xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนนักดูด และผู้ท้าชิงที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

<b>พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี</b>
สัญญาณการ “ดูด” อดีต ส.ส. และขั้วเครือทางการเมืองตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลอดจนการออกมายอมรับโดยเจ้าตัวว่า การดูดนั้นเป็นเรื่องที่มีมาช้านาน เป็นธรรมชาติของการเมือง ใครๆ เขาก็ดูดกันมาแต่หนไหน ดังนั้น ถ้า คสช. “ดูด” กับเขาบ้างจะเป็นไรไปเล่า

ก็แน่ชัดเสียยิ่งกว่าชัดแล้ว ว่าในสนามเลือกตั้งถ้าจะมีขึ้นในอนาคตเมื่อไรก็ไม่รู้นั้น จะมี “นักการเมือง” เจ้าใหม่ แต่น่าเก่าเพราะนั่งบนเก้าอี้นายกฯ มาแล้วร่วม 4 ปี เข้าร่วมเป็น “ตัวเลือกหนึ่ง” ในการเลือกตั้งด้วย

เพียงแต่จะลงเต็มตัวตั้งแต่รอบแรก ประกาศชัดๆ ตั้งแต่การเลือกตั้งเลย ว่าถ้าเลือกพรรคนี้ได้นายกฯ คนเดิมกลับมาแน่ หรือจะเหนียมรอเทียบเชิญในภายหลังหากไม่สามารถหานายกฯ เสียงข้างมากได้ตามรัฐธรรมนูญ ก็ค่อยรอดูกันต่อไป

นอกจากสัญญาณต่างๆ บ่งชี้ออกมาแล้ว ก็มีการ “เคลียร์ทาง” ถางอุปสรรคที่อาจจะมี เมื่อ “พี่ใหญ่” แห่งตำบลกระสุนตก ที่เป็นเหมือนจุดด่างพร้อยของ “ทีม” นั้น ประกาศชัดเจนแล้วว่า หลังเลือกตั้งแล้ว จะลงจากเวทีมาเอาใจช่วย “น้อง” อยู่ห่างๆ แต่ไม่เข้าร่วมมีตำแหน่งทางการเมืองด้วย

เช่นนี้ กองเชียร์ที่ยังอยากเห็นนายกฯ คนใหม่เป็นคนเดิม ก็คงจะตัดสินใจสนับสนุนต่อไปได้อย่างสะดวกใจยิ่งขึ้น

จะว่าไปก็จริงของท่าน ที่เรื่อง “การดูด” นั้น เป็นประเพณีทางการเมืองไทยอย่างหนึ่ง ที่เมื่อสิ้นรัฐบาลไปไม่ว่าด้วยเหตุยุบสภาหรือรัฐประหาร ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะมีรายการ “วงแตก” กันครั้งหนึ่ง ว่าใครสมัครใจอยู่พรรคเดิมหรือไปหาบ้านใหม่อยู่

และเมื่อใครก็ตาม ที่จะเข้าสู่วังวนของอำนาจ ผ่านช่องทางการเลือกตั้ง วิธีที่เร็วที่สุดซึ่งจะไปสู่ฝั่งฝัน ก็คือการ “ดูด” อดีต ส.ส. ที่มีฐานเสียงและหัวคะแนนอยู่แล้วในพื้นที่เข้ามาสู่พรรค เพราะเป็นวิธีที่มีลุ้นหวังผลได้กว่าการปั้นผู้สมัครหน้าใหม่ส่งลงสนามเลือกตั้งโดยไร้ประสบการณ์กองหนุนหรือลมใต้ปีก

อดีต ส.ส.หากสามารถบริหาร “ฐานเสียง” ของตัวเองได้ ก็มีโอกาสสูงเกิน 80% ที่จะกลับเข้าสู่สภาได้อีกครั้ง

พรรคสามัคคีธรรม หรืออดีต “พรรคทหาร” รุ่นก่อนหน้า ก็ใช้โมเดลนี้จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเข้าสู่อำนาจในการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นหลังการยึดอำนาจของ รสช.เมื่อปี 2535

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่พึงต้องระวังไว้ประการหนึ่ง คือ “โมเดลดูด” นี้ อาจจะได้ผลสำหรับการเมืองยุคเก่า ที่การลงคะแนนเลือก ส.ส.ยังเป็นเรื่องของความนิยมหรืออิทธิพลบุคคล หรือแล้วแต่ว่าใครจะได้ “หัวคะแนน” ในท้องที่ไปเทคะแนนให้

นั่นคือ อดีต ส.ส.คนนี้ ลงพื้นที่นี้ จะพรรคอะไรก็ไม่สำคัญ แต่ชาวบ้านก็เลือกที่ตัว ส.ส.คนนั้น (ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกเพราะคะแนนศรัทธาจริงๆ หรือคะแนนเสียงที่มาจากการซื้อหา)

อย่างไรก็ตาม การเมืองในยุคสมัยหลังๆ นี้ มีความแตกต่างออกไปในสาระสำคัญ ในแง่ที่ว่า การเมืองเป็นการเมืองของพรรคการเมืองมากยิ่งขึ้น

นั่นคือ “พรรคการเมือง” นั้นมีอิทธิพลสำคัญต่อการลงคะแนนของคนในท้องที่ และในหลายพื้นที่ก็มีแนวโน้มที่จะเลือก ส.ส.จากพรรคการเมืองที่สังกัดมากกว่าตัวบุคคล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาของวิกฤตการเมืองซึ่ง “ความนิยมทางการเมือง” นั้นกลายไปเป็น “อุดมการณ์ทางการเมือง” ด้วยแล้ว การเลือก “พรรคการเมือง” จึงเท่ากับเป็นการเลือกและประกาศ “อุดมการณ์ทางการเมือง” ไปในตัวด้วย

ทั้งนี้ทางพรรคจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นนั้นจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องแยกออกไป แต่ใน “ความเชื่อ” ของผู้เลือกตั้งนั้น มันเป็นเช่นนั้น

บทเรียนเรื่อง “รับเงินหมา ไปกาเบอร์ 1” (ซึ่งเป็นหมายเลขของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนั้น) คงเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดของพรรคการเมืองที่ดูดอดีต ส.ส.ของไทยรักไทย และพลังประชาชน ไปในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าบรรดาอดีต ส.ส.ผู้แปรพรรคนั้นจะมีการ “ยิงกระสุน” ให้ชาวบ้านฐานคะแนนก็ตาม แต่กระสุนนั้นก็ด้าน ส่งผลให้ตัวเองสอบตกไปอย่างน่าเจ็บใจ

นี่เป็น “บทเรียน” ที่ “นักดูด” รายล่าสุดต้องพึงสังวร

กับอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ สำหรับความเคลื่อนไหวของทางฝ่ายพรรคเพื่อไทย ที่เป็นเหมือนกับ “ขั้วตรงข้าม” ของ “นักดูด” นั้น ได้แก่ การออกมายืนยันตนเป็นสมาชิกพรรค รวมถึงรับว่าพร้อมให้เสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เป็นชัชชาติคนที่เคยได้ฉายาว่าเป็น “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ผู้เป็นที่ยอมรับและนิยมชมชอบจากคนรุ่นใหม่ในทุกฝ่าย อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นคนของฝั่ง “เพื่อไทย” คนเดียว ที่คนกรุงเทพฯ หรือคนชั้นกลางในเมืองให้การยอมรับ

ด้วยภาพและผลของการทำงานที่จริงจัง มีวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง บวกกับภาพลักษณ์ที่เป็นกันเอง เข้าถึงประชาชนอย่างฉลาด ดูเป็นคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากนักการเมืองหน้าเก่า และที่สำคัญ คือดู “สะอาด” ที่สุดถ้าเทียบกับ “ผู้ท้าชิง” คนอื่นในพรรค และยังไม่มีคดีติดตัว

กระทั่ง คสช.เอง ก็เคยพยายามจะทาบทามเขามาเป็นอนุกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่ก็ถูกปฏิเสธจนเสียหน้ากันมาแล้ว

ด้วยต้นทุนดังกล่าว ถ้าชัชชาติได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ที่ขณะนี้กำลังไร้หัวอยู่ ก็จะเป็นเหมือนหินก้อนใหญ่ที่ทิ้งลงไปในกระแสน้ำทางการเมืองให้เปลี่ยนทิศทางไปอย่างมีนัยสำคัญได้

เพราะที่แล้วมานั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็น “ขาลง” ของ คสช.แต่ก็ไม่ได้แปลว่าฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามจะกลับ “ขาขึ้น” มาได้ เพราะสภาพไร้หัว และภาพลักษณ์ของพรรคที่ยังไม่น่ารักน่าเลือกเสียเท่าไรในสายตาของคนทั่วไป

นั่นคือ แม้จะ “ไม่เอารัฐประหาร” “ไม่เอาพรรคทหาร” “ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ” แต่ก็ตะขิดตะขวงที่จะเลือกฝ่ายตรงข้าม ที่ก็ไม่ได้ดูดีกว่ากันเท่าไรนัก

ส่วนตัวเลือกหน้าใหม่ที่จะลงสนามอย่าง “พรรคอนาคตใหม่” นั้นก็ยังดูไม่มีอนาคตจริงจังนัก เพราะยังไม่เห็นภาพว่าจะเอาชนะในเกมการเมืองนี้ได้อย่างไร

แต่ถ้าตัวแปรใหม่อย่าง “ชัชชาติ” ผู้เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ยอมรับได้ จะมาเป็น “หัวหอก” ให้แก่พรรคที่มีฐานเสียงอยู่แล้ว เป็นพรรคที่น่าจะชนะการเลือกตั้งด้วย ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่คนกลุ่มนี้พอรับได้ และยินดีจะลงคะแนนให้ ด้วยว่าเสียงที่ตนลงไปนั้นน่าจะไม่เสียเปล่า เพราะมีโอกาสว่าพรรคที่ตัวเองเลือกอาจจะชนะเลือกตั้งได้จริงๆ หรือสามารถสกัด “นายกฯ คนนอก” ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ด้วยผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ที่มีต้นทุนทางการเมืองสูงมากคนหนึ่ง

การลงสู่สนามการเมืองของชัชชาติ ถ้าเป็นจริงตามนี้ ก็นับว่า “จอมดูด” ที่หวังสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง จะได้เจอคู่แข่งที่สูสีน่ากลัวอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ก็ยังอาจจะเป็นลูกหลงที่ไปตกหนักแก่พรรคหน้าใหม่ที่อยู่ในปีกไม่เอานายกฯ คนนอก ว่า ฐานเสียงของฝ่ายตัวเอง จะต้องถูกดูดดึงไปเป็นกองหนุนให้แก่ว่าที่นายกฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีแน่นอน.


กำลังโหลดความคิดเห็น