xs
xsm
sm
md
lg

ขนส่งมวลชนจ่ายผ่าน “QR CODE” ได้จริงหรือ? ได้เวลาหยิบมือถือ นั่งรถเมล์ไปดอนเมือง

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


นโยบาย “สังคมไร้เงินสด” นอกจากขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะบัตรเดบิตแล้ว หนึ่งในเครื่องมือที่นำมาใช้ก็คือ “ระบบคิวอาร์โค้ด” (QR CODE) เพื่อชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร

30 สิงหาคม 2560 ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศความร่วมมือการใช้มาตรฐานคิวอาร์โค้ดเพื่อการชำระเงิน โดยมีบางธนาคาร ทดสอบการใช้คิวอาร์โค้ดนำหน้าไปแล้ว ตั้งแต่ร้านค้า แผงลอย แม้กระทั่งรถแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

แต่ดูเหมือนว่า 1 ปีผ่านไป การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แม้ธนาคารแต่ละแห่งต่างทุ่มงบทางการตลาด เพิ่มร้านค้า จัดโปรโมชั่นคืนเงิน หรือรับของสมนาคุณ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายแทนเงินสดก็ตาม

แม้การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากปริมาณธุรกรรม 1.2 แสนรายการต่อเดือน เมื่อปลายปี 2560 ขยับขึ้นเป็น 8 แสนรายการ เมื่อเดือนมิถุนายน 2561

แต่ส่วนแบ่งการตลาดเฉลี่ยเพียงแค่ 2% เท่านั้น น้อยกว่าบัตรเครดิต ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 20%

ไม่นับรวมสภาพความเป็นจริง ลูกค้าบางคนเมื่อถามถึงจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ร้านค้าก็มักจะปฏิเสธ อ้างว่ามือถือไม่ได้อยู่กับตัว เช็กยอดไม่ได้ หรือร้านค้าบางรายเอาคิวอาร์โค้ดที่ธนาคารแจกออกไปจากร้านแล้ว

ส่วนธนาคารหลายแห่ง ที่เคยทุ่มงบการตลาด เพื่อจูงใจให้ลูกค้าใช้คิวอาร์โค้ด ก็เริ่มเหลือเพียงธนาคารเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่ยอมเจียดงบลงมา หวังให้ร้านค้าช่วยบอกต่อลูกค้า สร้างสังคมไร้เงินสดมากขึ้น

สาเหตุสำคัญ เพราะคิวอาร์โค้ดเป็นเพียงแค่ “ช่องทางการชำระเงิน” ที่ไม่ต่างไปจากบัตรเดบิต หากเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย และคนที่เข้าไม่ถึงบัตรเครดิต ยังคงเลือกใช้เงินสดในการจับจ่ายอยู่ดี

ส่วนคนที่เข้าถึงบัตรเครดิตได้ ก็จะเลือกใช้บัตรเครดิตไปเลย เพราะมีโปรโมชั่นร่วมกับห้างสรรพสินค้าและร้านค้าชั้นนำ อีกทั้งยังได้คะแนนสะสม หรือเครดิตเงินคืน แถมมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยนานถึง 45 วัน

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ จะมีการนำคิวอาร์โค้ดมาใช้ชำระเงิน โดยหักจากบัญชีบัตรเครดิต ไม่ต้องรูดบัตร ทำให้การจับจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด ไม่จำกัดเพียงแค่เงินในบัญชีเท่านั้น แต่ยังเอาเงินอนาคตจากบัตรเครดิตมาใช้ได้อีกด้วย

ปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่นำระบบการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมาใช้ หนึ่งในนั้นก็คือ ธุรกิจขนส่งสาธารณะ แม้จะไม่ค่อยพบเห็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่แล้ว แต่ก็ยังมีระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ รับชำระด้วยคิวอาร์โค้ดเป็นเรื่องเป็นราว

สายการบินชั้นนำ นกแอร์ แอร์เอเชีย และไทยสมายล์ สามารถใช้คิวอาร์โค้ดแทนเงินสด เมื่อซื้อตั๋วที่เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสาร หรือศูนย์บริการลูกค้าได้แล้ว

โดยเฉพาะสายการบินนกแอร์ หากทำการจองตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์ ยังสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงิน ที่เว็บไซต์ nokair.com แทนการใช้บัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคารได้อีก ซึ่งระบบคิวอาร์โค้ดรองรับได้ทุกธนาคาร

รถประจำทาง เมื่อปลายปี 2560 นครชัยแอร์นำร่องที่สถานีเดินรถนครชัยแอร์ กรุงเทพฯ (ถนนกำแพงเพชร 2) กระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน 2561 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ นำร่องกับรถประจำทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง

รถไฟ ธนาคารกสิกรไทยติดตั้งเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ รองรับระบบคิวอาร์โค้ดในสถานีรถไฟ 56 แห่งทั่วประเทศ รวม 140 เครื่อง สามารถจ่ายค่าตั๋วรถไฟแทนเงินสดได้โดยไม่มีค่าบริการเพิ่ม

ล่าสุด เรือด่วนเจ้าพระยา นำร่อง 3 ท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ ท่าเรือสาทร ท่าเรือพรานนก และท่าเรือนนทบุรี โดยธนาคารกสิกรไทยได้ติดตั้งเคาน์เตอร์ชั่วคราว จัดโปรโมชั่นลดค่าโดยสาร 2 บาท เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้ติดตั้งคิวอาร์โค้ดทั้งเครื่องบิน รถแท็กซี่ และสถานีรถไฟ ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที อยู่ระหว่างการเจรจา

แม้ว่าการชำระค่าโดยสารระบบคิวอาร์โค้ด จะยังคงเป็นเรื่องลองผิดลองถูก ระบบขนส่งสาธารณะบางแห่งโปรโมตให้เป็นครั้งคราว ก่อนที่จะกลับมารับเงินสดตามเดิม แต่ก็ถือว่าช่วยสร้างประสบการณ์ “สังคมไร้เงินสด” แก่ลูกค้าได้

หนึ่งในขนส่งสาธารณะที่ยังคงรับชำระค่าโดยสารด้วยคิวอาร์โค้ด คือ รถประจำทางไป-กลับ ท่าอากาศยานดอนเมือง 4 เส้นทาง ได้แก่ สาย A1 จตุจักร BTS หมอชิต, สาย A2 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย A3 สวนลุมพินี และ สาย A4 สนามหลวง

ธนาคารกรุงไทยได้ติดสติกเกอร์คิวอาร์โค้ด 2 จุด ได้แก่ บริเวณเหนือศีรษะ (ช่องปรับอากาศ) ฝั่งละ 5 แผ่น รวม 10 แผ่น และสติกเกอร์คิวอาร์โค้ดขนาดเล็กบริเวณหลังที่นั่ง

พร้อมติดตั้งแอปพลิเคชั่น “เป๋าตุง” บนมือถือพนักงานเก็บค่าโดยสาร เมื่อผู้โดยสารจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดได้สำเร็จ ก็จะแจ้งเตือนไปยังมือถือของพนักงานเก็บค่าโดยสารทันทีเมื่อมีเงินโอนเข้ามา

แต่ต้องบอกก่อนว่า รถเมล์ไป-กลับ ท่าอากาศยานดอนเมือง ไม่ได้มีทุกคันที่รับคิวอาร์โค้ด เพราะฉะนั้นโปรดสังเกตสติกเกอร์สีฟ้าที่หน้ารถ และข้างตัวรถว่า “รถคันนี้รับ QR CODE จ่ายได้ทุกธนาคาร”

โดยสาย A1 จตุจักร BTS หมอชิต มี 16 คัน, สาย A2 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มี 8 คัน, สาย A3 สวนลุมพินี มี 6 คัน และ สาย A4 สนามหลวง มี 6 คัน เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะได้นั่งรอบไหน ถ้ารอบนี้ได้รถที่ติดตั้งคิวอาร์โค้ดก็ใช้ได้ทันที

เราทดลองจ่ายค่ารถเมล์ด้วยคิวอาร์โค้ด หลังเปิดให้บริการมาเกือบ 2 เดือนกระแสน่าจะซาลง พบว่า แม้ผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังนิยมจ่ายค่ารถเมล์ด้วยเงินสดก็ตาม แต่เมื่อถามพนักงานเก็บค่าโดยสาร ก็ไม่มีท่าทีปฏิเสธแต่อย่างใด

วิธีก็คือ ระหว่างที่พนักงานเก็บค่าโดยสารคนอื่นๆ เราถามเขาก่อนว่า “จ่ายด้วยคิวอาร์โค้ดได้ไหม” พนักงานก็จะตอบว่า “ได้ค่ะ สแกนเลย” เราก็ทำการสแกนและจ่ายเงินจนได้อี-สลิป เมื่อพนักงานมาถึงก็แสดงสลิปให้ดูเป็นอันเสร็จสิ้น

น่าสังเกตว่า ถ้าจ่ายด้วยเงินสดตามปกติ จะได้ตั๋วรถเมล์เป็นหลักฐาน แต่หากจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด แค่แสดงอี-สลิปที่เราเพิ่งจ่ายค่ารถเมล์ ให้พนักงานเก็บค่าโดยสารดูก็จบ ไม่ต้องฉีกตั๋วรถเมล์แต่อย่างใด

ถือว่าสะดวกตรงที่ ไม่ต้องทิ้งตั๋วรถเมล์ให้กลายเป็นเศษขยะชิ้นเล็กๆ ลดโลกร้อนได้อีก

ขาไป เราได้ทดลองใช้แอปฯ ธนาคารอื่นจ่ายค่าโดยสาร คือแอปพลิเคชั่น K PLUS ธนาคารกสิกรไทย ที่มีคนใช้กว่า 8 ล้านคน โดยใช้เมนู Quick Pay ไม่ต้องเข้าสู่ระบบ จะดูว่าคิวอาร์โค้ดที่ติดตั้งโดยธนาคารกรุงไทย สามารถใช้ร่วมกันได้ไหม

พบว่าเมื่อสแกน และกดรหัส PIN 6 หลักไปแล้ว จะระบุหมายเลข e-Wallet ของธนาคารกรุงไทย (ขึ้นต้นด้วย 006) ระบุชื่อบัญชี “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ” เราแค่กดยืนยัน เมื่อทำรายการสำเร็จ จะได้รับอี-สลิปเป็นหลักฐาน

ส่วนขากลับ เราใช้แอปพลิเคชั่น KTB NETBANK ธนาคารกรุงไทย ที่เป็นผู้ติดตั้งคิวอาร์โค้ดบนรถเมล์ดูบ้าง พบว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยจะได้อี-สลิปเป็นหลักฐานเช่นกัน

เพียงแต่ว่า เมื่อเราไม่ค่อยได้ใช้แอปพลิเคชั่นนี้ เนื่องจากธนาคารกรุงไทย ไม่ได้เป็นธนาคารที่ใช้ประจำ ก็จะใช้งานคิวอาร์โค้ดได้ไม่ถนัดนัก เพราะฉะนั้น ถ้าใช้แอปพลิเคชั่นธนาคารไหนบ่อยที่สุด ก็ควรเลือกธนาคารนั้น

แอปพลิเคชั่นธนาคารที่สแกนคิวอาร์โค้ดง่ายที่สุด โดยไม่ต้องเข้าสู่ระบบ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (K PLUS) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Easy) ธนาคารกรุงเทพ (Bualuang m Banking) ธนาคารออมสิน (MyMo by GSB) ธนาคารกรุงไทย (KTB Netbank และ เป๋าตังค์กรุงไทย) ธนาคารทหารไทย (TMB TOUCH) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (BAAC A-Mobile)

ส่วนธนาคารที่ต้องเข้าสู่ระบบก่อนใช้คิวอาร์โค้ด ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (KMA) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ยิ่งถ้าเป็นธนาคารธนชาต (Thanachart Connect) ต้องกรอก Username และ Password เพื่อเข้าสู่ระบบก่อน ซึ่งเสียเวลามาก ไม่เหมาะสำหรับการใช้กับรถเมล์ที่ต้องการความรวดเร็ว

แม้การจ่ายค่าโดยสารด้วยคิวอาร์โค้ดจะสะดวกรวดเร็ว แต่ทำไมถึงไม่เป็นที่นิยม?

พนักงานบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่ทำงานในท่าอากาศยานดอนเมือง บอกกับเราว่า ที่ไม่ได้ใช้คิวอาร์โค้ดจ่ายค่ารถเมล์ เพราะตอนเปิดตัว เห็นสติกเกอร์สีฟ้าและโลโก้จึงคิดว่า ใช้ได้เฉพาะแอปพลิเคชั่นของธนาคารกรุงไทยเท่านั้น

ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะธนาคารกรุงไทย แต่ธนาคารอื่นเมื่อจัดโปรโมชั่นในนามธนาคาร เช่น SCB แม่มณี, ปิ๊บจัง กสิกรไทย ฯลฯ ผู้คนจึงคิดว่าใช้ได้เฉพาะแอปพลิเคชั่นธนาคารนั้นๆ

ทั้งๆ ที่คิวอาร์โค้ดมาตรฐาน ที่มีสัญลักษณ์ THAI QR PAYMENT รองรับได้ทุกธนาคารอยู่แล้ว

เว็บไซต์ TECHSOURCE.CO วิเคราะห์เหตุผลที่อาจทำให้การจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ดในไทยไปไม่ถึงฝัน ว่า เป็นเพราะคนไทยไม่ได้รู้สึกว่าการพกเงินสดเป็นปัญหา และการจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดไม่ได้สะดวกกว่าการหยิบกระเป๋าสตางค์

แตกต่างจากประเทศจีน ที่ใช้คิวอาร์โค้ดสำเร็จเพราะที่นั่นมีปัญหาเรื่องธนบัตรปลอม ต้องเสียเวลาตรวจสอบ

นอกจากนี้ ประโยชน์ของคิวอาร์โค้ดชัดเจนทั้งฝั่งคนขายและฝั่งธนาคาร แต่ไม่ใช่กับฝั่งคนจ่ายเงิน จึงทำนายว่าปีนี้คนเริ่มใช้คิวอาร์โค้ดมากขึ้นจากโปรโมชั่นของธนาคาร แต่เมื่อหมดโปรโมชั่นแล้ว คนส่วนใหญ่คงกลับไปใช้เงินสดตามเดิม

ความท้าทายในการเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า จึงเป็นโจทย์ที่ธนาคารแต่ละแห่ง จะต้องจูงใจให้ลูกค้าหันมาใช้คิวอาร์โค้ด หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ตามนโยบายสังคมไร้เงินสดให้ได้ ถือเป็นงานยากอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การมีระบบคิวอาร์โค้ดแทนเงินสด ถือว่าเผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด อย่างน้อยอาจมีกรณีฉุกเฉินที่เงินติดตัวหมด หาตู้เอทีเอ็มไม่ได้ กระเป๋าสตางค์หาย จะได้ใช้ประโยชน์จากโมบายล์แบงกิ้งได้เต็มที่

แม้จะมีบางร้านค้าหรือบางบริการ จะถอดใจเลิกใช้ระบบคิวอาร์โค้ด หันมารับเงินสดตามเดิม เพราะคิดว่าลูกค้าไม่นิยมใช้บริการ หรือความยุ่งยากที่ไม่มีเงินสดอยู่กับตัวก็ตาม ธนาคารหรือภาครัฐคงต้องส่งเสริมให้มากกว่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น