ชัดเจนแจ่มแจ๋กันไปอีกราย สำหรับพรรค กปปส.ที่แง้มบ้างปิดบ้าง ว่าจะตั้งหรือไม่ตั้ง ถ้าตั้งแล้วใครจะเป็นหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค บัดนี้ก็หงายออกมาแล้ว ในชื่อของพรรค “รวมพลังประชาชาติไทย” หรือย่อว่า “พรรค รปช.”
แม้ว่าแกนนำในการก่อตั้งพรรค จะเป็น ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่คอการเมืองที่ไม่ไร้เดียงสาเกินไปก็รู้ว่า นี่คือพรรคของ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.
อย่างไรก็ดี การเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์ในพรรคการเมืองใหม่ของ “ลุงกำนัน” นั้นจะต้องเอา “รังวัด” จำนวนมากไปแลก เนื่องด้วยตัวเองเคยประกาศแล้วว่าจะล้างมือจากการเมือง ไม่ลงสมัคร ส.ส. ไม่รับตำแหน่งทางการเมืองไปตั้งแต่ในตอนที่ออกมานำม็อบมวลมหาประชาชน
แต่ก็ในที่สุดก็ตกลงใจกลับเข้าสู่วงจรทางการเมืองผ่านพรรคการเมืองนี้อีกครั้งหนึ่ง รอบนี้ถึงกับทำให้ลุงกำนัน “หลั่งน้ำตา” พร้อมอธิบายเหตุผลและความจำเป็นแห่งการ “ตระบัดสัตย์” ในครั้งนี้ ว่าเป็นไปเพราะอุดมการณ์เพื่อพี่น้องประชาชนไม่สนคำวิจารณ์อะไรก็ว่ากันไป
แต่การ “กลับลำ - กลับคำ” ในครั้งนี้ก็แลกมาด้วยศรัทธาของอดีตแฟนๆ มวลชน กปปส. เช่นคุณยุทธนา มุกดาสนิท ถึงกับออกมาตัดขาดความเป็นแฟนคลับ ด้วยเหตุผลที่เจ็บปวดว่า “ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ” ได้ ต่อไปก็ “โกงกินเพื่อชาติ” ได้เช่นกัน
รวมถึง “น้ำตา” ที่หลั่งออกมานองแก้มบนเวทีเปิดตัวพรรค ก็ถูกเอาไปล้อเลียนจากทั่วสารทิศในโลกโซเชียล แม้แต่เพจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองยังอดล้อไม่ได้ เรียกว่าไวรอลระดับเดียวกับ “นาฬิกายืมเพื่อน” ในโวลุ่มที่เบากว่า
พรรครวมพลังประชาชาติไทย ประกาศตัวว่ามีจุดยืนไปในทาง “อนุรักษนิยม” แบบสุดทางชัดเจน ด้วยประกาศว่าจะเป็นพรรคการเมืองของ “พลเมืองผู้เป็นพสกนิกร” ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสิ่งดีงามทั้งหมดที่บรรพชนไทยได้ทำเอาไว้ ไม่ให้ใครมากวาดมันทิ้ง ใครจะทำอย่างนั้นต้อง “ข้ามศพพวกเราไป”
เรียกว่ากระทบชิ่งเข้าไปหาพรรค “อนาคตใหม่” ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคก้าวหน้าสุดขั้ว ที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ เหล่านั้น (ล่าสุดก็มี “ดรามา” ที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ออกมาแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมไหว้ครูในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของพรรคแล้ว เห็นจะต้องยอมรับว่า ในบรรดาพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในรอบนี้ พรรคนี้ “แข็งแกร่งที่สุด” เมื่อพิจารณาในเชิงต้นทุนทางการเมือง และประสบการณ์ทางการเมือง
เพราะประกอบไปด้วย “บิ๊กเนม” ทางการเมือง เช่น ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ผู้ก่อตั้ง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ธานี เทือกสุบรรณ สำราญ รอดเพชร ประสาร มฤคพิทักษ์ สุริยะใส กตศิลา และสาธิต เซกัล รวมถึงดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ประกาศลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำ ด้วยเหตุผลเปรียบเปรยว่า “ถ้าไม่ลงลุยโคลนแล้วเมื่อไร (การเมืองไทย) จะสะอาด”
บิ๊กเนมทั้งหลาย ประกอบกับประสบการณ์และบารมีทางการเมืองของกำนันสุเทพและ กับ “ฐานแฟน” มวลชน กปปส.ที่แม้ว่าจะ “ทับไลน์” กับพรรคประชาธิปัตย์อยู่ แต่ก็ยังนับได้ว่ามี “มวลชน” ของตัวเองอยู่ในมือและก็ต้องรอดูอีกทีว่า พรรค รปช.นี้ จะสามารถรวบรวม “อดีต ส.ส.” ที่จะแตกตัวออกมาจากพรรค ปชป.ได้แค่ไหน
จึงต้องนับว่าเป็นพรรคใหม่ที่ “เป็นเนื้อเป็นหนัง” ในทางการเมืองมากที่สุดในขณะนี้
ปัญหาที่เราต้องพิจารณากัน คือ รปช.นี้จะอยู่ “ขั้วไหน” ของศึกเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้
โดยปัจจุบันเราอาจจะแบ่ง “ขั้ว” ของพรรคการเมืองได้หลวมๆ เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือ “กลุ่มอำนาจเก่า” ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งแม้ว่าจะยัง “หัวขาด” ไร้ผู้นำอยู่ในตอนนี้ แต่ความที่มีมวลชนผู้จงรักภักดีอยู่มากที่สุด อย่างไรเสียก็ถือเป็นพรรคที่มีขุมกำลังอันดับหนึ่ง และขั้วนี้ก็ยังมีสัมพันธ์อันดีอยู่กับพรรคก่อตั้งใหม่กลุ่มที่ไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอกอย่าง “อนาคตใหม่” ที่แนบแน่นกันทั้งสายสัมพันธ์และอุดมการณ์ หรือกับพรรค “เสรีรวมไทย” ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่แสดงให้ออกชัดเจนว่าสนับสนุนคนกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” และมีนโยบายชนตรงกับนายกฯ คนนอก และ “ทหาร”
กลุ่มที่สองออกจะโดดเดี่ยว มีพรรคเดียว ก็คือพรรคประชาธิปัตย์นั่นเองที่ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า “ไม่เอานายกฯ คนนอก” ซึ่งรู้กันอยู่ว่าหมายถึงผู้ครองอำนาจอยู่ในขณะนี้ แต่ด้วยอุดมการณ์และศักดิ์ศรี จะให้ไปจับมือกับขั้วแรก ก็เห็นจะยาก และแนวร่วมของตัวเองก็ยังหาไม่เห็น จึงเป็นขั้วสองอันโดดเดี่ยว แต่ก็เข้มแข็งด้วยฐานกำลังมวลชนที่เป็นรองก็แต่พรรคเพื่อไทย
ส่วนกลุ่มที่สาม คือกลุ่มพรรคที่ชูแนวทางว่าจะสนับสนุนนายกฯ คนนอก หรือพูดง่ายๆ คือหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชนา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและหัวหน้า คสช.นั่นแหละ พรรคกลุ่มนี้ที่ก่อตั้งแล้วก็เช่นพรรค “ประชาชนปฏิรูป” ของนายไพบูลย์ นิติตะวันรวมถึง “พรรคปริศนา” ที่ยังไม่เปิดเผยตัว แต่มีกระแสออกมาว่ากำลัง “ดูด” อดีตนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไว้เป็นทุนสะสมอยู่ในขณะนี้
กลุ่มนี้แม้ว่าจะ “ได้เปรียบ” เพราะเป็นผู้ถืออำนาจทางการเมืองอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีข้อกังขาว่า ถ้าลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งที่อาศัยการออกเสียงจากประชาชนจริงๆ แล้ว จะสู้ได้แค่ไหน ในสภาวะที่รัฐบาลกำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” ความนิยมหล่นเรี่ยลงไปทุกวันอยู่ขณะนี้
ในบรรดา 3 ขั้วนี้ พรรค รปช.นั้น คงไม่มีวันเสียที่จะไปเกาะกุมจับมือกับขั้วเพื่อไทยและพรรคแนวร่วมแน่นอน ด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์และทางการเมืองที่ตรงข้ามกันอย่างสุดขั้ว
ส่วนกับขั้ว ปชป.นั้น ก็อาจจะเป็นเรื่องฆ่าไม่ตายขาดไม่ขาด จะมองว่า “ทับไลน์กัน” ก็ได้ หรือจะมองเป็นการ “แยกกันเดิน - ร่วมกันตี” ก็ได้อีกเช่นเดียวกัน
ส่วนการจะไปรวมกับ “ขั้วที่สาม” ที่สนับสนุน “นายก ฯ” คนนอกนั้น ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่เป็นไปไม่ได้เพราะแม้นายสุเทพ จะออกมาปฏิเสธแล้วว่า ไม่ได้สนับสนุน “บิ๊กตู่” ให้เป็นนายกฯ ต่อไปหลังการเลือกตั้ง เพราะที่ให้กำลังใจนั้นหมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น
แต่ก็อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่า คำพูดของลุงกำนันนั้นพลิกไปพลิกมาได้ง่ายขนาดไหน อีกทั้งจะมองว่าเป็นเรื่อง “เสียสัตย์” เสียก็ไม่อาจกล่าวได้เต็มปาก เพราะเมื่อฟังดีๆ แม้นายสุเทพ จะบอกว่า “ไม่ได้สนับสนุน” แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะ “ไม่สนับสนุน” รวมถึงก็ไม่เคยออกมาประกาศจุดยืนเต็มปากว่าจะไม่เอา “นายกฯ คนนอก” ด้วย
ดังนั้น เมื่อวัดจากความ “ได้เปรียบ” ของต้นทุนการเมือง จึงอาจมีความเป็นไปได้สูงมากที่พรรค รปช.น่าจะคว้าเก้าอี้ ส.ส.มาได้จากการเลือกตั้งเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญ แม้จะไม่มาก แต่ก็คงไม่น้อยจนต่อรองอะไรไม่ได้
ในตอนนั้น เราอาจจะได้เห็นพรรค “โจ๊กเกอร์” ที่จะเป็น “ตัวแปร” เข้าไปร่วมผสมไพ่บนมือให้ใครก็ได้ที่สามารถรวบรวมกำลังตั้งรัฐบาลได้สามารถ “น็อกมืด” เอาชนะเดิมพันบนโต๊ะแห่งเกมการเมืองได้.