xs
xsm
sm
md
lg

‘มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ประเทศไทย’ แค่รายการเด็กแข่งขันทำอาหาร?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ความบันเทิงเย็นวันอาทิตย์กลับมาอีกแล้วครับ ...

“มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ประเทศไทย” รายการแข่งขันทำอาหารสำหรับเด็กอายุ 8-13 ปี ชิงเงินรางวัล 5 แสนบาท ฝีมือการสร้างของ “หนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์” แห่งบริษัท เฮลิโคเนีย เอชกรุ๊ป ออกอากาศทางช่อง 7 เอชดี

แม้ผิวเผินเหมือนจะเป็นรายการเด็ก แต่โปรดักชั่นไม่ใช่เด็กๆ ใช้งบฯ ในการผลิตเทียบเท่าผู้ใหญ่ กว่า 70 ล้านบาท ถ่ายทำที่เดอะ สตูดิโอ ปาร์ค ย่านบางบ่อ จ.สมุทรปราการ แถมรูปแบบการแข่งขันเหมือนกับของผู้ใหญ่ทุกอย่าง

กรรมการทั้ง 3 ท่าน อิ๊งค์-หม่อมหลวง ภาสันต์ สวัสดิวัฒน์, เชฟป้อม-หม่อมหลวง ขวัญทิพย์ เทวกุล เชฟอาหารไทยตำรับชาววัง และ เชฟเอียน-พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย เชฟอาหารตะวันตก แนวอินโนเวทีฟ

เป็นกรรมการที่ตัดสินผู้ใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้รู้จริงด้านอาหาร

การทำ “รายการเด็ก” ให้ออกมา “ดูไม่เด็ก” ไม่ใช่เรื่องง่าย หากมีความเป็นรายการเด็กจ๋า ผู้ใหญ่จะรู้สึกน่าเบื่อ

แต่สำหรับ “มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ประเทศไทย” ก้าวผ่านจุดนี้มาได้

นอกจากจะออกอากาศผ่านทางช่อง 7 เอชดี แล้ว ยังออกอากาศย้อนหลัง ในยูทูป MasterChef Thailand ซึ่งพบว่ามีคนดูมากกว่า 1.8 ล้านครั้งใน 3 วัน

ถือเป็นรายการที่ไม่มีพิษมีภัยเมื่อเทียบกับคลิปไวรัล คลิปแกล้งคนเกลื่อนโซเชียล เป็นความบันเทิงเพียงไม่กี่รายการในจอทีวี และในยูทูปที่แนะนำให้ดูอย่างยิ่ง

ในฐานะคนดู เกิดความรู้สึกว่า “มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ประเทศไทย” ไม่ได้เป็นรายการเด็กแข่งทำอาหารเพียงอย่างเดียว

แต่เป็นรายการที่ให้เห็นถึงแง่มุมชีวิตเด็กในวัยกำลังสนุกสนานที่หลากหลาย ซึ่งผู้ใหญ่อย่างเราน่าค้นหาและติดตามอย่างยิ่ง

เท่าที่ดูมาสองตอน แม้จะมีเด็กบางคน ที่ไม่รู้ว่าเป็นการแสดงออกด้วยใจจริงๆ หรือพยายามโอเวอร์แอคติ้ง คนดูรู้สึกเหมือนขัดอารมณ์ไปบ้าง แต่เด็กก็คือเด็ก ถือว่ายอมรับได้ ไม่น่าเกลียดมากเกินไป

เด็กคนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “น้องซีนาย” ที่ตั้งแต่เปิดรายการมา ลีลาขี้เล่นเรียกเสียงหัวเราะตั้งแต่พูดคำว่า “ที่บ้านไม่มีครัวใหญ่เท่านี้เลยครับ” ไม่ชัด แต่เมื่อเชฟเดินมาหาจริงๆ กลับเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าสบตา ก็ได้แต่อมยิ้ม

ส่วนเด็กที่เริ่มมีแฟนคลับคอยเชียร์กันมาบ้างแล้วก็คือ “น้องพอใจ” ที่ร้องเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ให้เชฟเอียนฟัง หรือจะเป็น “น้องเซน” ที่หน้าตาออกแนวโอปป้าเกาหลี “น้องเอ็นดู” ที่มักจะกลัวเชฟป้อม คนดูก็ขำกันไป

รอบคัดเลือก จาก 40 คนสุดท้าย เหลือ 26 คนสุดท้าย แบ่งเป็นเด็กหญิง 20 คน และเด็กชาย 20 คน กรรมการจะให้วัตถุดิบเป็นโจทย์ เพื่อคัดเลือก 9 คนได้รับผ้ากันเปื้อน และผ่านเข้ารอบต่อไป โดยมี 3 คนที่ต้องกลับบ้านไปก่อน

ส่วน 8 คนที่ไม่ได้รับการคัดเลือก จะมีรอบแก้ตัว คือ Signature Dish เมนูความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะต้องสร้างสรรค์เมนูเพื่อให้คณะกรรมการได้ชิม

โดยจะมีเพียง 4 คนได้รับผ้ากันเปื้อนและผ่านเข้ารอบต่อไป ส่วนอีก 4 คนต้องกลับบ้านเช่นกัน

ผู้เข้าแข่งขันกว่า 2,000 คน คัดเลือกเหลือ 40 คน แต่ละคนทักษะการทำอาหารไม่ธรรมดา บางคนถนัดอาหารไทย บางคนถนัดอาหารท้องถิ่น บางคนมาแนวอาหารตะวันตกก็มี

ทำเอาคนดูอึ้งในความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์

แน่นอนว่า ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเด็ก เมื่อเกิดความผิดพลาด รู้สึกกดดัน หรือผิดหวัง จะต้องร้องไห้เกิดขึ้น

การร้องไห้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะช่วงชีวิตกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ทางออกมีเพียงไม่กี่ทาง เกือบทุกคนจะต้องผ่านการมีน้ำตามาทั้งนั้น ไม่ว่าจะอารมณ์ตื้นตันหรือเจ็บปวด

แต่เชฟเลือกที่จะปลอบขวัญ ให้กำลังใจ และชี้แนะวิธีการให้กับเด็กๆ ต่างจาก มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ที่มีผู้ใหญ่แข่งขัน หากใครทำผิดพลาด กรรมการก็จะเตือนอย่างจริงจัง จนภาพออกมาดูรุนแรง

กระทั่งประโยคที่ว่า “เตือนแล้วนะ” กลายเป็นภาพจำของคนทุกเพศทุกวัย เมื่อนึกถึง “เชฟป้อม”

เด็กหญิงรายหนึ่ง หนังปลาแซลมอนติดกระทะ ด้วยภาพจำในทีวีก็เลยรู้สึกประหม่า แต่เชฟป้อมพูดคุยอย่างเป็นกันเอง พร้อมถามว่า “ตกลงป้าสอนได้นะ” และว่า “กระทะมันไม่ร้อน ปลามันก็เลยติดนะคะ” ด้วยน้ำเสียงอ่อนหวาน

เด็กหญิงอีกรายหนึ่ง จู่ๆ ก็ร้องไห้ เพราะกลัวว่าจะทำไม่ทัน เชฟป้อมก็เข้ามาปลอบ พร้อมกับกอดเหมือนแม่ บอกว่า “หนูยังมีเวลา หนูใจเย็นๆ ลูก” เพื่อเรียกสติคืนมา

ถ้าเป็นเด็กชาย มีน้องอยู่คนหนึ่งร้องไห้ไปสองรอบเพราะความกดดัน รอบแรกกลัวว่าจะทำซอสออกมาไม่ดี อีกรอบหนึ่งแกะหอยเชลล์ไม่ได้ แต่เชฟเอียนก็เข้ามาช่วยแนะนำให้ผ่านไปได้

แต่มีอยู่หนึ่งคนที่น่าสนใจก็คือ “น้องกอหญ้า” อายุ 9 ขวบ ตอนทำสเต็กปลาแซลมอน แล้วหนังมันไหม้ น้องกลับตอบกับเชฟเอียนทันทีว่า “เดี๋ยวทำใหม่ค่ะ” ทั้งที่เหลือเวลาเพียงไม่ถึง 10 นาที

น้องกอหญ้ากล่าวว่า “ถ้าเกิดเราร้องไห้ มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ปลาแซลมอนมันดีขึ้น ก็เลยรีบทำใหม่ ถ้าไม่ทันก็เสิร์ฟแบบดิบดีกว่า เพราะแซลมอนกินดิบได้ แต่ว่าถ้าไหม้กินไม่ได้แล้ว”



เช่นเดียวกับ “น้องอลิส” ที่ทำข้าวคลุกน้ำพริกกะปิกับปลาทูกรุบกริบ แทนปลาทูฟู ที่ไม่ได้ฟูอย่างที่ตั้งใจ ไข่เจียวชะอมกระทะแรกมีปัญหา แต่ก็มีสติและสมาธิ ได้รับคำชมจากเชฟป้อม แนะว่าทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ แล้วจะผ่านอุปสรรคทุกอย่างได้

ถือว่ามีสติ และมีทัศนคติที่ดีในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า



ขณะที่การตัดสินของกรรมการ ก่อนหน้านี้เคยมีคนปรามาสว่า การตัดสินอาจจะอ่อนข้อหรือลดหย่อนอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ แต่ถ้าดูทั้งรายการแล้ว กรรมการตัดสินอย่างมีเหตุผล

เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำพูดทำนองว่า “เมนูนี้เป็นจานที่แย่ที่สุด” เหมือนการตัดสินผู้ใหญ่

สิ่งหนึ่งที่เชฟพยายามบอกทุกคนอยู่เสมอก็คือ “อย่าหยุดฝัน” และภูมิใจในความสามารถของตัวเอง

ลองย้อนกลับไปดูในช่วงที่เชฟแต่ละคนคอมเมนต์ ออกจะแนะนำวิธีทำที่ถูกต้องด้วยซ้ำ ซึ่งคนทำอาหารไม่เป็น หากได้ดูแล้วจดหรือบันทึกไว้ ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ฝึกทำอาหารกินเองที่บ้านก็ได้

ยกตัวอย่างบางช่วงบางตอน เด็กหญิง 3 คนแรก ตกรอบในโจทย์สเต็กปลาแซลมอน เพราะคนหนึ่งเนื้อปลาแซลมอนดิบ คนหนึ่งเอาซอสราดบนหนังปลา ทำให้หนังปลาไม่กรอบ และเนื้อปลาสุกมาก คนหนึ่งไม่ได้เสิร์ฟหนังปลาเพราะติดกระทะ

รอบ Signature Dish เด็กหญิงคนหนึ่งทำแกงเลียง ปรากฎว่าเผ็ดแต่พริกไทย เพราะขาดกระชาย เชฟป้อม ที่เป็นเชฟอาหารไทยตำรับชาววัง ก็ชู 5 นิ้วอธิบายว่า “แกงเลียงต้องมี 5 อย่าง คือ หอมแดง พริกไทย กระปิ กุ้งสดหรือกุ้งแห้ง และกระชาย”

แต่มีเด็กชายอยู่คนหนึ่ง มาจากต่างจังหวัด เกิดท้อกลางคัน เพราะทำไข่เพื่อห่อกับข้าวผัดพังและแตก และกล่าวกับเชฟป้อมว่า “มั่นใจว่าจะกลับบ้าน” เชฟป้อมต้องเรียกสติกลับมา บอกว่าใจเย็นๆ เชื่อว่ามีโอกาสทำใหม่ได้ทัน

ระหว่างที่นำอาหารมาให้ชิม เหมือนจะทำใจล่วงหน้าแล้วว่าตกรอบแน่ๆ แต่เชฟป้อมก็กล่าวชื่นชมถึงความพยายาม และว่า

“ไม่ว่าเราจะได้รับหรือไม่ได้รับผ้ากันเปื้อน ความฝันไม่ได้หยุดแค่นี้ ชีวิตเราต้องสู้ ต้องมีแรงและมีสติ”

การแข่งขันในรอบต่อไป ที่เหลือเพียงแค่ 26 คนสุดท้าย จะต้องผ่านบททดสอบทั้ง “รอบกล่องปริศนา” ที่เด็กๆ จะไม่มีทางรู้ว่าสิ่งของด้านในเป็นอะไร “รอบการแข่งขันเป็นทีม” ที่ต้องรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อต้องทำงานร่วมกัน

รวมทั้ง “รอบทดสอบความละเอียดและแม่นยำ” ที่ใครได้ดูการแข่งขันแบบผู้ใหญ่ก็มีคนทำพลาดไม่น้อย จนต้องคืนผ้ากันเปื้อนและออกจากบ้านไป

เมื่อหลักเกณฑ์การตัดสินไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ จะได้เห็นทักษะในการแก้ปัญหาของน้องๆ บรรยากาศการแข่งขันดูตึงเครียดและเกร็งไปตามๆ กัน แต่ก็มักจะมีความสนุกที่แฝงอยู่ในรายการ

รวมทั้งท่าทีของกรรมการทั้ง 3 คน ที่ดูยืดหยุ่น เน้นชี้แนะข้อดี ข้อเสียให้กับน้องๆ มากกว่า

แม้น้องๆ จะหายไปทีละคน-สองคน ต้องคืนผ้ากันเปื้อนและกลับบ้านไป แต่สิ่งสำคัญที่เราจะได้เห็น คือ พัฒนาการของน้องๆ

สุดท้ายคนที่ได้แชมป์นอกจากจะมีใจรักทำอาหารแล้ว ผ่านบททดสอบมาได้ ถือว่าแกร่งจริง ความฝันที่จะเป็นเชฟมืออาชีพตามรอยรุ่นพี่ หรือลุงๆ ป้าๆ คงอยู่ไม่ไกล



กำลังโหลดความคิดเห็น