xs
xsm
sm
md
lg

ไส้ปากกาเปลี่ยนโลก

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


แม้ในยุคนี้สมาร์ทโฟนถือเป็นเครื่องมือสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับหลายอาชีพ “ปากกา” และ “กระดาษ” ยังเป็นสิ่งของที่ต้องใช้เป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการจดบันทึกเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการเขียนรายงานเป็นเล่มๆ ก็มี

ปากกามีหลายประเภทให้เลือก ทั้งปากกาลูกลื่น ปากกาหมึกซึม ปากกาหมึกเจล คลาสสิกขึ้นมาหน่อยก็เป็นปากกาจุ่มหมึก ราคาจะขึ้นอยู่กับยี่ห้อและแหล่งผลิต ยิ่งถ้าเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ราคาจะยิ่งแพงเข้าไปอีก

ย้อนกลับไปในสมัยที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ปากกาลูกลื่นที่ใช้บ่อยที่สุดจะเป็นยี่ห้อเรย์โนลด์ (Reynolds) ด้ามเหลี่ยมๆ ขนาด 0.8 มิลลิเมตร เพราะเขียนลื่น รองลงมาคือแลนเซอร์ (Lancer) หัวแหลม ขนาด 0.5 มิลลิเมตร

ปัจจุบันใช้ปากกาหมึกเจล เพราะเขียนลื่น เขียนเร็ว เมื่อเทียบกับปากกาลูกลื่น ที่เวลาเขียนมันจะฝืดๆ ไปบ้าง แต่เอาจริงๆ อาชีพนักข่าวคงไม่ได้ติดเรื่องที่ว่าจะใช้ปากกาประเภทใด ขอเพียงแค่หยิบมาจดสะดวกก็พอ

ปัญหาโลกแตกที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือ “ปากกาหมึกหมด” กับ “ปากกาหาย” หากไม่หยิบยืมคนข้างๆ ในเวลาคับขัน ก็คงจะต้องซื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ

มีจุดเปลี่ยนอยู่อย่างหนึ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟังก็คือ ที่ผ่านมาเราใช้ปากกาต้องคอยจดบันทึกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน หรือเวลาที่เรานึกอะไรออกก็จดไว้ก่อน บ่อยครั้งที่ปากกาหมึกหมดแล้วต้องทิ้งปากกาทั้งด้าม

ใน 1 ปีนับรวมกันแล้ว เราใช้ปากกาไปหลายสิบด้าม

เมื่อเราทิ้งปากกาทั้งด้าม ย่อมกลายเป็น “ขยะพลาสติก” ที่ย่อยสลายได้ยาก ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ยิ่งการจัดการขยะเมืองไทย ขยะพลาสติกมักจะปะปนกับขยะอื่นๆ หากใช้วิธีการฝังก็รออีกนานถึง 450 ปี กว่าจะย่อยสลายไปกับดิน

ปัจจุบันแม้จะมีการผลิตปากกา ทำจากกระดาษรีไซเคิล เพื่อลดการใช้พลาสติก แต่มักจะถูกใช้เป็นของพรีเมียมมากกว่า โดยบริษัทห้างร้านจะสั่งผลิตโดยพิมพ์โลโก้และข้อความที่ตัวด้ามหรือที่หนีบ เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์องค์กร

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ปากกาบางประเภท บางรุ่น สามารถเปลี่ยนไส้ปากกาได้ หรือหากรับทราบแต่ก็ไม่ได้สนใจ เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เมื่อเทียบกับการทิ้งปากกาทั้งด้ามแล้วซื้อใหม่ยังง่ายกว่า

แต่หากมองกันอีกมุมหนึ่ง การใช้ปากกาแบบเปลี่ยนไส้ได้ นอกจากจะประหยัดกว่าการซื้อปากกาด้ามใหม่แล้ว ยังมีส่วนร่วมในการลดขยะพลาสติก จากด้ามปากกาที่เราทิ้งเมื่อหมึกหมดอีกด้วย

ปากกาหมึกเจลยี่ห้อหนึ่ง ที่ผู้เขียนใช้เป็นประจำจะเป็นแบบเปลี่ยนไส้ได้ ราคาขายจะอยู่ที่ด้ามละ 50-55 บาท แต่เมื่อหมึกหมด ไปหาซื้อไส้ปากกา พบว่าราคาจะอยู่ที่ 20-25 บาท

หากเปลี่ยนเฉพาะไส้ปากกา เท่ากับว่าเราประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อปากกาไปได้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

ปากกาอีกอย่างหนึ่งที่จะได้รับเป็นประจำก็คือ “ปากกาของขวัญ” มีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อที่นิยมในบ้านเรา อาทิ ปรากเกอร์ (PARKER) คลอส (CROSS) หรือถ้างบฯ หลักร้อยก็จะมียี่ห้อลามี (LAMY) และเพนเทล (PENTEL)

บางคนได้รับปากกาแบบนี้มักจะเก็บไว้อยู่กับที่ เพราะกลัวหมึกหมด ทั้งๆ ที่หากนำมาใช้ในชีวิตประจำวันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ปากกาบางรุ่น บางยี่ห้อ เวลาหมึกหมดก็สามารถหาซื้อไส้ปากกามาเปลี่ยนได้

เช่น ปากกายี่ห้อลามี ถ้าถอดด้ามปากกาออก ไส้ปากกาจะบอกชื่อรุ่นที่เราสามารถหาซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียน ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป เช่น ไส้ปากกาลูกลื่นจะเป็นรุ่น M16 หรือไส้ปากกาโรลเลอร์บอล M63

วันก่อนปากกาโรลเลอร์บอลลามี ของผู้เขียนหมด เลยไปเดินห้างฯ ใกล้ที่ทำงาน พบว่าไส้ปากกาโรลเลอร์บอล M63 ราคาจะอยู่ที่ชิ้นละ 160 บาท แต่ไปเช็กในอินเตอร์เน็ตพบว่ามีบางร้านที่ขายถูกกว่า แต่ต้องซื้อจำนวนมากหรือบวกค่าจัดส่ง

คิดเล่นๆ คงเป็นกุศโลบายจากผู้ให้ว่า ด้ามปากกาแพงแล้ว ไส้ปากกาแพงอีก คงอยากให้ผู้รับรู้สึกว่า ปากกาด้ามนี้นอกจากมองว่าสวยแล้วมีคุณค่าอยู่ในตัว เวลานำไปใช้ก็อยากให้รักษาไว้ดีๆ อย่าให้หายเพราะมันแพง

แต่สำหรับผู้เขียน ทุกวันนี้ก็เริ่มนำปากกาของขวัญมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะหลังๆ ได้รับมาเยอะเหลือเกิน บางคนได้รับแล้วไม่ค่อยได้ใช้ ก็นำมาเผื่อแผ่ให้ใช้ก็มี

ถือเสียว่าดีกว่าของอะไรที่ไม่ได้ใช้งาน มันก็จะเสื่อมไปตามกาลเวลา

สิ่งที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เวลาที่เราไปงานสัมมนา หรืองานแถลงข่าวต่างๆ ผู้จัดงานมักจะแจกปากกาให้ผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะสอดตามแฟ้มเอกสารที่แจก ส่วนมากจะเป็นปากกาลูกลื่นที่ใช้แล้วทิ้ง เมื่อหมึกหมดก็ทิ้งไป

ปากกาลูกลื่นพวกนี้ ไปซื้อตามสโตร์เครื่องเขียนจะมีขายแพ็คละ 50 ด้าม ราคาไม่ถึง 200 บาท หารราคาต่อด้ามจะถูกลงอยู่ที่ด้ามละ 3-4 บาท เมื่อเทียบกับราคาขายปลีกจะอยู่ที่ด้ามละ 5-7 บาท

ด้านหนึ่งถือว่าเราได้ปากกาฟรีไปใช้ แต่อีกด้านหนึ่ง หากหมึกหมดหรือปล่อยให้หมึกแห้ง เขียนต่อไม่ได้ แล้วนำด้ามปากกาทั้งหมดมารวมกัน จะได้ขยะพลาสติกกองโตที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ แถมย่อยสลายยากอีกต่างหาก

การใช้ปากกาที่เราติดตัวมาเอง แทนการรับปากกาแจกเวลาไปงานสัมมนา หรืองานแถลงข่าว นอกจากจะเขียนได้ถนัดกว่าเพราะรู้สึกคุ้นมือแล้ว ยังใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เทียบกับเห็นแก่ของฟรีเล็กๆ น้อยๆ สุดท้ายก็กลายเป็นขยะ

ยุคนี้หลายหน่วยงานต่างรณรงค์ลดโลกร้อน โดยส่วนมากมักจะเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก หรือการนำแก้วทัมเบอร์หรือแก้วเทอร์มอสมาเอง ซื้อเครื่องดื่มที่ร้านกาแฟแทนการใช้แก้วพลาสติก

การใช้ปากกาแบบเปลี่ยนไส้ได้ แทนการใช้ปากกาที่เมื่อหมึกหมดแล้วต้องทิ้ง น่าจะเป็นอีกไอเดียหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ในยุคที่ขยะพลาสติกยังเป็นปัญหาในบ้านเมืองปัจจุบัน

ในเมื่อการเปลี่ยนคนทั้งโลกมันเป็นเรื่องยาก วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การเปลี่ยนที่เริ่มต้นจากตัวเราเอง.


กำลังโหลดความคิดเห็น