xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “บันทึกจากทุ่งใหญ่” อดีตนักข่าว “บางกอกโพสต์” สังเกตการณ์ “พรานบรรดาศักดิ์” เมื่อ 45 ปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


การจับกุม เปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทยฯ พร้อมพวกรวม 4 คน ลักลอบตั้งแคมป์ พร้อมของกลางอาวุธปืน ซากเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา และเก้ง ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา แห่งเดียวกับที่ คณะพรานบรรดาศักดิ์ เข้าไปล่าสัตว์ป่า และขากลับเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกจนเป็นข่าวโด่งดัง

ทำให้นึกถึงหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ที่เคยบันทึกประวิติศาสตร์ในฐานะคนข่าว ที่ไปสังเกตการณ์คณะพรานบรรดาศักดิ์ เมื่อ 45 ปีก่อน ในตอนนั้นถือเป็นประสบการณ์เสี่ยงตาย เนื่องจากในยุคนั้นบ้านเมืองปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร ข้าราชการต้องเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เพราะเกรงกลัวอิทธิพลของนายทหาร นายตำรวจที่ยุคนั้นใหญ่คับฟ้า

เมื่อกลางปี 2551 สมัยที่ทำวารสารที่ชื่อว่า “เดโมเครซี่” ร่วมกับ แสงธรรม ชุนชฎาธาร บุตรชาย ธัญญา ชุนชฎาธาร อดีต 13 กบฎรัฐธรรมนูญ และ มาลีรัตน์ แก้วก่า อดีต ส.ว. สกลนคร วันหนึ่งได้รับพัสดุทางไปรษณีย์ส่งมาที่โฮมออฟฟิศย่านห้าแยกลาดพร้าว ภายในเป็นหนังสือที่ชื่อว่า “ปฏิวัติแมลงวัน” เขียนโดย สุมิตร เหมสถล อดีตผู้สื่อข่าว นสพ.บางกอกโพสต์

สุมิตรเขียนข้อความบนหน้าในของหนังสือดังกล่าวแก่คณะผู้จัดทำคนละเล่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรา ความว่า

“แด่คุณ กิตตินันท์ นาคทอง
ไว้อ่านเล่น
สุมิตร”


ผ่านไป 1 ปีครึ่ง เราได้รับข่าวร้ายจากพี่ชายว่า สุมิตร เสียชีวิตแล้ว ด้วยอาหารหัวใจวายบนโต๊ะทำงาน เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2552 แม้จะไม่มีโอกาสได้ร่วมพิธีทางศาสนาเนื่องจากไม่มีเวลา แต่ทราบว่า แสงธรรม ไปร่วมงานสวดพระอภิธรรม ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน

ประวัติศาสตร์ทุ่งใหญ่นเรศวร หวนกลับคืนมาอีกครั้ง แม้ผู้ก่อเหตุจะเป็นนักธุรกิจ แต่ก็เป็นนักธุรกิจรับเหมาหมื่นล้าน ชนะการประมูลและรับงานเมกะโปรเจ็กต์ทั้งถนน สะพาน ทางรถไฟ รถไฟฟ้า มีสายสัมพันธ์แทบจะทุกรัฐบาล แน่นอนว่ากระแสสังคมต้องจับตามองไปถึงการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ต่อเสี่ยเปรมชัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในใจคิดว่า ... เรื่องนี้คงปล่อยไว้เป็นเพียงแค่อ่านเล่นเพื่อจดจำเฉยๆ ไม่ได้แล้ว

เมื่อหนังสือเล่มนี้เราได้รับมานานกว่า 10 ปี อ่านแล้วก็เก็บในบ้าน วันเวลาผ่านไป อะไรหลายอย่างเปลี่ยนแปลง แม้แต่สิ่งของภายในบ้านยังหาไม่เจอ เมื่อเราหาหนังสือเล่มนี้ไม่เจอจึงต้องตามหา โชคดีที่หนังสือเล่มนี้ จำหน่ายเป็น “เล่มสุดท้าย” ในศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่ไกลไปจากออฟฟิศเครือผู้จัดการมากนัก

ต่อไปนี้เป็นสาระสำคัญ ที่คัดย่อมาจากหนังสือ “ปฏิวัติแมลงวัน” สุมิตรบอกเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ไปสังเกตการณ์คณะพรานบรรดาศักดิ์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี เมื่อ 45 ปีก่อน แม้วันนี้จะกลายเป็นหนังสือหายาก แต่ก็อยากที่จะนำสาระสำคัญตรงนี้ไว้ ถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลังสืบไป

OOO

ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นพื้นที่ป่าในจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตร ติดต่อกับเขตจังหวัดตากอีก 700 ตารางเมตร รวมกันแล้วกว่า 1 ล้านไร่ เดือนมกราคม 2516 กรมป่าไม้ส่ง เกษม รัตนไชย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้ เข้าไปเตรียมการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ลักษณะภูมิประเทศของทุ่งใหญ่นเรศวร อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 2,500 – 4,000 ฟุต มีลำธารไหลผ่าน เช่น ห้วยท่งไซ้ ห้วยดงวี่ ห้วยเซซาโว่ ห้วยหม่องดง ห้วยแม่กษัตริย์ ฯลฯ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่

ป่าในเขตทุ่งใหญ่แบ่งเป็นหลายลักษณะ บางตอนเป็นทุ่งหญ้า มีพรรณไม้ตระกูลปาล์มจำนวนมาก บางพื้นที่เป็นป่าผลัดใบ และบางส่วนเป็นป่าดงดิบ มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่ามากมายตั้งแต่สัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ เช่น เสือโคร่ง ช้าง กระทิง ชะนี ค่าง บ่าง กระจง นกหายากหลายชนิด หรือแม้แต่สัตว์ป่าธรรมดาพื้นๆ เช่น เก้ง กวาง ฯลฯ

20 เมษายน 2516 สุมิตร เหมสถล ผู้สื่อข่าว นสพ.บางกอกโพสต์ ได้ข้อมูลว่า กลุ่มนายทหาร นายตำรวจ จำนวนหนึ่ง จะไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วงเวลาเดียวกัน ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษา 4 สถาบัน จะเข้าไปสำรวจแม่น้ำแม่กลองเน่าเสียที่ จ.ราชบุรี ไม่ห่างจากทุ่งใหญ่นเรศวรมากนัก

สุมิตรเช็กข่าวให้แน่ชัดอีกครั้ง จนได้เค้าว่ามีความเป็นไปได้ เพราะแหล่งข่าวระบุวันเวลาที่ คณะพรานบรรดาศักดิ์ จะเข้าทุ่งใหญ่ฯ ได้หมด อีกหลายแหล่งล้วนตรงกัน ระบุว่าคณะพรานบรรดาศักดิ์เป็นใครบ้าง สุดท้ายแหล่งข่าวในกรมป่าไม้ บอกว่า พวกเขาทราบเรื่องทั้งหมด และเตรียมตัวจะเข้าทุ่งใหญ่ฯ เพื่อป้องปรามมิให้ทำผิดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า

เขาขอร่วมคณะเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ที่จะเดินทางเข้าทุ่งใหญ่ฯ เพื่อสังเกตการณ์ โทรศัพท์ถึงแกนนำชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติฯ เล่าเบาะแสเรื่องทุ่งใหญ่ฯ ให้ฟัง นักศึกษาเหล่านั้นบอกว่าจะตามไปสมทบสังเกตการณ์ นอกจากนั้นยังชักชวนเพื่อนนักข่าวอย่าง ไพบูลย์ สุขสุเมฆ จาก นสพ.สยามรัฐ ไปด้วย

27 เมษายน 2516 คณะของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประกอบด้วย สมทบ ชัยพันธ์, เย็น การดี, อาทร มนูญผล และ บุญวาส ฉวีวรรณ รวมทั้งนักข่าวอย่าง สุมิตร ไพบูลย์ และช่างภาพอย่าง สุคนธ์ ชัยอารีย์ และ พจนา ดุริยพันธ์ เดินทางด้วยรถยนต์แลนด์โรเวอร์จากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.กาญจนบุรี แวะพักรับประทานอาหาร

สมทบ เจ้าหน้าที่ป่าไม้อธิบายเส้นทางว่า จากตัวเมืองกาญจนบุรี ต้องมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปตามลำน้ำแควใหญ่ ผ่าน อ.ลาดหญ้า อ.ศรีสวัสดิ์ ห้วยคลิตี้ ห้วยซ่งไท้ ห้วยดงวี่ และห้วยเซซาโว่ รวมระยะทางเกือบ 250 กิโลเมตร จึงจะถึงบริเวณที่พรานบรรดาศักดิ์ประกอบกิจกรรม กระทั่งช่วงบ่าย คณะมาถึง ด่านตรวจป่าไม้หนองหอย เส้นทางเดียวที่เข้าสู่ทุ่งใหญ่

สุมิตรได้ข้อมูลว่า มีรถทหารขนาดใหญ่ผ่านด่านเข้ามาตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2516 จำนวนหนึ่ง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2516 อีกจำนวนหนึ่ง เป็นรถ GMC เขียนข้างรถว่า ป.พัน 9 สองคัน ทะเบียน 73115 และ 73152 รถ Dodge Station Wagon ทะเบียน กท.ฝ.6688 รถจิ๊ปเล็ก ทะเบียน กท.อ.-1924 และรถจิ๊ปกลาง ทะเบียน ปจ.-02132

01.00 น. รถคณะของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพิ่งเริ่มเข้าเขตทุ่งใหญ่ฯ สวนทางกับรถสเตชั่นวากอนคันหนึ่ง บนรถมีคนยืนเต็ม คนหนึ่งสาดไฟสปอตไลท์ไปมา ทำให้เห็นเงาว่าคนที่ยืนอยู่ด้านหลังรถถือปืนยาวอยู่ด้วยหลายคน

02.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตัดสินใจพักผ่อนริมห้วยเซซาโว่ ได้ยินเสียงเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ดังก้องทั้งราวป่า ผสมเสียงของการสรวลเสเฮฮาเป็นระยะ สมทบกล่าวว่า คงมีแคมป์ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตรงนั้นมากนัก

28 เมษายน 2516 ตอนเช้า สุมิตรชักชวนสุคนธ์ ซึ่งเป็นเพื่อนช่างภาพ เดินลงไปบริเวณริมห้วยเซซาโว่เพื่อล้างหน้า และเริ่มเก็บภาพ 10 นาทีผ่านไป พบผู้หญิงคนหนึ่งลักษณะไม่ใช่สาวชาวบ้าน เดินลงมาริมฝั่งตรงข้าม เยื้องไปจากจุดที่สุมิตรและสุคนธ์ยืนอยู่ประมาณ 15-20 เมตร เมื่อพูดคุยกับสุคนธ์ก็ยืนยันว่า เป็นดาราภาพยนตร์ชื่อดัง

สุมิตรขอแยกตัวจากสุคนธ์ เดินข้ามลำห้วยไปยังอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อตามรอยผู้หญิงคนหนึ่ง บุกพงรกที่หญ้าสูงแค่หน้าอก พบข้างหน้าเป็นลานกว้าง มี เฮลิคอปเตอร์สีขี้ม้า จอดอยู่ ตัวอักษรและหมายเลขที่แพนหางระบุ ทบ.6102 เขาจึงแอบถ่ายเฮลิคอปเตอร์ลำนั้นด้วยความระมัดระวังประมาณ 5 นาที จึงเดินกลับไปหาคณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้

คณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เดินทางไปทางเหนือ ถึงห้วยแม่กษัตริย์ พบกับคณะของ เกษม รัตนไชย กับ วิจารณ์ สาระนาค พร้อมทั้งนักศึกษาชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และธรรมศาสตร์อีก 5 คน

เกษมกล่าวว่า มาค้างตรงนั้นตั้งแต่เมื่อคืน หลังจากพานักศึกษาเข้าไปในแคมป์พรานบรรดาศักดิ์ที่เซซาโว่ช่วงเย็นวาน เพื่อสังเกตการณ์และพูดคุยกับนายทหาร นายตำรวจที่สรวลเสเฮฮาที่นั่น กระทั่งราว 2 ทุ่มจึงแยกตัวมา สุมิตรได้กลิ่นเหม็นเน่าโชยมาเป็นระยะ วิจารณ์จึงกระซิบว่า ใกล้ๆ นั้นมีกวางถูกยิงตายอยู่ตัวหนึ่ง

สุมิตรให้วิจารณ์นำทาง โดยที่สุคนธ์เดินตามมา พบกวางตัวผู้เขางามตัวใหญ่ นอนตายห่างจากจุดที่พูดคุยประมาณ 200 เมตร มีรอยกระสุนปืนหลายแห่งตามลำตัวและกำลังขึ้นอืด วิจารณ์กล่าวว่า กวางถูกยิงบริเวณไม่สำคัญจึงไม่ตายทันที แต่พิษบาดแผลจึงกระเสือกกระสนมาตายถึงตรงนี้

เมื่อเดินลงไปทางทิศใต้ ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ พบเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งจอดอยู่บนลาน โรเตอร์กำลังหมุนไปพัดช้าๆ คล้ายกำลังจะบินขึ้น สุมิตรถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง

คณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แยกทีมเกษมกลับกรุงเทพฯ โดยวิจารณ์ขอติดรถกลับด้วย สมทบบอกว่าเมื่อถึงเซซาโว่ จะขอแวะเข้าไปพูดคุยกับพรานบรรดาศักดิ์สักเล็กน้อย สุมิตร นักข่าวและช่างภาพ จึงขอลงจากรถก่อนเข้าแคมป์ เพราะเกรงว่านายทหาร และนายตำรวจจะจำสื่อมวลชนได้แน่ โดยหลบลัดเลาะหาทำเลถ่ายภาพ

พรานบรรดาศักดิ์ที่กำลังนั่งเล่นในแคมป์แตกฮือเมื่อรถแลนด์โรเวอร์ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในเครื่องแบบวิ่งเข้าไป มีตำรวจระดับพันตำรวจเอก ตำแหน่งผู้บังคับการคนหนึ่งออกมารับหน้า สมทบ คุยกับพันตำรวจเอกนายนั้นประมาณ 20 นาที คณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงได้ถอยรถกลับออกมา

บรรยากาศในรถเที่ยวขากลับ สุมิตรเล่าว่า ไม่ดีเอามากๆ หลายคนสบถถ้อยคำชนิดที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ขณะที่สมทบปลอบลูกน้องว่า การปฏิบัติหน้าที่ทำได้ดีที่สุดแล้วเพียงแค่นี้

18.00 น. วันเดียวกัน คณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าเขต จ.นครปฐม มีผู้คนยืนเรียงรายริมถนนเป็นแถวยาว มองดูควันไฟสีดำพวยพุ่งเป็นลำยาวขึ้นไปบนท้องฟ้า เมื่อสมทบจอดรถสอบถาม ไทมุงบอกว่า “ตำรวจบอกว่าเฮลิคอปเตอร์ตกที่บางเลน”

สุมิตรโทรศัพท์ไปยังสำนักงาน เพื่อสอบถาม ไพศาล ศรีจรัสจรรยา หัวหน้าข่าว นสพ.บางกอกโพสต์ ขณะนั้น ไพศาลกล่าวว่า ให้ สุวิทย์ โสรัจจ์ ซึ่งเป็นช่างภาพไปที่เกิดเหตุแล้ว ให้กลับมาเขียนเรื่องที่ไปทุ่งใหญ่ฯ กระทั่งกลับมาที่โรงพิมพ์ จึงนำฟิล์มจากกล้องถ่ายรูปให้เจ้าหน้าที่ห้องมืดล้างอัดรูป

20.00 น. สุวิทย์ กลับเข้าโรงพิมพ์พร้อมฟิล์มเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก มีผู้เสียชีวิต 6 คน แบ่งเป็น เด็ก 2 คน ผู้ใหญ่ 4 คน หนึ่งในนั้นมีพันตำรวจเอก ซึ่งเป็นมือปืนทีมชาติ ตำแหน่งผู้กำกับการหน่วยงานหนึ่งของตำรวจนครบาลรวมอยู่ด้วย สุวิทย์บอกว่า “ตอนนี้วุ่นวายมาก ตำรวจเจ้าของท้องที่บอกว่าเฮลิคอปเตอร์บินมาจากทุ่งใหญ่”

เจ้าหน้าที่ห้องมืดนำภาพเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกมาให้ไพศาลใช้ประกอบข่าวหน้าหนึ่ง พบหมายเลขบนแพนหางเครื่องที่ไหม้ไฟยังไม่หมดปรากฎชัดเจน

หลังจากนั้น ไพศาลได้นั่งจับกลุ่มดูรูปที่สุมิตรถ่ายมาจากทุ่งใหญ่ และเห็นไปในทางเดียวกันว่า เฮลิคอปเตอร์ลำที่ตกนั้นคือ เฮลิคอปเตอร์ลำที่สุมิตรถ่ายภาพได้ในทุ่งใหญ่ เป็นหนึ่งในสอง ที่ถูกนำเข้าไปในทุ่งใหญ่ฯ พร้อมคณะพรานบรรดาศักดิ์

ไพศาลมอบหมายให้สุมิตรเขียนเรื่องที่ไปทุ่งใหญ่โดยละเอียด เพื่อที่จะได้นำเสนอต่อใน นสพ.บางกอกเวิลด์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กรอบบ่ายในเครือบางกอกโพสต์ขณะนั้น

29 เมษายน 2516 นสพ.บางกอกเวิลด์ และ นสพ.สยามรัฐ พาดหัวข่าวคล้ายกันว่า เฮลิคอปเตอร์ลำที่ตกที่บางเลนนั้น เพิ่งกลับออกมาจากการนำพรานบรรดาศักดิ์ไปล่าสัตว์ป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยกรมป่าไม้ทราบเรื่องตลอด ถึงกับส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามดูพฤติกรรมและพบหลักฐานว่าได้มีการล่าสัตว์ป่าจริง

นอกจากผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ตกแล้ว พนักงานสอบสวนยังพบเนื้อเก้ง เนื้อกวางเป็นขาๆ กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุด้วย

หนังสือพิมพ์ประจำวันที่ 30 เมษายน 2516 พร้อมใจกันเล่นข่าวเรื่องนี้ จากการนำร่องของ นสพ.บางกอกเวิลด์ และ นสพ.สยามรัฐ ติดต่อเรื่อยมานานนับสัปดาห์ แต่ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี กลับออกมาปฏิเสธว่า เฮลิคอปเตอร์ลำที่ตก “ไปราชการลับที่ทุ่งใหญ่”

กระแสความไม่พอใจรัฐบาลเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ประชาชนเห็นว่าข้าราชการกระทำผิดกฎหมาย ผู้นำรัฐกระทำการไม่ถูกต้อง และไม่เชื่อคำพูดผู้นำรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ

รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมี กมล วรรณประภา รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน สุดท้ายได้เพียงแค่ “แพะ” ที่ชื่อ “พรานแกละ” รับสารภาพว่ากระทำผิดแต่เพียงผู้เดียว และกรณีเฮลิคอปเตอร์ตกก็เป็นอุบัติเหตุจากการไปราชการลับ

เพิ่มเติม : ทุ่งใหญ่นเรศวรถูกประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2517 หลังเหตุการณ์พรานบรรดาศักดิ์ผ่านไป 1 ปี จากนั้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2534 ครอบคลุมพื้นที่รวม 622,200 เฮกตาร์ ถือเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หมายเหตุ : สุมิตร เหมสถล เกิดในครอบครัวสัตวแพทย์ เคยทำงาน นสพ.พิมพ์ไทย นสพ.บางกอกเวิลด์ นสพ.บางกอกโพสต์ ลาออกมาก่อตั้งนิตยสารสวนสัตว์ แต่ประสบปัญหาทางธุรกิจ ก่อนทำงานที่องค์การยูนิเซฟ, กองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยมหิดล สุมิตรเสียชีวิตด้วยอาหารหัวใจวายบนโต๊ะทำงาน เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2552

บรรณานุกรม

สุมิตร เหมสถล. ปฏิวัติแมลงวัน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โครงการความรู้เพื่อชีวิต, 2548.


กำลังโหลดความคิดเห็น