xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เล่นหน้าใหม่ ในเกมการเมืองเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง



หลังกระแสความไม่แน่นอนเรื่องที่ว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนยาวออกไปหรือไม่ จากสัญญาณที่ปรากฏออกมาหลายๆ อย่างในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

เช่นการไม่ลงตัวกันของการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ยื่นความจำนงสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งถ้าคุณสมชัยได้รับเลือกจริง ก็เท่ากับจะทำให้ตำแหน่ง กกต.ว่างลงไปหนึ่งตำแหน่ง สุ่มเสี่ยงที่จะเกิด “เดดล็อก” ทางการเมืองได้ หาก กกต.เกิดจะไม่ครบองค์ประชุม

ในขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ก็เพิ่งไม่ให้ความเห็นชอบกับ กกต.ชุดใหม่ ที่ผ่านการสรรหามาทั้ง 7 ท่าน ส่งผลให้ต้องมีการสรรหากันใหม่อีกรอบ ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่าจะเกิดความร้าวลึกภายใน ระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ที่เป็นผู้เห็นชอบ กกต.จากส่วนของศาลฎีกาหรือไม่

จะเห็นว่าแต่ละสัญญาณนั้น ช่างไม่เป็นคุณต่อการเลือกตั้งเอาเสียเลย

แม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศวันเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น ก็ยังไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นได้เต็มร้อย

เพราะท่านนายกฯ และหัวหน้า คสช.ก็ประกาศเช่นนี้มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่เชื่อใครลองเข้า Google แล้วพิมพ์คำว่า “ประยุทธ์ประกาศวันเลือกตั้ง” ดูเล่นๆ ก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ปี่กลองแรกของการเลือกตั้ง ก็จะบรรเลงขึ้นในวันที่ 2 มีนาคมนี้ เมื่อเป็นวันดีเดย์ที่คำสั่ง คสช.อนุญาตให้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ระดับแรก ด้วยการอนุญาตให้มีการจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองใหม่ ต่อทาง กกต.

ความคึกคักก็เกิดขึ้นทันที เมื่อบรรดา “ผู้เล่น” ทั้งหลายในเกมการเมือง ที่เคยแย้มไต๋เผยตัวกันบ้างประปราย จะออกมาแสดงตัวอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการจดแจ้งพรรคการเมืองในวันประเดิมนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะมากันล้นหลาม ทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ ทั้งบิ๊กเนม และโนเนม

***พรรคที่ได้รับการจับตามากที่สุด เห็นจะเป็น “พรรค กปปส.” ที่มีชื่อยาวเฟื้อยว่า “พรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ซึ่งแม้ว่าโต้โผในการตั้งพรรค จะไม่ใช่ตัว “ลุงกำนัน” หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้นำ กปปส. แต่ก็เป็นนายธานี น้องชายแท้ๆ ของนายสุเทพนั่นเอง

พรรค กปปส.นั้นน่าจับตา เพราะแปรรูปมาจากกลุ่มมวลมหาประชาชน กปปส. ซึ่งเคยมีผู้ร่วมอุดมการณ์นับแสน ในช่วงที่มีการประท้วงต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และขับไล่รัฐบาลปูยิ่งลักษณ์ เมื่อช่วงปี 2556 ต่อ 2557 ก่อนการรัฐประหารโดย คสช.

แต่อย่างที่เราต้องยอมรับกันว่า มวลมหาประชาชน กปปส.นั้น ส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่ คือฐานเสียงหรือบรรดาแฟน ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ดังนั้นการเกิดขึ้นของพรรค กปปส.ก็เท่ากับเป็นการแย่งชิงมวลชนดังกล่าวมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ไม่แน่ว่า คนที่เป็น กปปส.โดยแท้ ที่ไม่ใช่ฐานเสียงของประชาธิปัตย์แล้ว จะมีจำนวนเท่าไรกันแน่

กระนั้น พรรค กปปส.ที่ตั้งขึ้นนี้ น่าจะมีพลังสั่นสะเทือนพอสมควร สำหรับเขตเลือกตั้งทางภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์

จุดยืนของพรรค กปปส.ที่แบออกมาชัดๆ แล้ว ผ่านตัวนายสุเทพ คือการเป็น “กองหนุน” ให้พลเอกประยุทธ์ ซึ่งก็คาดเดาได้เป็นนัยว่า พร้อมจะสนับสนุนให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ภายใต้ระบบสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ก็มี “พรรคประชาชนปฏิรูป” ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว. และ สปช.ที่มีท่าทีชัดเจนว่า พร้อมสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ เช่นกัน เพียงแต่หากจะกล่าวตามตรงแล้ว “บารมี” ในทางการเมืองในสนามเลือกตั้งของนายไพบูลย์นั้นค่อนข้างมีน้อย ดังนั้นพรรคประชาชนปฏิรูปนั้นก็มีแนวโน้มที่จะ “แป้ก” ได้สูง

แต่อย่างไรก็ตาม หากพรรคนี้จะได้เสียงเข้ามาในสภาบ้าง ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งพรรคเล็กพรรคน้อย ที่จะสนับสนุนให้นายกฯ คนเดิมกลับเข้ามาสู่เก้าอี้ได้อีกครั้ง

ส่วนความเคลื่อนไหวจากอีกด้านอีกฝั่งหนึ่ง ก็ปรากฏว่าทางอดีตคนของพรรคเพื่อไทย นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ ก็แย้มว่าตนและอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางกลุ่ม จะแยกตัวออกมาตั้งพรรค “สังคมประชาธิปไตยประชาชน” แต่ก็ยังไม่ได้ประกาศแนวทางอันชัดเจนแน่นอนอะไรว่าพรรคใหม่นี้ จะเป็นติ่งสาขาพรรคเพื่อไทยที่แยกตัวออกไปเพื่อกลยุทธ์ทางการเมือง หรือเป็นพรรคขนาดเล็กที่พร้อมจะเป็นตัวแปรได้ตามสถานการณ์ ซึ่งหากพรรคนี้จะประกอบไปด้วยอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่บางคนอาจจะเคยเป็น ส.ส.ก็จริง แต่ก็จะเป็นการวัดพลังกันว่า ฐานเสียงของอดีต ส.ส.คนนั้น เป็นของตัวเอง หรือเป็นบารมีร่มเงาของพรรคเพื่อไทยกันแน่ ซึ่งคอการเมืองน่าจะรู้ว่าคงจะเป็นอย่างหลัง

ดังนั้นพรรคการเมืองใหม่ดังกล่าว จึงยังไม่น่าจะมีน้ำหนักอะไรมากนัก ในการเมืองรอบใหม่นี้

นอกจากนั้น พรรคเล็กพรรคน้อยของผู้เล่นหน้าใหม่ ที่เราอาจจะได้เห็นกันในวันจดแจ้งตั้งพรรคการเมือง 2 มีนาคมค 2561 นี้ ก็จะยังมี “พรรคพลังชาติไทย” ของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หนึ่งในคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปประเทศของ คสช.ซึ่งหลายคนเคยเก็งว่าจะเป็น “พรรคทหาร” สำหรับการสืบทอดอำนาจ “พรรคเสรีรวมไทย” ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) “พรรคพลังพลเมือง”ของนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคภูมิใจไทย

ซึ่งพรรคเล็กพรรคน้อยเหล่านี้ ก็อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในทางการเมือง มากบ้างน้อยบ้าง สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีมาถึง แม้จะไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไรก็ตาม

โดยที่พรรคเหล่านี้ มีความเป็นไปได้สูง ว่าจะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเกื้อหนุน หรือเป็นตัวแปรให้นายกคนใหม่หลังการเลือกตั้ง ยังเป็น “ลุงตู่” คนเดิม

ในขณะที่บรรดาการเมืองสองขั้วใหญ่ คือเพื่อไทย และประชาธิปัตย์นั้นยังอยู่ในสภาพ “ไร้หัว” กันทั้งคู่ ซึ่งแม้จะมีมวลชน มีฐานเสียงอยู่แล้วเป็นจำนวนมากที่สุด

แต่เพราะความ “ใหญ่” นี้เอง ทำให้ทั้งสีฟ้าและสีแดง มีหลาย “เฉด” มีหลายกลุ่มย่อยในเชิงผลประโยชน์ และในเชิงภูมิภาค

ความยากของพรรคใหญ่ จึงอยู่ที่ว่า การหา “หัว” มาตั้งวางไว้นั้น จะต้องเป็นที่เป็นที่ยอมรับของทุกกลุ่มย่อยอันเป็นฐานเสียงได้ทั้งหมด หรืออย่างน้อยก็ยอมรับได้

จึงไม่อาจรับประกันได้เสียทีเดียวว่าขั้วการเมืองใหญ่ทั้งสอง จะสามารถรักษาฐานเสียงพลังหนุนอันแตกต่างเหล่านั้นไว้ได้แค่ไหนเพียงไร.


กำลังโหลดความคิดเห็น