xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อน้ำขุ่นมาแต่ต้นทาง แล้วความยุติธรรมจะมีได้อย่างไร

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง


ราวกับเป็นช่วงที่แผล ฝี หนอง ของกระบวนยุติธรรมทางอาญาปริแตกออกมาพร้อมกัน

หลังจากข่าวน่าสลดที่คุณพ่อซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีที่ลูกของเขาถูกฆ่าตาย แต่ศาลก็ต้องยกฟ้องเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอซึ่งเชื่อกันว่าจากความบกพร่องในชั้นพนักงานสอบสวน ที่ไม่สามารถ หรือไม่พยายามรวบรวมพยานหลักฐานมาให้ได้ จนกระทั่งศาลยกฟ้องเพราะสำนวนอ่อน

แล้วก็เกิดเรื่องซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อเด็กสาววัยเพียง 19 ปีเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาที่บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา โดยผู้ต้องสงสัยอ้างว่าผู้ตายกระโดดลงมาจากรถเทรลเลอร์ จนศีรษะฟาดพื้นเสียชีวิต

อันที่จริงแล้ว อยู่ดีๆ ผู้หญิงวัยรุ่นคนหนึ่งจะตกลงมาจากรถเทรลเลอร์ในตอนกลางดึกได้อย่างไร และต่อให้เป็นจริง ก็ต้องถือเป็นคดีประมาทเป็นเหตุให้คนตาย แต่ในคดีดังกล่าว ตำรวจที่รับผิดชอบในท้องที่ อ้างว่าเป็นเหตุไม่ซึ่งหน้า ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัย ไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่ทำการสอบสวน เป็นใครๆ ก็รู้สึกว่าไม่เข้าท่า

จนญาติของน้องเขาเอะใจสงสัย ต้องรวบรวมพยานหลักฐาน โพสต์ลงในโซเชียล ติดต่อทนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เพื่อขอความช่วยเหลือ บวกกับกระแสในโซเชียล ทำให้คดีถูกรื้อฟื้นขึ้นมา มีการชันสูตรศพใหม่ พบว่าเหยื่อถูกของแข็งไม่มีคมตีที่ศีรษะ และร่องรอยอื่นๆ ในร่างกายนั้น ไม่ได้มีลักษณะของคนประสบอุบัติเหตุในรูปแบบดังกล่าวได้

เล่นเอาตำรวจชั้นผู้ใหญ่เต้นเป็นเจ้าเข้า แต่คราวนี้ดีกว่าเรื่องคุณพ่อที่กระโดดตึกอาคารศาลฆ่าตัวตายหน่อย เพราะคดียังไม่เริ่มสอบสวนหรือดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย จึงพอจะทันที่จะหาพยานหลักฐานใหม่เอาผิดกับคนร้ายได้

ในที่สุด ตำรวจกลุ่มแรกที่ไม่รับดำเนินคดีก็ถูกย้ายล้างบาง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องลงมาดูแลคดีด้วยตัวเอง จนถึงขั้นจับกุมแจ้งข้อหาผู้ต้องสงสัย ทั้งคนขับรถเทรลเลอร์ กับพื่อนที่เป็นเหมือน “นกต่อ” ฝากขังต่อศาล

เอาเป็นว่า ในที่สุดแล้ว ครอบครัวของผู้ตายน่าจะได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมายได้ในระดับที่น่าพอใจแล้ว แต่ปัญหาที่ยังคลางแคลงใจผู้คนอยู่ คือถ้าคดีนี้ ทนายชื่อดังไม่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ไม่เป็นกระแสในโลกโซเชียล คดีจะ “เดิน” ได้หรือไม่ ? อันนี้เราไม่ต้องพูดกันว่า ทางทนายมีหลักฐานว่ามีคนพยายามวิ่งเต้นล้มคดีด้วยเงินหลักแสนด้วย

ทั้งๆ ที่ตำรวจ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมายนั้น “ควร” จะต้องทำงานสืบสวนสอบสวนในคดีที่มีผู้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ ซึ่งอันนี้ ใครเคยมีประสบการณ์ขโมยขึ้นบ้าน ถูกตัดช่องย่องเบา หรือวิ่งราวทรัพย์ แล้วไปแจ้งความ คงเคยมีประสบการณ์ว่าตำรวจรับแจ้งความไว้แบบเสียไม่ได้ ไปดูที่เกิดเหตุพอเป็นพิธี หรือไม่ก็เกี่ยงงอนให้ไปหาพยานหลักฐานมาเอง

หรือแม้แต่คดีอาญาร้ายแรงกว่านั้น แม้แต่คดีฆาตกรรมหรืออุบัติเหตุจนมีคนตายหรือบาดเจ็บสาหัส ถ้าไม่รู้จักใครจริงๆ ไม่รู้ช่องทางของกฎหมาย ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์เป็นที่สนใจ ก็ไม่แปลกว่าคดีจะหายไปไม่คืบหน้าได้เป็นปีๆ ถ้าไม่ร้องเรียนหรือโวยวายออกสื่อ ก็รับประกันได้ว่าต้องทำใจกันไป

เป็นเรื่องที่ประชาชนคนทั่วไปเอือมระอาและรู้กันมานานหลายปี ดังนั้นการ “ฝีแตก” ออกมาสองเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานไปอีกว่า ใครเริ่มไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้รีบไปแจ้งความต่อ “ศาลโซเชียล” เสียให้เป็นกระแส เป็นดราม่า แล้วทางภาครัฐถึงจะกุลีกุจอมาช่วยดูแลให้

ส่วนอีกคดีหนึ่งนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกับสองคดีที่พูดถึงไปแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างถึงที่สุดของกระบวนยุติธรรมทางอาญาของไทยได้เป็นอย่างดี

นั่นคือคดีที่หญิงสาวและเพื่อนชาย ถูกจ่อรัวยิงอย่างอุกอาจคาสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อของเมืองพัทยา ชลบุรี คือ พระพุทธรูปแกะสลักเขาชีจันทร์ ซึ่งเป็นการลงมือที่อุกอาจมาก เพราะเป็นเวลากลางวันแสกๆ ในที่สาธารณะ ท่ามกลางผู้คนนักท่องเที่ยวจำนวนมากและผู้ที่ไปแสวงบุญไหว้พระ

เชื่อว่าปมสั่งตายมาจาก “เสี่ยอ้วน” ผู้มีอิทธิพลทางภูเก็ต ซึ่งโกรธแค้นที่พยายามตามตื๊อ แต่ฝ่ายหญิงไม่เล่นด้วย และหนีมาใช้ชีวิตใหม่ที่จังหวัดอื่น เสี่ยผู้มีอิทธิพลนั้นจึงจ้างมือปืนสะกดรอยสั่งฆ่าอย่างเหี้ยมโหด

ซึ่งพฤติกรรมของ “เสี่ยอ้วน” ผู้ต้องสงสัย ที่ตอนนี้คาดว่าหนีไปประเทศเพื่อนบ้านแล้วนั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าว ข่มขู่ฝ่ายหญิงและเพื่อนด้วยอาวุธปืนอยู่เสมอ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยต้องคดียิงคนตายเพราะเหตุหึงหวงหรือเขม่นกันนี้เช่นกัน แต่ก็หลุดคดีมาได้

ที่ก็ไม่รู้ว่าหลุดคดีมาเพราะอะไร เสี่ยแกถึงมั่นใจหนักหนา ข่มขู่ครอบครัวฝ่ายหญิงว่า ตัวเองนั้น “ฆ่าคนตายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย”

ดังนั้น นอกจากที่จะต้องจับตัวเสี่ยอ้วนมาดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว สิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไป คือการไล่รื้อคดีเก่าที่ผู้มีอิทธิพลรายนี้เคยหลุดคดี เสียจนย่ามใจ เชื่อว่าตัวเองสั่งฆ่าใครเล่นก็ได้ไม่ต้องกลัวกฎหมาย ว่าในตอนนั้น สำนวนคดีเป็นอย่างไร ทำไมถึงหลุดคดี หลุดในชั้นไหน ศาลหรืออัยการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนวนจากตำรวจไปนั้นแน่นหนาอย่างไรเพียงไร

เชื่อว่าคงได้เห็นอะไรเลวๆ ดีๆ อยู่เบื้องหลังแน่ๆ

ที่เขาถือว่า “ตำรวจ” หรือพนักงานสอบสวนนั้น เป็น “ต้นน้ำ” ของกระบวนยุติธรรมทางอาญา ก็เพราะว่า เมื่อเกิดเหตุการกระทำความผิดในคดีอาญาขึ้น กระบวนการแรกที่กฎหมายบังคับไว้ คือ ต้องมีการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเสมอ เพราะถ้าไม่มีการสอบสวน อัยการก็ส่งฟ้องศาลไม่ได้

ตำรวจสอบสวนได้พยานหลักฐานอย่างไร ก็ต้องรวบรวมเสนออัยการสั่งฟ้อง ซึ่งอัยการก็ต้องฟ้องไปตามสำนวนของตำรวจนี่แหละ ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอ ก็จะสั่งสอบเพิ่ม ซึ่งก็เป็นตำรวจนั่นแหละที่สอบให้

จนกระทั่งอัยการสั่งฟ้องต่อศาล ศาลก็ต้องพิจารณาไปตามพยานหลักฐาน สืบพยานเพิ่มเติม แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ต้องขึ้นกับพยานหลักฐานที่อัยการได้มาจากชั้นตำรวจเป็นสำคัญ

แม้อันที่จริง ศาลจะมีอำนาจในการแสวงหาพยานหลักฐานแบบระบบไต่สวนก็ตาม แต่ในคดีอาญาทั่วไปแล้วศาลมักจะไม่แทรกแซงก้าวล่วงให้เป็นการเสียความยุติธรรม เพราะในคดีอาญานั้นต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยนั้นไม่ได้กระทำความผิด

ดังนั้นถ้าศาลเข้าไปใช้อำนาจสอบสวนเพิ่มเติมเสียเอง ก็เหมือนกับศาลนั้นเริ่มเชื่อว่าจำเลยอาจจะกระทำความผิด และแสวงหาหลักฐานมาเพื่อชี้ผิดจำเลย ดังนั้นแม้จะเป็นอำนาจ แต่ก็สุ่มเสี่ยงจะเสียความเป็นกลางได้เช่นกัน

ในทางปฏิบัติ สำนวนจากตำรวจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะชี้ทิศทางของคดี อย่างที่แม้ศาลจะเชื่อหรือมีความเห็นอย่างไร แต่ถ้าพยานหลักฐานไม่ถึง ก็ไม่สามารถพิพากษาไปตามนั้นได้

เขาจึงเรียกตำรวจว่าเป็นต้นน้ำของกระบวนยุติธรรม ส่วนศาลนั้นอยู่ปลายสุดแล้ว

ดังนั้นถ้าน้ำมันสกปรกมากมาก่อนตั้งแต่ต้นทาง ให้ศาลยุติธรรมเป็นอิสระ มีวิจารณญาณหรือประสบการณ์แค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์เลย.


กำลังโหลดความคิดเห็น