xs
xsm
sm
md
lg

รถทัวร์ขึ้นเหนือไม่ต้องไปหมอชิต ล่องใต้ไม่ต้องไปสายใต้

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. เปิดเส้นทางเดินรถจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ (บรมราชชนนี) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ไปยังปลายทาง อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.เชียงใหม่

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ที่พักอาศัยอยู่ย่านฝั่งธนบุรีและปริมณฑล ไม่ต้องไปขึ้นรถที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 ได้แก่

- กรุงเทพฯ (สายใต้ใหม่) ไป เชียงใหม่ เที่ยวไป ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ (บรมราชชนนี) เวลา 19.00 น. เที่ยวกลับ ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่ อาเขต เวลา 20.00 น.

- กรุงเทพฯ (สายใต้ใหม่) ไป แม่สอด เที่ยวไป ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ (บรมราชชนนี) เวลา 19.30 น. เที่ยวกลับ ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารแม่สอด จ.ตาก เวลา 20.45 น.

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. คาดหวังว่าจะเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้า ร่วมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดินทางได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งช่วยลดปัญหาด้านการจราจร และความแออัดภายในสถานีขนส่งหมอชิต 2 และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ลูกค้า หากได้รับความนิยม ก็มีแผนจะเพิ่มจุดรับ – ส่งที่สถานีขนส่งผู้โดยสารเอกมัยต่อไป

อันที่จริงการเดินรถจากสายใต้ใหม่ ไปภาคเหนือ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ บขส. เคยเปิดการเดินรถจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ไปยัง อุบลราชธานี เชียงใหม่ และ นครพนม โดยใช้รถโดยสารปรับอากาศวีไอพี 2 ชั้น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องยกเลิกการเดินรถไป

แต่ในทางกลับกัน บขส. เปิดการเดินรถจากสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ ไปยังภาคใต้ อาทิ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง-สตูล เกาะสมุย และ หาดใหญ่ กลับพบว่าประสบความสำเร็จ ยังคงมีรถให้บริการถึงปัจจุบัน

ส่วนที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ นอกจากจะมีรถตู้โดยสารไปยังภาคตะวันออกแล้ว ยังมีรถประจำทางสายอีสาน 2 เส้นทาง ได้แก่ ราชสีมาทัวร์ ไปนครราชสีมา และ กิจการทัวร์ ไปบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ตั้งแต่ 25 ธันวาคม 2556 เป็นต้นมา

หลังออกจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ จะใช้เส้นทางถนนบรมราชชนนี ต่อด้วยถนนกาญจนาภิเษก ผ่านบางใหญ่ บางบัวทอง ไปออกถนนพหลโยธินที่ทางแยกต่างระดับบางปะอิน เข้าสู่เส้นทางปกติ

น่าเสียดาย มีคนบอกว่าขณะนี้ เหลือเพียง สายใต้ใหม่ - นครราชสีมา เพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น เพราะชาวบ้านไม่รู้เรื่อง เลยแทบจะไม่มีคนขึ้นไปใช้บริการ

ที่ผ่านมา สถานีขนส่งผู้โดยสารในกรุงเทพฯ เคยแบ่งออกเป็น 3 สถานีใหญ่ๆ ได้แก่ สถานีขนส่งหมอชิต สำหรับสายเหนือและสายอีสาน สถานีขนส่งเอกมัย สำหรับสายตะวันออก และ สถานีขนส่งสายใต้

กระทั่งรถตู้โดยสารเข้ามามีบทบาทแทนรถทัวร์ ยังคงเหลือเส้นทางสายยาว ภาคเหนือจากนครสวรรค์ขึ้นไป ภาคอีสานจากนครราชสีมาขึ้นไป ภาคตะวันออกจากจันทบุรีลงไป และภาคใต้จากหัวหินลงมา ยังคงมีรถทัวร์ให้บริการอยู่

นอกจากนี้ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ยังพบว่ามีสถานีรถโดยสาร ไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น ฉะเชิงเทรา พัทยา ตลาดโรงเกลือ หนองคาย ท่าเรือแหลมงอบ จันทบุรี ตราด แหลมฉบัง สระแก้ว และ หัวหิน อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของรถโดยสารประจำทาง นอกจากจะต้องเจอกับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ที่พยายามเปิดเส้นทางบินใหม่เพื่อช่วงชิงผู้โดยสารแล้ว รถประจำทางหมวด 3 ที่ไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ ก็เป็นคู่แข่งสำคัญเช่นกัน

ในปัจจุบัน มีเส้นทางเดินรถข้ามภาค จากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก มุ่งหน้าสู่ภาคใต้จำนวนมากโดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ และระหว่างทางสามารถขึ้นรถได้ที่จังหวัดปริมณฑลที่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ

แม้ระยะทางและเวลาดูเหมือนจะไม่สะดวกสบายนัก เมื่อเทียบกับค่าโดยสารที่พอๆ กับเครื่องบิน แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการนับสิบราย ลงทุนเปิดการเดินรถ และมีผู้โดยสารใช้บริการจากต้นทาง และขึ้น-ลงกลางทางก็มี

เช่น จ.นครปฐม มีรถประจำทางสายเหนือและสายอีสานไปยังภาคใต้ ใช้เส้นทางถนนมาลัยแมน ขึ้นรถที่ท่ารถได้โดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ อาทิ สาย 871 เชียงใหม่-หัวหิน ของสมบัติทัวร์, สาย 816 นครราชสีมา-หัวหิน ของชินเกียรติโคราช

ในยุคที่รถทัวร์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่สถานีขนส่งสายใดสายหนึ่ง หากเส้นทางเดินรถใหม่ได้รับความนิยมมากขึ้น อาจมีผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาให้บริการไปยังจุดหมายปลายทางที่ลูกค้ามีความต้องการก็เป็นได้

ขึ้นอยู่กับว่าจะประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมายให้มาใช้บริการมากน้อยขนาดไหน นอกเหนือจากการให้บริการที่ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับแก่ผู้โดยสารให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น