xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปแทบตายสุดท้ายก็ได้การเมืองแบบเดิม

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง


ในนาทีนี้ คงไม่มีใครสงสัยหรือตั้งคำถามกับอนาคตทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว

รวมถึงภูมิศาสตร์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้การเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย

ท่าที “เป็นมิตร” ต่อนักการเมืองของ “ลุงตู่” นั้น ก้าวคืบออกมาทีละระดับ เช่นเดียวกับท่าทีต่อ “นักการเมือง” ที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมา เป็นจำเลยที่เคยถูกท่านกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตความวุ่นวายแตกแยกทางการเมืองจนท่านต้อง “จำใจ” ยึดและครองอำนาจมานานโขร่วม 4 ปีนี้

บัดนี้ นอกจากดูดและดึงตัว “นักการเมือง” เหล่านั้นเข้ามาช่วยกันแล้ว ยังเดินเข้าไปหา “แม่เสือ” ถึงถ้ำ เพื่อหวังจะได้ “ลูกเสือ” มาไว้ในคลังทรัพยากรการเมือง

ภาพการไปเยือนที่บุรีรัมย์ของ “ลุงตู่” และการต้อนรับอย่างเข้มแข็งทรงพลังจาก “เจ้าถิ่น” คือคุณเนวิน ชิดชอบ นั้นอธิบายทุกอย่างได้หมดจดหมดเปลือก

การไปเยือน และต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่นั้น มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนคือเม็ดเงินงบประมาณหมื่นล้านบาทของรัฐที่จะผันมาลงจังหวัดบุรีรัมย์ ข้อเท็จจริงนี้ “เจ้าบ้าน” คือคุณเนวินประกาศชัดๆ อย่างไม่ต้องเหนียม ต่อหน้าชาวบุรีรัมย์ร่วม 30,000 คน ที่สนามช้างอารีนาขอให้กองเชียร์อดทนต่อแสงแดดและความร้อนส่งเสียงดังๆ เพื่อให้นายกฯ “ลุงตู่” อนุมัติงบประมาณลงพื้นที่บุรีรัมย์

เรื่องนี้หากเป็นรัฐบาลในสภาวการณ์ปกตินั้น ถ้าเป็นรัฐบาลรักษาการรอการเลือกตั้งอยู่นั้น รัฐธรรมนูญจะห้ามไม่ให้ใช้งบประมาณ ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

แต่แน่นอนว่า เรื่องนี้จะเอาผิดตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญอะไรคงไม่ได้ เพราะรัฐบาลนี้คือรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม มิใช่รัฐบาลรักษาการเพื่อรอการเลือกตั้ง (ที่ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร) และ “ลุงตู่” ผู้สามารถอนุมัติงบประมาณจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

แต่สำหรับ “มารยาททางการเมือง” กับข้อเท็จจริงที่ “รู้ๆ กัน” นั้น ก็คงชี้เจตนาว่า นี่เป็นอีกครั้ง ที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาล อาศัยความได้เปรียบนี้ ทั้งในแง่ของการเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ ในสภาวะที่ห้ามพรรคการเมืองอื่นๆ กระดิกกระเดี้ยตัว สร้างและสั่งสม “ต้นทุน” ทางการเมืองขึ้นมา อย่างที่ใครก็ทำไม่ได้
ทั้งนี้ การ “เปิดตัวแรง” ของว่าที่นายกฯ หน้าใหม่คนเดิม ก็ก่อให้เกิดภาพกลุ่มขั้วทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น

ขั้วการเมืองที่ไม่ใช่ “ฝ่ายทักษิณ” ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยและมวลชน “เสื้อแดง” กับฝ่าย “ต้านทักษิณ” ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์และมวลชนที่สนับสนุนอีกแล้ว
แต่กลายเป็นขั้วการเมือง ระหว่างฝ่าย “หนุน” นายกฯ คนนอกคนที่รู้ว่าใคร กับ “ต้าน” นายกฯ คนนอกแล้ว

และก็เลยกลายเป็นว่า ทั้งประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ที่เคยเป็นขั้วตรงข้ามกันมาก่อนในทางการเมือง กลับมาอยู่ในขั้วเดียวกันในการเมืองรอบใหม่นี้ คือ ขั้ว “ต้าน” นายกฯ คนนอก

ท่าทีของพรรคเพื่อไทยนั้นชัดเจนตั้งแต่รัฐประหารมาแล้ว เพราะถือเป็น “คู่กรณี” โดยตรง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นี้ เริ่มมีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นหลังจากการ “เปิดหน้าเล่น” ของว่าที่นายกฯ คนนอก

การเรียงหน้ากันออกมา “แฉ” ว่ามีการเกณฑ์คนหมู่บ้านละ 30 คน มาต้อนรับที่สนามช้างอารีนา โดยอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เจ้าของพื้นที่ภาคอีสานใต้ แบบไม่เกรงใจกันนั้นเป็นการแสดงความเป็น “ปฏิปักษ์” ที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่าลงเสี่ยงแบไพ่เบอร์นี้แล้ว อย่างที่ถ้าตอนหลังจะ “กลืนน้ำลาย” ไปร่วมรัฐบาลอีกในอนาคต ก็จะต้องรับความเสียหายในทางการเมืองไม่ใช่น้อย

กล่าวกันอย่างตลกร้าย การเข้ามายึดและครองอำนาจของ คสช.ช่วยสลายขั้วการเมืองที่ขัดแย้งกันได้จริงๆ ทำให้สองพรรคที่ไม่น่าจะเผาผีกัน มายืนในฝั่งฝ่ายแนวร่วมทางการเมืองเดียวกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ !
นอกจากสองพรรคใหญ่แล้ว ขั้วไม่เอานายกฯ คนนอก ก็ยังจะประกอบด้วยพรรคการเมืองหน้าใหม่บางพรรคที่มีอุดมการณ์ไปทางเดียวกันนี้ แต่ที่น่าจะมีน้ำหนักและมีโอกาสมีเสียงมีพื้นที่ในสภาฯ ได้จริง ก็น่าจะมีเพียงพรรค “อนาคตใหม่” ของ “ไพร่หมื่นล้าน” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เท่านั้น

สำหรับขั้วหนุนนายกฯ คนนอก ก็เริ่มชัดเจนแล้วว่า น่าจะประกอบไปด้วยพรรคของ “นักการเมืองอาชีพ” ที่เป็นพรรคขนาดกลาง ที่มีฐานเสียงในการเมืองท้องถิ่น ทั้งพลังชล และภูมิใจไทย รวมถึงมุ้งเล็กกลุ่มฐานเสียงภูมิภาคในพรรคใหญ่ทั้งสองพรรค ร่วมกับพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับการกลับเข้าสู่อำนาจ หรือที่เราเรียกว่า “พรรคทหาร” ทั้งหลายอย่างพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคประชาชนปฏิรูป กับพรรคปริศนาที่ลือกันว่าน่าจะมีการก่อตั้งขึ้นโดยคนในรัฐบาล และพรรค กปปส.ที่น่าจะเป็น “ตัวแปร” ในทางการเมือง

การต่อสู้ทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ จึงเป็นการขับเคี่ยวกันของสองขั้วนี้ และต้องดูว่าฝ่ายหลังนั้น จะสามารถดึง “ฐานเสียง” สนับสนุนในระบบรัฐสภามาจากพรรคใหญ่ทั้งสองพรรคได้หรือไม่ ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก

แต่การที่จะเป็นนายกฯ ในระบบรัฐสภาของ “ลุงตู่” ภายหลังจากการเลือกตั้งนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะ “ตัวช่วย” ทั้งหลายที่เคยมี เช่นในปัจจุบัน ที่เกิดจากอำนาจพิเศษทั้งหลาย ทั้งอำนาจทางทหาร และอำนาจทางรัฐธรรมนูญจะหมดไป

พูดง่ายๆ คือ หากเป็นรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งแล้ว คงจะจับคนวิพากษ์วิจารณ์ไป “ปรับทัศนคติ” อีกไม่ได้แล้ว หรือจะออกคำสั่ง แก้กฎหมาย หรือทำอะไรๆ ทันใจ ด้วยอำนาจตามมาตรา 44 ก็คงไม่ได้เช่นกัน

ซ้ำยังจะต้องถูกกระบวนการตรวจสอบควบคุมโดยรัฐสภา ผ่านการตั้งกระทู้ถาม และอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นี่คือภาพของ “การเมืองของจริง” ซึ่งไม่รู้ว่าคนขี้โมโหที่เคยมีอำนาจพิเศษเต็มไม้เต็มมือจะ “รับได้” แค่ไหน

และก็จำเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ภายใต้ระบบนั้น จะต้อง “แบ่งปัน” ผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองให้แก่ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่เป็นเหมือนลมใต้ปีกให้ดี เพื่อการสนับสนุนสร้างความมั่นคงให้แก่เก้าอี้นายกฯ ของตัวเอง

ที่พูดกันว่า มาทำงานร่วมกันเพื่อชาติ ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝงนั้น เป็นเรื่อง “โลกสวย” ที่ไม่มีคนที่รู้เดียงสาที่ไหนใครจะเชื่อหรอก

การบริหารประเทศ หรือการตั้งคนเข้ามาร่วมรัฐบาล ก็จะกลับไปสู่ระบบต่อรองและโควตารัฐมนตรี กระทรวงเกรดเอ เกรดบี ฯลฯ กันอีกครั้ง

ซึ่งขนาดว่าปัจจุบัน นายกฯ มีอิสระพอสมควรในการสรรหาและแต่งตั้งรัฐมนตรีเข้าร่วมรัฐบาล ยังได้ ครม.ที่มีหน้าตาได้ดีแค่เท่าที่เห็นนี้เลย

แล้วถ้าเป็นรัฐบาลที่จะต้อง “ผสมพันธุ์” กับนักการเมืองอาชีพที่เป็นฐานเสียงพยุงตำแหน่งแล้ว ต้องมีการจัดสรรปันส่วนเก้าอี้ในรัฐบาลให้แบบต่างตอบแทนแล้ว หน้าตาของ ครม.จะออกมาเป็นอย่างไร

จินตนาการกันดูแล้ว หลายคนที่เคยสนับสนุนการยึดอำนาจ หรือเคยเชื่อว่าพวกท่านจะมาเพื่อการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมือง คงได้แต่อุทานว่า ปฏิรูปกันแทบตาย ได้ “การเมือง” แบบนี้กลับมาเหมือนเดิม.


กำลังโหลดความคิดเห็น