xs
xsm
sm
md
lg

“แท็กซี่โอเค” แล้วเราโอเคไหม?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ทุกวันนี้คนกรุงเทพฯ มีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น นอกจากจะมีรถไฟฟ้า รถเมล์ และเรือด่วนแล้ว รถรับจ้างสาธารณะทั้งรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก และมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็หาได้ไม่ยากเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันมีตัวเลือกรถรับจ้างสาธารณะมากมาย โดยเฉพาะระยะหลังๆ เริ่มมีบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่น ทั้ง “อูเบอร์” และ “แกร๊บคาร์”

แม้ทางการจะบอกว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นการเอา “รถบ้าน” มารับส่งผู้โดยสารก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบรถรับจ้างสาธารณะที่ถูกกฎหมาย “มีปัญหา” อยู่บ่อยครั้ง

ทั้งปฏิเสธผู้โดยสาร โดยอ้างว่าก๊าซหมด รถติด รีบคืนรถให้คู่กะ คิดราคาเหมาเวลาไปไกลๆ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ และไม่สามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติได้

กลายเป็นการผลักให้ประชาชนเลือกใช้บริการ ในสิ่งที่ทางการบอกว่า “ผิดกฎหมาย” เพราะมองว่ารถแท็กซี่ที่ถูกกฎหมายไม่ปรับปรุงตัวเอง

กระทั่งเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างแท็กซี่ตัวจริง กับคนขับอูเบอร์และแกร๊บคาร์บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งที่ประชาชนเลือกใช้บริการอูเบอร์ และแกร๊บคาร์ เพราะ “รหัสส่วนลด” ที่มอบให้

ทั้งผ่านเจ้าของแอปพลิเคชั่นโดยตรง หรือพันธมิตรทางธุรกิจ ตั้งแต่ 50-60 บาท ไปจนถึง 100-150 บาทต่อเที่ยวก็มี

รหัสส่วนลดเหล่านี้ ช่วยให้เราประหยัดค่าเดินทางไปพอสมควร เช่น ตอนเดินทางไปทำงาน จากราคาปกติประมาณ 120-130 บาท

พอได้ส่วนลด 70 บาท ก็จ่ายเพียงแค่ 50-60 บาท ซึ่งถือว่าถูกกว่ารถแท็กซี่อยู่มาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาด้วย

เท่าที่เราคุยกับคนขับอูเบอร์ บางคนมีทั้งอูเบอร์และแกร๊บคาร์ สมัครไว้สองที่ เวลาแอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนผู้โดยสารที่ไหนก่อน ก็เลือกที่จะรับงานผู้โดยสารตรงนั้น

ส่วนคนขับแอปพลิเคชั่นค่ายหนึ่ง เล่าให้เราฟังว่า เดี๋ยวนี้แอปพลิเคชั่นอีกค่ายหนึ่งเริ่มมีปัญหาเยอะ ส่วนหนึ่งเพราะมีคนไปสมัครขับรถจำนวนมาก แต่ลูกค้าไม่สม่ำเสมอแต่ละช่วงเวลา เริ่มมีปัญหาแย่งกันรับงาน

ส่วนคนขับบางคน เลือกที่จะรับงานในพื้นที่ตัวเอง สมมติเวลาที่ผู้โดยสารจะเรียกจากดอนเมืองไปสยาม ก็ปฏิเสธไม่รับงาน ยิ่งตอนเย็นถึงค่ำ เป็นช่วงที่ได้เงินพิเศษ (Intensive) ก็เลือกรับผู้โดยสารใกล้ๆ เพื่อทำจำนวนรอบให้ได้ตามกำหนด

นอกจากนี้ แอปฯ ดังกล่าวเริ่มที่จะหารายได้ให้แก่คนขับเพิ่มเติม ด้วยการรับจ้างติดสื่อโฆษณา เป็นสติกเกอร์บนตัวรถ รถคันไหนที่ติดสติกเกอร์จะได้รับเดือนละ 2,000 บาท แต่ก็ต้องแลกกับการที่รถคันนั้นกลายเป็นที่ “ล่อเป้า”

เพราะถูกจับตามองทั้งจากคนขับรถแท็กซี่ สามล้อ ที่จ้องจะจับผิด จากที่เคยสังเกตคอนโซลรถมีมือถือหรือแท็บเลต

ส่วนตำรวจนอกจากจะจับข้อหาสีรถไม่ตรงกับที่แจ้งไว้กับขนส่งฯ แล้ว หากมีผู้โดยสารอยู่ด้วยก็บวกข้อหาใช้รถผิดประเภทอีก

เพราะปกติแล้ว การติดสติกเกอร์บนตัวรถ ถือเป็นการทำให้สาธารณชนเข้าใจว่าสีดังกล่าวเป็นสีของรถ หากติดสีที่ต่างกัน (เช่น รถสีขาว แต่สติกเกอร์สีฟ้า) ไม่เกิน 30% ของตัวรถ ไม่ต้องแจ้งเปลี่ยนสีรถเพิ่มในเล่มทะเบียนกับขนส่ง

อย่างไรก็ตาม แอปฯ ที่เขาขับอยู่ มักจะเรียกยากในตอนกลางคืน เพราะคิดตามระยะทาง

อย่างเมื่อก่อนเรียกไปสนามบินสุวรรณภูมิคิดราคาเหมา แต่เปลี่ยนไปคิดตามระยะทาง กิโลเมตรละ 4 บาทก็ถูกลง หัก 25% ก็ได้เงินไม่กี่บาท

เพราะฉะนั้น จึงไม่ค่อยมีใครออกมาวิ่งในช่วงกลางคืน ผู้ใช้บริการมักจะเรียกรถผ่านแอปฯ ตัวนั้นยาก

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนแค่อยากจะบอกเล่าข้อบกพร่องของบริการเรียกรถอีกด้านหนึ่ง เพื่อสะท้อนให้มีการแก้ไข

เพราะถึงยังไงแต่ละช่วงเวลา หากมีโปรโมชั่นแอปฯ ตัวไหนดีกว่า ก็จะเลือกใช้บริการเรียกรถจากแอปฯ ตัวนั้น

แอบหวังในใจว่า เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น บริการจะยังคงดีเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ต้องให้เลิศเลอขนาดนั้นหรอก เอาแค่ไปส่งผู้โดยสารถึงที่หมาย สุภาพเรียบร้อยก็พอแล้ว

ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองแอปฯ คนขับรถส่วนใหญ่ก็สุภาพเรียบร้อยดี

ส่วนบริการรถรับจ้างสาธารณะที่ถูกกฎหมายอย่างแท็กซี่ แม้ที่ผ่านมาจะมีผู้ประกอบการบางรายลงทุนยกระดับด้วยการใช้รถหรูราคาแพง มีอุปกรณ์ เครื่องแบบ และแอปฯ รองรับ แต่ก็ดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

กระทั่งกรมการขนส่งทางบก ตัดสินใจปฏิรูปรถแท็กซี่แบบใหม่ ด้วยโครงการที่เรียกว่า “แท็กซี่โอเค” (TAXI OK)

บังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 โดยกำหนดให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคันติดตั้ง “เครื่องบันทึกการเดินทางของรถ”

ประกอบด้วยอุปกรณ์ GPS Tracking ระบบติดตามรถแบบเรียลไทม์ พร้อมอุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับที่ใช้กับใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ที่กรมการขนส่งทางบกออกให้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ยังมีระบบกล้องถ่ายภาพภายในรถแบบ Snap Shot รวมถึงมีปุ่มฉุกเฉิน หรือปุ่ม Emergency สำหรับผู้โดยสารที่ส่งข้อมูลมายังศูนย์ให้บริการรถแท็กซี่และขนส่งฯ เพื่อขอความช่วยเหลือได้แบบทันที

แท็กซี่โอเค เปิดตัวต้นแบบไปเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 โดยจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการรถแท็กซี่ของกรมการขนส่งทางบก (DLT TAXI CENTER) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางระหว่างกรมขนส่งฯ กับเจ้าของสหกรณ์รถแท็กซี่

นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชั่น TAXI OK ในวันที่ 25 มกราคม 2561

ให้ผู้โดยสารเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปฯ ทุกคันที่อยู่ในสังกัดศูนย์ให้บริการรถแท็กซี่ได้อย่างสะดวก คิดค่าบริการเพิ่ม 20 บาท และยังใช้ร้องเรียนบริการได้อีกด้วย

ขณะนี้เริ่มมีแท็กซี่โอเควิ่งให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลบ้างแล้ว ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นแท็กซี่ที่ออกรถใหม่ ความแตกต่างนอกจากกล่องไฟบนหลังคารถที่เปลี่ยนไปแล้ว ไฟแสดงผลว่า “ว่าง” ยังเปลี่ยนเป็นสีเขียวอีกด้วย

เราได้พูดคุยกับคนขับรถแท็กซี่โอเครายหนึ่ง เล่าให้เราฟังว่า เดิมเขาต้องการหาแท็กซี่มือสองเพื่อขับหารายได้แทนแท็กซี่คันเก่า

แต่เมื่อหาไม่ได้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็เลยตัดสินใจดาวน์แท็กซี่คันใหม่ป้ายแดง เป็นโตโยต้า อัลติส ปี 2017

แท็กซี่คันนี้ เบ็ดเสร็จราคาประมาณ 1.3 ล้านบาท ผ่อนเดือนละประมาณ 1.9 หมื่นบาท

หากนับเฉพาะส่วนที่ติดตั้งเพิ่มเติม อย่างกล้องภายในรถ ปุ่ม SOS เครื่องรูดบัตรแถบแม่เหล็ก และแท็บเล็ตเครื่องเล็กๆ ตกอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นบาท

เวลาผู้โดยสารขึ้นจากรถแล้ว ต้องเอาใบขับขี่รถสาธารณะที่มีแถบแม่เหล็กด้านหลังรูดกับเครื่องรูดบัตร มิเตอร์ก็จะทำงานทันที

แม้ระบบภายในรถยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากยังไม่ได้ป้ายเหลือง แต่กล้องภายในรถก็เริ่มทำงานส่งข้อมูลไปบ้างแล้ว

ถามถึงผลตอบรับหลังออกวิ่งรถ เขาเล่าว่าเวลาอยู่ในเมือง หรือตามสถานีรถไฟฟ้า มักจะมีคนโบกเยอะ โดยเฉพาะสุภาพสตรี เพราะระบบที่ติดตั้งมาทำให้ผู้โดยสารรู้สึกปลอดภัย

แต่เวลาออกนอกเมือง แถบชานเมือง ผู้โดยสารที่ไม่รู้สังเกตกล่องป้ายไฟ และไฟว่างสีเขียว ก็มีแต่มองแต่ไม่กล้าโบกเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าเป็นแท็กซี่จริงหรือไม่ แต่โดยภาพรวมถือว่าผลตอบรับเป็นไปด้วยดี

เขาเล่าว่า เท่าที่พบเห็นขณะนี้ มีรถรุ่นใหม่ออกมาวิ่ง ณ สิ้นปี 2560 ที่ผ่านมานับร้อยคัน และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (ทดแทนรถรุ่นเก่าที่จะทยอยหมดอายุภายใน 9 ปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก)

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีรถแท็กซี่วิ่งให้บริการประมาณ 120,000 คัน และจะทยอยหมดอายุการใช้งานเรื่อยๆ

หากต้องการขับแท็กซี่ต่อไป ก็ต้องนำรถแท็กซี่จดทะเบียนใหม่เข้าโครงการแท็กซี่โอเค

ทั้งนี้ มีสหกรณ์แท็กซี่ 18 แห่ง และ แท็กซี่ต่างจังหวัด แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแท็กซี่โอเคแล้ว ประมาณ 20,000 คัน อยู่ระหว่างติดตั้งอุปกรณ์ให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ขนส่งฯ กำหนด

ต้องคอยดูว่า หลังเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว ประชาชนจะให้ความสนใจมาตรฐานใหม่ของแท็กซี่เมืองไทยมากน้อยขนาดไหน

สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่แค่เพียงอุปกรณ์ แต่คนขับรถพร้อมจะเต็มใจให้บริการแก่ผู้โดยสารหรือไม่?

เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องมาพิสูจน์อีกที ...


กำลังโหลดความคิดเห็น