xs
xsm
sm
md
lg

‘คู่สร้างคู่สม’ กับ จุดจบของโลกสื่อสิ่งพิมพ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

คู่สร้างคู่สมฉบับแรก (ซ้าย) และ คู่สร้างคู่สมฉบับสุดท้าย (ขวา)
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


“หนังสือคู่สร้างคู่สมฉบับที่จะวางตลาดจะเป็นหนังสือฉบับที่ 1005 เป็นปีที่ 38 เริ่มเมื่อปี 2522 จะเป็นฉบับส่งท้ายปีเก่า แต่เป็นฉบับสุดท้ายของคู่สร้างคู่สม ยืนยันว่า ผมหยุดที่จะทำ ปิดหนังสือคู่สร้างคู่สม ... คือไม่ทำอีกต่อไปแล้ว มกราคม (2561) ไม่มีแล้ว” --- ดำรง พุฒตาล ผู้ก่อตั้งนิตยสารคู่สร้างคู่สม 16 ธันวาคม 2560

การโบกมือลาบรรณพิภพของนิตยสารคู่สร้างคู่สม นิตยสารหัวใหญ่ระดับตำนานของประเทศตำนาน ที่ว่าใหญ่คือยอดพิมพ์ต่อสัปดาห์นั้นเคยสูงสุดถึง 400,000 ฉบับ หรือ 1.6 ล้านฉบับต่อเดือน ถือเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนไปทั้งวงการสิ่งพิมพ์ วงการสื่อทั้งประเทศ และประชาชนจำนวนไม่น้อยของประเทศ

คนทำหนังสือ หรือ ทำนิตยสารจะทราบดี นิตยสารที่พิมพ์ระดับแสนฉบับนั้นแทบจะไม่มีปรากฏในเมืองไทย ที่เซลส์ถือจดหมายมาเคลมยอดโฆษณาว่าพิมพ์หลายแสนฉบับนั้น จริงๆ แล้วเป็นตัวเลขที่ใช้อ้างกันในเฉพาะแวดวงโฆษณา เอเจนซี แต่จริงๆ แล้วพิมพ์กันไม่กี่พันฉบับ หรืออย่างเก่งก็หลักหมื่น

การที่เจ้าของนิตยสารที่มียอดพิมพ์หลักแสน วางจำหน่ายเพียงราคาเล่มละ 30 บาท และมีนโยบายไม่รับคืน ออกมาประกาศเลิกทำ หยุดผลิต เลิกวางจำหน่ายนั้น สำหรับผมแล้วถือเป็น หมายหมุดสำคัญของ “ความล่มสลายของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์

สื่อสิ่งพิมพ์ในที่นี้ผมหมายถึง วารสาร นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ที่คนไทยเริ่มรู้จักและคุ้นเคยมาเป็นร้อยปี นับตั้งแต่หมอบรัดเลย์พิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก "บางกอกรีคอร์เดอร์" ขึ้นในปี พ.ศ.2382 และอาจจะกินความรวมถึงหนังสือเล่ม หรือ พ็อคเกตบุ๊กด้วย ซึ่งคงทยอยโบกมือลากันไปเรื่อยๆ

การที่คู่สร้างคู่สม ซึ่งผมเชื่อว่าดำเนินกิจการอยู่ได้ด้วยยอดจำหน่ายเป็นหลัก (หมายถึง อยู่ได้เพราะรายได้จากการจำหน่ายหนังสือให้คนอ่าน มิใช่ยอดโฆษณา) ต้องหยุดพิมพ์ไปนั้นคุณดำรงบอกอย่างชัดเจนว่า เกิดเพราะผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้คนที่เลิกอ่านตัวหนังสือบนกระดาษ

“เหตุผลที่ต้องหยุด มันคือ เหตุผลเดียวกับนิตยสารรุ่นพี่ๆ ที่หยุดไป อันที่หนึ่ง คือ องคาพยพของหนังสือนั้นมีหลายขั้นตอน คนอ่านหนังสือซื้อจากแผงหนังสือ คนไม่อ่านหนังสือที่เป็นตัวหนังสือที่พิมพ์ลงกระดาษ ...” คุณดำรงบอกและชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ห่วงโซ่ของการผลิตหนังสือนั้นถูกทำลาย แม้ว่าคู่สร้างคู่สมจะพยายามหาคนอ่านด้วยการบอกรับสมาชิกแล้ว แต่ก็มีผู้สมัครจริงๆ เพียงไม่กี่ร้อยรายหรือแค่หลักพันรายเท่านั้น

คนไม่ซื้อหนังสือ > แผงหนังสือทยอยหายไป > เอเยนต์หนังสือขาดทุน > สายส่งหนังสือประสบปัญหา > กระทบโรงพิมพ์ > สำนักพิมพ์ประสบปัญหา > เจ้าของ-บรรณาธิการ-นักข่าว-นักเขียน-บุคลากรในสำนักพิมพ์ตกงาน

ทั้งนี้ถ้าเป็นสื่อที่อยู่ด้วยรายได้จากโฆษณาเป็นหลัก ‘ห่วงโซ่’ ก็จะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะจะมีปัจจัยเรื่องของเอเจนซีโฆษณา บริษัทครีเอทีฟผู้ผลิตโฆษณา เจ้าของสินค้าผู้ซื้อโฆษณา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโฆษณาอื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไปอีก

"ถ้าถามเรื่องดวงฯ (คอลัมน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของนิตยสารคู่สร้างคู่สม) อันนึงที่ทำให้ผมโกรธแค้น แต่ก็ไม่รู้จะไปโกรธใคร คอลัมน์ดูดวงของผู้ใช้นามปากกา “อุตตราษาฒ” หรือ ดร.อัมพร สุขเกษม ... ระยะหลังพอดวงออกมาปั๊บก็ถูกก้อปปี้ไปในโซเชียลมีเดียทันที นี่คือส่วนหนึ่งที่คนที่เขียนเองก็ไม่ได้ค่าเขียนเพิ่มขึ้น เพราะได้จากทางผมแล้ว แต่หนังสือก็ไม่ได้อะไร แต่กลับสูญเสียผู้อ่าน นี่แหละคือโซเชียลมีเดียที่ทำให้เราท้อใจ ..."

นอกจากนี้สำหรับคำถามที่ว่า เมื่อหยุดผลิตฉบับพิมพ์แล้วเหตุใดจึงไม่ทำคู่สร้างคู่สมฉบับออนไลน์ คุณดำรงก็ตอบอย่างห้าวหาญว่า "ไม่ต้องมาบอกว่าผมไม่ปรับตัวกับโลกออนไลน์ ผมไม่ได้อยากทำออนไลน์ ผมเริ่มทำคู่สร้างคู่สมเพราะผมรักงานหนังสือ เมื่อคนไม่อ่านจากกระดาษกันแล้ว ไม่อ่านหนังสือกันแล้ว ผมก็เลิกทำ"

ตามความเห็นของผม คำตอบเกี่ยวกับโลกออนไลน์ของคุณดำรงอาจเป็นการตัดสินที่ถูกต้อง เพราะทุกวันนี้สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดั้งเดิม (Traditional Media) ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม การ์ตูน วิทยุ หรือ โทรทัศน์ ที่ไม่ประสีประสากับโลกดิจิทัล การตัดสินใจอย่างไร้ทิศทาง เพียงเพราะความต้องการดิ้นรนหนีตายจากความล่มสลายของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์-สื่อโทรทัศน์ โดยหวังว่าสื่อออนไลน์-โซเชียลมีเดียจะเป็นหนทางรอดชีวิต ... เท่าที่ผมทราบ ณ ตอนนี้ ยังไม่มีใครรอดชีวิตเลยสักราย


กำลังโหลดความคิดเห็น