ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแวดวงธนาคารไทย เมื่อธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารกรุงเทพ ประกาศ ‘ฟรีค่าธรรมเนียม’ ทุกธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ
ส่งผลทำให้ การโอนเงินข้ามเขตสำนักหักบัญชี จากกรุงเทพฯ ไปยังบัญชีสาขาต่างจังหวัด จากเดิมฟรี 5 ครั้งต่อเดือน ครั้งต่อไป 10 บาทต่อรายการ จะโอนเงินฟรีได้ไม่จำกัด
โอนเงินต่างธนาคาร จากธนาคารหนึ่ง ไปอีกธนาคารหนึ่ง เดิมโอนเงินต่ำกว่า 20,000 บาท คิด 25 บาทต่อรายการ และ 20,000-50,000 บาท คิด 35 บาทต่อรายการ ก็จะโอนฟรีไม่จำกัดเช่นกัน
จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งการเติมเงินต่างๆ จากเดิมขึ้นอยู่กับผู้รับชำระกำหนด เช่น จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ คิดค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อรายการ ก็จะจ่ายบิลฟรีไม่จำกัดเช่นกัน
เบื้องต้น ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ฟรีค่าธรรมเนียมถึงสิ้นปี 2561 ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ ฟรีไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากทางธนาคาร
เรื่องนี้สร้างความฮือฮาเป็นวงกว้าง เพราะแต่เดิมมีเพียงธนาคารขนาดกลางที่ฟรีค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะโอนเงินต่างธนาคาร
แต่มีเงื่อนไขต้องเปิดบัญชีเฉพาะ เสียค่าบัตรเดบิตแรกเข้าและรายปี หรือบัญชีนั้นจะไม่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเลย
แต่พอธนาคารใหญ่ๆ ลงมาเล่นสงครามฟรีค่าธรรมเนียมแบบ ‘ไร้เงื่อนไข’ ด้วยเอง ธนาคารขนาดกลางบางแห่งถึงกับเรียกประชุม เพื่อรับมือกับสงครามฟรีค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ
พร้อมรักษาฐานลูกค้าไว้ไม่ให้ไหลไปแบงก์อื่น
ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศฟรีค่าธรรมเนียมเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อรายได้แบบ ‘เสือนอนกิน’ ของธนาคารพาณิชย์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จะสูญเสียรายได้มากถึง 9,000 ล้านบาทต่อปี จากทั้งระบบ 1.9 แสนล้านบาท
แต่ในมุมมองของธนาคารเอง กลับมองว่า การให้ลูกค้าใช้มือถือโอนเงิน ซึ่งโอนแต่เพียงตัวเลข ธนาคารก็ได้ประโยชน์ เพราะลดต้นทุนบริหารจัดการเงินสด
และยิ่งลูกค้าโอนเงินมากขึ้น ธนาคารยิ่งเห็นข้อมูลธุรกรรมมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็น ‘บิ๊ก ดาต้า’ (Big Data) ที่ธนาคารสามารถนำไปวิเคราะห์ แล้วออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้า
พร้อมสร้างรายได้ให้ธนาคาร ชดเชยค่าธรรมเนียมที่เสียไป เช่น กองทุนรวม ประกันชีวิต บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ฯลฯ
นอกจากนี้ มุมมองของผู้บริหารธนาคาร ที่มาจากสายโทรคมนาคมมาก่อน อย่าง ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ จากธนาคารไทยพาณิชย์ ก็มองว่า การประกาศฟรีค่าธรรมเนียมผ่านมือถือ กระทบน้อยมาก เพราะค่าธรรมเนียมหลักๆ อยู่ที่เอทีเอ็ม
การประกาศฟรีค่าธรรมเนียม เฉพาะผ่านมือถือเท่านั้น ไม่รวมตู้เอทีเอ็ม เพราะอยากชวนคนเข้ามาใช้ช่องทางดิจิตอลมากขึ้น และคาดหวังว่าลูกค้าจะใช้งานอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ ธนาคารไม่ได้แข่งขันกับธนาคารด้วยกันเอง แต่สกัดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ทั้งเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) หรือเอปพลิเคชั่นที่จ่ายเงินและปล่อยกู้ได้ เช่น แกร๊บเพย์ แม้แต่ฟินเทครายใหม่ที่เป็นคู่แข่งและให้บริการไม่มีค่าธรรมเนียม
แม้ว่าการประกาศฟรีค่าธรรมเนียม จะสร้างความกลัวให้กับนักลงทุน หุ้นในกลุ่มธนาคารลดลงไปบ้าง เฟซบุ๊กเพจบางแห่งวิเคราะห์ไปไกลว่า เมื่อโอนเงินต่างธนาคารฟรี จะทำให้ไม่มีคนใช้พร้อมเพย์
มีคำอธิบายจากคนที่ทำระบบพร้อมเพย์ ซึ่งยังไม่เป็นที่ยืนยัน ระบุว่า ปัจจุบันทุกธนาคารเพิ่งย้ายระบบโอนเงินทั้งหมด จากระบบเดิมมาเป็น ‘ระบบพร้อมเพย์’ แล้วเสร็จไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เวลาลูกค้าส่งคำสั่งรายการโอนเงิน ทั้งจากเอทีเอ็ม หรือผ่านมือถือ จะไม่ได้รู้สึกผิดสังเกต แต่ระบบหลังบ้านของธนาคาร ก็จะส่งรายการเข้าไปที่ ‘ระบบพร้อมเพย์’ ซึ่งเป็นระบบใหม่โดยอัตโนมัติ
โดย เลขที่บัญชีธนาคาร ก็ถือเป็นรหัสพร้อมเพย์ นอกจาก เลขที่บัตรประชาชน / เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก, เบอร์มือถือ 10 หลัก และ รหัสอี-วอลเลท (ทรูมันนี่ หรือ เอ็มเปย์) 15 หลัก
ระบบพร้อมเพย์ ไม่ใช่บริการ แต่เป็น “โครงสร้างพื้นฐาน” (Infrastructure) การชำระเงินที่ภาครัฐออกนโยบาย ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล มอบหมายให้ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ เป็นคนทำระบบพร้อมเพย์และดูแลรักษา
บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ ก็เป็นบริษัทที่แต่ละธนาคารก่อตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ ‘สวิตชิ่ง’ เชื่อมข้อมูลเพื่อรับ-ส่งการทำธุรกรรม ระหว่างธนาคารหนึ่ง กับอีกธนาคารหนึ่งอยู่แล้ว
แม้การย้ายระบบโอนเงินจากระบบเดิมที่ไอทีเอ็มเอ็กซ์ให้บริการ มาเป็นระบบพร้อมเพย์ ที่แบงก์ชาติเป็นเจ้าของ จะยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด ถือว่ายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ไอทีเอ็มเอ็กซ์ และธนาคาร
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ค่าธรรมเนียมโอนเงินต่างธนาคาร ผ่านอินเตอร์เน็ตและมือถือ มันผิดเพี้ยนมานานแล้ว
เพราะแทบทุกธนาคารไป “ตีขลุม” คิดค่าธรรมเนียมเหมือนกับช่องทางอื่นๆ
เช่น ผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ซึ่งมีต้นทุนทั้งค่าจัดซื้อเครื่องเอทีเอ็ม 2-5 แสนบาท อายุการใช้งานสูงสุด 8 ปี ค่าเช่าสถานที่ติดตั้ง ค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษา
รวมทั้งต้นทุนบริหารจัดการเงินสด เช่น รถขนเงิน ค่าประกันเงินสดในตู้เอทีเอ็ม และอีกจิปาถะ
ไอทีเอ็มเอ็กซ์ ทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูล ส่วนการคิดค่าธรรมเนียม เป็นเรื่องของธนาคารจะกำหนด ทำให้ลูกค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมแพงกว่าที่ควรจะเป็น
ทั้งที่ต้นทุนการโอนเงิน หากตัดเรื่องค่าบริหารจัดการเงินสดออกไป การเชื่อมระบบเหลือเพียงแค่ไม่กี่บาทเท่านั้น
การคิดค่าธรรมเนียมโอนเงินต่างธนาคารสูงถึง 35 บาท เกิดขึ้นมานาน 18 ปีแล้ว
ธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา และทหารไทย เปิดให้บริการโอนเงินรายย่อนยระหว่างธนาคาร (ATM Online Retail Funds Transfer) หรือ ATM-ORFT เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2543
ในเวลานั้น เอทีเอ็มราคาเฉลี่ยเครื่องละ 1 ล้านบาทขึ้นไป รวมกัน 6 ธนาคาร มีอยู่แค่ 4,000 เครื่อง ผู้ถือบัตรเอทีเอ็มรวมกัน 13 ล้านใบ
แต่เมื่อบริการนี้ได้รับความนิยม ก็มีธนาคารสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีอยู่ 20 ธนาคารที่เข้าร่วมบริการ
ข้อมูลเมื่อปี 2553 ระบุถึงส่วนแบ่งรายได้ค่าธรรมเนียม ว่า หากลูกค้าโอนเงินต่างธนาคาร 10,000 บาท เสีย 25 บาทต่อรายการ ธนาคารเจ้าของบัตรจะได้ 3.22 บาท ธนาคารเจ้าของตู้เอทีเอ็มจะได้ 7 บาท ธนาคารปลายทางจะได้ 7 บาท
หากลูกค้าโอนเงินต่างธนาคาร 30,000 บาท เสียค่าธรรมเนียม 35 บาทต่อรายการ ธนาคารเจ้าของบัตรจะได้ 5.22 บาท ธนาคารเจ้าของตู้เอทีเอ็มจะได้ 18 บาท ธนาคารปลายทางจะได้ 10 บาท
แต่บริษัท “ไอทีเอ็มเอ็กซ์” ที่เชื่อมระบบ ไม่ว่าจะโอนเงินมากหรือน้อยก็ตาม จะได้ส่วนแบ่งแค่ 1.78 บาทเท่านั้น
เมื่อระบบพร้อมเพย์ถือกำเนิดขึ้น พบว่าค่าธรรมเนียมโอนเงินพร้อมเพย์ โดยใช้เลขที่บัตรประชาชน หรือเบอร์มือถือ แตกต่างจากการโอนเงินผ่านระบบ ORFT โดยใช้เลขที่บัญชี ที่เราใช้กันมา 18 ปีอย่างชัดเจน
โอนเงินไม่เยอะ ต่ำกว่า 5,000 บาท ไม่เสียค่าธรรมเนียม มากกว่านั้นก็คิดแบบขั้นบันได ตั้งแต่ 2-10 บาทต่อรายการ
การประกาศฟรีค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 4 แห่ง อ้างว่ายอมเฉือนเนื้อตัวเอง สูญเสียรายได้หลักร้อยล้านบาท จึงเป็นการดีที่ควรจะทบทวนค่าธรรมเนียมโอนเงินรายย่อยทั้งระบบ
เอาเฉพาะโอนเงินต่างธนาคาร ผ่านมือถือหรืออินเตอร์เน็ต อย่างน้อยขอให้ถูกลงเหมือน “โอนเงินพร้อมเพย์” ตลอดไปจะดีที่สุด
เช่นเดียวกับการโอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม และเครื่องรับฝากเงินสด แม้จะมีต้นทุนทั้งค่าติดตั้งเครื่องเอทีเอ็ม แต่วัตถุประสงค์หลักคือการถอนเงินออกมาเป็นเงินสด หรือฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคารเท่านั้น
นับจากนี้ เมื่อธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ เลือกที่จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม คงต้องดูว่าโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรม ทั้งต่อผู้บริโภคเองและต่อธนาคารจะแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างไร
อย่างน้อยๆ การประกาศฟรีค่าธรรมเนียม เพื่อปรับพฤติกรรมให้ประชาชนที่ไม่เคยใช้ช่องทางออนไลน์ หรือมือถือ ทำธุรกรรมทางการเงินแทนการไปสาขา หรือตู้เอทีเอ็ม คงต้องให้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะเกิดความมั่นใจ