xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จัก “บัตรเดบิตแมงมุม” แบงก์กรุงไทย รูดซื้อของ-ขึ้นรถไฟฟ้าในใบเดียวกัน

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ช่วงนี้ผลิตภัณฑ์บัตรเดบิต ที่ใช้จ่ายแทนเงินสดทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารไทยพาณิชย์ เพิ่งเปิดตัวบัตรเดบิตโค-แบรนด์ พร้อมกับบัตรเครดิต SCB M ร่วมกับเดอะมอลล์กรุ๊ป เป็นบัตรวีซ่าใบแรกของธนาคาร และยังรองรับ VISA PayWave หลังออกแต่บัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ดมานาน

ธนาคารทีเอ็มบี (ธนาคารทหารไทย) เปิดตัวชิปแทนเงินสด TMB Wave ใช้ติดกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น นาฬิกาข้อมือ โทรศัพท์มือถือ สำหรับใช้จ่ายแทนเงินสดตามร้านค้าต่างๆ ที่รองรับ VISA PayWave

ธนาคารกรุงไทย ออกผลิตภัณฑ์ทั้ง บัตรกรุงไทยพร้อมจ่าย สำหรับใช้แทนเงินสดตามสถานที่ราชการ และ Krungthai Travel Card สำหรับใช้จ่ายด้วยสกุลเงินต่างประเทศแทนเงินสดในต่างประเทศ

ล่าสุด ร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออก บัตรเดบิตแมงมุม เป็นบัตรแบบไฮบริด ประกอบด้วยบัตรเดบิต และบัตรแมงมุมที่ใช้เดินทางระบบขนส่งมวลชน

บัตรเดบิตพ่วงบัตรโดยสารรถไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะธนาคารกรุงเทพออกบัตรเดบิตร่วมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือธนาคารกสิกรไทยก็เคยออกบัตรร่วมกับรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที (ปัจจุบันหยุดจำหน่ายแล้ว)

แต่คราวนี้เป็น “บัตรแมงมุม” ซึ่งเป็นนโยบายตั๋วร่วม (e-Ticket) ของภาครัฐ ที่พยายามผลักดันให้ใช้บัตรใบเดียวกับขนส่งมวลชนทุกระบบ จึงถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

บัตรเดบิตแมงมุม (Krungthai Metro Link) เป็นบัตรพร้อมการ์ด เดบิต มาสเตอร์การ์ด (PromptCard Debit MasterCard) ที่มาสเตอร์การ์ดพัฒนาร่วมกับเนชั่นแนลไอทีเอ็มเอ็กซ์ (ITMX) ให้ใช้กับเครื่องรูดบัตรได้ทั่วประเทศ

ปัจจุบันมีธนาคารที่เข้าร่วมพร้อมการ์ด 5 แห่ง นอกจากธนาคารกรุงไทยแล้ว จะมีธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารยูโอบี และธนาคารซิตี้แบงก์ (เฉพาะลูกค้าบัญชีเงินฝาก)

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงไทย ได้ออกบัตรเดบิตร่วมกับวีซ่า และยูเนี่ยนเพย์ ก่อนจะเข้าร่วมบัตรพร้อมการ์ด เฉพาะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้สามารถใช้ได้กับเครื่องรูดบัตรตามร้านธงฟ้าประชารัฐ

รวมทั้งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใน 7 จังหวัด จะเป็นบัตรแบบไฮบริด ที่มีบัตรแมงมุมอยู่ในใบเดียวกันด้วย แต่ต้องไปลงทะเบียนเพื่ออัปเกรดบัตรให้รองรับบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.5 ก่อนขึ้นรถไฟฟ้าฟรี 500 บาทต่อเดือน

บัตรเดบิตแมงมุมครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นบัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ดใบแรกของธนาคารกรุงไทย

บัตรใบนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นบัตรเดบิต ที่ผูกกับบัญชีธนาคารกรุงไทย ใช้สำหรับเบิกถอนเงิน โอนเงินที่เครื่องเอทีเอ็ม รวมทั้งใช้ซื้อสินค้าและบริการตามร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ Mastercard

ส่วนที่เป็นบัตรแมงมุม ใช้สำหรับโดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที 2 สาย ได้แก่ หัวลำโพง-เตาปูน และรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน ในอนาคตจะใช้ได้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถประจำทาง ขสมก.

ถึงกระนั้น เงินในบัญชีที่ผูกกับบัตรเดบิต และมูลค่าเงินที่อยู่ในบัตรแมงมุมยังแยกส่วนกัน เพราะฉะนั้นต้องเติมเงินลงในส่วนของบัตรแมงมุมก่อน ไม่สามารถดึงเงินในบัญชีมาได้โดยตรง นอกจากทำรายการเติมเงิน

จะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2561 เป็นต้นไป ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาใกล้สถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ในพื้นที่เขตคลองเตย จตุจักร บางซื่อ บางพลัด ปทุมวัน ห้วยขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี บางใหญ่ และสาขาบางบัวทอง

คิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 299 บาทต่อปี ช่วงแนะนำยกเว้นค่าธรรมเนียม 100 บาท ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

โปรโมชั่นถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เมื่อเติมเงิน 300 บาทขึ้นไป และชำระด้วยบัตรเดบิตแมงมุมใบเดียวกัน (หักจากบัญชีธนาคารกรุงไทย) รับเงินคืน 30 บาท สูงสุด 90 บาท (3 ครั้ง) โดยจะเปิดให้รับสิทธิ์รวม 20,000 สิทธิ์ต่อเดือน

บัตรใบนี้จะไม่มีมูลค่าการเดินทางในบัตรแมงมุม ต้องเติมเงินขั้นต่ำครั้งแรก 150 บาท จะได้มูลค่าการเดินทาง 100 บาท ส่วน 50 บาทจะเป็นค่ามัดจำบัตร ครั้งต่อไปเติมเงินขั้นต่ำ 100 บาท สะสมได้สูงสุด 2,000 บาท

ถ้าจะตรวจสอบยอดเงินในบัตรแมงมุม ทำได้เฉพาะสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ได้แก่ ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร และเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร (เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง) ไม่สามารถตรวจสอบผ่านช่องทางธนาคารได้

ความพิเศษของบัตรใบนี้ก็คือ ประการแรก สามารถใช้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีได้ทั้ง 2 สาย ในอนาคตจะขยายบริการให้ระบบตั๋วร่วม ให้ใช้ได้กับแอร์พอร์ตลิงก์ และรถประจำทาง ขสมก. รวมถึงเครือข่ายแมงมุมอื่นในอนาคต

อีกประการหนึ่ง ในอีกไม่เกิน 1 เดือนข้างหน้า ธนาคารกรุงไทยจะเปิดตัวแอปพลิเคชั่นใหม่ ทดแทน KTB Netbank ที่ใช้มานาน หนึ่งในนั้นคือสามารถเติมเงินค่าโดยสารของบัตรแมงมุมที่อยู่ในบัตรเดบิตได้อีกด้วย

แต่การมีบัตรสองประเภทในใบเดียว ในบางครั้งอาจกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก หากการใช้บัตรมีปัญหา อาทิ กรณีบัตรหาย แจ้งอายัดได้เฉพาะบัตรเดบิตเท่านั้น โดยเสียค่าออกบัตรใหม่ทดแทน 100 บาท

แต่อายัดมูลค่าการเดินทางในบัตรแมงมุมไม่ได้ และขอคืนเงินภายในบัตรไม่ได้ คือบัตรหายแล้วหายเลย

กรณีบัตรเสีย บัตรชำรุด หรือยกเลิกบัตร ยังให้ใช้ในส่วนของบัตรแมงมุมได้ รวมทั้งยังสามารถเติมเงินได้ตามปกติ พูดง่ายๆ คือ สามารถใช้บัตรเดิมเป็นบัตรแมงมุมไปก่อนได้ แม้จะไม่สามารถถอนเงินหรือรูดซื้อสินค้าได้ก็ตาม

กรณีขอคืนเงินมูลค่าการเดินทางในบัตรแมงมุม จะต้องชำระค่าธรรมเนียมการดำเนินการตรวจสอบมูลค่าและคืนมูลค่าโดย รฟม. ผ่านธนาคาร มูลค่า 50 บาท โดยจะคืนเงินเข้าบัญชีภายใน 30 วันทำการ

กรณีบัตรถูกยึด หากเกิดจากความผิดพลาดของเครื่องเอทีเอ็ม ต้องไปติดต่อที่สาขาของธนาคารเพื่อดำเนินการตามระเบียบและวิธีปฎิบัติของธนาคารเท่านั้น โดยจะคืนเงินมูลค่าการเดินทางในบัตรแมงมุมเข้าบัญชีภายใน 60 วันทำการ
วิธีตรวจสอบมูลค่าบัตรแมงมุมผ่านเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร เฉพาะสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงเท่านั้น
ถามว่า บัตรเดบิตแมงมุมเหมาะกับใคร?

ประการแรก เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่เคยมีบัตรแมงมุมมาก่อน ที่ผ่านมา รฟม. แจกบัตรแมงมุมไปแล้ว 2 แสนใบ ย่อมมีคนที่พลาดโอกาสเพราะบัตรหมด หรือไม่สะดวกที่จะไปรับบัตร

ประการต่อมา เหมาะสำหรับคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงเป็นประจำ รวมทั้งเมื่อใช้ได้กับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถประจำทาง ขสมก. ก็จะมีคนตามไปใช้อีกมาก

ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส แม้จะไม่สามารถใช้บัตรแมงมุมได้ในวันนี้ แต่ทางผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า บีทีเอสได้ขอโครงสร้างรูปแบบบัตร และตัวอ่านบัตรแมงมุมไปศึกษาแล้ว

คงต้องลุ้นกันว่าในช่วงปี-สองปีจากนี้ บีทีเอสจะยอมเข้าร่วมบัตรแมงมุมหรือไม่?

ที่ผ่านมาระบบขนส่งมวลชนบริหารงานกันแบบต่างคนต่างทำ รถไฟฟ้าสายหนึ่งใช้บัตรแบบหนึ่ง โดยรวมแล้วต้องพกบัตรถึง 3 แบบ นำไปสู่นโยบายภาครัฐออกตั๋วร่วม “บัตรแมงมุม” โดยให้ รฟม. เป็นเจ้าภาพ ทำหน้าที่เคลียริ่งเฮ้าส์

หากในอนาคตบัตรแมงมุมใช้ได้กับระบบขนส่งมวลชนทุกระบบ บัตรเดบิตแมงมุม จะช่วยให้ไม่ต้องพกบัตรหลายใบ อีกทั้งในเมื่อเป็นบัตรเดบิต ผู้ถือบัตรย่อมตระหนักในการเก็บรักษาบัตรไว้อย่างดีอยู่แล้ว

แต่ข้อสังเกตที่ผู้บริโภคควรพิจารณาคือ ค่าธรรมเนียมรายปี 299 บาท แพงกว่าบัตรเดบิตธรรมดา 99 บาท และไม่มีประกันอุบัติเหตุ ธนาคารให้เหตุผลว่า เป็นบัตรเดบิตแบบคลาสสิกที่รวมบัตรแมงมุมไว้ด้วยกัน

ที่ไม่ค่อยเข้าใจก็คือ แม้จะเสียค่าทำบัตรทั้งรายปี 299 บาทไปแล้ว ทำไมเวลาเติมเงินลงในชิปบัตรแมงมุมครั้งแรกจะต้องถูกหักค่ามัดจำบัตร 50 บาท ทั้งๆ ที่ค่าธรรมเนียมรายปีก็แพงกว่าบัตรเดบิตธรรมดาเกือบ 100 บาทไปแล้ว ก็ไม่ควรจะเสียซ้ำซ้อน

โดยสรุป ... ถือเป็นบัตรที่รองรับอนาคต ถ้าแอปฯ กรุงไทยเวอร์ชั่นใหม่ออกมา ก็จะเติมเงินลงในบัตรแมงมุมได้โดยไม่ต้องไปสถานี อีกทั้งถ้าใช้ได้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถประจำทาง ขสมก. จะมีประโยชน์อย่างมาก

เพียงแต่ว่าค่าธรรมเนียมรายปีแพงกว่า เมื่อเทียบกับบัตรเดบิตธรรมดาเท่านั้นเอง.



กำลังโหลดความคิดเห็น