xs
xsm
sm
md
lg

หรือ “ประชาธิปัตย์” จะตัดหางปล่อยวัด “ลุงตู่?”

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง


วันที่ 1 เมษายน อาจจะถือว่าเป็น “ดีเดย์” ของการเริ่มต้น “ฤดูกาลทางการเมือง” ฤดูกาลใหม่ แม้ว่าแท้จริงแล้ว “กำหนดการ” ของการเลือกตั้งนั้นจะยังไม่ชัดเจนก็ตาม

เพราะเป็นวันที่ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2561 นั้นกำหนดให้ถือเป็นวันแรก ที่สมาชิกพรรคการเมืองเดิม จะไปยืนยันตนแสดงความเป็นสมาชิกพรรคของตนได้

แม้ว่าคำสั่ง คสช.ดังกล่าว จะถูกผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในประเด็นว่าไปทำการเซตซีโร่พรรคการเมืองเดิม ให้ถือว่าสมาชิกพรรคจะต้องพ้นสภาพไป หากไม่ทำการยืนยันตนในกำหนดเวลา

แต่โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย นั่นก็หมายความว่ายังมีผลใช้บังคับอยู่ตามเดิมเช่นนี้พรรคการเมืองไหนไม่อยากถูกเซตซีโร่ที่ว่า ก็ต้องให้สมาชิกมาทำการยืนยันตนแสดงความเป็นสมาชิกพรรค ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ถูกแก้ไขตามคำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าว

และการให้สมาชิกพรรคมายืนยันความเป็นสมาชิกนั้น ก็เท่ากับเป็นการ “เช็กชื่อ” หรือ “กระชับวงล้อม” กันเข้ามาในตัวด้วย ว่าบรรดาสมาชิกพรรค ระดับที่เป็น ส.ส. หัวคะแนน หรือแกนนำนั้น คนไหนกลุ่มไหนบ้างยังเหนียวแน่นอยู่กับทางพรรค รีบมายืนยันตนตั้งแต่วันแรกๆ

กลุ่มไหน ก๊กไหนที่ “แทงกั๊ก” ไว้ก่อน ยังไม่มา “เช็กชื่อ” หรือที่ประกาศตัวชัดว่า ทางใครทางมัน จะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือจะไปซบกับพรรคใหม่ที่มีผู้ก่อตั้งไว้

รวมถึง “ใคร” ที่มีทีท่าว่าจะไปร่วมหัวจมท้ายกับ “พรรคการเมือง” ที่จะสนับสนุน “คนนอก” ซึ่งนาทีนี้เขาก็รู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ว่าหมายถึง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนปัจจุบันนั่นเอง

ท่าทีของทางฝ่าย “ปีกแดง” อย่างพรรคเพื่อไทยนั้นไม่ต้องสงสัย ว่าด้วยภาพลักษณ์และอุดมการณ์ รวมถึงเป็น “โจทก์โดยตรง” กับฝ่าย “ทหาร” และขั้วอำนาจปัจจุบันนั้น ก็แน่นอนว่าจะต้องมีจุดยืนในการปฏิเสธการกลับเข้าสู่อำนาจของลุงตู่ แบบไม่ต้องสงสัย

แต่ที่สาธารณชนสนใจและจับตากว่า คือท่าทีของ “ปีกสีฟ้า” หรือ “พรรคประชาธิปัตย์” ว่าจะเอาอย่างไรกับกระแสที่ก่อนหน้านี้แรงเหลือเกิน ว่านายกฯ คนเดิม จะมานั่งเป็นนายกฯ คนใหม่ คนแรกภายหลังการเลือกตั้ง

ดังนั้น คำประกาศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศชัดว่า สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นั้นต้องให้การสนับสนุน “หัวหน้าพรรค” อยู่แล้ว ใครไม่สนับสนุนหัวหน้าพรรค โดยเฉพาะจะไปสนับสนุน “ลุงตู่” ก็ขอให้ไปพรรคอื่น ซึ่งมีพื้นที่อยู่มากแล้ว

คำประกาศนี้เหมือนกับว่า “ประชาธิปัตย์” ไม่เอา “นายกฯ คนนอก” และไม่ “สนับสนุน” พล.อ.ประยุทธ์ ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

เล่นเอาเจ้าตัวที่ถูกกล่าวถึงนั้น ถึงกับหัวร้อนออกมาโต้ทันควันว่า พูดจาให้มันดีๆ และให้เกียรติกันหน่อย

“ท่าที” ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนี้ เหมือนจะแสดงให้เห็นว่า “พรรคใหญ่ที่สุด” อีกเบอร์หนึ่ง “ไม่เอาด้วย” กับการสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีแน่ๆ แล้ว

ดังนั้น “แนวทาง” ที่มีผู้วิเคราะห์ว่า พรรคใหญ่ที่ครองเสียงข้างมาก และคะแนนเสียง ส.ส.ส่วนใหญ่ของประเทศนั้น อาจจะจับมือกันชั่วคราวเพื่อ “ขวาง” นายกฯ คนนอก ในทำนองที่ว่า ร่วมมือกันจัดการกับ “ศัตรูร่วม” กันก่อน แล้วจากนั้นค่อยเคลียร์กันเอง ฟังดูดีมีน้ำหนักขึ้นมาทันที

และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่อง “น่าเหนื่อย” สำหรับตัวพล.อ.ประยุทธ์ เอง หากมีความประสงค์จะกลับมาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งจริงๆ

เพราะนอกจากจะต้องหาเสียง ส.ส.ให้ได้พอที่จะเป็นเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง (เมื่อรวมกับเสียง ส.ว.) ในการเสนอชื่อและออกเสียงสนับสนุนให้ตัวเองเป็นนายกฯ แล้ว

การบริหารประเทศในขณะที่ “พรรคใหญ่” ทั้งสองปีกอยู่เป็นฝ่ายตรงข้าม ต่อให้มี ส.ว.ที่แต่งตั้งเองกับมือเป็นกองหนุนอยู่ครึ่งสภา ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

เพราะการผ่านกฎหมาย หรือการฝ่าด่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องใช้ “เสียง ส.ส.” ในมือเป็นสำคัญ

แต่กระนั้น หนทางของ “ลุงตู่” ก็ใช่ว่าจะถูกปิดตายลง

หรือจะกล่าวกันให้ชัด ก็ไม่ได้แปลว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะ “ปิดประตูตาย” ใส่ “นายกฯ คนนอก” เสียทีเดียวก็หาไม่

จริงอยู่ ว่าถ้อยแถลงของนายอภิสิทธิ์นั้น เหมือนชี้เทไปในทางนั้น

แต่หากมาจับอ่านกันระหว่างบรรทัด ก็จะรู้ว่า มันมี “ช่องว่าง” ของการ “พลิก” ได้อยู่มาก

ขอคัดคำพูดของเขามาลงไว้แบบเต็มๆ ไม่ตัดทอน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ ก็สนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองในวิถีทางประชาธิปไตย ไปหาเสียงกับประชาชนบอกว่า จะทำอะไรให้กับประชาชน ก็ต้องบอกด้วยว่าใครจะเป็นคนทำอยู่แล้ว และต้องเคารพเสียงของประชาชน”

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น เขากล่าวว่า

“ผมว่าตอนนี้ใครที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มีทางเลือกเยอะอยู่แล้วนะ ไม่ต้องมาที่นี่ ไปพรรคคุณไพบูลย์ (นิติตะวัน) ก็ได้ พรรคอะไรก็ได้เยอะแยะไปหมด อยู่กับประชาธิปัตย์ก็ต้องสนับสนุนพรรค สนับสนุนหัวหน้าพรรค หัวหน้าพรรคจะเป็นใครก็แล้วแต่”

จะเห็นว่า โดยคำพูดแล้ว ไม่มีคำไหนที่เอ่ยตรงๆ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรค จะไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่กล่าวว่า “สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรค”

ย้ำนะครับว่า “สนับสนุนหัวหน้าพรรค” แต่ก็ไม่ได้บอกว่าสนับสนุนอะไร หรือหมายถึงการสนับสนุนในการ “เสนอชื่อ” ของหัวหน้าพรรคให้เป็นนายกรัฐมนตรี

เพียงแค่ “สนับสนุนหัวหน้าพรรค” เฉยๆ

ดังนั้น ถ้า “หัวหน้าพรรค” ประสงค์จะลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็คงไม่มีปัญหา การสนับสนุนหัวหน้าพรรค คือการสนับสนุนโหวตให้เป็นนายกฯ

แต่ถ้า “หัวหน้าพรรค” ตัดสินใจไปร่วม หรือหัวหน้าพรรคตัดสินใจสนับสนุน “คนอื่น” ให้เป็นนายกฯ เล่า

เท่ากับสมาชิกพรรค ก็จะต้องสนับสนุนการตัดสินใจของหัวหน้าพรรคนั้น ด้วยการโหวตให้คนที่หัวหน้าพรรคสนับสนุนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

นี่เป็นการ “แสดงจุดยืน” แบบหล่อๆ โดยไม่จำเป็นต้องปิด “ทางออก” ของตัวเอง และไม่ได้ปิดทางเลือกของ “ใคร” บางคนด้วย

การเดินเกมการเมืองแบบชัดเจนแต่ไม่ชัดเจน เด็ดขาดประกาศชัดแต่ยังมิวายทิ้งทางเลือกไว้ ต้องระดับ “เก๋า” อย่างพรรคสีฟ้านี่แหละ ถึงจะทำได้!


กำลังโหลดความคิดเห็น