xs
xsm
sm
md
lg

‘บัตรแรบบิท’ ผูกกับ ‘Rabbit LINE Pay’ เดินทางด้วยบีทีเอส : อี-วอลเลทผนึกบัตรแข็งสู้ศึก ‘บัตรแมงมุม’

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


นับเป็นข่าวดีสำหรับคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นประจำ เมื่อกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ “แรบบิท ไลน์ เพย์” (Rabbit LINE Pay) ให้ลูกค้านำบัตรแรบบิทมาผูกกับบัญชีได้แล้ว เมื่อ 14 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา

จากที่เมื่อก่อนการใช้งานคนละอย่างกัน บัตรแรบบิท ที่กลุ่มบีทีเอสนำมาใช้แทนบัตรบีทีเอส สมาร์ทพาส ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2555 ต้องเติมเงินที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารบีทีเอส หรือร้านค้าต่างๆ จะเติมเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้

แม้ก่อนหน้านี้จะจับมือกับค่ายมือถืออย่าง “เอไอเอส” ออกซิมการ์ด “เอไอเอส เอ็มเปย์ แรบบิท” แต่ก็จำกัดเฉพาะสมาร์ทโฟนบางยี่ห้อ และบางรุ่นที่รองรับระบบ NFC เท่านั้น จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก

ส่วน “แรบบิท ไลน์ เพย์” หลังจากกลุ่มบีทีเอสเข้าถือหุ้น 50% ไปเมื่อ 31 มีนาคม 2555 ก็พัฒนากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้ได้กับร้านค้าปลีก ร้านค้ารายย่อย ผ่านบาร์โค้ด และคิวอาร์โค้ด แต่ก็ไม่ได้นำมาใช้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสเสียที

เอไอเอส ได้เข้าไปถือหุ้น 33.3% ในแรบบิท ไลน์ เพย์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 ก็เคยประกาศว่า จะพัฒนาให้ใช้ QR Code จากหน้าจอมือถือ เพื่อให้ลูกค้าผ่านประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ โดยไม่ต้องแตะบัตรแรบบิท แต่ก็เงียบหายไป

กระทั่ง LINE อัพเดทเวอร์ชั่นไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 โดยเพิ่มแถบใหม่ที่ชื่อว่า Wallet เมื่อเข้าไปที่เมนู Rabbit LINE Pay ก็พบกับสัญลักษณ์ BTS การผูกบัตรแรบบิทจึงถูกบอกต่อกันในแวดวงไอที กระทั่งรับรู้กันทั่วไปในโลกโซเชียล

หลายคนที่ทราบข่าว ต่างก็นำบัตรแรบบิทที่มีอยู่ไปผูกกับบัญชี แรบบิท ไลน์ เพย์ แล้วยืนยันตัวตนจำนวนมาก ซึ่งทางแรบบิท ไลน์ เพย์ ได้ตั้งบูธไว้ 5 สถานี ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพลินจิต อโศก ศาลาแดง และ ช่องนนทรี

และในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 แรบบิท ไลน์ เพย์ จะตั้งบูธเพิ่มเติม อาทิ หมอชิต อารีย์ พญาไท สยาม ชิดลม พร้อมพงษ์ ทองหล่อ เอกมัย อ่อนนุช อุดมสุข รวมกันแล้วทั้งหมด 15 สถานี

วิธีการยืนยันตัวตนก็คือ หลังลงทะเบียนผูกบัตรแรบบิทเรียบร้อยแล้ว ให้นำโทรศัพท์มือถือที่ใช้กับบัญชีแรบบิท ไลน์ เพย์, บัตรประชาชนตัวจริง และบัตรแรบบิทที่ใช้ลงทะเบียน ไปพบกับเจ้าหน้าที่ ที่บูธแรบบิท ไลน์ เพย์ 5 สถานีข้างต้น

โดยบัตรแรบบิทที่ใช้ลงทะเบียน จะต้องไม่มียอดเงินคงเหลือติดลบ (มักจะเกิดขึ้นเมื่อเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส แล้วเงินในบัตรแรบบิทไม่พอกับค่าโดยสาร) หากยอดเงินติดลบ ให้เติมเงินที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารก่อน

เจ้าหน้าที่จะให้เปิดเมนู Settings เลือก My Info เพื่อดูว่า เลขที่บัตรประชาชน ชื่อ นามสกุล โทรศัพท์มือถือ มีข้อมูลตรงกันหรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ จะนำบัตรประชาชนตัวจริง และบัตรแรบบิทที่ลงทะเบียนไปทำรายการ

ใช้เวลาประมาณ 5 นาที ยอดเงินในบัตรแรบบิท จะถูกโอนเข้าบัญชีแรบบิท ไลน์ เพย์ และจะติดสติกเกอร์ Rabbit LINE Pay ที่ตัวบัตร เพื่อแสดงให้เห็นว่าบัตรแรบบิทใบนี้ ได้นำไปใช้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว

ก่อนจากกัน เจ้าหน้าที่แนะนำว่า ต่อไปนี้เวลาเติมเงิน หรือเติมเที่ยวเดินทาง สามารถทำในเมนู BTS บน แรบบิท ไลน์ เพย์ ได้เลย ไม่จำเป็นต้องทำรายการผ่านห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารบีทีเอสอีกต่อไป

แต่การผูกบัตรแรบบิท เข้ากับบัญชี แรบบิท ไลน์ เพย์ ยังคงเกิดความสับสนตามมา อาทิ ผูกบัตรไปแล้วเติมเที่ยวเดินทางไม่ได้ นำบัตรแรบบิทไปใช้จ่ายตามร้านค้าไม่ได้ ต้องเปิดมือถือแล้วใช้บัญชี แรบบิท ไลน์ เพย์ จ่ายแทน ฯลฯ

หากเป็นเช่นนั้นจริง นอกจากร้านค้าจะเสียประโยชน์แล้ว ยังทำลายระบบตั๋วร่วมที่บีทีเอสสร้างมากับมือ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที, รถประจำทางสาย Y70E (หมอชิต - ศาลายา), รถประจำทางเชียงใหม่ สมาร์ท บัส จ.เชียงใหม่

ไม่นับรวมกรณีที่ไปยืนยันตัวตนเพื่อผูกบัญชีในช่วงวันที่ 14-16 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา แรบบิท ไลน์ เพย์ จะให้เที่ยวเดินทางฟรี 3 เที่ยว ในวันที่ 19 กันยายน 2561 โดยเจ้าหน้าที่แนะนำว่าต้องมีเงินคงเหลือในแรบบิท ไลน์ เพย์ อย่างน้อย 15 บาท จึงจะสามารถเดินทางด้วยบีทีเอสได้

แต่พบว่ากลับไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ถูกหักเงินเที่ยวเดินทางตามปกติ ภายหลังแรบบิท ไลน์ เพย์ จึงได้ออกเงื่อนไขใหม่ กลายเป็นว่าจะได้รับเที่ยวเดินทางฟรี 3 เที่ยว ภายในวันที่ 30 กันยายน 2561 โดยจะได้รับการแจ้งเตือนพร้อมแสตมป์ผ่านเมนูแสตมป์การ์ด



ต่อมา ทางแรบบิท ไลน์ เพย์ ชี้แจงว่า ยังคงใช้บัตรแรบบิทที่ผูกกับกระเป๋าเงิน แรบบิท ไลน์ เพย์ ซื้อสินค้าที่ร้านค้าต่างๆ ได้เหมือนเดิม แต่ยังมีเครื่องอ่านบัตรแรบบิทอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้อัพเกรด เพื่อรองรับบัตรแรบบิทที่ผูกบัญชีแล้ว

ตอนนี้จึงทำได้แค่ เวลาไปร้านค้าต่างๆ ให้ใช้บัญชีแรบบิท ไลน์ เพย์ จ่ายผ่านบาร์โค้ด หรือคิวอาร์โค้ดแทน คาดว่าบัตรที่ทำการผูกเข้ากับบัญชีแรบบิท ไลน์ เพย์ จะใช้ได้กับเครื่องอ่านบัตรแรบบิททุกเครื่องภายในปีนี้

ส่วนรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที ให้เติมเงินเข้าบัตรที่ช่องจำหน่ายตั๋วของสถานีบีอาร์ทีเท่านั้น จึงจะสามารถขึ้นบีอาร์ทีได้ตามปกติ และหักค่าโดยสารจากเงินที่อยู่ในบัตร ไม่หักเงินผ่านบัญชีแรบบิท ไลน์ เพย์ เหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอส

ความยุ่งยากเช่นนี้ทำให้นึกถึงตอนที่บีทีเอส ประกาศไม่รับบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เติมเงินในบัตรแรบบิทโดยตรง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ยกเว้นเติมเที่ยวเดินทาง หรือเติมเที่ยวเดินทางพร้อมกับเติมเงินเท่านั้น

ในตอนนั้น ผู้บริหารบีทีเอสอย่าง ดร.อาณัติ อาภาภิรม ชี้แจงว่า มีลูกค้าบางรายไม่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นประจำ มาใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตเติมเงิน เพียงแค่ต้องการได้ส่วนลดจากร้านอาหารที่ร่วมรายการกับบัตรแรบบิทเท่านั้น

ขณะที่สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เหตุผลหลักที่บีทีเอส ยกเลิกการใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตเติมเงิน เพราะบีทีเอส ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทบัตรเครดิต (ค่าธรรมเนียมร้านค้ารูดบัตร 1-3%) จึงต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

มาถึงวันนี้ แรบบิท ไลน์ เพย์ เลือกที่จะให้ผู้ถือบัตรแรบบิทที่ผูกบัญชี เลือกได้ว่าจะให้ตัดเงินผ่านอี-วอลเลท สามารถเติมเงินได้ผ่านบัญชีธนาคารที่ผูกไว้ เอทีเอ็ม และจุดบริการต่างๆ หรือจะตัดจากบัญชีบัตรเครดิต บัตรเดบิตโดยอัตโนมัติก็ได้

ถือว่าทำให้ผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ได้ใช้บัตรแรบบิทเดินทางด้วยบีทีเอสได้เหมือนเดิม แม้จะแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องเติมเงินลงในบัตร มาเป็นการเชื่อมข้อมูลเพื่อหักเงิน ผ่านตัวกลางอย่างแรบบิท ไลน์ เพย์ ก็ตาม

การออกมาเคลื่อนไหวของแรบบิท ต้องมองถึงอีกฝั่งหนึ่ง คือ “บัตรแมงมุม” ระบบตั๋วร่วมที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเคลียริ่ง เฮ้าส์ เพิ่จะเปิดตัว “บัตรเดบิตแมงมุม” (Krungthai Metro Link) กับธนาคารกรุงไทย

แม้จะเป็นบัตรไฮบริด แยกบัญชีธนาคารกรุงไทย กับบัตรแมงมุมออกจากกัน แต่จะพัฒนาให้เติมเงินบัตรแมงมุมที่อยู่ในบัตรเดบิต ผ่านแอปพลิเคชั่น “กรุงไทย เน็กซ์” (Krungthai NEXT) ที่จะออกมาแทน KTB Netbank ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นอกจากธนาคารกรุงไทยแล้ว ทราบมาว่ายังมีอีกสองธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความสนใจที่จะออกบัตรเดบิตร่วมกับบัตรแมงมุม แต่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา

แม้ว่าบัตรแมงมุมเพิ่งจะเริ่มต้น โดยมีผู้ถือบัตรที่ได้รับแจกประมาณ 2 แสนราย แตกต่างจากแรบบิท ที่มีผู้ถือบัตรแรบบิท 8.5 ล้านราย และคนไทยที่ใช้แอปพลิเคชั่นไลน์อีก 33 ล้านคน ซึ่งสามารถใช้บริการ แรบบิท ไลน์ เพย์ ได้เลย

แต่การออกมาพัฒนาให้บัตรแรบบิท ซึ่งเป็น Physical Card นำมารวมกับ แรบบิท ไลน์ เพย์ นอกจากจะเป็นการทลายกำแพงกั้นของผลิตภัณฑ์ระหว่างกันแล้ว ยังจะเป็นการปรับตัวเพื่อรับมือกับบัตรแมงมุม ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน

ทราบมาว่า นอกจากบีทีเอสกำลังเปลี่ยนตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารกว่า 250 ตู้ โดยร่วมกับธนาคารกรุงเทพ ให้จ่ายค่าตั๋วได้ด้วยคิวอาร์โค้ดแล้ว จะอัพเกรดบัตรแรบบิทเป็น “บัตรแรบบิทพลัส” รองรับระบบ EMV ของตั๋วร่วม คาดว่าจะนำมาใช้ปลายปี 2562

ยิ่งบัตรแมงมุมพัฒนาขึ้น ใช้ได้กับระบบขนส่งมวลชนอื่นมากขึ้น สถาบันการเงินเข้าร่วมมากขึ้น โครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. เปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้น ทุกสายก็ต้องใช้บัตรแมงมุม ยิ่งทำให้บัตรแรบบิทถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น แม้จำนวนผู้โดยสารจะไม่กระทบแต่ก็เหมือนมีรอยต่อในระบบคมนาคมขนส่งมากขึ้น

ในช่วงนี้เราจึงได้เห็นบีทีเอสเริ่มขยับเรื่องระบบชำระเงินอย่างจริงจัง แม้จะเป็นไปอย่างล่าช้า และเจอสารพันปัญหาเกิดขึ้นก็ตาม.


กำลังโหลดความคิดเห็น