เมื่อไม่นานมานี้ มีการเปิดตัวโครงการ E-Donation หรือ ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันการเงิน ร่วมกับบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ ผู้ดูแลระบบพร้อมเพย์ กรมสรรพากร และ ธนาคารแห่งประเทศไทย
วัตถุประสงค์หลักของ E-Donation เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาค ที่บริจาคเงินผ่าน “หน่วยรับบริจาค” ได้แก่ ศาสนสถาน สถานศึกษา โรงพยาบาล และองค์กรสาธารณกุศล สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้
ผู้เสียภาษีไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพราะกรมสรรพากรมีข้อมูลการบริจาคอยู่แล้ว ตรวจสอบได้ผ่าน เว็บไซต์กรมสรรพากร http://edonation.rd.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง และได้รับคืนเงินภาษีเร็วขึ้น
ส่วนหน่วยรับบริจาค มีประโยชน์ตรงที่ ไม่ต้องจัดทำหลักฐานการบริจาคเป็นกระดาษ และไม่ต้องจัดเก็บสำเนาหลักฐานการบริจาค ถ้าผู้บริจาคอยากได้ “ใบรับเงินบริจาค” หน่วยรับบริจาคที่บันทึกข้อมูลแล้ว สามารถสั่งพิมพ์ได้ทันที
นอกจากลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำหลักฐานการรับเงินแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริจาคได้อีกด้วย
การเปิดตัวในวันนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย เน้นให้บริจาคผ่านพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด (PromptPay QR Code) ระบบการชำระเงินที่ใช้ได้กับแอปพลิเคชั่นทุกธนาคาร
โดยมี 5 ธนาคาร 5 แอปพลิเคชั่น ที่ให้บริการแล้ววันนี้ ได้แก่ Bualuang mBanking ธนาคารกรุงเทพ, KTB Netbank ธนาคารกรุงไทย, SCB Easy ธนาคารไทยพาณิชย์, TMB Touch ธนาคารทีเอ็มบี และ MyMo ธนาคารออมสิน
โดยปกติแล้ว ช่องทางการบริจาคผ่านระบบ E-Donation จะมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่
1. รับบริจาคที่หน่วยรับบริจาค ไม่ว่าจะเป็นเงินสด เช็ค โอนเงินเข้าบัญชี พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด หรือรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ผ่านเมนู “บริการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์” หลังจากหน่วยรับบริจาคได้รับเงินแล้ว ไม่ว่าผู้บริจาคจะขอหลักฐานหรือไม่ก็ตาม ต้องบันทึกข้อมูลการบริจาคผ่านเว็บไซต์ “ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์” ของกรมสรรพากร
2. รับบริจาคผ่านสถาบันการเงิน หน่วยรับบริจาคจะมอบหมายให้สถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร เป็นตัวแทนรับบริจาคเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด หลังสแกนแล้วจะเข้าสู่เมนู “บริการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์” โดยมีตัวเลือกระหว่าง “ใช้สิทธิลดหย่อน” กับ “ไม่ใช้สิทธิลดหย่อน” เพื่อให้ความยินยอมก่อนบริจาค
หากเลือก “ใช้สิทธิลดหย่อน” ธนาคารจะส่งข้อมูลการบริจาค และเลขที่บัตรประชาชนเพื่อบันทึกในระบบ โดยผู้บริจาคสามารถตรวจสอบได้ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร แต่ถ้าเลือก “ไม่ใช้สิทธิลดหย่อน” จะกลายเป็นผู้ไม่ประสงค์ออกนามแทน
ธนาคารจะทำหน้าที่จัดส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร หน่วยรับบริจาคไม่ต้องทำอะไร แค่รับเงินเข้าบัญชี และรอรับรายงานสรุปยอดบริจาค ผ่านช่องทางที่ธนาคารกำหนด ช่วยให้ตรวจสอบได้ง่าย ลดความผิดพลาด
ที่ผ่านมา กรมสรรพากรพยายามให้ศาสนสถาน และสถานศึกษาบันทึกข้อมูล ตั้งแต่ปลายปี 2560 โดยสั่งการให้สรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศทำความเข้าใจ ก่อนเปิดลงทะเบียนเพื่อออก “เลขประจำตัวหน่วยรับบริจาค” ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2561 มีหน่วยรับบริจาค ที่ใช้ระบบ E-Donation ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรแล้ว จำนวน 10,631 แห่ง ประกอบด้วย
- ศาสนสถาน (วัด, มัสยิด, คริสตจักร) 8,556 แห่ง
- สถานศึกษา (โรงเรียน) 2,038 แห่ง
- โรงพยาบาล 21 แห่ง
- องค์กรสาธารณกุศล 16 แห่ง
การรับบริจาคผ่านหน่วยรับบริจาค อาจมีคนตั้งข้อสังเกตว่า จะมีช่องโหว่ให้ตัวแทนหน่วยรับบริจาค ที่ถือ Username และ Password เพื่อป้อนข้อมูล แก้ไขดัดแปลงในภายหลังได้หรือไม่
เท่าที่ทราบ ระบบหลังบ้านของกรมสรรพากร จะให้แก้ไขหรือยกเลิกรายการที่ดำเนินการได้ภายในปีที่มีการบริจาคเท่านั้น และแก้ไขข้อมูลการบริจาคได้ เฉพาะรายการเงินสดหรือทรัพย์สินเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขผู้บริจาคและวันที่บริจาคได้
ที่อำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้นก็คือ ระบบหลังบ้านของสรรพากร สามารถให้ตัวแทนหน่วยรับบริจาค “พิมพ์ใบรับเงินบริจาค” ซึ่งเปรียบเสมือนใบอนุโมทนาบัตรได้ทันที แต่ถึงไม่ขอ ก็มีข้อมูลการบริจาคในฐานข้อมูลกรมสรรพากรแล้ว
ส่วนการรับบริจาคสถาบันการเงิน แม้จะมีบางธนาคารประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะตามวัดต่างๆ แต่มีอยู่ 2 ธนาคารที่ทำระบบ E-Donation และประชาสัมพันธ์เต็มรูปแบบ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารทีเอ็มบี
ธนาคารกรุงไทย เริ่มทดลองโครงการ “เป๋าตุง เติมบุญ” โดยรับเงินบริจาคผ่านพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด สแกนผ่านแอปพลิเคชั่นธนาคารใดก็ได้ แต่สำหรับผู้ใช้ KTB Netbank สามารถรับใบอนุโมทนาอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที
ปัจจุบันใช้ชื่อโครงการ “กรุงไทย เติมบุญ” เป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียว ที่สามารถออกใบอนุโมทนาบุญอิเล็กทรอนิกส์ทางอีเมลได้ทันที โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม มีหน่วยงานรับบริจาคที่ใช้บริการมากที่สุด กว่า 4,200 แห่งทั่วประเทศ
ธนาคารทีเอ็มบี เปิดเว็บไซต์ “ปันบุญ” www.punboon.org รวบรวมองค์กรสาธารณกุศล และโครงการเพื่อสังคมทั่วประเทศ โดยรับชำระผ่านทางพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด ในอนาคตจะรับชำระผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และ Rabbit LINE Pay
จากการทดลองระบบคิวอาร์โค้ดของทั้งสองธนาคาร พบว่า รูปแบบการให้บริการคิวอาร์โค้ดของทั้งสองธนาคารแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่รูปแบบไม่ต่างกัน
ธนาคารกรุงไทย จะมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ รหัส E-Wallet ของบริการเป๋าตุงกรุงไทย (ขึ้นต้นด้วย 006) กับ รหัสคิวอาร์โค้ดระบบ E-Donation “เป๋าตุง เติมบุญ” โดยมีเลขประจำตัวหน่วยรับบริจาค และเลขที่บัตรประชาชน เป็นรหัสอ้างอิง
หากเป็นรหัส E-Wallet ของบริการเป๋าตุงกรุงไทย ถ้าใช้แอปพลิเคชั่น KTB Netbank สแกนคิวอาร์โค้ด ระบบจะแจ้งเตือน “บริการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์” โดยมีตัวเลือกระหว่าง “ใช้สิทธิลดหย่อน” กับ “ไม่ใช้สิทธิลดหย่อน”
โดยผู้ใช้แอปพลิเคชั่น KTB Netbank ถ้ากรอกอีเมลในขั้นตอนการบริจาค ก็จะมีบริการออก “ใบรับเงินบริจาค/ใบอนุโมทนา” ส่งให้ผ่านทางอีเมลอีกด้วย
ถ้าใช้แอปพลิเคชั่นธนาคารอื่น จะเป็นการโอนเงินพร้อมเพย์ E-Wallet โดยไม่มีการแจ้งเตือน “บริการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์” และจะไม่ได้ส่งข้อมูลการบริจาคให้กับกรมสรรพากรแต่อย่างใด
ส่วนรหัสคิวอาร์โค้ดระบบ E-Donation “เป๋าตุง เติมบุญ” เมื่อใช้แอปพลิเคชั่นธนาคารอื่นสแกน ระบบจะแจ้งเตือนว่า “ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้แก่กรมสรรพากร” ในรูปแบบแตกต่างกันไป
ในปัจจุบัน ธนาคารกรุงไทย ระงับการเผยแพร่พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ดในโครงการ “กรุงไทย เติมบุญ” ชั่วคราว คาดว่าอยู่ในระหว่างปรับปรุง คงเหลือคิวอาร์โค้ดจากโครงการ “เป๋าตุง เติมบุญ” ที่ยังสามารถใช้ได้ในขณะนี้
เพียงแต่ว่า ถ้าไม่ได้ใช้ KTB Netbank จะไม่ได้รับ “ใบรับเงินบริจาค/ใบอนุโมทนา” ทางอีเมล และไม่แน่ใจว่าจะส่งข้อมูลการบริจาคให้กับกรมสรรพากรหรือไม่
ด้านธนาคารทีเอ็มบี มี “เว็บไซต์ปันบุญ” ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับบริจาคเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แก่องค์กรสาธารณกุศล โดยปัจจุบันมีองค์กรสาธารณกุศล 12 องค์กร และโรงพยาบาล 1 แห่งเข้าร่วมโครงการ
ผู้ที่สนใจบริจาค จะต้องเปิดคอมพิวเตอร์ เข้าไปที่เว็บไซต์ www.punboon.org เลือกองค์กรที่ต้องการบริจาค เลือกจำนวนเงินที่ต้องการ หรือระบุจำนวนเงิน ขั้นต่ำ 10 บาท กรอกอีเมลให้ถูกต้อง เพื่อรับใบยืนยันการบริจาค
จากนั้น ระบบจะให้ยืนยันข้อมูล และชำระเงิน โดยใช้พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด ระบบจะแสดงคิวอาร์โค้ดเพื่อบริจาคเงิน ทำการเข้าสู่ระบบ สแกนคิวอาร์โค้ด และยืนยันการจ่ายเงินตามขั้นตอน
เมื่อทำรายการบริจาคสำเร็จ หน้าจอเว็บไซต์จะขึ้นข้อความ “ชำระเงินสำเร็จ” พร้อมกับระบบจะส่งใบยืนยันการบริจาคในโครงการปันบุญ ส่วนข้อมูลการบริจาคจะบันทึกในเว็บไซต์กรมสรรพากรภายใน 30 วันทำการ หลังจากบริจาค
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในเว็บไซต์ปันบุญ ไม่ได้ระบุว่า องค์กรไหนเป็นหน่วยรับบริจาคที่ใช้ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ บางองค์กรเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดไปแล้ว กลายเป็นการโอนเงินพร้อมเพย์ธรรมดา
เพราะฉะนั้น ถ้าผู้บริจาคประสงค์จะใช้ข้อมูลการบริจาคไปลดหย่อนภาษีปีหน้า ก่อนบริจาคทุกครั้งให้ ตรวจสอบหน่วยรับบริจาคที่ใช้ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร และสังเกตที่ช่อง “รับบริจาคผ่านสถาบันการเงิน”
นอกจากสองธนาคารที่มีช่องทางประชาสัมพันธ์แล้ว ยังมี ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่จัดทำคิวอาร์โค้ดให้หน่วยรับบริจาค หนึ่งในนั้นคือ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
แม้จากการสืบค้น Biller ID รหัสหน่วยรับบริจาคกับเว็บไซต์กรมสรรพากร จะไม่พบว่าใช้ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ผ่านสถาบันการเงิน แต่ก็มีการเข้าสู่หน้าจอ “ยินยอมให้ธนาคารนำส่งข้อมูล” เพื่อส่งข้อมูลการบริจาคนี้ให้แก่กรมสรรพากร
ระบบ E-Donation เป็นเรื่องใหม่สำหรับสายบุญ ระยะแรกในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2561 ที่จะมีขึ้นในปีหน้า (2562) กรมสรรพากรยังคงให้นำหลักฐานการบริจาคในรูปแบบกระดาษมาขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
หากในอนาคตมีการขึ้นทะเบียนหน่วยรับบริจาคที่ใช้ระบบ E-Donation เป็นส่วนใหญ่แล้ว ต่อไปเวลายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจจะให้ใช้เฉพาะข้อมูลการบริจาคที่กรมสรรพากรได้รับในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น
คงต้องให้เวลาสายบุญได้ปรับตัวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างน้อยการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้หน่วยรับบริจาค
เงินที่บริจาคจะได้เข้าวัด โรงเรียน โรงพยาบาล มูลนิธิต่างๆ แบบไม่ต้องมี “เงินทอน” อย่างแท้จริง