ชัยชนะของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 92 ปีของมาเลเซีย ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการ “พลิกแผ่นดิน” สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศมาเลเซีย
ความพ่ายแพ้ครั้งแรกของพรรคอัมโน และกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ บาริซัน เนชันแนล (Barisan Nasional : BN) เป็นครั้งแรกในรอบ 61 ปี และส่งผลให้นายนาจิบ ราซัค ต้องตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ไม่เหนือความคาดหมาย
สำหรับนายนาจิบนั้น ถูกตั้งคำถามและข้อครหามากมายจากประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีแผลใหญ่ที่สุด คือ ข้อกล่าวหาว่า ยักยอกเงินการลงทุนแห่งชาติ หรือ 1MDB ที่รัฐบาลของเขาตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนการเงินเพื่อพัฒนาประเทศจำนวน 700 ล้านเหรียญเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่ด้วยอำนาจและอิทธิพลของนายนาจิบในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้ โดยอัยการสูงสุดของมาเลเซียสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่าเงินที่เข้ากระเป๋านายนาจิบเป็นเงินบริจาค ส่วนสื่อต่างๆ ที่ออกมาเปิดโปงนั้นก็ถูกแทรกแซงหรือสั่งปิด
หนทางเดียวที่ชาวมาเลเซียจะโต้ตอบนายนาจิบได้ ก็เหลือเพียงการเลือกตั้งทั่วไป ที่มี “ดร.มหาเธร์” ซึ่งเป็นเหมือนผู้วางรากฐานประเทศมาเลเซียในยุคใหม่ ด้วยวัยใกล้ร้อยปี มานำทัพพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือ ปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan : PH) ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งออกมาเปิดใจว่า เป็นความผิดของตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง ที่เลือกนายนาจิบ เป็นทายาททางการเมือง
โดยดร.มหาธีร์นั้นประกาศว่า จะเข้ามาเพื่อการเปลี่ยนผ่าน และหาความจริงในเรื่องต่างๆ ที่ประชาชนคลางแคลงสงสัย รวมถึงกรณียักยอกเงินกองทุน 1MDB ด้วยโดยจะใช้เวลา 2 ปี แล้วจะส่งมอบอำนาจต่อให้กับนายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตศัตรูทางการเมือง ที่เคยถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานเป็นพวกรักร่วมเพศ จนต้องเข้าออกเรือนจำเป็นว่าเล่น โดยเชื่อกันว่าเป็นแผนการกำจัดศัตรูทางการเมือง ทั้งของ ดร.มหาเธร์เอง และนายนาจิบในอดีต
งานนี้ นอกจากจะเป็นบทเรียนเรื่องเสียงของประชาชนแล้ว ยังเป็นการย้ำถึงคำพูดอมตะว่า ในทางการเมืองแล้ว ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร อีกด้วย
แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินเคลื่อนตัวในมาเลเซียส่งผลสั่นสะเทือนผ่านด้ามขวานมาสู่การเมืองไทยด้วย เมื่อพรรคประชาธิปัตย์โดยสมาชิกพรรคหลายคนได้ที ยกปรากฏการณ์ ดร.มหาเธร์ ออกมาให้ข่าวโยนหินถามทางว่า เมื่อมหาเธร์สามารถกลับมาเป็นนายกฯ ในวัย 92 ปีได้ ถ้าเช่นนั้น นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 79 ปี ก็อาจจะกลับมานั่งในเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และลงชิงชัยในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
การ “แง้มไต๋” ของทางฝั่งพรรคสีฟ้าในครั้งนี้ ส่งผลสะเทือนแน่นอนต่อเวทีเลือกตั้งถ้าจะมีขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะต่อแผนการสืบทอดอำนาจ นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไปในระบบเลือกตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
เนื่องจากที่ผ่านมา เรารู้กันอยู่แล้วว่า นับเป็นช่วง “ขาลง” ของ “นายกฯ ลุงตู่” และรัฐบาล คสช.ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ด้วยปัญหาเรื่องข้อกังขาในความสุจริตของ “พี่ใหญ่” แห่ง คสช.และรัฐบาล ซึ่ง “น้องรัก” อย่างตัวนายกฯ ออกมาปกป้องแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ชนิดไม่แคร์กระแสประชาชน
ท่าทีของความ “ไม่เอาจริง” ในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันที่ถูกครหา การบริหารประเทศที่ดูเหมือนไม่มีรูปธรรม การโบ้ยใบ้ปัญหาต่างๆ ว่ามาจากความผิดพลาดของ “รัฐบาลเก่า” เสียทั้งหมด ก็เป็นข้อแก้ตัวที่เริ่มไม่ขลังเสียแล้ว
ล่าสุด การออกมา “แซะ” ของอดีตคนกันเองที่เคยทำงานรับใช้ใกล้ชิดรัฐบาล อย่าง ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ว่า การปฏิรูปทั้งหลายยังอยู่เพียงในขั้นวางแผนเท่านั้น โดยวางแผนกันมาแล้ว 4 ปี ไม่มีอะไรคืบหน้า และกระบวนการทั้งหลายอยู่ในมือของฝ่ายข้าราชการ ที่คงไม่มีใครอยากปฏิรูปอะไรให้ตัวเองเดือดร้อน
เล่นเอานายกฯ ถึงกับต้องออกมาแก้ตัวแบบร่ายยาวเหยียด ว่าได้ปฏิรูปอะไรต่อมิอะไรจิปาถะไปแล้ว เช่นการสร้างระบบประปาหมู่บ้าน หรือการแก้กฎหมายฉบับนี้ฉบับโน้น ซ้ำยังสำทับว่า ให้ข้าราชการมาดำเนินงานปฏิรูปนั้นถูกต้องแล้ว เพราะข้าราชการเป็นฝ่ายปฏิบัติ
ในการให้สัมภาษณ์คราวเดียวกันนั้นเอง ท่านก็ตอบข้อเรียกร้องของประชาชน ที่ขอให้รัฐบาลทบทวนสัญญาทั้งหลายที่ทำกับบริษัทอิตาเลียนไทย เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของนายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารบริษัท ที่เข้าไปล่าเสือดำในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรอย่างอุกอาจ ก็ได้รับคำตอบจาก “ลุงตู่” ว่าเรื่องนี้ขอให้แยกแยะ เป็นเรื่องส่วนตัวเป็นความผิดส่วนตัวของนายเปรมชัยไม่เกี่ยวกับองค์กร!
ไม่ว่าจะด้วยความเกรงใจอะไรหรือใครหน้าไหน หรือแม้แต่จะคิดอย่างนั้นเองจริงๆ ก็ตามที แต่ก็ถือว่าลุงตู่ของเราชวดโอกาสที่จะได้ “เรียกคะแนน” จากประชาชนไปอย่างน่าเสียดาย
แม้ว่า ผลสำรวจสารพัดโพลจะออกมาว่า คะแนนนิยมในตัว “ลุงตู่” ยังเหนือกว่าผู้ท้าชิงรายอื่นที่ปรากฏตัวขึ้นในขณะนี้ แต่ผลโพลเหล่านั้นก็เป็นแค่คะแนนในคอมพิวเตอร์ แต่ของจริงนั้นวัดกันที่คูหาเลือกตั้ง
และเมื่อพรรคใหญ่สองพรรคนั้น แสดงจุดยืนที่ค่อนข้างแข็งแรงว่า “ไม่เอานายกฯ คนนอก” แบบออกตัวแรงจนถ้ากลืนน้ำลายก็ได้เสียสุนัขทางการเมือง ก็มีคำถามว่า แล้วสองพรรคใหญ่จะ “จับมือ” กันได้อย่างไร แล้ว “นายกฯ” ของรัฐบาลพรรคร่วมสองสีจะเป็นใคร
การเปิดชื่อของ “นายชวน หลีกภัย” ออกมา จึงเป็นการวางหมากเม็ดสำคัญลงบนกระดาน ที่ส่งอิทธิพลสะเทือนต่อพื้นที่ของฝ่ายนายกฯ คนนอกเป็นอย่างยิ่ง
เพราะตัวอดีตนายกฯ ชวนเองนั้น ยังมีบารมีทางการเมืองอยู่สูงมาก โดยเฉพาะในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และที่สำคัญ นายชวนเองนั้น ไม่ใช่ “ศัตรูโดยตรง” ของฝ่ายเพื่อไทย หรือแม้แต่กับคนเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียง ต่างจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นคู่ปะทะโดยตรง
และถ้านายชวนจะเดินตาม “มหาเธร์โมเดล” ด้วยการชูจุดยืนว่า จะเข้ามาเพียงเพื่อการ “เปลี่ยนผ่าน” ชั่วคราวในช่วงของการ “ตัดสายอำนาจ” ของฝ่าย คสช.ให้พ้นจากเวทีทางการเมืองไปก่อน และจะปล่อยอำนาจต่อให้คนที่ประชาชนพร้อมจะยอมรับได้ในอนาคตบริหารประเทศต่อไปนั้น
ก็ถือว่าเป็นข้อเสนอที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนทั้งสองสีสองพรรค และฝ่ายที่เป็นกลางๆ แต่ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจต่อไปของ คสช.หรือคนที่ “เบื่อลุงตู่” อาจจะรับได้
และเมื่อเทียบ “หน้าตา” กับนายกฯ คนนอกที่รู้หน้าเห็นใจกันอยู่แล้ว กับบรรดา “นักการเมืองหน้าเก่า” ที่ดูดๆ มาอย่างไม่เลือกหน้าดูไม่จืดในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้ประชาชนตัดสินใจกันได้ง่ายขึ้น ว่าในการเลือกตั้งที่จะมาถึง อยากจะลงคะแนนให้ขั้วไหน
“แผ่นดินไหว” ที่มาเลเซีย จึงอาจจะส่งผลให้เกิด “สึนามิ” ในประเทศไทยได้ด้วยประการฉะนี้.