จริงๆ ตั้งชื่อหัวข้อแบบนี้ไม่ถูกสักเท่าไร เพราะ “ไอดอล” ในที่นี้คือ “เฌอปราง” BNK48 นั้นคงไม่ไปทำสงครามกับใคร หากเป็นตัวเธอเองที่ตกเป็นเป้าของกระสุนโจมตีจากฝ่าย “ปัญญาชน” คน “รักประชาธิปไตย”
อันที่จริงผมก็ไม่สันทัดเรื่องของไอดอลวงนี้สักเท่าไรนัก นอกจากเห็นหลานๆ เต้นเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” หรือเปิดเพลงนี้บ่อยๆ ผ่านทาง YouTube เมื่อหาข้อมูลดู จึงได้พบว่า วงไอดอลดังกล่าว (จะเรียกวงดนตรีก็คงไม่ได้ เพราะมีแต่นักร้องและนักเต้น) มีที่มาแบบ “ซื้อลิขสิทธิ์” มาจากวงแม่ABK48 ของประเทศญี่ปุ่น (ที่เพิ่งเข้าไปพบ “ลุงตู่” ที่ทำเนียบฯ กันวันนี้) โดยเพลงต่างๆ ก็เป็นการแปลเนื้อร้องมาจากภาษาญี่ปุ่นโดยมีทำนองเดียวกัน รวมถึง “วัฒนธรรม” และระบบของวงด้วยเช่นกัน
อธิบายสำหรับคนที่อาจจะไม่รู้จัก สั้นๆ ก็คือว่า BNK48 มีรูปแบบเป็น “วงไอดอล” ที่รวมตัวเด็กสาววัยรุ่น มาร้องเพลงและเต้นประกอบ ซึ่งจะมาจากการคัดเลือกจากผู้สมัครจากทั้งประเทศ ซึ่งเด็กที่ได้รับเข้ามาอยู่ในวง (ซึ่งจะมีเป็นรุ่นๆ ด้วย ตอนนี้ของไทยมีสองรุ่นแล้ว) จะถือเสมือนว่า “เข้ามาศึกษา” การเป็นไอดอล ร้องเพลงและเต้น(จะเห็นจากชุดของน้องๆ จะมีรูปแบบเป็นชุดนักเรียนญี่ปุ่นแฟนซี) ดังนั้นใครออกจากวง ก็จะเรียกว่า “จบการศึกษา” (แกรด)
สมาชิกในวงจะมีจำนวนมาก แต่ไม่ได้มีจำนวน 48 คน ตัวเลข 48 นี้ เป็นเหมือน “ยี่ห้อ” ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงของชื่อประธานบริษัทแม่ในภาษาญี่ปุ่น ตัวเลขนี้จะเอาไปต่อท้ายตัวย่อของชื่อเมืองของแต่ละวง เช่น BNK48 คือ Bangkok นั่นเอง
เนื่องจากสมาชิกในวงมีจำนวนมาก ในการออกเพลงแต่ละเพลง ก็จะมีการเลือกสมาชิกขึ้นมาร้องและเต้น เรียกว่าเป็น เซ็นบัตสึและจะมีใครคนหนึ่งเป็นตัวนำของเซ็นบัตสึ คือ “เซ็นเตอร์”
แต่อย่างไรก็ตาม คนที่เด่นที่สุดที่เป็นเหมือนตัวแทนของวง หรือเป็น “หัวหน้าห้อง” คือ ตำแหน่ง “กัปตัน” ซึ่งก็คือ “เฌอปราง อารีย์กุล” ที่ตกเป็นเป้าของการโจมตีมาตลอดสัปดาห์นั่นเอง
เนื่องจากการที่เฌอปราง ตอบรับคำชวนของรัฐบาล เข้าเป็นพิธีกรรายการเดินหน้าประเทศไทย ซึ่งนำเสนอในส่วนของเรื่องการศึกษา เด็ก และเยาวชน
เรียกได้ว่า เรตติ้งของรายการที่ “บังคับดู” ทุกช่วงเย็นของทุกเย็นทำท่าจะสูงขึ้นมากทีเดียว ในเทปที่เฌอปรางจะออกอากาศ
ซึ่งนั่นเป็นการเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่าพลพรรคนักกิจกรรมและนักวิชาการฝ่าย “ประชาธิปไตย” ที่ส่วนหนึ่ง และน่าจะเป็นส่วนใหญ่เลยทีเดียว ที่เป็น “โอตะ” หรือผู้ติดตาม BNK48 หรือบางคนอาจจะ “คามิโอชิ” คือสนับสนุนตัวกัปตันเฌอปรางเลยด้วยซ้ำ
ก็เพราะว่า การไปออกรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” นั้น ก็เท่ากับการยอมรับเข้าร่วมงานกับ “ฝ่ายรัฐประหาร” คสช. และรัฐบาล ในการเพิ่มเรตติ้ง ลดแรงต้าน หรือเสริมภาพลักษณ์ทันสมัยน่ารักหรือเป็นมิตรอะไรอย่างนั้น
แน่นอนว่าการ “เปิดศึก” กับเฌอปราง ก็ไม่ต่างจากการประกาศสงครามกับกองทัพผู้นิยมชื่นชอบ BNK48 ทั่วประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย เล่นเอาหัวหอกทะลวงฟันผู้เปิดประเด็นอ่วมอรทัย งอมพระรามกันไป
จนกระทั่งถูกทั้ง “ลุงป้อม” และ “ลุงตู่” ถือโอกาสเหยียบซ้ำ ไปอย่างไม่มีใครสงสาร
เอาเข้าจริงๆ จากการสอบถามในวงการผู้สันทัดเรื่องไอดอล เขาสรุปไว้น่าสนใจว่า การที่เฌอปราง และ BNK48 เข้าไปช่วยงาน “ลุงๆ คสช.” นั้น ไม่ได้ทำให้บรรดาโอตะผู้ชื่นชอบ BNK48 ชื่นชอบคณะพรรครัฐบาลกันขึ้นสักกี่มากกี่น้อย แต่มันทำให้พวกเขา “เกลียดขี้หน้า” พวกนักกิจกรรม และปัญญาชน “ฝ่ายประชาธิปไตย” กันเสียมากกว่า
คือถ้าจะว่าไป ในเรื่องของเสรีภาพ ใครๆ ก็มีเสรีภาพทั้งนั้นตราบเท่าที่ไม่ทำอะไรผิดกฎหมาย เฌอปรางก็มีเสรีภาพในการไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ พิธีกร หรือรับงานอะไรให้ใครก็ได้ตั้งแต่งานวันเกิดแมวของมหาเศรษฐีสักคน ยันจนมาช่วยงาน คสช.ตราบใดที่ไม่ขัดต่อสัญญาหรือข้อห้ามของทางวงและต้นสังกัดที่ญี่ปุ่น
และก็เป็นเสรีภาพของใครก็ได้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน หากไม่ไปล้ำเส้นกลายเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความหรือกล่าวหากันด้วยความเท็จ
แต่กระนั้น ก็ต้องยอมรับ “ผล” จากการใช้เสรีภาพในการตัดสินใจเช่นนั้น นั่นก็คือว่า ทางฝ่ายเฌอปรางและ BNK48 อาจจะเสีย “แฟนๆ” ในกลุ่มที่เกลียดชัง คสช.เข้ากระดูกดำ หรือมีภาพตราหน้าติดไปตลอดกาลว่า เป็นผู้รับงานร่วมมือกับรัฐบาลทหารอย่างหน้าชื่นตาบาน หากต่อไปจะมีการชำระประวัติศาสตร์เรื่องนี้ในอนาคต
ในตอนนี้อาจจะไม่แคร์ เพราะคิดว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากหรือจะอะไรก็ตามแต่ หากก็ต้องระลึกไว้ด้วยว่า การเอาตัวเองและชื่อเสียงมาผูกเข้ากับ “การเมือง” (แม้จะอ้างว่าไม่ใช่ก็ตามเถอะ) มันก็มีทางได้ทางเสีย
แต่ต้นสังกัดเขาอาจจะประเมินแล้วก็ได้ว่า ภาพลักษณ์ของรัฐบาลและ “ลุงตู่” นั้นยังไม่ถึงกับขี้เหร่อะไรนัก แม้จะมีกลิ่นตุๆ หน่อยแต่ก็ยังพอทำใจรับได้
และสำหรับตัวเฌอปรางเองก็คงเลี่ยงอะไรไม่ได้ แม้จะเป็น “กัปตัน” แต่ถ้าพูดกันอย่างโลกไม่สวยก็ถือเป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัท บริษัทตัดสินใจอย่างไรคงไปตามนั้น จะให้มากินอุดมการณ์อย่างที่เขายุๆ กันว่า ถ้าไม่อยากไปทำงานให้ลุง ก็ขู่เลยว่าจะ “แกรด” (ลาออก) จากวงเลย – ก็เชื่อว่าต่อให้เป็นกัปตันเฌอปรางเขาก็คงให้แกรดไปจริงๆ อยู่ดี
สำหรับฝ่าย “นักกิจกรรม” หรือ “นักวิชาการ” ฝ่ายประชาธิปไตยเอง ก็คงจะต้องถือเรื่องนี้เป็นบทเรียนบ้าง ว่าการไป “ต่อยตี” เอากับทุกประเด็นที่ต่อต้านโต้แย้งกับรัฐบาลนั้น ในที่สุดก็อาจจะได้แค่ความสะใจในการได้แสดงจุดยืนความคิดทางการเมือง แต่ถ้าถามว่าได้ประโยชน์แก่การเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่าไม่มี ถ้าจะทำให้คนมองเห็นว่าการปกครองภายใต้รัฐบาลระบอบ คสช.นั้นเลวร้ายไม่ดีงามอย่างไร ก็ไม่เห็นว่าการไปโจมตีที่ตัวน้องๆ นั้น ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรที่ไหน
ถ้าเป็นประเด็นว่า คสช.เอาอำนาจและทรัพยากรมาโปรโมตตัวเองอย่างนี้ ในสถานะที่รอการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งนั้น มีความชอบธรรมอะไรหรือไม่ เอาเปรียบคนอื่นหรือเปล่า หรือให้น้องเฌอปรางมาสร้างภาพลักษณ์โฆษณาฟรีจากภาษีประชาชนหรือไม่ ตรวจสอบได้อย่างไร
อะไรแบบนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กว่ากระมัง.