xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นรถไฟปรับอากาศ “พัทยา-พลูตาหลวง” นำร่องสู่รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


17 มีนาคม 2561 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะทดลองเดินรถไฟโดยสารปรับอากาศ สายกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) – พัทยา – บ้านพลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทาง

อ่านประกอบ : ร.ฟ.ท.เปิดเดินรถไฟปรับอากาศ “กรุงเทพ-พัทยา” 17 มี.ค.นี้

โดยจะใช้รถดีเซลรางปรับอากาศชั้น 2 จำนวน 3 ตู้ รับ – ส่งผู้โดยสารที่สถานีมักกะสัน คลองตัน หัวหมาก ลาดกระบัง หัวตะเข้ ชุมทางฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมทางศรีราชา พัทยา ตลาดน้ำสี่ภาค ญาณสังวราราม สวนนงนุช สิ้นสุดที่บ้านพลูตาหลวง

ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ออกจากหัวลำโพง 06.45 น. ถึงพัทยาโดยประมาณ 09.14 น. และถึงบ้านพลูตาหลวง 09.50 น. ส่วนเที่ยวกลับจะออกจากสถานีบ้านพลูตาหลวง 15.15 น. จอดที่พัทยา 16.26 น. ถึงหัวลำโพง 18.55 น.

ใครที่สงสัยว่าบ้านพลูตาหลวงอยู่ตรงไหน สถานีจะอยู่ริมถนนสาย 331 (พนมสารคาม - สัตหีบ) ห่างจากสี่แยกไฟแดงบ้าน กม.10 ที่จะไปสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้าข้ามถนนใหญ่หน้าสถานีจะมีรถสองแถวผ่าน



แม้ว่าราคาค่าโดยสาร ณ วันที่เขียนต้นฉบับ (3 มีนาคม 2561) จะยังไม่ประกาศออกมาว่าเท่าไหร่ แต่ก็ต้องลุ้นกันว่า การทดลองเดินรถเที่ยวนี้ ผู้โดยสารจะตอบรับดีหรือไม่



ทางรถไฟสายชายทะเลตะวันออก ตั้งแต่ชุมทางฉะเชิงเทรา ถึงท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2528 ระยะทางประมาณ 135 กิโลเมตร ภายหลังได้ก่อสร้างเพิ่มจากชุมทางเขาชีจรรย์ ถึงมาบตาพุด จ.ระยอง

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างเป็นทางการ ที่สถานีรถไฟญาณสังวราราม เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2538

ปัจจุบันทางรถไฟสายนี้จะเน้นไปที่ขนส่งสินค้าเป็นหลัก เนื่องจากมีทางรถไฟจากสถานีชุมทางศรีราชา เชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง แต่ก็มีขบวนรถรับส่งผู้โดยสารจากหัวลำโพง ถึง บ้านพลูตาหลวง ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ วันละ 1 เที่ยวอยู่แล้ว

ขบวนรถไฟที่ว่า คือ ขบวนรถธรรมดาที่ 283 ออกจากหัวลำโพง 06.55 น. ถึงบ้านพลูตาหลวง 11.20 น. เที่ยวกลับ ขบวนรถธรรมดาที่ 284 ออกจากบ้านพลูตาหลวง 13.35 น. ถึงหัวลำโพง 18.15 น.

แม้ว่าวันเสาร์ - อาทิตย์จะไม่มีขบวนรถให้บริการ แต่ก็ไม่หยุดเดินรถในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่ตรงกับวันจันทร์ - ศุกร์ แม้โครงการรถไฟฟรีจะหมดไปแล้ว แต่ค่าโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปบ้านพลูตาหลวง ถูกมาก เพียงแค่ 37 บาทเท่านั้น!

เมื่อประมาณ 6 ปีก่อน ผู้เขียนเคยนั่งรถไฟจากหัวลำโพง ไปพัทยาเป็นครั้งแรก ตอนนั้นในใจอยากจะไปให้ถึงบ้านพลูตาหลวง แต่เนื่องจากวันนั้นอดหลับอดนอนมา อีกทั้งอากาศร้อนจัด จึงขอลงที่สถานีพัทยาเสียก่อน

เนื่องจากรถไฟขบวนนี้เป็นรถบริการเชิงสังคม ด้วยตอนนั้นมีโครงการรถไฟฟรี คนจึงเยอะเป็นพิเศษ มีบางช่วงเวลาที่รถจอดนานที่สถานีคลองตัน แต่เมื่อหลุดจากสถานีหัวหมาก ขบวนรถจะเดินหน้าไปเรื่อย ๆ แล้ว เพราะเป็นรถไฟทางคู่

ไฮไลท์ที่สำคัญของทางรถไฟสายนี้ คือ เมื่อรถไฟออกจากสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา จะเป็นทางรถไฟยกระดับ เลี้ยวโค้งยาวๆ ก่อนข้ามแม่น้ำบางปะกง จากนั้นจะผ่านท้องทุ่ง แล้วเมื่อเลยสถานีพานทองเราจะเข้าเขตนิคมอุตสาหกรรม

ผ่านสถานีรถไฟชลบุรีไปแล้ว สักพักหนึ่งซ้ายมือของขบวนรถจะเห็น “เหมืองหินคีรีนคร” หรือที่เรียกว่า “แกรนด์แคนยอน คีรี” แม้ว่าจะไม่สามารถลงจากขบวนรถได้ แต่มองจากหน้าต่างก็จะได้เห็นความงามของภูเขาหินปูน ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง

รถไฟจะผ่านถนนสุขุมวิท ที่สถานีเขาพระบาท ใครจะต่อรถสองแถวสีส้มไปศรีราชาก็จะลงรถกันที่นี่ จากนั้นจะผ่านสถานีชุมทางศรีราชา ซึ่งจะมีทางรถไฟแยกไปท่าเรือแหลมฉบัง สำหรับขบวนรถขนส่งสินค้า

พ้นสถานีชุมทางศรีราชาไปแล้ว ทางรถไฟจะเหลือเพียงแค่ทางเดี่ยว แต่ทำความเร็วได้ดีเพราะไม่มีสับรางขบวนรถไฟที่สวนทางกันมา บรรยากาศจะเป็นชุมชนสลับกับท้องทุ่ง สักพักประมาณ 20 นาที ก็มาถึงสถานีพัทยาเวลา 10.45 น.



ถึงสถานีพัทยา เดินออกมาหน้าสถานี จะมีรถสองแถวสีน้ำเงินจอดอยู่ เหมือนรู้ว่าจะมีรถไฟส่งผู้โดยสารมาที่นี่ เราก็นั่งรถสองแถวจากที่นั่น เสียค่าโดยสารจำไม่ได้ว่า 10 หรือ 20 บาทนี่แหละ 15 นาทีผ่านไปก็ถึงชายหาดพัทยาแล้ว

แม้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะรู้สึกเหนียวตัว เหมือนเช่นที่เคยนั่งรถไฟชั้น 3 ที่นั่งแบบพัดลม แต่ก็ถือเป็นการออกไปเปิดหูเปิดตาทางรถไฟสายชายทะเลตะวันออกที่น่าประทับใจครั้งหนึ่ง

ที่สำคัญ รถไฟเดินรถขบวนนี้เฉพาะวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ตอนเช้าตรู่เท่านั้น มันเป็นอะไรที่ดูเข้าถึงยากและท้าทายมากๆ

ไม่รู้ว่า 6 ปีผ่านไป สภาพสองข้างทางรถไฟจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะมีตึกสูงขึ้นมาอีกไหม แต่ขบวนรถธรรมดาที่ 283 และ 284 ยังคงให้บริการจากกรุงเทพฯ ไปยังชายทะเลตะวันออกมาถึงทุกวันนี้

คงมีคนเคยคิดว่า น่าจะมีรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปพัทยา มาเป็นตัวเลือกในการเดินทาง นอกจากรถตู้โดยสาร และรถทัวร์ปรับอากาศ แต่เมื่อย้อนกลับไปหลายปีก่อน การรถไฟฯ ก็เคยทำ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องหยุดเดินรถ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 การรถไฟฯ เคยจัดเดินรถไฟนำเที่ยวสายตะวันออก กรุงเทพ - สวนนงนุช - กรุงเทพ ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ โดยใช้ขบวนรถโดยสารปรับอากาศ 3 ตู้ คิดค่าโดยสารเหมาจ่ายไป - กลับคนละ 540 บาท

แม้การรถไฟฯ จะปรับกลยุทธ์ด้วยการให้รถไฟขบวนนี้รับผู้โดยสารเที่ยวกลับ ที่สถานีพัทยา และสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ไปหัวลำโพง ด้วยค่าโดยสาร 200 บาท แต่ผู้โดยสารก็ยังมีน้อยมาก สุดท้ายจึงต้องหยุดการเดินรถไป

มาคราวนี้ ทราบมาว่าเมืองพัทยา ก็ร่วมกับสมาคมแหล่งท่องเที่ยวชลบุรี ให้ทุกแหล่งท่องเที่ยวพร้อมใจกันจัดแพ็คเกจทัวร์ลดราคาพิเศษ พร้อมรถนำเที่ยว จาก 6 สถานีหลัก เลือกลงสถานีไหนเที่ยวที่นั่น ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 9 มีนาคมนี้

อย่างไรก็ตาม การทดลองเดินรถครั้งนี้ อาจจะเป็นการนำร่องไปสู่เมกะโปรเจ็กต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา” มูลค่าโครงการ 2 แสนล้านบาท

โครงการนี้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีข้อสรุปไปแล้วก่อนหน้านี้ ต่อจากนั้นจะให้เอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาประมูล คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูล ลงนามสัญญาได้ปลายปีนี้

เบื้องต้น จะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ทำความเร็วได้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางประมาณ 270 กิโลเมตร สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงอู่ตะเภาได้ภายใน 45 นาที เมื่อเทียบกับเดินทางด้วยรถยนต์จะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง

จากกรุงเทพฯ จะจอดรับ - ส่งผู้โดยสารเฉพาะสถานีหลัก 5 สถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา ค่าโดยสารสูงสุด 330 บาท สิ่งที่นักลงทุนจะได้เป็นของแถม คือการพัฒนาที่ดินตามสถานีรายทางอีกนับร้อยไร่

โครงการนี้ยังเป็นเพียงแค่โครงการ ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง กลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง แม้ว่าการเดินรถไฟโดยสารปรับอากาศในครั้งนี้จะเป็นที่พูดถึงอยู่บ้าง แต่ก็น่าเป็นห่วงว่า การเดินรถครั้งนี้จะไปได้ยาวนานแค่ไหน

เพราะปัจจุบัน การเดินทางไปยังภาคตะวันออก แถบฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ยังคงนิยมรถตู้ และรถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ ไปพัทยาค่าโดยสารอยู่ที่ 130 บาท ใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ชั่วโมงเศษ แม้จะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุก็ตาม

นอกจากค่าโดยสารที่เรายังไม่รู้ว่าการรถไฟฯ จะเคาะออกมาเท่าไหร่ ถึงแม้ว่าจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งคนละกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็ต้องออกแรงประชาสัมพันธ์กันมากหน่อย เพราะคราวที่แล้วผู้โดยสารถือว่ายังมีน้อยมาก

คงต้องดูกันต่อไปว่า ขบวนรถโดยสารปรับอากาศ กรุงเทพฯ - พัทยา - บ้านพลูตาหลวง ผลตอบรับจะเป็นอย่างไร คิดว่าหากมีโอกาสที่เหมาะสม ก็จะลองออกเดินทางเพื่อสำรวจบรรยากาศ และนำกลับมาเล่าสู่กันฟังแก่คุณผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง.


กำลังโหลดความคิดเห็น