xs
xsm
sm
md
lg

กองหนุนน่ะพร้อมแล้ว แต่ท่านจะไหวหรือเปล่า

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

<b>พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี</b>
เมื่อดราม่าต่างๆ เริ่มซาลงไป ข่าวตื่นเต้นต่างๆ ก็ไม่มี ข่าวการเมืองจึงกลับมาสู่พื้นที่ความสนใจอีกครั้ง แม้จะไม่มีความคืบหน้าอะไรที่ชัดเจนมากนักก็ตามที เนื่องจากยังไงๆ ทาง คสช.ก็ยังไม่ยอม “ปลดล็อก” ทางการเมืองให้เต็มตัว

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่าที่มี ก็คือ ความคืบหน้าในการตั้งพรรคทีละพรรค ตามแต่ที่ได้รับอนุญาตจาก กกต.เป็นรายพรรคไป

และเพื่อการตั้งพรรค ก็ต้องมีการประชุมพรรค และสรรหาหัวหน้าพรรคกัน
พรรคล่าสุดที่เพิ่งได้หัวหน้าพรรคกันไป ก็ได้แก่พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) หรือที่คอการเมืองเรียกว่า “พรรค กปปส.” ซึ่งหัวหน้าพรรคนั้นออกมาพลิกโผอยู่บ้าง คือหวยไปลงที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล แทนที่จะเป็น ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เป็นเหมือน “โต้โผ” ก่อตั้งเปิดตัวพรรคไปในตอนแรก

แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เราก็รู้กันอยู่ดีนั่นแหละในทางปฏิบัติว่า “หัวเรือใหญ่” ของพรรคนี้ ก็หนีไม่พ้น “กำนันสุเทพ” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.

และยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือไม่ว่าหัวหน้าพรรค ส.ส. แกนนำพรรค หรือใครจะเป็นอะไร ก็คงไม่มีนัยสำคัญอะไร เพราะท่าทีที่เปิดออกมาของพรรคนี้ คือการเป็นกองหนุนให้ “ลุงตู่” กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งภายใต้การเลือกตั้งครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ดังนั้นหัวหน้าพรรค ก็เลยเป็นเหมือนเอาใครก็ได้มาใส่หัวโขน ถึงเวลาก็เล่นตามบทไปนั่นเอง

สรุปว่าก็เลยไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ใครมาเป็นหัวหน้าพรรคก็ค่าเท่ากันไปลุ้นเอาหน้างานลงสนามจริงดีกว่า ว่า พรรค กปปส.นั้นจะได้เสียงเข้าไปในสภาฯ ได้จริงอย่างที่คาดหรือไม่ ในเมื่อมวลชน กปปส.ส่วนใหญ่นั้นเกลื่อนกลืนไปกับแฟนๆ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตอนนี้เหมือนจะยืนอยู่ร่วมขั้วเดียว แต่คนละข้างกันเสียแล้ว

และสำคัญที่สุดจริงๆ คือในตอนนี้ “ลุงตู่” จะยังมี “เครดิต” เหลือพอให้ชูขึ้นเป็นนายกฯ ต่อไปอีกสมัยได้หรือไม่

แม้ว่าหลังกรณี “หมูป่าติดถ้ำ” นั้น กระแสความนิยมของรัฐบาล “ฟู” ขึ้นมาในระยะสั้นๆ ซึ่งเอาเข้าจริงแม้จะมิใช่ฝีมือของรัฐบาลเสียโดยตรง เพราะคะแนนความนิยมเป็นของ “สถาบันทหาร” มากกว่า ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความเสียสละและการเป็น “กองกำลังฉุกเฉิน” ที่จะช่วยกู้ภัยหรือบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนได้ ด้วยกำลังคน วินัย เครื่องไม้เครืองมือ และเทคโนโลยี

แต่ภาพของ “ทหาร” กับ “รัฐบาล” ก็เหมือนภาพเดียวกัน คือเมื่อทหารได้คะแนนใจ รัฐบาล (ทหาร) ก็พลอยได้รังวัดตามไปด้วย

หากความนิยมที่ “ฟู” ขึ้นในระยะสั้นๆ นั้นก็เริ่ม “แฟบ” ลงสู่สภาพความเป็นจริงทีละน้อย จากที่ไม่ปรากฏความคืบหน้าใดๆ ในการปฏิรูปอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นรูปธรรม

การตระเวนลงต่างจังหวัดอย่างถี่บ่อยในสถานการณ์เช่นนี้ ถูกมองว่าเป็นการลงพื้นที่ไปหาเสียงเลือกตั้งซึ่งเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น แม้พวกท่านจะเถียงคอเป็นเอ็น ว่าไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของรัฐบาลที่ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนก็ตาม

แต่ภาพมันฟ้องออกมาอย่างนั้น ว่าลงไปจังหวัดไหน ก็มีการจัด “กองหนุน” ออกมาเชียร์ให้ “อยู่ต่อ” ราวกับจัดตั้งจัดเตรียมกันมา

และความเคลื่อนไหวในหมู่นักการเมืองหน้าเก่าก็วิ่งกันคึกคัก ซึ่งทางฝ่ายผู้มีอำนาจก็ไขสือ ไม่ยอมรับว่ามี “พลังดูด” อะไรที่ไหน

แต่ใครติดตามข่าวการเมืองก็ได้เห็นข่าวการ “แปรพักตร์” ของบรรดาอดีต ส.ส. โดยเฉพาะ ส.ส.ที่มีฐานคะแนนเสียงระดับท้องถิ่น จากหลายคอกหลายค่าย ไม่เว้นแต่จากค่ายเพื่อไทย ซึ่งเป็นขั้วอำนาจเก่าไม้เบื่อไม้เมากัน หรือกระทั่งแกนนำเสื้อแดงยังมีเลย

การดูดแบบไม่เลือกค่าย ก็ทำให้หลายคนกังขาว่า แล้วการเมืองหลังปฏิรูปนี่จะหน้าตาออกมาอย่างไร หรือต่อให้คนที่ยัง “ไว้ใจ” นายกฯ ลุงตู่ แต่ถ้าจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกภายใต้ระบอบเลือกตั้ง ก็คงจะมองหน้าบรรดาลูกหาบ “อุ้มสม” ไม่ลงไร

และยังไม่นับว่า จนกว่าจะถึงการเลือกตั้ง จะมีปัญหาอะไรมาทดสอบรัฐบาล ทดสอบสภาวะผู้นำของ “ว่าที่นายกฯ (คนเดิม)” อีกหรือไม่
ความเสื่อมถอยด้านความนิยมของนายกฯ เริ่มปรากฏออกมาในหมู่คนชั้นกลาง ซึ่งจะว่าไปก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเท่าไรนัก เพราะอย่างที่รู้กันว่า การเข้าสู่อำนาจและดำรงคงอยู่ในอำนาจของ คสช.นั้น มาจากแรงหนุนของคนชั้นกลางในเมืองเป็นปัจจัยสำคัญทีเดียว

ดูจากโพลที่สำรวจกันออกมา ขนาดโพลที่เคยหนุน ก็ยังปรากฏว่าเริ่มคะแนนนิยมลดลงเรื่อยๆ แถมมีโพลประเภท “ตบหน้า” หลุดออกมา เช่นล่าสุดที่มีสถาบันหนึ่งสำรวจพบว่า ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในยุครัฐบาล คสช.เพิ่มขึ้นถึง 37% ซึ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี

ทั้งๆ ที่สิ่งที่เป็นเหมือนจุดแข็งหนึ่งเดียวของรัฐบาลนี้ ก็คือ “ความซื่อสัตย์สุจริต” หรือพูดง่ายๆ คือ “ไม่โกง” เพราะนั้นเป็นข้อหาฉกรรจ์ที่ใช้ไล่บี้รัฐบาลเก่า แล้วนี่กลายเป็นว่าไม่ได้ดีกว่าเขาเลย

ตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่น่าสังเกต คือการ “ล้อเลียน” รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในโซเชียลมีเดียเช่น Facebook ที่จากเดิมนั้น การล้อเลียนอยู่ในแวดวงจำกัด พูดกันตรงๆ ก็คือ เพจของฝ่ายไม่เอาด้วยกับรัฐประหาร หรือฝ่ายที่ไม่ชอบทหาร ซึ่งเล่นกันในวงจำกัด

แต่ปัจจุบันนี้ ขอบเขตของกลุ่มผู้ล้อเลียนนั้นกระจายออกไปมากขึ้น เพจล้อเลียนเป็นเรื่องเป็นราวบางเพจได้รับความนิยมสูงมากอย่าง “ไข่แมว” ก็มียอดกดไลค์เป็นแสน ยอดแชร์อีกไม่นับ (จริงๆ เพจนี้เคยมีผู้ติดตามมากกว่านี้ แต่เพราะถูกปิดไปโดยไม่ทราบสาเหตุครั้งหนึ่ง ทำให้ยอดไลค์เหลือเท่าที่เห็น)

หรือเพจที่เน้นตลกบันเทิงหลายเพจ ก็เริ่มหยอดมุกล้อเลียน “ท่านผู้นำ” อย่างถี่บ่อยขึ้น

และไม่เท่านั้น เพจบางเพจซึ่งเป็นเพจขององค์กรธุรกิจ ที่มีลูกค้าระดับมหาชน ก็เริ่มกล้า “แหย่” ออกมุกล้อเลียนรัฐบาลและตัวนายกฯ ออกมาบ้างแล้ว จะแรงจะค่อยขึ้นอยู่กับความกล้าและความเฉียบเชาว์ของผู้คิดมุก

สัญญาณนี้บ่งบอกอะไร ลองคิดดูซิครับว่า ถ้าตัว “ลุงตู่” ยังเรตติ้งดีเป็นที่นิยมเคารพรักใคร่ เพจองค์กรธุรกิจที่ต้องค้าขายกับผู้คนในสังคม จะกล้าเล่นมุกล้อเลียนให้เสียลูกค้าหรือไม่ นั่นคือเขาต้องประเมินจนมั่นใจระดับหนึ่งแล้วว่า ปล่อยมุก “ล้อลุง” ตอนนี้ มีแต่คนขำ ไม่มีใครเอาเรื่องพอที่จะส่งผลกระทบต่อยอดขายหรือภาพลักษณ์ทางธุรกิจ

ก็เลยไม่แน่เหมือนกันว่า กว่าการเลือกตั้งจะมาถึง จาก “อัศวินม้าขาว” ผู้เข้ามายุติความขัดแย้งของบ้านเมือง จะกลายเป็นตัวตลก “อัศวินม้านั่ง” หรือเปล่า.


กำลังโหลดความคิดเห็น