xs
xsm
sm
md
lg

2 บัตร 2 ความต่าง “บัตรกรุงไทยพร้อมจ่าย” VS “กรุงไทย Travel Card”

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ช่วงนี้ธนาคารกรุงไทย เพิ่งจะครบรอบ 52 ปี ไปหมาดๆ แม้การรีแบรนดิ้งธนาคาร จะเริ่มต้นจากการเปลี่ยนโลโก้รูปนกวายุภักษ์ และยังคงค่อยๆ ปรับภาพลักษณ์ใหม่ของธนาคาร แต่ก็มีผลิตภัณฑ์บัตรใหม่ๆ สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาออกมา

บัตรแรก ... เป็นผลมาจากนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการให้เกิดสังคมไร้เงินสด ด้วยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต่อไปหน่วยงานราชการจะไม่รับเงินสดและเช็คอีกต่อไป จึงต้องออกบัตรใบนี้ สำหรับคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารหรือบัตรใดๆ มาก่อน

อีกบัตรหนึ่ง ... เจาะกลุ่มเป้าหมายคนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักเรียนนอก บริษัททัวร์ และพนักงานสายการบิน ที่เดินทางไปต่างประเทศปีละ 7 ล้านคน ตั้งเป้าออกบัตรประมาณ 2 แสนบัตร

และดูเหมือนว่าผลิตภัณฑ์บัตรที่ออกมา ธนาคารมีเงื่อนไขในการสมัครบัตรที่ยืดหยุ่นขึ้น เพราะใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น บางผลิตภัณฑ์แค่มีบัญชีกับธนาคารกรุงไทยก็สมัครได้โดยไม่ต้องใช้สมุดบัญชีก็มี

หน้าตาของผลิตภัณฑ์บัตรกรุงไทยที่ออกมาใหม่นี้จะเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างกันตรงไหน จุดเด่น ข้อดี ข้อสังเกตของแต่ละบัตรจะเป็นอย่างไร ลองมาวิเคราะห์ดูกัน
ภาพจาก iBallUD Channel
- บัตรกรุงไทยพร้อมจ่าย

เมื่อกรมบัญชีกลาง โดยกระทรวงการคลัง กำหนดให้ส่วนราชการทุกแห่งทั่วประเทศ ที่มีการรับเงิน-จ่ายเงิน ณ หน่วยงาน ต้องใช้วิธีการรับ-จ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ตั้งแต่ 27 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

ธนาคารกรุงไทย ในฐานะเจ้าภาพหลักที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC ให้หน่วยงานราชการทั่วประเทศ จึงต้องผลิตบัตรที่เรียกว่า “บัตรกรุงไทยพร้อมจ่าย” เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีบัญชีธนาคารหรือบัตรเดบิตได้ใช้งาน

บัตรนี้ใช้สำหรับชำระค่าบริการที่หน่วยงานราชการโดยไม่ต้องใช้เงินสด เช่น จ่ายภาษีที่สำนักงานสรรพากร, จ่ายค่าโอน ค่าจดจำนองที่สำนักงานที่ดิน หรือจ่ายภาษีรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ที่สำนักงานขนส่ง หรือ จ่ายค่าทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น

วิธีการใช้งานก็คือ เติมเงินลงในบัตรตามจำนวนที่ต้องการ ผ่านช่องทางต่างๆ แล้วนำบัตรใบนี้ไปให้หน่วยงานราชการชำระเงิน เหมือนรูดบัตรเครดิต เงินจะถูกหักจากเงินในบัตรตามจำนวนที่เราเติม แล้วจะได้สลิปยืนยันทำรายการ

หากเงินที่เราเติมลงไปนั้นเหลืออยู่ ยังสามารถถอนเงินสด หรือโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มกรุงไทย และเครื่องรับฝากเงินสดกรุงไทยได้อีกด้วย เหมือนการใช้งานบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิตทุกประการ
ภาพจาก iBallUD Channel
บัตรนี้ฟรีค่าออกบัตรแรกเข้า และฟรีค่าธรรมเนียมรายปี มีอายุการใช้งาน 5 ปี วิธีสมัคร เพียงแค่เดินตัวเปล่าพร้อมบัตรประชาชนตัวจริง ไปที่สาขาของธนาคารกรุงไทยทุกแห่ง แจ้งว่า “จะทำบัตรกรุงไทยพร้อมจ่าย”

ไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่ และไม่ต้องใช้สมุดบัญชีธนาคาร เอาแค่บัตรประชาชนมาอย่างเดียวพอ เจ้าหน้าที่ธนาคารจะให้เราเซ็นเอกสาร แล้วจะได้บัตรพลาสติกสีน้ำเงิน หน้าบัตรมีคำว่า “กรุงไทยพร้อมจ่าย”

บัตรใบนี้ตั้งค่ารหัสบัตรทุกใบคือ 1234 เพราะฉะนั้นใครที่ได้บัตรมาแล้ว ให้รีบไปเปลี่ยนรหัสบัตรที่ไม่ใช่ 1234 ที่ตู้เอทีเอ็มกรุงไทยทันที เพราะถ้าบัตรหายแล้วลืมเปลี่ยนรหัสบัตร คนอื่นก็กดเงินสดออกมาใช้ได้

ส่วนช่องทางการเติมเงิน ปัจจุบันสามารถทำได้ 3 ช่องทาง คือ ผ่านตู้เอทีเอ็มกรุงไทย เครื่องรับฝากเงินสดกรุงไทย และเว็บไซต์ ktbnetbank.com เลือกเมนู “เติมเงินบัตรกรุงไทย” แล้วใส่รหัสหน้าบัตร 16 หลัก

แต่สำหรับแอปพลิเคชั่น KTB Netbank ยังไม่มีเมนู “เติมเงินบัตรกรุงไทย” เหมือนในเว็บไซต์ เพราะฉะนั้นถ้าตู้เอทีเอ็มกรุงไทยอยู่ห่างไกล เวลาเติมเงินจากบัญชีกรุงไทย อาจต้องลำบากเปิดบราวเซอร์ไปก่อน

บัตรนี้นอกจากใช้สำหรับรูดบัตรตามหน่วยงานราชการแล้ว ก็ทำได้แค่ถอนเงินอย่างเดียว และด้วยความที่ไม่มีสัญลักษณ์เครือข่ายรับบัตร เช่น VISA หรือ MasterCard แน่นอนว่ารูดซื้อสินค้าตามห้างร้านต่างๆ ทั่วไปไม่ได้

กลุ่มเป้าหมายของบัตรใบนี้คือ คนที่ไม่มีบัตรเดบิต หรือบัญชีธนาคารมาก่อน ถนัดแต่การใช้เงินสด หรือคนที่มีบัญชีธนาคารอยู่แล้วแต่ไม่ทำบัตร เพราะไม่อยากจ่ายค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตทุกปี ก็สมัครบัตรกรุงไทยพร้อมจ่ายเอาไว้ใช้งานก็ได้

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการที่มีเครื่องรูดบัตร EDC สามารถใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิตได้ทุกธนาคาร คิวอาร์โค้ดทุกธนาคาร หรือบัตรเอ็ม-พาสของกรมทางหลวง จะมีกระเป๋าเงิน (อี-มันนี่) แยกจากค่าผ่านทางต่างหาก ก็รูดบัตรได้

เพราะฉะนั้น คนที่มีบัตรเดบิต บัตรเครดิตอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสมัครบัตรกรุงไทยพร้อมจ่าย แต่ถ้าจะสมัครบัตรกรุงไทยพร้อมจ่ายเพิ่มอีกใบก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด

- บัตรกรุงไทย Travel Card

ในช่วงที่ธนาคารกรุงไทยแถลงข่าวครบรอบ 52 ปี โดยมีศิลปิน BNK48 มาร่วมสร้างสีสันในงาน ได้มีการเปิดตัว “บัตรกรุงไทย Travel Card” จากนั้นวันที่ 5 เมษายน 2561 จะเปิดให้ลูกค้าสมัครบัตรใบนี้อย่างเป็นทางการ

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารต้องการส่งเสริมให้เกิดสังคมไร้เงินสดที่ไม่จำกัดเฉพาะในประเทศเท่านั้น ซึ่งได้ตั้งเป้าออกบัตรประมาณ 2 แสนใบ

บัตรนี้เน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่นักเดินทาง หรือผู้ที่จะออกเดินทางไปยังต่างประเทศ เช่น ไปเที่ยว หรือไปศึกษาต่อเป็นระยะเวลาสั้น ๆ สามารถแลกเงินในบัตรนี้เพื่อใช้จ่าย หรือถอนเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มในต่างประเทศที่รับบัตร VISA ได้

ย้ำว่า ใช้ได้ในต่างประเทศ ในเมืองไทยใช้ไม่ได้ นอกจากเปลี่ยนรหัสบัตรที่ตู้เอทีเอ็มกรุงไทยเท่านั้น

หลักการก็คือ บัตรใบนี้จะมีบัญชีกระแสรายวัน 7 สกุลเงิน ได้แก่ AUD ดอลลาร์ออสเตรเลีย, EUR เงินสกุลยูโร, GBP ปอนด์สเตอร์ลิง ของอังกฤษ, HKD ดอลลาร์ฮ่องกง, JPY เงินเยน ของญี่ปุ่น, SGD ดอลลาร์สิงคโปร์ และ USD ดอลลาร์สหรัฐฯ

วิธีการก็คือ เอาเงินบาทไทยในบัญชีของเรา ไปแลกเป็นสกุลเงินต่างประเทศเหล่านี้ ผ่านแอปพลิเคชั่น KTB Netbank หรือแอปฯ “เป๋าตังค์กรุงไทย” (แนะนำแอปฯ นี้จะใช้งานง่ายกว่า) จากนั้นก็นำบัตรไปใช้จ่ายต่างประเทศที่รองรับสกุลเงินนั้นๆ

ที่สำคัญ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ หากถอนหรือใช้จ่ายเกินกว่าจำนวนเงินที่แลกไว้ รายการจะถูกปฏิเสธ และหากต้องการเพิ่มก็สามารถแลกเพิ่มได้ตลอดเวลา จึงไม่ต้องเสี่ยงกับบัตรอื่นๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน

ส่วนคนที่ยังไม่ออกเดินทางในเร็ววันนี้ ถ้าพบว่าเงินบาทของเรา แลกเงินต่างประเทศได้ถูกลง ก็แลกเก็บเอาไว้ก่อนก็ได้ ถึงเวลาไปเมืองนอกเมื่อไหร่ก็ค่อยนำไปใช้จ่ายที่นั่น ซึ่งธนาคารฯ ประกาศว่าให้แลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศในอัตราพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ ไม่สนับสนุนการเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะฉะนั้นเวลาออกบัตรให้ พนักงานก็จะสอบถามวัตถุประสงค์กับเราก่อนว่า จะใช้บัตรทำอะไร หรือมีแผนจะไปเที่ยวที่ไหน

ถ้ากลับจากเมืองนอกแล้วมีเงินเหลือ เรายังสามารถแลกเงินสกุลต่างประเทศที่เราฝากไว้ คืนเป็นเงินบาทไทยก็ได้ ผ่านแอปฯ KTB Netbank หรือแอปฯ “เป๋าตังค์กรุงไทย” ได้เช่นกัน ซึ่งสามารถทำรายการได้ตลอดเวลา

แต่สิ่งที่ควรทราบก็คือ เงินสกุลต่างประเทศที่แลกไปแล้วจะไม่ได้รับดอกเบี้ย สามารถแลกเงินเก็บไว้ได้สูงสุด 1 ล้านบาท (รวมทุกสกุลเงิน) ถ้าต้องการขายคืน ธนาคารฯ จะให้แลกฟรี 5 ครั้งต่อเดือน ครั้งที่ 6 เป็นต้นไปคิด 100 บาทต่อรายการ

ส่วนการถอนเงินในต่างประเทศ ธนาคารฯ จะคิด 100 บาทต่อรายการ โดยเลือกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวัน และถอนเงินได้ที่ตู้ ATM ที่รองรับได้ 7 สกุลเงิน สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทต่อวัน ขณะที่การรูดซื้อสินค้าและบริการใน 7 สกุลเงิน ได้สูงสุด 500,000 บาทต่อวัน

บัตรนี้ใบมีค่าธรรมเนียมออกบัตร 200 บาท (ช่วงแนะนำ สมัครบัตรฟรี ถึง 15 พฤษภาคม 2561) แต่ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี มีอายุการใช้งาน 2 ปี ใช้ได้ตามร้านค้าต่างประเทศรับบัตร VISA หรือ VISA Paywave ใน 7 สกุลเงิน

วิธีการสมัคร เพียงแค่ไปที่สาขาของธนาคารกรุงไทย บอกว่าต้องการสมัครบัตรกรุงไทย Travel Card โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่ต้องเอาสมุดบัญชีธนาคารมาก็ได้

แต่ต้องมีบัญชีธนาคารกรุงไทย และสมัครแอปฯ KTB Netbank ไว้ก่อนหน้านี้ จึงจะสมัครบัตรกรุงไทย Travel Card ได้ เพราะเวลาขายคืน เงินจะโอนเข้าบัญชีที่ลูกค้าเลือกในแอปฯ KTB Netbank

เมื่อกรอกเอกสาร เปลี่ยนรหัสผ่าน 6 หลัก รับบัตร ก็ได้บัตรใบนี้มา จากนั้นให้รอ 15 นาที ระบบจะแสดงผลเมนู Travel Card ในแอปฯ KTB Netbank หรือแอปฯ เป๋าตังค์กรุงไทย ทำรายการแลกเงินผ่านแอปฯ เพื่อเก็บไว้ในบัตรได้ทันที

ลักษณะของบัตรกรุงไทย Travel Card จะแตกต่างจากบัตรเดบิตทั่วไปตรงที่ เลขบนบัตรจะพิมพ์นูนคล้ายกับบัตรเครดิต ไม่ใช่สลักเหมือนบัตรเดบิต มีสัญลักษณ์ VISA Paywave สำหรับใช้จ่ายโดยแตะบัตรแทนการรูดบัตร

เป็นบัตรเงินสดที่เหมาะสำหรับเก็บไว้ติดปกใส่พาสปอร์ต นอกจากบัตรสมาชิกสายการบิน หรือบัตรร้านค้าดิวตี้ฟรี เพราะโอกาสที่จะได้หยิบมาใช้มีไม่บ่อยนัก

แม้จะไม่ได้แลกเงินชนิดธนบัตรจับต้องได้ แต่ก็ถือว่ามีเงินต่างประเทศเก็บไว้ เพื่อรอใช้จ่ายทีเดียว และวิธีการแลกง่ายมาก มากหรือน้อยก็แลกได้ ผู้เขียนทดสอบแลกเงินแค่ 100 บาทก็ทำได้แล้ว

นับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เพราะธนาคารในเมืองไทยยังไม่มีบัตรเดบิต Travel Card เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่บางธนาคารมี Travel Card และนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมนำมาใช้ในประเทศไทยถึงทุกวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น