ผมรู้จักคำว่า “ไมโครอินชัวรันส์” (Micro Insurance) หรือ ประกันภัยสำหรับรายย่อย เมื่อครั้งไปงาน “มันนี่ เอ็กซ์โป 2018” ที่เมืองทองธานี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา
ยอมรับว่าไปเดินงานนี้ เวลาที่มีเจ้าหน้าที่ชวนทำประกันชีวิต หรือบัตรเครดิตก็ได้แต่ปฏิเสธ เพราะขนาดเวลาเดินห้างฯ จะซื้อของอะไรสักอย่าง จะไม่ชอบให้ใครมาตามตื๊อ แทนที่จะรู้สึกอยากได้ กลับรำคาญแทน
กระทั่งมาเจอบูธของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เลยลองเล่นเกมดู ปรากฎว่าของรางวัลที่ได้ นอกจากแฟลชไดร์ฟแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า “ประกันภัย 100”
เจ้าหน้าที่ คปภ. ให้เรานำบัตรประชาชนไปรับประกันภัยฟรี ที่โต๊ะข้างๆ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสให้บริการ นำบัตรประชาชนเสียบที่เครื่ออ่านสมาร์ทการ์ด ถามเบอร์มือถือ
สักพักก็ได้เอกสารใบหนึ่งออกมา มันคือ “กรมธรรม์ประกันภัย 100 (ไมโครอินชัวรันส์)” ของเมืองไทยประกันชีวิต
ความคุ้มครองคร่าวๆ คือ เสียชีวิตหรือพิการจากอุบัติเหตุ ได้ 1 แสนบาท แต่ถ้าเสียชีวิตจากถูกฆาตกรรมหรืออุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะคนขับขี่หรือคนซ้อนท้าย ได้ 5 หมื่นบาท
นอกจากนี้ ถ้าเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย ถ้าเราไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อน 120 วัน ก่อนที่จะเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย ยังได้ค่าจัดการงานศพอีก 5 พันบาท ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี
ทั้งหมดนี้ เบี้ยประกันเพียงแค่ 100 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น คปภ. แจกฟรีเป็นของรางวัล
แต่เงื่อนไขแนบท้ายมีเยอะพอสมควร โดยเฉพาะหากเมาสุราเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ขึ้นไป ติดยาเสพติด สารเสพติด ขณะก่ออาชญากรรม ขณะถูกจับกุม ฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง ประกันฉบับนี้จะไม่คุ้มครอง
ถามว่าโอเคไหม ... เราว่าเวิร์ค อย่างน้อยเวลาที่เราไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน เงินปีละ 100 บาทถือว่าคุ้ม
ทราบมาว่า ประกันแบบนี้ คปภ. ขายหรือแจกเฉพาะตามงานอีเวนต์ หรือช่วงเทศกาล โดยไปจับมือกับบริษัทประกันอีกที ไม่ได้ขายทั่วไป ดูตามเว็บไซต์บริษัทต่างๆ พบว่าเบี้ยประกันอย่างน้อยสัก 200-300 บาทขึ้นไปแล้ว
บริษัทประกันส่วนใหญ่จะขาย “ประกันภัย 200” หาซื้อง่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เบี้ยประกัน 200 บาทต่อคนต่อปี ต่างจากประกันภัย 100 ตรงที่ ค่าจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยจะได้ 1 หมื่นบาท
เงื่อนไขสำคัญของคนที่ซื้อประกันภัยแบบไมโครอินชัวรันส์ คือ ซื้อได้ไม่เกินคนละ 2 กรมธรรม์ หากซื้อเกินจะได้รับความคุ้มครอง 2 กรมธรรม์แรก บริษัทที่เราซื้อที่หลังจะคืนเบี้ยประกันภัยเต็มจำนวน
แต่ที่ผ่านมามีรายงานว่า ประกันภัย 100 ช่องทางขายรายย่อยมีน้อยมาก ประกอบกับชาวบ้านยังไม่ค่อยสนใจ และไม่เข้าใจผลิตภัณฑ์ ทำให้บริษัทประกันภัยขาดทุนไปตามระเบียบ
ข้อมูลจาก คปภ. ระบุว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีคนซื้อ “ประกันภัย 200” ไป 6.55 หมื่นฉบับ เบี้ยประกันภัยรวม 13.10 ล้านบาท จ่ายสินไหมทดแทนรวม 6.15 ล้านบาท
“ประกันภัย 100” มีคนซื้อ 6.30 หมื่นฉบับ เบี้ยประกันภัยรวม 6.30 ล้านบาท จ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 2.94 ล้านบาท “ประกันภัย 222” มีคนซื้อ 1.40 หมื่นฉบับ เบี้ยประกันภัยรวม 3.10 ล้านบาท จ่ายค่าสินไหมทดแทนไป 2 แสนบาทเศษ
มาถึงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คปภ. เลยงัดไอเดียใหม่ “ประกันภัย 10 บาท” คุ้มครอง 30 วัน แล้วให้บริษัทประกันภัยไปจับมือพาร์ทเนอร์ เช่น ปั้มน้ำมัน ค่ายมือถือ ร้านอาหาร เคาน์เตอร์เซอร์วิส หนังสือพิมพ์ โบรกเกอร์ประกันภัยรถยนต์ ฯลฯ
จริงๆ ประกันภัย 10 บาท ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ บริษัท ทูนประกันภัย จำกัด (มหาชน) เคยนำมาขายในชื่อผลิตภัณฑ์ “ประกันไว” ผ่านตู้เติมเงินบุญเติม เมื่อปี 2557 ให้ความคุ้มครอง 1 หมื่นบาท แต่ตอนนี้ไม่มีจำหน่ายแล้ว
แต่ครั้งนี้ ถือเป็นการนำ “ประกันภัย” เชื่อมโยงเข้ากับสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการอย่างจริงจัง
“ประกันภัย 10 บาท” ต่างจาก “ประกันภัย 100” ตรงที่คุ้มครองแค่ 30 วัน แต่ความคุ้มครองไม่ต่างกัน เพียงแค่ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขค่าจัดการงานศพ 5 พันบาท เป็นกรณีถ้าเราไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อน 15 วันแรก
ผลก็คือ ภายในเดือนเดียว มีคนถือกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท มากถึง 1.32 ล้านราย เทียบกับคนที่ทำประกันภัย 100 มีเพียงแค่ 6.3 หมื่นราย และประกันภัย 222 เพียง 1.4 หมื่นรายเท่านั้น
แต่เมื่อประกันภัย 10 บาท นำร่องในปีแรก ก็พบกับอุปสรรคมากมาย อาทิ ขั้นตอนลงทะเบียนรับสิทธิยุ่งยาก แม้ว่าจะไม่เสียค่าใช้จ่าย พนักงานขาดความรู้ความเข้าใจแนะนำลูกค้าโดยเฉพาะต่างจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์แบบกระชั้นชิด
ปัจจุบัน “ประกันภัย 10 บาท” กลายเป็น “โครงการกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มด้วยรักและห่วงใย” คิดเบี้ยประกันภัยรวม 10 บาท สำหรับทำสัญญาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึง 30 กันยายน 2561
โดยรูปแบบการออกหนังสือรับรองการประกันภัย คปภ. กำหนดให้ส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ SMS หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นก็ได้ ที่สำคัญเมื่อลูกค้าลงทะเบียนสำเร็จจะได้รับความคุ้มครองทันที
มีบางบริษัทที่เข้าร่วมโครงการแล้ว อาทิ ร้านคาเฟ่อเมซอน มอบสิทธิ์ประกันอุบัติเหตุฟรี แก่ลูกค้าที่ใช้บริการ โดยถ่ายรูปใบเสร็จ แล้วลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ tipinsure.com/cafeamazon ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2561
หรือจะเป็น เคาน์เตอร์เซอร์วิส แจกกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท ของ เมืองไทยประกันชีวิต และกรุงเทพประกันชีวิต แก่ลูกค้าที่จ่ายบิลผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ตั้งแต่ 1-15 กันยายน 2561 ลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ถึง 30 กันยายน 2561
แม้ว่ากลยุทธ์แจกฟรีประกันอุบัติเหตุ มองกันอย่างผิวเผินจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่เป็นห่วงอย่างเดียวก็คือ “ข้อมูลส่วนบุคคล” โดยเฉพาะเบอร์มือถือ จะถูกบริษัทประกันภัยนำไปใช้ประโยชน์โดยที่เราไม่ยินยอมหรือไม่?
เพราะที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยมักถูกมองเป็น “ผู้ร้าย” กรณีโทรศัพท์ขายประกันแก่ลูกค้าบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล หรือบัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้าต่างๆ จนสังคมประณามพฤติกรรมละเมิดความเป็นส่วนตัวมาแล้ว
นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประกันภัย 10 บาท มีลูกค้าส่วนหนึ่งไม่กล้าลงทะเบียน เพราะกลัวว่าเบอร์มือถืออยู่ในมือบริษัทประกันภัยแล้ว จะมีปัญหาโทรศัพท์ขายประกันตามมาภายหลัง
ขนาดใช้มือถือสองเบอร์ โดยอีกเบอร์หนึ่งเป็นเบอร์ส่วนตัว ไว้ติดต่อเฉพาะครอบครัวและคนสนิท เมื่อค่ายมือถือที่เป็นเบอร์ส่วนตัว ไปจับมือกับบริษัทประกันภัย แจกกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท ยังไม่กล้ากดรับสิทธิ์เลย
อย่างไรก็ตาม ประกันภัยแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการต่ออายุ กลับน่าสนใจยิ่งกว่า โดยเฉพาะ “ประกันภัยการเดินทาง” เมื่อไปต่างประเทศ มักจะแนะนำให้ซื้อก่อนเดินทางทุกครั้ง เผื่อเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ เพราะที่โน่นค่ารักษาพยาบาลแพงมาก
หรือจะเป็นประกันภัยที่เรานึกอยากจะซื้อ ก็ซื้อได้แบบไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อผูกมัด เช่น ประกันภัยท่องเที่ยวในประเทศ ประกันภัยราคาประหยัด เห็นบางบริษัทขาย “ประกันภัย 30 บาท” คุ้มครอง 30 วัน ผ่านเซเว่นอีเลฟเว่นก็มี
นอกจากนี้ เราไม่รู้เลยว่ารวมๆ แล้วทำประกันชีวิต ประกันภัย หรือรับสิทธิ์ประกันอุบัติเหตุไว้ที่ไหนบ้าง
หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง คปภ. น่าจะจัดทำช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนตรวจสอบได้ และสามารถสั่งพิมพ์รายละเอียดความคุ้มครองการประกันชีวิต ประกันภัย เพื่อให้ครอบครัวเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินได้
อย่างน้อยให้เรารู้ว่าทำประกันไว้ที่ไหน เพราะที่ผ่านมาเราแทบไม่ได้จำเลย วิธีเดียวที่สมาชิกในครอบครัวจะทราบได้ คือ สมมติเวลาเราตายไป ต้องนำใบมรณบัตรไปตรวจสอบที่สำนักงาน คปภ. ตรงข้ามศาลอาญารัชดาภิเษก โดยตรง
หรือถ้าจะเน้นเฉพาะไมโครอินชัวรันส์ก็สามารถทำได้ เผื่อตรวจสอบเบื้องต้นว่าเรามีกรมธรรม์ครบ 2 ฉบับหรือยัง จะช่วยจูงใจให้คนทำประกันไมโครอินชัวรันส์อย่างต่อเนื่อง หรือทำประกันในช่วงเวลาที่เราต้องการมากขึ้น
ไมโครอินชัวรันส์ ไม่ว่าจะเป็น “ประกันภัย 10 บาท” หรือ “ประกันภัย 100” เป็นสิ่งที่น่าส่งเสริม แต่ก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมของ คปภ. และความซื่อสัตย์ของบริษัทประกัน ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของเราจะไม่ถูกละเมิดอย่างที่ผู้คนเขากลัวกัน
ที่สำคัญ ควรที่จะทำให้ผู้เอาประกันรู้สึกว่า “มีเครื่องยืนยัน” ดีกว่าที่เราซื้อประกัน หรือรับสิทธิ์ประกันไปแล้วหลงลืมว่ามี เสียชีวิตไปก็ลำบากคนข้างหลังที่ต้องทำเรื่องเคลมประกันแบบไม่รู้ทิศทางอีก.