xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “พลังดูด” เริ่มทำงาน

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

<b>พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี</b>
เกมการเมืองที่เปิดฉากมาหลังสงกรานต์ ถือว่าเป็นการแบไพ่เปิดหน้าเล่นที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งของ “ฝ่ายผู้ถืออำนาจปัจจุบัน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เมื่อ ครม.มีมติแต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมกับนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เป็นการทำงานร่วมกับ “ตระกูลการเมือง” ใหญ่จากภาคตะวันออก ที่มีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง คือ “พรรคพลังชล” ที่เขตอิทธิพลฐานเสียงอยู่ในจังหวัดชลบุรี

เรียกว่าเป็น “พรรคท้องถิ่น” ก็ไม่ผิดนัก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “นายกฯ ลุงตู่” จับมือร่วมทำงานกับ “ฝ่ายนักการเมือง” เพราะก่อนหน้านี้ ในการปรับ ครม.รอบล่าสุด ก็มีการดึงตัวนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีต ส.ส. และรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทย เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

แต่นายวีระศักดิ์เอง ก็ไม่ได้มีภาพของ “นักการเมืองอาชีพ” อะไรมากมายนัก เพราะเป็นเหมือน “เทคโนแครต” ที่เคยมีตำแหน่งทางการเมืองบ้างเท่านั้นเอง

แตกต่างจากคนตระกูล “คุณปลื้ม” ที่มีภาพชัดเจนของนักการเมืองแบบนักเลือกตั้งเต็มตัว

และถ้าจะนับรวมข่าวก่อนสงกรานต์นี้ คือ การที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. เพิ่งแต่งตั้งนายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.ด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ นายสกลธีมีข่าวว่าดอดเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีถึงทำเนียบรัฐบาล ไม่นานก่อนมีคำสั่งแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว

ก็เป็นที่ชัดเจนว่า เริ่มมีการ “ดูด” นักการเมืองอาชีพเข้ามา “ชิมลาง” ทำงานร่วมกับรัฐบาล “ลุงตู่” แล้ว

เมื่อประกอบกับการส่งสัญญาณต่างๆ ก่อนหน้านี้ที่ส่งออกมาเรื่อยๆ ก็ทำให้คอการเมืองน่าจะแน่ใจได้แล้วว่า ในการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นจะเป็น “ผู้เล่น” คนหนึ่งที่อาสาจะมาเป็น “ตัวเลือก” สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแน่นอน เพียงแต่จะออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอนแล้ว ด้วยข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 ที่กำหนดว่า หากผู้มีตำแหน่งต่างๆ เช่น สนช. สปท. หรือ คสช.จะลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องลาออกจากตำแหน่งหลังจากรัฐธรรมนูญใช้บังคับไปแล้วไม่เกิน 90 วัน

แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ในเมื่อตามรัฐธรรมนูญแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.ก็ได้

และอย่างที่เรารู้ๆ กันว่า สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ได้กำหนดให้ ส.ว.จำนวน 250 คนสามารถเสนอชื่อและให้ความเห็นชอบตัวนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ซึ่ง ส.ว.ชุดแรกก็จะได้รับการเสนอชื่อโดย คสช.อีกต่างหาก

การจะกลับมาเป็น “นายกฯ” ของลุงตู่หลังการเลือกตั้งนั้นจึง “ไม่ยาก”

แต่การอยู่ในตำแหน่งนั้น “ไม่ง่าย” เพราะในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จะต้องได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ไม่ว่าจะในเรื่องการผ่านกฎหมายสำคัญๆ ที่รวมถึง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการช่วย “อุ้ม” หากถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา

ดังนั้น ในทางความเป็นจริง นายกรัฐมนตรีจึงจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองหรือให้การสนับสนุนตัวเอง เป็นเสียงข้างมากในสภา จึงจะบริหารประเทศได้อย่างราบรื่นจริงจัง ซึ่งถ้าจะเอาแบบ “หวังผลได้” นักการเมืองและพรรคการเมืองที่จะเข้ามาสนับสนุน ก็ควรจะต้องมีประสบการณ์ในเกมการเมืองแบบเลือกตั้งจริงด้วย ไม่ใช่แค่พรรคการเมืองตั้งใหม่ที่ไร้ประสบการณ์ในสนามจริง

เช่นนี้จึงไม่แปลกว่า ทำไมจึงต้องเริ่ม “ดูด” อดีตนักการเมืองที่มีฐานเสียงเข้ามาไว้ในสต็อกแห่งอำนาจ

นี่คงเป็นคำตอบว่า ชื่อตำแหน่งของนายสนธยา คุณปลื้ม คือที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี “ด้านการเมือง” หมายความว่าอย่างไร

และคำพูดของผู้แต่งตั้งที่ว่า “ต้องมีคนเหล่านี้เข้ามาบ้างเพื่อมาทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน” “วันนี้กำลังจะเดินหน้าไปสู่ตรงนั้น” และ “ต้องมีคนที่รู้เรื่องเหล่านี้มาให้คำปรึกษาว่าเป็นอย่างไร เพราะก็ไม่รู้ว่าการเมืองมันทำกันมาอย่างไร ดังนั้น จึงต้องรู้บ้าง” นั้นหมายความว่าอย่างไร

แม้ว่าจะเหมือนกับการกลืนน้ำลายตัวเอง ที่ก่อนหน้านี้เคย “ใส่เขาไว้มาก” ว่านักการเมือง นักเลือกตั้ง แย่อย่างนั้น เลวอย่างนี้ หรือก่อปัญหาความขัดแย้งและสร้างปัญหาให้ชาติ ส่วนพวกของตัวเองนั้นเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาชาติ

แต่ในยามที่ต้องการ “ต่อสายอำนาจ” ก็ยังใช้บริการนักการเมืองอาชีพอยู่ดี

แถมนักการเมืองอาชีพที่ว่า ยังเป็นทายาทของผู้มีอิทธิพลที่ต้องคำพิพากษาจำคุกหลายสิบปี ในคดีทุจริตและคดีจ้างวานฆ่า ที่หนีคำพิพากษาอยู่นานจนมาถูกจับได้ด้วย

ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องนี้จะกระทบกับ “จุดขาย” เดียวของ “ลุงตู่” คือความซื่อสัตย์สุจริตไม่โกงกินนั้น ซึ่งก็มัวหมองลงเพราะเรื่องลูบหน้าปะจมูกและถูกมองว่าไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของคนใกล้ตัวจะยิ่งกู่ไม่กลับหรือไม่

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน ดังนั้น จำนวน “เสียง” ขั้นต่ำของ ส.ส.ที่จะสามารถช่วยหนุนชูขึ้นให้เป็นนายกฯ และบริหารประเทศต่อไปได้จริงนั้น อยู่ที่ 250 และบวกลบไม่น้อยกว่า 10 ที่นั้นเพื่อความปลอดภัย

ภายใต้เงื่อนไขที่พรรคการเมืองใหญ่ที่มีฐานเสียงมากที่สุดในประเทศอย่างพรรคเพื่อไทย “ไม่เอาด้วย” แน่นอน ส่วนพรรคอันดับสองอย่างประชาธิปัตย์ก็แบะท่าออกมาแล้วว่า “ยัง” ไม่เปิดทางโอเคจับมือกับนายกฯ คนนอก

ดังนั้น หากต้องการที่นั่ง ส.ส.ไว้เพื่อการต่อรองเป็นรัฐบาล จึงน่าจะต้องทำงานหนัก และใช้ “พลังดูด” มาอีกแรงโขทีเดียว อย่างน้อยๆ น่าจะมีสักร่วมร้อยที่นั่งไว้ต่อรองเพื่อการบรรลุฝั่งฝัน

ซึ่งคอการเมืองเราก็คงจะได้จับตาดูกันว่า ไอ้เจ้าพลังดูดที่ว่านั้น จะดูดเอา “น้ำดี” หรือ “น้ำเสีย” จากลำคลองธารทางการเมืองสายไหนเข้ามาอีก.


กำลังโหลดความคิดเห็น