xs
xsm
sm
md
lg

“บัตรแมงมุม” ใช้ขึ้นบีทีเอสไม่ได้ ระบบตั๋วร่วมแบบต่างคนต่างทำ

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ในที่สุด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ประกาศว่า เช้าวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2561 จะเปิดตัวระบบตั๋วร่วมที่เรียกว่า “บัตรแมงมุม” อย่างเป็นทางการ ที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม จะทดลองใช้บัตรร่วมกับสื่อมวลชน

จากนั้น วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2561 จะแจกบัตรแมงมุม 2 แสนใบแก่ประชาชน ที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง 16 สถานี ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป แบ่งออกเป็น บัตรสีน้ำเงิน สำหรับบุคคลทั่วไป, บัตรสีขาว สำหรับนักเรียน นักศึกษา และบัตรสีทอง สำหรับผู้สูงอายุ โดยแสดงบัตรประชาชนและลงทะเบียน 1 คนต่อ 1 ใบ

แต่บัตรที่ได้นั้นจะเป็นบัตรเปล่า ไม่มีวงเงินในบัตร ประชาชนจะต้องนำบัตรไปเปิดบริการ ด้วยการจ่ายค่ามัดจำ 50 บาท และเติมเงินขั้นต่ำ 100 บาท จึงจะสามารถใช้บัตรได้ ซึ่งระยะแรกจะใช้ได้เฉพาะรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT (หัวลำโพง – เตาปูน) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่ - เตาปูน) เท่านั้น

หลังจากนั้น จะใช้ได้กับรถเมล์ ขสมก. ที่ติดตั้งเครื่องอ่านบัตร ระบบอี-ทิคเก็ต รวม 2,600 คัน ได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ต่อด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (พญาไท – สุวรรณภูมิ) เนื่องจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) และบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด ต้องไปปรับปรุงระบบเครื่องอ่านบัตรก่อน

ย้อนกลับไปในปี 2558 หรือเมื่อ 3 ปีก่อน โครงการระบบตั๋วร่วมเริ่มต้นขึ้น โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าภาพหลัก มีการประกวดตั้งชื่อและออกแบบสัญลักษณ์ตั๋วร่วม พบว่า “บัตรแมงมุม” ของ น.ส.วรรธิชา อเนกสิทธิสิน จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า ธนบุรี เป็นผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ

แนวความคิดที่ใช้ชื่อแมงมุม น.ส.วรรธิชา ระบุว่า นึกถึงการปล่อยใยของแมงมุม ทำให้มันสามารถไปที่ใดก็ได้ เหมือนตัวร่วมที่สามารถเชื่อมต่อทุกการเดินทางด้วยบัตรใบเดียว ตั๋วสัญลักษณ์เป็นรูปตัว M โดยใช้ลักษณะของขาแมงมุมผูกรวมกันและดูเป็นการรวมทุกเส้นทางเข้าด้วยกัน

ดูเหมือนว่า การปั้นบัตรที่มีชื่อมาจากสัตว์แปดขา ชักใยไปมาได้ ยุ่งยากกว่าที่คิด!

ที่ผ่านมา สนข. มอบหมายให้ สำนักธุรกิจบัตรโดยสาร รฟม. ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม โดยให้สิทธิ์ใช้ระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) และเจรจากับผู้ประกอบการภาคขนส่งและนอกภาคขนส่งเพื่อใช้งานระบบตั๋วร่วม โดยมี สนข.เป็นหน่วยงานสนับสนุน

หลังเผยโฉมบัตรแมงมุมไปเมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา มีแผนที่จะแจกบัตรในช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ก็ต้องเจอโรคเลื่อน เพราะจู่ๆ ก็เปลี่ยนระบบตั๋วร่วมมาใช้ระบบ EMV Contactless Smart Card (Open Loop) มาตรฐานเดียวกับบัตรวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด อ้างว่าจะใช้ได้ทั้งบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ช่วยลดต้นทุนเพราะสถานีไม่ต้องขายบัตรอีกต่อไป

งานนี้ต้องเสียเวลารื้อระบบใหม่ ส่งผลกระทบต้องเลื่อนการใช้ตั๋วร่วมออกไปอีก กระทั่ง 22 มิถุนายน 2561 จึงได้ฤกษ์เปิดตัวระบบตั๋วร่วม นำร่องรถไฟฟ้า รฟม. 2 เส้นทาง เป็นการเอาฤกษ์เอาชัย ซึ่งในระยะแรก คงไม่ต่างอะไรกับบัตรโดยสารรถไฟฟ้า MRT PLUS ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จนกว่าจะเชื่อมกับระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์ และรถเมล์ ขสมก. สำเร็จ

คำถามที่ยังคาใจคนกรุงเทพฯ ก็คือ ทำไมระบบตั๋วร่วมเฉกเช่น “บัตรแมงมุม” ยังใช้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสไม่ได้?

มีคนวิเคราะห์กันว่า เพราะกลุ่มบีทีเอส ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท และสายสีลม รวมทั้งว่าจ้างกรุงเทพมหานครเดินรถช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า มีธุรกิจระบบชำระเงินที่เรียกว่า “แรบบิท” โดยเฉพาะบัตรที่ใช้ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ร่วมกับซื้อสินค้าและบริการแทนเงินสดในใบเดียว

บัตรแรบบิทในปัจจุบัน ใช้ได้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส รถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที และรถประจำทางสาย Y70E (สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต – ราชมงคลศาลายา) ของบริษัท ชัยวิเศษแทรนสปอร์ต จำกัด รวมทั้งรถประจำทาง RTC Chiangmai City Bus จ.เชียงใหม่ และยังใช้ได้กับร้านค้าชื่อดังในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นอกจากนี้ ยังพยายามผลักดันระบบการชำระเงิน "Rabbit Line Pay" ที่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ ให้สามารถใช้ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ในเร็วๆ นี้ จึงทำให้ในขณะนี้ บีทีเอสเลือกที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินของตนเอง มากกว่าจะนำระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบตั๋วร่วม

สังเกตได้จาก เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสารบีทีเอส งดรับบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ในกรณีการเติมมูลค่าของเงินอย่างเดียว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา โดยจะใช้บัตรเครดิต และบัตรเดบิตเติมเงินได้ก็ต่อเมื่อเติมเที่ยวเดินทาง หรือเติมเที่ยวเดินทางพร้อมเติมเงินเท่านั้น โดยมียอดชำระตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบตั๋วร่วมใช้งานกับรถไฟฟ้าบีทีเอสไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบัน บัตรแรบบิทที่ใช้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ยังคงใช้ระบบไมโครชิปไร้สายอาร์เอฟไอดี (RFID) ส่วนเครื่องอ่านบัตรบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ใช้ได้เฉพาะบัตรแรบบิท บัตรบีทีเอส สมาร์ทพาส และรองรับระบบ NFC ใช้ได้เฉพาะซิมการ์ด AIS mPAY Rabbit เท่านั้น

ที่ผ่านมา รฟม. พยายามเจรจากับบีทีเอสมาตลอด โดยมีอยู่ 2 แนวทาง คือ ปรับเปลี่ยนบัตรแรบบิทเดิม ให้เป็นบัตรแมงมุมก่อน เพื่อให้สามารถใช้กับระบบตั๋วร่วมได้ แต่อีกแนวทางหนึ่ง คือ รอให้ระบบตั๋วร่วมอัพเกรดเป็นระบบ EMV เชื่อมกับบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ซึ่งอยู่ระหว่างติดตั้งระบบ และใช้เวลาค่อนข้างนาน ตั้งเป้าหมายว่าจะใช้งานได้ในปี 2563

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ทั้งสองฝ่ายคงต้องเจรจา ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการใช้บัตรระบบตั๋วร่วม ซึ่ง ศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง คิดอยู่ที่ 0.8% ต่อ 1 ธุรกรรม หรือจะเป็นอัตราค่าโดยสารร่วม โดยคิดอัตราค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว เพื่อให้คนที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายสาย จ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียว ค่าโดยสารถูกลง

ฝั่งบีทีเอส คงต้องการให้รัฐช่วยชดเชยค่าโดยสารให้เอกชนบ้าง เหมือนอย่างที่รัฐอย่าง รฟม. ชดเชยค่าแรกเข้า 14 บาท ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้บีอีเอ็ม เจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง หลังเชื่อมต่อที่สถานีเตาปูนสำเร็จ เรื่องนี้คงต้องรอกันอีกยาว เพราะรถไฟฟ้าอีกหลายสายกำลังทยอยก่อสร้างและเปิดให้บริการในปีหน้า

แม้บีทีเอสจะยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม โดยเฉพาะบัตรแมงมุม แต่ฐานผู้โดยสารกว่า 8 แสนรายที่มีอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางยอดนิยม บีทีเอสคงไม่เดือดร้อนอะไร แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ เมื่อโครงการบัตรแมงมุมเลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนสังคมลืมไปแล้วว่ามีโครงการนี้ พอเปิดตัวมาไม่มีอะไรตื่นเต้น เพียงแค่เปลี่ยนบัตรพลาสติกในกระเป๋าสตางค์เท่านั้น

เป็นความน่าเสียดาย ที่สุดท้ายแล้วระบบตั๋วร่วมซึ่งออกแบบมาให้จ่ายค่าโดยสารแบบไร้รอยต่อ กลายเป็นการเล่นขายของ และเป็นเรื่องเสียของไปเสียจนได้!


กำลังโหลดความคิดเห็น