xs
xsm
sm
md
lg

Pseudo-Expert กับ ข่าวต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

ภาพเอเอฟพี
หลายปีมานี้ โลกโซเชียลมีเดียก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญต่อความรู้สึก นึกคิดของพวกเรามากขึ้น ๆ

ในฐานะคนข่าว คนแปล คนเขียนหนังสือที่ต้องสัมผัสกับข่าวต่างประเทศอยู่ทุกวันเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ผมพบว่าในโลกสื่อสังคมออนไลน์มี "ผู้เชี่ยวชาญ" ในแต่ละด้านมากมายไปหมด ช่วงแรก ๆ ผมรู้สึกเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่งกับการไล่อ่านข้อเขียน ความคิด ความเห็นของคนโน้นคนนี้ด้วยความกระหายใคร่รู้เรื่องราวต่าง ๆ จนเรียกได้ว่าตามอ่าน ตามดู อย่างไรก็ไม่หมด

ถัดจากโลกยุคอินเทอร์เน็ตเป็นต้นมา "ยุคโซเชียลมีเดีย" นี่แหละที่เหมือนเป็นการต่อยอดอินเทอร์เน็ต เป็นประตูบานใหม่ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับผมจริง ๆ
ภาพเอเอฟพี
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ประมาณสองปีหลังมานี้ ผมรู้สึกขยาดกลัวกับ "ยุคโซเชียลมีเดีย" มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผมพบว่า "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่ผมเคยให้ความนับถือ ให้ความสนใจติดตามอ่านข้อเขียน งานแปล และความเห็นของพวกเขา หลายคน (มากกว่า 80%) เป็น ผู้เชี่ยวชาญปลอม หรือจะเรียกว่า Pseudo-expert ก็ได้

สิ่งที่ผมใช้สังเกต Pseudo-expert เหล่านี้คือ

หนึ่ง ข้อเขียนของเขามีแหล่งอ้างอิงหรือไม่? เพราะหากไม่ใช่นักข่าว นักวิชาการ หรือคนที่ลงพื้นที่จริง ๆ การเขียนเรื่องราว ต่างๆ จากข้อมูลชั้นสอง ชั้นสาม ย่อมต้องการแหล่งอ้างอิง ถ้าหากไม่มีหรือหาไม่เจอ ก็น่าสงสัยว่า อาจจะลอก อาจจะมโนเขียนขึ้นมาเอง หรือมีวาระซ่อนเร้นอะไรอยู่

สอง ถ้ามีแหล่งอ้างอิง แหล่งอ้างอิงของเขาคืออะไร? สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักไหน AP, AFP, Reuters, CNN, BBC, Xinhua, Aljazeera, Bloomberg, Skynews, RT, Kyodo ฯลฯ หรือ เป็นรายงานวิชาการ งานวิจัย ข้อมูลจากภาครัฐ หรือข้อมูลจากองค์กรโลกบาลองค์กรใด สถาบันไหน เพราะการทราบแหล่งอ้างอิงจะช่วยกลั่นกรองถึงเรื่องความน่าเชื่อถือได้อีกระดับหนึ่ง

สาม ลึกไปกว่าแหล่งอ้างอิงก็คือ ใครเป็นคนเขียน คนเขียนมี Background อะไร?

สี่ ภาพที่เขาใช้เป็นภาพใหม่ ภาพเก่า ใครเป็นคนถ่าย สอดคล้องกับเรื่องราวหรือไม่ หรือมีความน่าเชื่อถือขนาดไหน?

ห้า เมื่อนำข้อมูลที่เขาเผยแพร่ไป Search ดูข้อมูลเพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ต ก็จะทราบรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้น

การดูข้อมูลเหล่านี้ ก็เหมือนเวลาเราซื้อหนังสือเขียน หรือ หนังสือแปล นอกจากจะดูชื่อหนังสือ ชื่อคนเขียน อ่านคำนำ/บทนำ หรือเนื้อหาโดยคร่าวแล้ว เราก็มักจะดูไปถึงคนแปลด้วยว่า เป็นใคร? มีผลงาน มีประสบการณ์ หรือมี Portfolio อะไรที่จะทำให้เราเชื่อถือรายละเอียดหรือข้อมูลในหนังสือเล่มนั้น ๆ ส่วนหนังสือนิยาย หรือแนวบันเทิงคดี (Fiction) นี่คนแปลสำคัญมาก เพราะบ่งชี้ได้เลยว่าใครแปลสนุกหรือไม่สนุก ภาษาบิดเบี้ยวหรือไม่

หลายครั้งในการบรรยายให้อาจารย์ นิสิต-นักศึกษา คนในแวดวงข่าวสารข้อมูล ผมมักจะยกตัวอย่างเกี่ยวกับ "ข่าวจีน" ที่ผมมีโอกาสสัมผัสเยอะที่สุด ผมมักจะถามว่า รู้ไหมว่า ซินหัว, CCTV, China Daily, Global Times, People's Daily, China News Service, CRI ฯลฯ แตกต่างกันอย่างไร ทั้ง ๆ ที่สื่อทั้งหมดก็เป็นของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน?
ภาพเอเอฟพี
นอกเหนือไปจาก ความน่ากลัวของเหล่า Pseudo-Expert แล้ว ทุกวันนี้สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ วิจารณญาณของคนเสพสื่อ ความรู้เท่าทันสื่อ หรือ Media Literacy ของคนอ่าน-คนเสพโซเชียลมีเดีย ในปัจจุบันนี้ที่อยู่ในระดับต่ำมาก ๆ ต่ำโดยไม่เกี่ยวกับอายุ เพศ วัย หรือ ระดับการศึกษา ยกตัวอย่างเรื่องข่าวความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ข่าวจีน ข่าวสงครามในตะวันออกกลาง รวมไปถึงล่าสุดคือข่าว "สหรัฐ-ฝรั่งเศส-อังกฤษ" รุมถล่ม "ซีเรีย" (ที่มีรัสเซียหนุนหลัง) ด้วย

ทำไมคนชอบเชียร์ ชอบกระพือ (ถึงขั้นโหยหา) ว่าความขัดแย้งอันนั้นอันนี้จะก่อให้เกิด สงครามโลกครั้งที่ 3 ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีความใกล้เคียงแม้แต่น้อย แล้วพาลไปยังสื่อหลัก ๆ ว่าทำไมไม่รายงาน ไม่วิเคราะห์?

เรื่อง Media Literacy นี้ ผมคิดว่าเป็นวาระระดับชาติ หรือระดับโลกด้วยซ้ำ ในยุคที่โซเชียลมีเดียแทรกซึมไปอยู่ในทุกลมหายใจของชีวิต และจะเป็นตัวกำหนดความรู้สึกนึกคิด มุมมอง และการกระทำของเรา รวมถึงกำหนดอนาคตลูกหลานของเราด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น