หากไม่นับรวมการเปิดบัญชีธนาคาร ที่ยังคงยืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคาร ธุรกรรมผ่านเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค (Fintech) ทั้งเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น นอกจากบริการเช็กยอด โอนเงิน จ่ายบิล เติมเงิน หรือแม้กระทั่งถอนเงินโดยไม่ใช่บัตรแล้ว บางธนาคารก็เริ่มใช้ช่องทางดิจิตอลในการสมัครและอนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ที่สนใจ
ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกผลิตภัณฑ์ SCB Easy Digital Lending ผ่านแอปพลิเคชั่น SCB Easy โดยทดลองไปเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา อนุมัติสินเชื่อภายใน 1 ชั่วโมง และโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าทันทีภายใน 3 นาที โดยที่ลูกค้าไม่ต้องยื่นเอกสารหรือกรอกข้อมูลใดๆ ที่สาขาอีกต่อไป ให้บริการทั้งสินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกผลิตภัณฑ์ สินเชื่อ Krungsri iFIN โดยสมัคร ส่งเอกสาร เช็คสถานะการสมัคร รับโอนเงินสินเชื่อ ผ่านแอปพลิเคชั่น KMA ทั้งหมด เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ชูจุดขายอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ถูกกว่าดอกเบี้ยปกติ 3% ตลอดอายุสัญญา วงเงินสินเชื่อเริ่มต้นที่ 30,000 - 300,000 บาท
ธนาคารกสิกรไทย ได้แจ้งเตือนบริการ K-Personal Loan แก่ลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชั่น K-PLUS ไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากรายได้หรือกระแสเงินสดหมุนเวียนเข้าในบัญชีเงินฝากโดยเฉลี่ยมากกว่า 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 15.25 - 19.00% ต่อปี ระยะเวลาการผ่อนชำระเริ่มต้นที่ 3 เดือน สูงสุด 60 เดือน
เมื่อดูขั้นตอนการสมัครพบว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ใช้วิธีถ่ายภาพเอกสารประกอบการสมัคร โดยเฉพาะสลิปเงินเดือนเดือนล่าสุด ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยจะใช้วิธีสอบถามว่า ปัจจุบันมีวงเงินสินเชื่อบุคคลกับสถาบันการเงินกี่แห่ง วงเงินรวมเท่าไหร่ โดยไม่ต้องส่งเอกสารแสดงรายได้ เพราะจะพิจารณาจากรายการเดินบัญชี
แต่กับดักที่สำคัญของการสมัครสินเชื่อผ่านช่องทางฟินเทคก็คือ การส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ตให้แก่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ผ่านระบบที่เรียกว่า NCB e-Consent โดยผู้สมัครต้องให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลแก่ธนาคาร เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อตามคำขอ
เมื่อเจออย่างนี้ โดยส่วนใหญ่ถ้าเคยสมัครสินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด หรือ บัตรเครดิตแล้วไม่ผ่าน สมัครช่องทางนี้ก็จะไม่ผ่านการอนุมัติเช่นกัน เพียงแต่การแจ้งให้ทราบว่าผ่านหรือไม่ผ่านจะเร็วกว่าปกติ เพราะธนาคารใหญ่ๆ อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ หรือธนาคารกสิกรไทย จะใช้ระบบ Data Analytic โดยใช้ข้อมูลกระแสเงินสด กับข้อมูลจากเครดิตบูโรมาวิเคราะห์
แม้ว่าการอนุมัติสินเชื่อผ่านช่องทางฟินเทคจะมีข้อดีตรงที่อนุมัติเร็ว แต่ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้มีความรู้สึกว่า การให้สินเชื่อไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยก็คือ เงื่อนไขการอนุมัติยังคงยึดติดกับข้อมูลเครดิตบูโร รวมทั้งเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จำกัดลูกค้ามีสินเชื่อบุคคลกับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ไม่เกิน 3 แห่ง
มาตรการนี้แบงก์ชาติออกมาไม่นาน เพราะเป็นห่วงเรื่องปัญหานี้ครัวเรือน โดยเฉพาะเจนเนอเรชั่นวาย ที่ก่อหนี้จนเกินความสามารถในการชำระหนี้ กลัวว่าจะกระทบภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะยาว ผลก็คือลูกค้าระดับล่าง เงินเดือนไม่ถึง 3 หมื่นบาท ถูกจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อ ถือบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดไม่เกิน 3 แห่ง และได้วงเงินสูงสุดเพียง 1.5 เท่า
สุดท้าย เมื่อลูกค้าระดับล่างไม่มีทางเลือก ก็ต้องวนเข้าหาหนี้นอกระบบจนได้ ยอมเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น เซ็นสัญญาเงินกู้ที่ไม่ได้กรอกข้อความ การทวงหนี้โหด ผิดกฎหมาย เช่น ขู่กรรโชก ประจาน หรือทำร้ายร่างกาย และดูเหมือนว่าที่ผ่านมาสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ดูเหมือนไม่มีความจริงใจในการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าระดับล่างเท่าที่ควร
จะรอให้มีสตาร์ท อัพ หน้าใหม่ หรือมีฟินเทคที่ยอมฉีกกรอบการให้สินเชื่อแบบเดิมๆ เพื่อช่วงชิงลูกค้าก็ลำบาก ในเมื่อผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบของแบงก์ชาติ เช่น ผู้ให้บริการบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อฟินเทคที่มาจากธนาคารพาณิชย์ ยังคงติดกับดักอยู่กับระเบียบและเงื่อนไขเดิมๆ ในอนาคตอาจจะเปิดช่องให้มีฟินเทคหน้าใหม่เข้ามาลงทุน และฉีกกรอบการให้สินเชื่อแบบเดิมๆ เพื่อกวาดฐานลูกค้าก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น ไอเดียการเสนอสินเชื่อในวงเงินจำนวนน้อยๆ เอาเงินไปใช้ก่อน แล้วหลังเงินเดือนออกค่อยชำระคืน
หรือจะเป็นระบบการจับคู่ผู้กู้ และผู้ให้กู้ (P2P Lending) ที่นักลงทุนในฐานะ “ผู้ให้กู้” กับลูกค้าในฐานะ “ผู้กู้” ให้มาเจอกันผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการนับสิบรายให้ความสนใจ แต่แบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ เพราะต้องดูแพลตฟอร์มการปล่อยกู้และการพิสูจน์ตัวตนก่อน
การให้สินเชื่อผ่านระบบฟินเทคในอนาคตจะเติบโตหรือไม่ คงต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ที่หากเข้มงวดเกินไปก็จะสกัดกั้นการเติบโตและปิดกั้นโอกาสผู้บริโภค โดยเฉพาะลูกค้าระดับล่าง แต่หากปล่อยปะละเลย เข้าถึงสินเชื่อง่ายเกินไปโดยปราศจากการควบคุม อาจจะประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม