xs
xsm
sm
md
lg

Review : K PLUS Wallet ฟังก์ชั่นไม่ลับกสิกรไทย รับเงินแบงก์อื่นไม่เสียค่าโอน

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


นับตั้งแต่ที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันเปิดบริการพร้อมเพย์มาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เพื่อใช้รับเงินจากรัฐ เช่น เงินคืนภาษี และโอนเงินระหว่างกัน จำนวนผู้ใช้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีผู้ใช้พร้อมเพย์บุคคลธรรมดาทั้งหมด 37 ล้านบัญชี แบ่งเป็นผูกกับเลขที่บัตรประชาชน 25 ล้านคน และผูกกับมือถือกว่า 11 ล้านราย แม้จะมีนิติบุคคลผูกบัญชีเพียง 5 หมื่นรายเท่านั้น

ปัจจุบัน รหัสพร้อมเพย์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

- เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ผูกกับบัญชีธนาคาร (ออมทรัพย์ หรือ กระแสรายวัน)

- เบอร์โทรศัพท์มือถือ 10 หลัก ผูกกับบัญชีธนาคาร (ออมทรัพย์ หรือ กระแสรายวัน)

- กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) 15 หลัก เชื่อมระหว่างบัญชีธนาคาร กับบริการอี-วอลเลท ของผู้ให้บริการทั้งที่เป็นของธนาคาร และที่ไม่ใช่ธนาคาร

แม้ว่า 1 คน จะมีรหัสพร้อมเพย์ โดยใช้เลขที่บัตรประชาชน หรือเบอร์มือถือ ได้รวมกันไม่เกิน 4 รหัส แต่ก็ยังสามารถใช้เบอร์มือถือสมัครพร้อมเพย์ อี-วอลเลท 15 หลักได้ แม้เบอร์มือถือเบอร์นั้นจะสมัครพร้อมเพย์ไปแล้วก็ตาม

ปัจจุบันมีผู้ให้บริการอี-วอลเลทที่เชื่อมบริการพร้อมเพย์แล้ว 4 แห่ง ได้แก่ เอ็มเปย์ บริษัทลูกของเอไอเอส, ทรูมันนี่ ของกลุ่มทรู, บลูเพย์ และ ดีป พ็อกเก็ต โดยต้องไปทำรายการยืนยันตัวตนก่อน จึงจะใช้รหัสพร้อมเพย์ อี-วอลเลทได้

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่มีรหัส อี-วอลเลท สำหรับลูกค้าที่สมัครบริการ K PLUS ที่มีผู้ใช้ 7.5 ล้านราย และ K PLUS SHOP สำหรับร้านค้าขนาดเล็ก มีผู้ใช้ 8 แสนราย

วันก่อน ไปนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวกับเพื่อน ด้วยความนึกสนุกจึงให้เพื่อนโอนเงินผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) โดยที่เราเปิดคิวอาร์โค้ดจากแอปฯ K PLUS ส่วนเพื่อนจ่ายเงินผ่านแอปฯ ของธนาคารอื่น

ปรากฎว่าแม้เงินจะเข้าบัญชี อี-สลิปการทำรายการ กลายเป็นการ “เติมเงินพร้อมเพย์” ด้วยรหัส 15 หลักที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน โดยข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ให้บริการ ระบุชื่อเจ้าของบัญชี และลงท้ายคำว่า (K Plus W)
เมื่อนำแอปฯ ธนาคารอื่นสแกน QR Code จะเป็นการทำรายการ เติมเงินพร้อมเพย์
เมื่อตรวจสอบหน้าจอรหัสคิวอาร์โค้ดในแอปฯ K PLUS พบว่ารหัส 15 หลักดังกล่าว ตรงกับคำว่า “Ref ID” (ย่อมาจากคำว่า Reference ID หรือ รหัสอ้างอิง) ตามด้วยเลข 15 หลัก พร้อมกับคำว่า “รับเงินได้จากทุกธนาคาร”

รหัสอ้างอิง 15 หลัก ไม่ได้มีแค่บัญชีที่ผูกกับพร้อมเพย์เท่านั้น แต่ยังมีรหัสดังกล่าวทุกบัญชีที่สมัครบริการ K PLUS แม้บัญชีเหล่านั้นจะไม่ได้สมัครพร้อมเพย์กับธนาคารมาก่อนก็ตาม

เมื่อเป็นเช่นนี้ เลยทดสอบด้วยการนำเลขอ้างอิง 15 หลักจากแอปฯ K PLUS ไปโอนเงินพร้อมเพย์ อี-วอลเลท ปรากฎว่าสามารถโอนได้ ระบุชื่อเจ้าของบัญชีถูกต้อง และเงินเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติ
เมื่อนำรหัส Ref ID. จากแอปฯ K PLUS มากรอกในรายการโอนเงินพร้อมเพย์ ผ่าน e-Wallet 15 หลัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้แอปฯ K PLUS ไปสแกนคิวอาร์โค้ดในแอปฯ K PLUS ด้วยกันเอง พบว่าระบบจะแสดงผลเป็นเลขที่บัญชีธนาคารปลายทางเหมือนที่เคยเป็นเท่านั้น ไม่ใช่การเติมเงินพร้อมเพย์

เพราะฉะนั้น รหัสอ้างอิง 15 หลักจากแอป K PLUS จึงถูกออกแบบมาเพื่อรับเงินโอนจากแอปฯ อื่น ต่างธนาคาร มีทั้งแอปฯ ของธนาคาร และแอปฯ ของ อี-วอลเลท ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด

เป็นที่น่าสังเกตว่า รหัสอ้างอิง 15 หลัก ขึ้นต้นด้วย 004 ซึ่งเป็นรหัสธนาคารกสิกรไทย ส่วนเลข 99 เป็นเลขที่แบ่งประเภทลูกค้าแอปฯ K PLUS หรือจะเป็นเลข 00 เป็นลูกค้าแอปฯ K PLUS SHOP ตามร้านค้าต่างๆ

คงมีคนคิดว่า จะมีรหัสแบบนี้ไปทำไม จำยาก พอๆ กับเลขที่บัญชี เมื่อเทียบกับเบอร์มือถือยังจำง่ายกว่า แต่ส่วนตัวคิดว่า การออกรหัสต่างหากมีประโยชน์อย่างยิ่ง

เพราะรหัสพร้อมเพย์ ที่เป็นเลขที่บัตรประชาชน หรือ เบอร์มือถือ เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งการทำธุรกรรมกับคนแปลกหน้า ก็คงมีคนที่ไม่สะดวกใจเปิดเผย ยิ่งเลขที่บัญชีธนาคารยิ่งอันตราย คนร้ายอาจนำไปใช้ในการทำทุจริตกับบัญชีเราได้

การให้รหัสอ้างอิง 15 หลักที่ธนาคารออกให้ โดยผูกกับบัญชีธนาคารต่างหาก จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดี สำหรับคนที่ต้องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล แต่ปัญหาก็คือคนจำยาก จึงออกมาเป็นรูปแบบคิวอาร์โค้ดให้นำไปใช้งานได้ง่ายขึ้น

คนที่ไม่มีรหัสพร้อมเพย์ ไม่ได้สมัครพร้อมเพย์ สามารถนำรหัสอ้างอิง 15 หลักที่อยู่ในแอปฯ K PLUS ไปใช้รับเงินโอนได้ ผ่านเมนู “เติมเงินพร้อมเพย์” โดยที่เงินเข้าบัญชีธนาคารเหมือนปกติ

เพราะธนาคารออกรหัส อี-วอลเลท ในรูปแบบ “รหัสอ้างอิง” แก่ทุกบัญชีที่ใช้งาน K PLUS เรียบร้อยแล้ว

ที่สำคัญ รหัสอ้างอิงผูกบัญชีออมทรัพย์ หรือกระแสรายวัน เมื่อเงินเข้าบัญชี หากเป็นบัญชีออมทรัพย์จะยังคงได้สิทธิรับดอกเบี้ยเงินฝาก เมื่อเทียบกับอี-วอลเลท ที่ส่วนใหญ่เป็นเพียงกระเป๋าเงิน ไม่มีดอกเบี้ยให้

ผู้ใช้งานแอปฯ K PLUS สามารถดาวน์โหลดคิวอาร์โค้ด พร้อมรหัสอ้างอิง 15 หลักได้ เพียงเข้าสู่ระบบ แตะที่ไอคอนคิวอาร์โค้ดด้านขวา เมนู “จ่าย” แล้วแตะที่เมนู “รับเงิน” สามารถบันทึกเป็นไฟล์ภาพ หรือแชร์ QR ผ่านโซเชียลมีเดียก็ได้
วิธีการสร้างคิวอาร์โค้ดรับเงิน - เข้าไปที่เมนู จ่าย แล้วแตะที่แถบ รับเงิน
ส่วนค่าธรรมเนียมการโอนเงินพร้อมเพย์ ถูกกว่าโอนเงินต่างธนาคารที่เคยมีมา คือ โอนฟรีเมื่อยอดต่ำกว่า 5,000 บาท ส่วนเกินค่าธรรมเนียม 2-10 บาทต่อรายการ และบางธนาคารในขณะนี้ยังคงให้โอนฟรี

สิ่งที่ธนาคารอื่นอาจจะเสียเปรียบ คือ ก่อนหน้านี้แต่ละธนาคาร ต่างก็แย่งชิงลูกค้าพร้อมเพย์ของตัวเองเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า และเพื่อเสริมสภาพคล่องจากการรับเงินโอนจากภาครัฐ และรับเงินโอนระหว่างกัน

แต่เมื่อกสิกรไทย ใช้กลไก “รหัส อี-วอลเลท” ออกให้ลูกค้าที่ใช้แอปฯ K PLUS ทุกรายเสริมเข้ามา หากการโอนเงินผ่านคิวอาร์โค้ดได้รับความนิยม สภาพคล่องก็จะไหลมาที่แบงก์กสิกรไทย ที่มีรหัสพร้อมเพย์ในมือมากกว่า

ลองค้นหาคำตอบว่า ทำไมกสิกรไทยถึงออกรหัสอี-วอลเลทแยกต่างหาก ได้คำตอบมาจาก สมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ที่ให้สัมภาษณ์กับ นิตยสาร Digital Age

สมคิด บอกว่า เลขบัตรประชาชน เป็นข้อมูลสงวน ที่ไม่ควรให้ใครรู้ หรือใช้พร่ำเพรื่อ นอกจากใช้รับเงินจากหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่เบอร์โทรศัพท์ เหมาะสำหรับการบอกคนอื่นสำหรับโอนเงินให้ แต่ยังต้องระวังในเรื่องความเป็นส่วนตัว

แต่เลขของอี-วอลเลท จะเป็นเลขที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ 15 หลัก โดยพร้อมเพย์จะสนใจแค่เลข 3 หลักแรกว่าเป็นของผู้ให้บริการรายใดเท่านั้น ปัจจุบันกสิกรไทย มีใบอนุญาตให้บริการ e-wallet อยู่แล้วในชื่อ K PLUS Wallet

ส่วน 12 ตัวที่เหลือผู้ให้บริการสามารถจัดการเอง โดยจะใช้เป็นอะไรก็ได้ ทำให้ยากต่อการถูกปลอมแปลงมากขึ้น
แอปฯ K PLUS Wallet (ภาพจาก https://appadvice.com/app/k-wallet/1114707098)
อ่านถึงตรงนี้แล้ว นึกถึงก่อนหน้านี้ KBTG เคยออกแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “K PLUS Wallet” กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับทดลองใช้กับร้านค้า ร้านอาหาร 12 ร้าน แถวอาคารแจ้งวัฒนะ เมืองทองธานี

แม้ว่าแอปฯ K PLUS Wallet จะถูกนำออกจาก App Store และ Google Play เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่รหัสอี-วอลเลท ก็นำมาประยุกต์ใช้ผูกกับเลขที่บัญชีธนาคารในแอปฯ K PLUS และ K PLUS SHOP

ถือเป็นอีกฟังก์ชั่นหนึ่งที่คนใช้แอปฯ กสิกรไทยส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ และคาดว่าการแข่งขันด้านระบบชำระเงินผ่านมือถือ ที่ทุกธนาคารต่างงัดนวัตกรรมเป็นของตัวเอง อาจมีเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ออกมาแบบที่เราคาดไม่ถึง

::: ติดตามผู้เขียนได้ที่ www.facebook.com/kittinanlive :::


กำลังโหลดความคิดเห็น