ข่าวใหญ่ที่สุดในรอบสัปดาห์ก่อน นอกจากการชุมนุมของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” แล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องการ “กวาดล้าง” วงการเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลสะเทือนรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายสิบปี
ปัญหาการทุจริตเรื่องหนึ่งที่ส่งผลต่อความเสื่อมเสียภาพลักษณ์ของรัฐบาล คือการทุจริต “เงินทอนวัด” เนื่องจากเป็นการทุจริตฉ้อฉลให้เงินของรัฐรั่วไหลไปด้วยช่องทางการสนับสนุนบำรุงพระพุทธศาสนา อันเป็นภารกิจที่ได้รับการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
เป็นการกระทำผิดร่วมกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับ “พระสงฆ์” ระดับสูง เกี่ยวกับการยักยอกฟอกย้ายเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่สาวไปเจอว่ามีการกระทำการกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557
เลยทำให้ประชาชนชาวพุทธรู้สึกสลดหดหู่ใจมากเป็นพิเศษ
การ “กวาดล้าง” เถระชั้นผู้ใหญ่ กันตั้งแต่ชั้นพระครู ชั้นเจ้าคุณ ไปถึงระดับชั้นพระพรหม ซึ่งบางส่วนเป็นกรรมการในมหาเถรสมาคมด้วยนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนวงการสงฆ์อย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี
และเมื่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริต มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวพระเถระผู้ถูกกล่าวหา แต่ละท่านเหล่านั้นก็ต้องสละผ้าเหลืองไปนุ่งขาวห่มขาวและส่งไปฝากขังที่เรือนจำ สิ้นสภาพความเป็นพระและความเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และล่าสุดก็มีพระบรมราชโองการเรียกคืนสมณศักดิ์ทั้งหลายจนสิ้น
การ “กวาดลานวัด” ในคราวนี้แม้จะดูหนักหน่วง แต่ก็น่าจะได้รับการอนุโมทนาสาธุจากประชาชนชาวพุทธ หากว่าวันเดียวกันนั้น จะไม่มีการส่งกองกำลังตำรวจเข้าไปจับหลวงปู่พุทธะอิสระที่วัดอ้อน้อย
ข้อหาต่างๆ ที่หลวงปู่พุทธะอิสระได้รับนั้นหนักหนา ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่มีมูลคดีมาจากตอนที่ท่านเป็นแกนนำมวลชน กปปส.ประจำจุดศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้แก่ข้อกล่าวหาความผิดกลุ่มอั้งยี่ซ่องโจร
กับคดีที่กล่าวหาว่ากระทำการอันไม่ควรต่อสถาบันเบื้องสูง ซึ่งมีโทษทั้งตามกฎหมายและความเป็นจริงจัดว่าหนักหนามากทีเดียว
การจับหลวงปู่พุทธะอิสระนั้นถูกตั้งคำถามอย่างมาก ทั้งในเรื่อง “เหตุแห่งการจับกุม” ว่าเหตุในมูลความผิดต่างๆ ที่กล่าวหานั้น ล้วนเป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นนานมาแล้ว เช่นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมก็กว่า 4 ปีแล้ว หรือคดีที่เกี่ยวกับสถาบันนั้นก็เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 หรือร่วม 9 ปีมาแล้ว ทำไมเพิ่งมาจับกันวันนี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าท่านก็ปฏิบัติกิจนิมนต์อยู่อย่างเปิดเผยมาตลอดที่วัด
ที่ทำให้ชาวพุทธรับไม่ได้กันมากที่สุด ก็คือพฤติการณ์ในการจับกุม ซึ่งใช้อาวุธและกองกำลังเต็มรูปแบบ ด้วยกิริยาอาการที่ดุดันอย่างกับไปจับโจรร้ายหรืออาชญากรตัวสำคัญ มีการทุบทำลายบุกเข้าไปในกุฏิ
สังคมถึงกับถามว่า “ต้องทำกันถึงขนาดนั้นเชียวหรือ”
จนลามไปถึงทฤษฎีสมคบคิดว่า เป็นการจับเพื่อจัดฉากสร้างภาพใช้พระพุทธะอิสระมาเป็นเครื่อง “สังเวย” ทางการเมืองว่า รัฐบาลนี้กล้าจับทุกคน ดำเนินคดีทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแนวร่วมหรือแนวต้าน
หรืออาจจะเป็นการตัดไม้ข่มนาม ปรามแกนนำ กปปส.ไปในตัวด้วย เพราะถ้าหลวงปู่จะมีความผิด แกนนำ กปปส.คนอื่นก็จะมีความผิดไม่แตกต่างกันนัก
แต่ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นอะไรก็ตาม แต่การบุกจับหลวงปู่พุทธะอิสระ ก็ทำให้การ “กวาดลานวัด” ทำความสะอาดวงการสงฆ์ของรัฐบาลนั้น “จบไม่สวย”
เรียกว่าถ้าทำเพื่อ “หวังคะแนน” ก็เรียกว่าไม่ได้คะแนนบวกเท่าไร แถมเผลอๆ คะแนนติดลบลงหน่อยๆ ด้วยซ้ำ เพราะความเวอร์วังอลังการของทีมจับกุม
จนในที่สุดทั้งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องออกมาขอโทษประชาชน และจะทำการสอบสวนต่อไปว่าทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่งก็น่าตลกอีกอยู่ดีแหละ ว่าตอนจับตอนทำ ทำไมไม่คิดไม่วางแผนกันให้รอบคอบเสียก่อน
จึงเท่ากับเป็นการซ้ำเติมข้ออ่อนของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ถูกมองว่าเผชิญหน้ากับสภาวะ “ขาลง” แบบที่ไม่อาจจะหลอกตัวเองได้
พร้อมกับการ “อยู่ดีไม่ว่าดี” เพจ Facebook ที่ชื่อ “ขอล้าน Like สนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก” ก็ดันไปเปิดโหวต ในหัวข้อว่า “ครบรอบ 4 ปี คสช. คุณยังสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้บริหารบ้านเมืองต่อหรือไม่”
ปรากฏว่าประชาชนกว่า 4 แสนชื่อบัญชีใน Facebook กระหน่ำกันเข้าไปกดโหวตว่า “ไม่สนับสนุน” ถึง 90% ก่อนที่ทางเพจจะลบโพสต์ทิ้งไปแล้วเปิดโหวตใหม่ รอบนี้ผลออกมาย่ำแย่ยับเยินกว่าเดิม คือร่วงไปอยู่ที่ 95% ต่อ 5% จนแทบต้องปิดเพจหนี
แม้เราจะมองว่า นี่เป็นแค่โพลขำๆ ของชาวโซเชียล วัดอะไรไม่ได้ ไม่มีหลักฐาน ไม่มีการแสดงตัว ว่าแต่ละบัญชีทั้ง 4 แสนกว่านั้นมีตัวตนเป็นคนจริงหรือไม่
แต่ถ้ามันจะเชื่อได้หรือไม่ วัดอะไรได้หรือเปล่า มันก็ไม่ต่างจาก “โพล” ที่บรรดาสำนักทั้งหลายทำออกมา “ให้กำลังใจ” รัฐบาลนั่นแหละ
ถ้ามองว่า พวกคนเสื้อแดงหรือฝ่ายต่อต้าน คสช.นั้นแห่ระดมพลกันมาโหวตหักหน้า “นายกฯ ลุงตู่” นั้น ก็อาจจะมีเหตุผลอยู่ แต่ก็ชวนให้สงสัยว่า คนที่รักท่าน หรือบรรดาทีมปฏิบัติการทางจิตวิทยา ไม่มีจำนวนพอที่จะระดมกันไป “โหวตสวน” เลยหรือไร? ถ้ามีไปบ้าง คะแนนเสียงออกมาไม่น่าจะทิ้งห่างกันขนาดนั้น
หรือเพราะบรรดา “(อดีต)คนรักลุงตู่” นั้นมองดูเฉยๆ ปล่อยวางทางการเมือง เพราะความผิดหวังที่ได้รับจาก 4 ปี คสช.กันหมดแล้ว ?
ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ นี่คือ “สัญญาณที่ไม่ดี” เท่าไร สำหรับการ “ไปต่อ” ทางการเมืองในระบบเลือกตั้ง ที่จะชั่วจะดียังไง ก็ต้องอาศัยฐานเสียงความนิยมจากประชาชน
บรรยากาศขาลงนี้สัมผัสได้จากท่าทีของ “กำนันสุเทพ” ที่ทนายความของเขาเพิ่งไปยื่นขอจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ถูกจับตามองว่าน่าจะเป็น “พรรค กปปส.” ก็ ออกมา “กลับลำ” กะทันหัน ว่าไม่เคยพูดว่าจะสนับสนุน “นายกฯ ลุงตู่” ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง
รวมถึงการเปิดตัวอย่างน่าจับตาและเป็นที่สนใจของสาธารณชนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ของพรรค “อนาคตใหม่” ของ “ไพร่หมื่นล้าน” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งดำเนินการประชุมใหญ่จัดตั้งพรรค ใกล้จะคลอดเป็นตัวอยู่รอมร่อ ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า พรรคนี้มุ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อการสืบทอดอำนาจของ “นายกฯ คนนอก” ที่อาจจะไปร่วมกับพรรคที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่าง “เพื่อไทย” ที่ไม่น่าจะตัดกันตายขายกันขาด
“คู่แข่ง” ทางการเมืองนั้นแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน แต่เหมือนกับคะแนนของรัฐบาลท่านนายกฯ นั้นกลับไม่ดีขึ้นเลย
หนำซ้ำขนาดลงเดิมพันสำคัญด้วยการ “กวาดล้าง” วงการสงฆ์เพื่อชำระพระพุทธศาสนา ก็ยังมีตำหนิให้ไม่อาจได้คะแนนนิยมเสียอย่างนั้นอีก.