับข้องกับรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของไต้หวันพบว่ามีมากถึง 700 กว่าเรื่องด้วยกัน นี่เป็นปัญหาใหญ่มากเลยทีเดียว” นักการทูตไต้หวันเล่าให้ฟัง
อีกกรณีหนึ่งที่มีต้นตอจากข่าวลือในโลกออนไลน์-โซเชียลมีเดีย และสร้างผลกระทบจนทำให้บริษัทหรือองค์กรธุรกิจหนึ่ง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ซึ่งกว่าที่เรื่องราวจะกระจ่างเวลาก็ล่วงเลยมานานหลายปี ก็คือ กรณีของ ซีพี ออลล์ กับ เลอแปงบานาน่า ที่ในเดือนเมษายน 2558 ทางซีพี ออลล์ผู้บริหารจัดการร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย ถูกกล่าวหาโดยบล็อกเกอร์คนหนึ่งว่า ไปรังแกผู้ประกอบการรายย่อยที่เสนอสินค้าเข้ามาขายในร้าน 7-11 โดยลอกเลียนสูตรสอดไส้ครีมคัสตาร์ดรสกล้วยของผู้ประกอบการรายดังกล่าวไปเพื่อผลิตและจำหน่ายเอง อันเป็นการรังแกผู้ประกอบการรายย่อย
เรื่องราวดังกล่าว หลายคนต่างลืมเลือนไปแล้ว เพราะถึงวันนี้เวลาก็ผ่านไปแล้ว 3 ปีกว่า แต่คนจำนวนไม่น้อยกลับเชื่อฝังใจไปแล้วว่าซีพี ออลล์ มีพฤติกรรมชอบเอาเปรียบ-รังแก ผู้ประกอบการรายย่อยจริง โดยมักจะยกตัวอย่างจากกรณีดังกล่าวขึ้นมาอ้างอิง ทว่า จากคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.860/2560 ได้ปรากฏชัดเจนจากหลักฐานว่า ผู้บริหารร้าน 7-11 ไม่มีการกระทำใดเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อยตามที่กล่าวหาในบทความ นอกจากนี้ในเวลาต่อมาแม้จะผ่านการประนีประนอมยอมความแล้ว ผู้เขียนบทความดังกล่าวก็กระทำผิดสัญญา ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
"บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องชี้แจงให้ประชาชน และคู่ค้าของบริษัทฯ ได้รับทราบถึงข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทฯ และเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึง การใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลใด ๆ ในสังคมออนไลน์ รวมตลอดถึงเพื่อป้องปรามมิให้บุคคลอื่นใดแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการใส่ความผู้อื่น หรือการทำการตลาดด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่เกิดกับบริษัทฯ อีกต่อไปด้วย" แถลงการณ์จาก บ.ซีพี ออลล์ระบุ
ข่าวปลอม หรือ Fake News ผ่านสื่อดั้งเดิม สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย กำลังเป็นภัยคุกคามสังคม ความปลอดภัยส่วนบุคคล และความมั่นคงของสาธารณะ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อันจะเห็นว่าข่าวปลอมมิได้เพียงเกี่ยวโยงเฉพาะกับเรื่องการเมือง การต่างประเทศ บุคคลสาธารณะ แต่ยังกระทบไปถึงภาคธุรกิจ สังคม และบุคคลธรรมดาอย่างเรา ๆ ด้วย