ระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่รถแดง หรือรถสองแถวสี่ล้อเล็ก ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมือง เพราะที่ผ่านมามีหลายหน่วยงาน ทั้งภาครรัฐและเอกชนพยายามผลักดันให้มีรถประจำทางอย่างต่อเนื่อง
รายล่าสุด มีกลุ่มทุนที่ชื่อว่า "รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น" นำรถบัสชานต่ำมาวิ่งให้บริการในชื่อ RTC Chiang Mai City Bus จำนวน 11 คัน โดยได้เดินรถเต็มรูปแบบไปแแล้วเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา
เริ่มต้นด้วย เส้นทาง R3 สนามบินเชียงใหม่ - นิมมานเหมินทร์ - คูเมือง ผ่านสถานที่สำคัญ ได้แก่ ประตูเชียงใหม่ ไนท์บาร์ซา ประตูท่าแพ กาดสวนแก้ว นิมมานเหมินท์ วัดสวนดอก เซ็นทรัลพลาซา แอร์พอร์ต มีทั้งวนซ้ายและวนขวา
ต่อมาได้เพิ่ม เส้นทาง R1 สวนสัตว์เชียงใหม่ - ขนส่งช้างเผือก - ขนส่งอาเขต - เซ็นทรัลเฟสติวัล ผ่านสถานที่สำคัญ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมญ่า กาดสวนแก้ว ขนส่งช้างเผือก ตลาดวโรรส ขนส่งอาเขต (ด้านถนนแก้วนวรัฐ)
ล่าสุด ยังได้ทดลองเดินรถ เส้นทาง R2 สนามบินเชียงใหม่ - ไนท์บาร์ซา - หนองหอย - ถนนมหิดล - ห้างฯ พรอมเมนาดา และ เส้นทาง B4 สนามบิน - ถนนมหิดล - หนองหอย - โรงเรียนพระหฤทัยฯ - โรงเรียนปรินส์รอแยล - ขนส่งอาเขต - เซ็นทรัลเฟสติวัล
นอกจากจะใช้รถบัสคันใหญ่แล้ว ยังคิดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สามารถชำระด้วยเงินสด หรือแตะบัตรแรบบิทก็ได้ แน่นอนว่าพอทราบข่าวนี้ คนนอกพื้นที่โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอย่างเราก็พลอยตื่นเต้นไปด้วย
ส่วนคนเชียงใหม่ ระบบขนส่งมวลชนแบบใหม่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขาหรือไม่ เพราะนอกจากรถแดงแล้ว ตัวเลือกอีกอย่างหนึ่งคือการซื้อรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อขี่ไปเรียนหนังสือ ไปทำงาน หรือไปธุระ จะยอมทิ้งรถเครื่องไปขึ้นรถเมล์หรือเปล่า?
ของอย่างนี้ต้องถามคนเชียงใหม่ หรือคนที่อยู่เชียงใหม่เท่านั้นถึงจะทราบดี
แต่สำหรับผู้เขียน ในฐานะนักท่องเที่ยว เมื่อทราบข่าวว่า เชียงใหม่มีรถประจำทางแล้ว ก็อยากลองพิสูจน์ว่า จะสะดวกสบาย และประหยัดค่าใช้จ่ายหรือไม่ เทียบกับรถแดงเมื่อก่อน ที่พอเห็นหน้าและสำเนียงการพูดแล้ว ค่าโดยสารจะแพงขึ้นทันที
เริ่มต้นจากสนามบินดอนเมือง ก่อนขึ้นเครื่อง เราควักบัตรแรบบิท แบบเดียวกับที่ใช้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส ไปเติมเงินที่ร้านแมคโดนัลด์ ชั้น 4 ของอาคาร T2 (ผู้โดยสารภายในประเทศ) ขั้นต่ำ 100 บาท คาดว่าจะใช้เดินทางได้ 5 เที่ยว
เช่นเคย เรานั่งเครื่องบินใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ก็มาถึงสนามบินเชียงใหม่ เมื่อออกจากจุดรับกระเป๋าแล้ว ปรากฎว่าเกิดอาการเหวอเล็กน้อย
เพราะมองไปทางไหนก็ไม่มีป้ายบอกในสนามบินเลยว่า รถเมล์จอดอยู่ตรงไหน?
ถ้าเป็นสนามบินดอนเมือง หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ยังมีป้ายบอกทางเวลาออกจากจุดรับกระเป๋าว่า "ขนส่งสาธารณะ" ไม่รู้ว่าทำไมสนามบินเชียงใหม่ถึงไม่ให้ความสำคัญตรงนี้
มีแต่ภาพของบรรดาโชเฟอร์แท็กซี่ ในเสื้อซาฟารีสีขาว ชักชวนนักท่องเที่ยวให้มาใช้บริการ ซึ่งเป็นภาพที่ชินตาทุกครั้งเวลาลงเครื่องที่เชียงใหม่
นึกในใจ ... หรือว่า "มาเฟียสนามบิน" ที่เขาลือกันมีอยู่จริงวะ?
แต่ก็น่าสังเกตว่า เคาน์เตอร์แท็กซี่ของสหกรณ์เจ้าดัง ที่อยู่ตรงข้ามสายพานรับกระเป๋า ติดป้ายว่าแท็กซี่เข้าเมืองเหลือ 150 บาทต่อเที่ยวแล้ว จากเดิมเคยจ่ายอยู่ที่ 160 บาทต่อเที่ยว
เราเดินออกไปยังประตู 2 เห็นบรรดาโชเฟอร์แท็กซี่ยืนอยู่เต็มไปหมด สักพักมองไปทางทิศเหนือสนามบิน เห็นรถบัสสีน้ำเงินจอดอยู่ไกลๆ จะออกจากรั้วสนามบินอยู่แล้ว ตัดสินใจเดินเท้าออกมาจากตรงนั้นทันที
ตรงจุดนั้นเป็นป้ายรถเมล์ ที่นอกจากจะมีรถประจำทางสาย R3 แล้ว ยังมีรถเมล์สาย B2 จากสถานีขนส่งอาเขต มาจอดรับผู้โดยสารด้วย ซึ่งเป็นรถไมโครบัสปรับอากาศ สีขาว เดินรถโดยเทศบาลนครเชียงใหม่
ในตอนนั้นฝนกำลังตกปรอยๆ ป้ายรถเมล์ก็ไม่มีหลังคาคลุมแดดคลุมฝน ความสงสัยที่ว่า "มาเฟียสนามบินมีจริงเหรอวะ?" ยังอยู่ในหัว
เพราะสนามบินเชียงใหม่ ดูแลโดย ทอท. แท้ๆ มีงบประมาณมหาศาล แต่ทำไมไม่อำนวยความสะดวกคนที่จะขึ้นรถเมล์เลย ไม่นับรวมที่โลกโซเชียลออกมาพูดถึงก่อนหน้านี้ว่า รถเมล์เข้าไปจอดที่สนามบินได้แค่ 5 นาที
ทราบมาว่า ภายหลังทางผู้บริหารสนามบินเชียงใหม่ชี้แจงว่า สนามบินมันแคบ แต่รถเมล์คันใหญ่มาก ต้องขอความร่วมมือไม่ให้นำรถเมล์มาจอดพักไว้ ยืนยันว่าไม่มีมาเฟียคุมสนามบินแต่อย่างใด
เราได้สอบถามพนักงานเก็บค่าโดยสาร แจ้งว่ารถจะออกบ่ายโมงครึ่ง เราขอขึ้นไปนั่งรอในรถ พนักงานก็ให้เราเข้าไปด้านใน ทีนี้ เราพลาดเองที่นั่งสายสีเหลือง ทั้งที่เราจะลงรถเมล์ตรงกาดสวนแก้ว ซึ่งโรงแรมที่เราจองอยู่บริเวณนั้น
ฝากคุณผู้อ่านเสียแต่เนิ่นๆ ว่า จากสนามบินเชียงใหม่ ถ้าจะไปโรงพยาบาลมหาราชฯ วัดสวนดอก หอประชุม มช. นิมมานเหมินทร์ เมญ่า กาดสวนแก้ว ประตูช้างเผือก ให้นั่งรถแถบสีแดง (วนขวา) จะถึงเร็วกว่า
เช่นเดียวกับคนที่จะไปถนนวัวลาย ประตูเชียงใหม่ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง (ไปไนท์บาร์ซา) ตลาดอนุสาร ถนนท่าแพ ประตูท่าแพ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ให้นั่งรถแถบสีเหลือง (วนซ้าย) จะถึงเร็วกว่าเช่นกัน
ยกเว้นในช่วงที่การจราจรติดขัด โดยเฉพาะช่วงเช้า ช่วงเย็น วันฝนตกหนัก และช่วงเทศกาล ให้ทำใจเถอะว่าช้าแน่ๆ
จากการที่เรานั่งรถแถบสีเหลือง ใช้เวลาออกจากสนามบิน ไปถึงกาดสวนแก้วประมาณ 40 นาที ถือว่าไม่ช้าเกินไป แม้จะเทียบไม่ได้กับรถแท็กซี่ที่เขาไปทางตรงมากกว่า ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีก็ถึงโรงแรมที่พักแแล้ว
แต่ก็เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความคุ้มค่า ไม่เร่งรีบ แม้จะเอาแน่เอานอนไม่ได้ว่าจะไปถึงที่หมายเมื่อไหร่ แต่ค่าโดยสารถูกมาก 20 บาทเท่านั้น เทียบกับค่าแท็กซี่ที่เคยนั่งไปโรงแรมที่พัก 160 บาท
เหลือเงินไปกินข้าวซอยอร่อยๆ ได้ตั้งเยอะ
ระหว่างที่อยู่ในเชียงใหม่ มีคนแนะนำให้ดาวน์โหลดแอปฯ CM Transit by RTC ซึ่งจะบอกพิกัดรถเมล์จะมาถึงเมื่อไหร่ เราได้ลองดาวน์โหลดไปแล้ว พบว่าตัวแอปฯ หลักๆ จะบอกพิกัดรถเมล์เป็นลูกศรสีน้ำเงิน ถือว่าทันสมัยระดับหนึ่ง
หลายคนอาจคิดไปว่า รถเมล์ ขสมก. น่าจะมีแบบนี้บ้าง แต่เอาเข้าจริงมีแอปฯ บอกพิกัดรถเมล์ในกรุงเทพฯ มานานแล้ว ชื่อว่า "เวียบัส" (ViaBus) ฝีมือจากนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งผู้เขียนได้ใช้แอปฯ นี้ระหว่างรอรถเมล์สาย A2 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเช่นกัน ซึ่งรถเมล์ ขสมก. บางส่วนติดจีพีเอสแล้ว ช่วยลดความกดดัน กลัวว่าจะตกเครื่องที่ดอนเมืองไปบ้าง อย่างน้อยจะได้รู้ว่ารถเมล์ไปสนามบินดอนเมือง คันที่เร็วที่สุดจะมาถึงเมื่อไหร่
จากที่ใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่ 3 วัน 2 คืน เราได้ใช้รถเมล์ RTC Chiang Mai City Bus เดินทางไปยังที่ต่างๆ เช่น ตลาดวโรรส ศูนย์การค้าเมญ่า ฯลฯ ซึ่งพนักงานถามว่า "ไปลงไหนครับ" เราก็จะตอบไปว่า "เดี๋ยวนั่งไปเรื่อยๆ"
แต่จากการที่ทดลองนั่ง ยังพบปัญหาอยู่บ้าง
อย่างแรก คือ ป้ายรถเมล์แต่ละจุดอยู่ห่างไกลเกินไป ยังต้องอาศัยการเดินกว่าจะไปถึง ซึ่งมองโลกในแง่ดี ถือว่าออกกำลังกายครึ่งหนึ่ง นั่งรถเมล์ครึ่งหนึ่ง
อย่างต่อมา คือ รถเมล์บางคันไม่มีเครื่องอ่านบัตรแรบบิท ต้องใช้เงินสดชำระ เราพบเห็นบนรถเมล์สาย R1 พนักงานแจ้งว่า เครื่องอ่านบัตรแรบบิทยังไม่ได้ติดตั้ง นับจากนั้นเป็นต้นมา ต้องพกแบงก์ 20 มาด้วย เผื่อรถคันไหนใช้แรบบิทไม่ได้
ส่วนจุดเติมเงินลงบัตรแรบบิท แม้ในเชียงใหม่จะเติมเงินได้ที่แมคโดนัลด์เพียงแห่งเดียว แต่ก็มีสาขาราว 11 แห่ง ย่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ประตูท่าแพ ถนนนิมมานเหมินทร์ คิดว่าคนกรุงเทพฯ ที่ใช้บัตรแรบบิทขึ้นบีทีเอส คงไม่มีปัญหา
แต่สำหรับบริการแรบบิท ไลน์ เพย์ ที่ใช้มือถือสแกนโค้ดจากแอปฯ ไลน์ยังใช้ไม่ได้ ใช้ได้เฉพาะบัตรแข็ง ซึ่งถ้าซื้อบัตร RTC Smart Card ที่เชียงใหม่จะแพงมาก ใบละ 300 บาท
เพราะฉะนั้นถ้าอยู่กรุงเทพฯ มีบัตรแรบบิทอยู่แล้วก็ใช้บัตรแรบบิทนั้นไปเถอะ
อีกอย่างหนึ่ง คือ แอปฯ CM Transit by RTC บางครั้งไม่แสดงพิกัดรถเมล์เลยแม้แต่คันเดียว เป็นไปได้ว่าระบบอาจจะขัดข้องในบางช่วงเวลา ซึ่งหากแอปฯ เสียบ่อยจะไม่มีใครอยากใช้ เนื่องจากดาวน์โหลดแล้วมันหนักเครื่อง เปลืองค่าเน็ต
เป็นไปได้ไหมว่า น่าจะทำโมบาย ไซต์ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยว เหมือน "ขอนแก่นซิตี้บัส" ที่ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปฯ ก็สามารถเช็กพิกัดรถเมล์แต่ละคันได้ที่เมนู Live Map เพราะถ้าจะให้ดาวน์โหลดแอปฯ อย่างเดียวมันเปลือง
ประการสุดท้าย คือ รถเมล์หมดเร็วมาก ประมาณ 2-3 ทุ่มก็หมดแล้ว อาจเป็นเพราะไลฟ์สไตล์ของคนเชียงใหม่ ยังคงสังคมต่างจังหวัด ที่ต้องนอนเร็ว ขนาดกาดสวนแก้ว สามทุ่มห้างฯ ก็ปิดแล้ว ต่าางจากกรุงเทพฯ ที่ห้างฯ ปิดประมาณ 4 ทุ่ม
แต่ก็มีย่านการค้า หรือสถานบันเทิงบางแห่งที่เปิดให้บริการยันดึก เช่น นิมมานเหมินทร์ เมญ่า ตลาดนัดกลางคืน กาดหน้ามอ ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่จะไปรถส่วนตัวกัน ถ้าไปรถแดง นอกจากจะหายากแล้ว ราคาจะแพงกว่าช่วงกลางวัน
อย่างไรก็ตาม การมีระบบขนส่งมวลชนแบบใหม่ อย่างเช่นรถประจำทางในตัวเมืองเชียงใหม่ อย่างน้อยทำให้อะไรหลายอย่างเปลี่ยนไป นอกจากแท็กซี่สนามบินจะลดราคาเหลือ 150 บาทต่อเที่ยวแล้ว รถแดงยังมีท่าทีเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีของเราหรือเปล่า ที่อย่างน้อย รถแดงเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวน้อยลง
เช่น ตอนที่แผนที่ในแอปฯ เสีย เราไม่อยากเสียเวลารอ เลยโบกรถแดงจากโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม ไปหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พอถามว่าเท่าไหร่ คนขับชูสองนิ้วบอกว่า "20 บาท" เราก็งงเล็กน้อย เพราะเมื่อก่อนเจอไป 30-40 บาท
แต่ถ้าถามว่ารถเมล์จะมาแทนที่รถแดงเชียงใหม่ได้เลยหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่า เส้นทางรถเมล์มันอ้อม วกไปวนมา อย่างเช่นจากประตูท่าแพ ถ้าตรงไปวนรอบเมืองก็หมดเรื่อง แต่รถเมล์ต้องเลี้ยวซ้ายผ่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และโรงเรียนยุพราชฯ ก่อน
อีกทั้งถนนสายย่อยยังไม่มีรถเมล์ผ่าน จำเป็นต้องต่อรถแดงเข้าไปข้างใน รถแดงจึงยังทำหน้าที่ป้อนผู้โดยสารระหว่างป้ายรถเมล์ระยะสั้นๆ โดยที่เราจ่ายน้อยลง เช่น จากฝั่งตรงข้ามกาดสวนแก้ว ให้ไปส่งที่วัดสันติธรรม คิดค่าโดยสาร 20 บาทเท่านั้น
ทำให้เราได้เห็นว่า ที่ใดมีการแข่งขัน ที่นั่นประชาชนได้ประโยชน์
นี่เป็นข้อสังเกตจากผู้เขียน ในช่วงเวลาที่รถเมล์เชียงใหม่อย่าง RTC Chiang Mai City Bus ให้บริการเพียงแค่เดือนครึ่งเท่านั้น คงต้องดูกันต่อไปว่ารถเมล์สายนี้จะมีให้บริการยาวนานแค่ไหน และที่สำคัญวิถีชีวิตของคนเชียงใหม่จะเปลี่ยนไปหรือไม่?
เพราะระบบขนส่งมวลชนเกิดขึ้นมาใหม่ ใช่ว่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ขนาดรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการใหม่ๆ ยังขาดทุนมานานเป็นสิบปี กระทั่งทุกวันนี้มีกำไร เพราะรถไฟฟ้าทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ไปแล้ว
ข้อดี :
- ราคาตายตัว 20 บาทตลอดสาย
- ตัดปัญหาถูกรถรับจ้างเอารัดเอาเปรียบ
- เส้นทางผ่านสถานที่ท่องเที่ยว ย่านการค้าสำคัญ
- ใช้บัตรแรบบิทจ่ายแทนเงินสดได้จริง
- แอร์เย็น
- มีแอปฯ CM Transit by RTC ไว้เช็กพิกัดรถ
ข้อควรปรับปรุง
- เส้นทางอ้อมไปอ้อมมา ยังไม่ครอบคลุม
- ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการทำเวลา โดยเฉพาะช่วงรถติด
- ป้ายรถเมล์ห่างไกลมากกว่ากรุงเทพฯ
- รถเมล์รอนาน และหมดเร็ว ช่วงค่ำๆ 2-3 ทุ่มก็หมดแล้ว
- รถเมล์บางคันยังไม่ติดตั้งระบบแรบบิท
- แอปฯ CM Transit by RTC บางครั้งไม่แสดงตำแหน่งรถ