xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณ “เบี้ยว” เลือกตั้ง หรือ “พวกท่าน” ยังไม่พร้อม?

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สัญญาณว่ากำหนดการเลือกตั้งอาจจะไม่เป็นไปตามโรดแมปที่มีการคาดการณ์ไว้ในปลายปีหน้า เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

จากข่าวที่ฝ่ายกฎหมายของ คสช.ออกมาแบะท่า ว่าอาจจะมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากในพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งมีผลใช้บังคับไปแล้วนั้น ได้กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการของพรรคการเมืองเอาไว้ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินการของพรรคการเมืองเก่า เพื่อปรับให้เข้ากับกฎหมายพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมถึงกระบวนการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อให้พร้อมต่อการเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะมีขึ้น

ในขณะที่กรอบระยะเวลาต้องปฏิบัติการดังกล่าวนั้น ถูกนับไปแล้วตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่ด้วยติดที่ประกาศ คสช.ห้ามเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมทางการเมืองนั้นยังคาอยู่ และไม่มีทีท่าว่าผู้มีอำนาจจะปลดล็อกให้เมื่อไร จนกระทั่งพรรคการเมืองเก่าๆ อาจจะดำเนินการปรับระบบตามกฎหมายก็ไม่ทัน หรือพรรคการเมืองใหม่ๆ ก็ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อการจัดตั้งได้

จึงเป็นสาเหตุให้มีการแย้มออกมาของฝ่ายผู้มีอำนาจว่า จะมีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 เพื่อแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อทอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคการเมืองนี้ออกไป

สัญญาณดังกล่าว อาจจะเหมือนเพื่อบอกกับบรรดาพรรคการเมืองว่าไม่ต้องกังวลกับการปฏิบัติตามกรอบเวลาของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นการส่งสัญญาณไปในตัวว่า การปลดล็อกพรรคการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ “รอได้” จนกว่าที่ทางผู้มีอำนาจ คือ คสช.จะเห็นว่าเหมาะสม

ประกอบกับข่าวการค้นพบอาวุธสงครามที่เชื่อว่าเป็นของเครือข่าย “โกตี๋” อดีตนักเคลื่อนไหวหัวรุนแรงฝ่ายเสื้อแดงที่มีข่าวลือว่าเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เป็นเหมือนความพยายามจากทางภาครัฐหรือผู้มีอำนาจที่จะแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ยังไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นเหตุอ้างความชอบธรรมให้มีการยื้อเวลาการปลดล็อกการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองออกไปได้อีก โดยอ้างสถานการณ์อันไม่สงบเรียบร้อยดังกล่าว

เป็น “มุกเก่า” ให้ผู้คนเขานินทาว่า เป็นอย่างนี้ไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ที่พอมีเสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งหรือปลดล็อกพรรคการเมือง อีกไม่นานต้องมีการไปค้นพบอาวุธสงครามบ้าง หรือเกิดระเบิดลึกลับปริศนาเข้าสักตูมหนึ่ง ให้ใช้เป็นเหตุผลข้ออ้างของทางผู้มีอำนาจในอันที่จะ “แช่แข็ง” การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ทุกทีไป

การใช้ “มุกเก่า” แบบนี้เริ่มฟังไม่ค่อยขึ้นเสียแล้ว ในช่วงเวลาที่ถือว่าเป็น “ขาลง” ของรัฐบาล “ลุงตู่” จากที่เคยนอนมาชนิดเบอร์แบบไม่มีใครรอง ว่าเราคงจะได้เจอท่านอีกหลังการเลือกตั้งไม่ว่าจะด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเป็นแน่แท้

“ขาลง” ของรัฐบาลที่เริ่มมาจากเรื่องเล็กๆ ที่ลุกลามแบบบานปลาย คือกรณี “แหวนแม่ให้มา นาฬิกาเพื่อนให้ยืมใส่” (แถมเพื่อนที่ว่านั้นก็ตายไปแล้ว) ของ “พี่ใหญ่” ซึ่งสังคมไม่ยอมที่จะ “ลดราวาศอก” ให้ดังคำขอร้องของท่านนายกฯ ซึ่งการขอให้ชาวบ้าน “ลดราวาศอก” นั้นส่งผลเป็นภาพลบกลับมาถึงตัวผู้ขอร้องว่าเกรงกลัว “บารมี” หรือเห็นแก่ “ความเคารพนับถือเกรงใจ” เสียยิ่งกว่าความสุจริตโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมถึงความรู้สึกของประชาชนที่สนับสนุนท่านอยู่

บวกกับการทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ยังคงไม่เข้าตากับการปฏิรูปที่ไร้รูปธรรม ก็เป็นเหตุให้เกิดสภาวะ “ขาลง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการนี้ถ้าทางฝ่ายรัฐมีการข่าวที่ตรงไปตรงมาและมีประสิทธิภาพ คงยอมรับสัมผัสได้ว่า กระแสเอือมระอารัฐบาลนั้นกระจายไปในหมู่ประชาชนคนทุกฝั่ง แม้แต่คนที่เคยเห็นด้วยกับการรัฐประหาร หรือที่เคยสนับสนุนรัฐบาล

นี่เองที่ทำให้แผนการ “ไปต่อ” อาจจะสะดุดหัวคะมำ

รวมถึงการตั้ง “พรรคทหาร” ที่เชื่อกันว่าน่าจะมีการตั้งขึ้นมาสักพรรค เพื่อเป็นปากเสียงหนุนส่งในสภาฯ ให้ “ท่าน” กลับมาภายใต้ระบอบเลือกตั้ง ก็ยังถือว่าลูกผีลูกคน ว่าจะออกทางไหน โดยใคร อย่างไร

เพราะผู้ที่เก็งกันว่าจะมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งพรรคนั้น ฝ่ายหนึ่ง คือ คุณไพบูลย์ นิติตะวัน บอกตามตรงว่า ยังไม่มีบารมี และมวลชนที่เพียงพอในทางการเมืองในระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของการจัดตั้ง
พรรคการเมือง นอกจากจะไปรวมตัวเอา ส.ส.เก่าๆ ที่แตกแพมาจากพรรคการเมืองเก่าๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะยังสามารถรักษาฐานเสียงของตนไว้ได้หรือไม่ ในยุคสมัยที่การเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่เปลี่ยนไปเป็นการเลือก “พรรค” มากกว่าตัวบุคคลแล้ว

กับอีกทางหนึ่ง ซึ่งมีผู้เชื่อกันว่าจะเป็นคีย์แมนสำคัญในการจัดตั้งพรรคทหาร ก็อาจจะเป็น “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ซึ่งเชื่อว่ามีมวลชนอยู่แล้วในมือ และมีบารมีประสบการณ์ในการเมืองระบบเลือกตั้งอย่างโชกโชน

แต่เรื่องนี้ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้อีก เพราะอันที่จริงแล้ว มวลชน กปปส.นั้น หากแยกองค์ประกอบกันจริงๆ ก็เกิดจากการที่ผู้คนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ บวกกับมวลชนที่เกลียดชังและต้องการโค่นล้มระบอบทักษิณมารวมตัวกัน และยอมอยู่ภายใต้การนำของ “กำนันสุเทพฯ” เพื่อภารกิจในการโค่นล้มรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่านั้น

จึงยากที่จะสรุปว่า “มวลชน กปปส.” นั้น จะเป็น “ฐานเสียง” ที่กำนันสุเทพจะสามารถสั่งการหรือชี้นำให้สนับสนุน “พรรคทหาร” ได้จริงหรือไม่ แค่ไหน และยิ่งเมื่อวิเคราะห์ลงไปอีกว่า มวลชน กปปส. ส่วนใหญ่นั้นเป็นคนชั้นกลางหรือคนมีการศึกษาในเขตเมือง ซึ่งตอนนี้ก็เป็นคนกลุ่มที่กำลังแคลงใจหรือไม่ไว้ใจรัฐบาลที่มีผลสืบเนื่องมาจากเรื่อง “แหวนแม่ - นาฬิกาเพื่อน” แล้ว จึงกล่าวได้เลยว่า ไม่อาจจะถือว่า อดีตผู้คนชาว กปปส.นั้นจะเป็น “ฐานมวลชน” ให้กำนันสุเทพได้

เช่นนี้ เอาเข้าจริงๆ การก่อตั้งพรรคทหาร เพื่อเป็นฐานส่ง “ท่านผู้นำ” กลับเข้าสู่เก้าอี้นายกฯ ภายใต้ระบอบการเมืองที่สมบูรณ์หลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ ก็อาจจะไม่ง่ายนัก ในสถานการณ์ขาลงของรัฐบาลที่ยังไม่สามารถแก้ไขแก้คืนคะแนนนิยมและความศรัทธาของประชาชนได้

ประกอบท่าทีที่อาจจะมีการจับมือกันต่อสู้ของ “ฝ่ายการเมือง” ผู้เล่นหน้าเก่าพรรคใหญ่ทั้งสองพรรค อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ที่เริ่มออกมาแสดงท่าทีทิ่มแทงรัฐบาลบ้างแล้ว

ด้วยความ “ไม่แน่นอน” ว่าลงสนามเลือกตั้งตามระบอบกติกาประชาธิปไตยแล้วจะชนะ หรือแม้แต่การลงจากหลังเสือแล้วจะปลอดภัยนี้เอง อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝ่ายผู้ถืออำนาจพิเศษอยู่ในปัจจุบันนี้ ตัดสินใจยืดเยื้อสภาพอันได้เปรียบและมีอำนาจเต็มมือของตัวเองเอาไว้ก่อน จนกว่าจะ “เคลียร์ได้” หรืออย่างน้อยก็แน่ใจว่าถ้าปล่อยมือจากอำนาจแล้ว ถึง “ไม่ชนะ” หรือ “ไม่ลงแข่ง” แต่ก็ต้อง “ไม่แพ้” ถูกเช็กบิลหรือคิดบัญชีย้อนหลัง

จนกว่าพวกเขาจะมั่นใจหรือแน่ใจได้ในระดับนั้น ก็รับรองว่าการเลือกตั้งครั้งแรกประเดิมรัฐธรรมนูญใหม่ ก็คงทอดยาวต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น